แม้โลกสมัยใหม่จะช่วยเพิ่มพูนความรู้ให้เรามากขึ้น แต่ความเข้าใจที่มีเกี่ยวกับร่างกายของเราเองดูเหมือนจะยังคงไม่ใช่เรื่องง่าย นั่นเพราะมีองค์ประกอบทั้งหลายที่ซับซ้อนและระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ ที่ละเอียดอ่อน อาจหาอ่านจากหนังสือตำราทางชีววิทยาที่มีอยู่มากมายแต่ก็อาจทำให้หลับได้เหมือนกัน คงจะดีถ้ามีคนคิดวิธีสำหรับการเล่าเรื่องยุ่งยากเหล่านั้นให้ง่ายขึ้นและสนุกสนาน
Akane Shimizu นักวาดการ์ตูนช่อง (มังงะ) ชาวญี่ปุ่นได้เขียนการ์ตูนเพื่อเล่าเรื่องระบบการทำงานภายในร่างกายคนเราขึ้น เริ่มต้นจาก Hatakaru Saibou (Cells at Works!) ซึ่งขยายไปเป็นตอนต่าง ๆ ตามมาเช่น Hataraku Saikin (Bacteria at Work), Hatarakanai Saibou (Cells that Don’t Work), Hataraku Saibou Black (Cells at Work Black) ทั้งสี่ตอนมีความเชื่อมโยงกันและทำให้เราเข้าใจเกี่ยวกับระบบเซลต่างๆ ในร่างกายได้ง่ายขึ้น โดยการนำเอาเม็ดเลือดทั้งหลายมาทำเป็นตัวละคร เช่น เม็ดเลือดแดง, เม็ดเลือดขาว, ทีเซล, หน่วยความจำ, แบคทีเรีย ฯลฯ ผูกเรื่องราวให้เห็นความสัมพันธ์และสภาวะภายในของร่างกายของเราทั้งในยามปกติและเมื่อมีภัย เป็นแอคชั่นคอมเมดี้ที่แฝงอารมณ์ขันที่น่าสนใจชวนติดตาม มังงะเขียนขึ้นประมาณปี 2014 ซึ่งยังคงเขียนตอนต่อไป สำหรับตอนแรก Hataraku Saibou ได้ถูกดัดแปลงนำมาสร้างเป็นแอนนิเมชั่นเรียบร้อยเป็นทีวีซีรี่ย์ในปี 2018 โดย David Production
ท่ามกลางความกว้างใหญ่ของโครงสร้างภายในเปรียบเสมือนเมืองอุตสาหกรรมทันสมัย มีการวางเครือข่ายของเส้นเลือด, หลอดลม, กล้ามเนื้อ, ยังเป็นที่รวมของประชากรเซลถึง 60 ล้านเซล มีระเบียบการทำงานอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาและเป็นทีมเวิร์ค แบ่งหน้าที่รับผิดชอบของตนเองอย่างมีวินัยเช่น เม็ดเลือดแดงที่ต้องนำเอาออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อ อวัยวะต่างๆ ซึ่งจะอ่อนแอและต้องการการดูแลจากเม็ดเลือดขาว และยังบรรยายถึงระบบการป้องกันตัวเองจากเชื้อโรคผู้รุกรานผ่านบทบาทและความสัมพันธ์ของตัวละครและมีความรักอยู่ภายในนั้น แม้จะดูเกินจริงไปบ้างแต่ด้วยสไตล์ภาพและอารมณ์ในการเล่าเรื่องก็ทำให้เป็นอะไรใหม่ๆ ที่น่าสนใจ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่เน้นด้านความสนุกสนานเท่านั้น แต่แฝงนัยทำให้คนดูคิดไปถึงการดูแลสุขภาพของตนเอง เพราะในชีวิตประจำวันเราไม่สำนึกหรอกว่าเซลตัวน้อยในตัวเราทำงานกันหนักขนาดไหน
อ้างอิง: tvtropes.org, en.wikipedia.org; Facebook: Alaster-FS