HEARTIST กระเป๋าผ้าทอแสนเก๋จาก ‘หัวใจ’ ของเด็กพิเศษ

กระเป๋าหลากลวดลาย หลายสีสัน ในรูปแบบแตกต่างที่ตั้งอยู่ตรงหน้า อาจเป็นกระเป๋าธรรมดาๆ หากเราเพียงแค่มองผ่าน แต่เมื่อพินิจพิเคราะห์ให้ลึกถึงรายละเอียด ไม่ว่าจะเรื่องลวดลายที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ วัสดุที่ผ่านการคัดสรรมาอย่างดี หรือวิธีการตัดเย็บที่ใช้เทคนิคเฉพาะตัวในแต่ละใบ จนได้กระเป๋ามีความสวยงามในตัวเอง กลับมีเรื่องราวมากมายซ่อนอยู่ในนั้น เพราะกระเป๋าทุกใบของ HEARTIST ใช้ผ้าทอซาโอริจากฝีมือช่างทอซึ่งเป็นกลุ่มเด็กพิเศษ

“ผ้าแต่ละผืนมาจากกระบวนการบำบัดของน้องๆ ค่ะ” วริศรุตา ไม้สังข์ หรือ โปสเตอร์ เล่าถึงวัสดุตั้งต้นที่ใช้ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จาก HEARTIST ธุรกิจสังคมน้องใหม่จากน้ำพักน้ำแรงของเธอที่เพิ่งก่อร่างสร้างตัวมาได้ปีกว่าๆ

HEARTIST มาจากการผสมของคำว่า ‘HEART’ ที่แปลว่า ‘หัวใจ’ กับ ‘ARTIST’ ที่แปลว่า ‘ศิลปิน’ เข้าด้วยกัน เพราะผ้าทุกผืนถักทอขึ้นจาก ‘หัวใจ’ ของเด็กๆ ที่เธอมองว่าพวกเขาคือ ‘ศิลปิน’

จุดเริ่มต้นของธุรกิจเพื่อสังคมแห่งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่โปสเตอร์มีโอกาสเข้าไปทำงานเป็นอาสาสมัครให้กับกลุ่มอรุโณทัยเพื่อเด็กพิเศษ ที่นำปรัชญาการศึกษาบำบัดและการเยียวยา รวมถึงการใช้ชุมชนมาเป็นวิถีในการดำเนินงาน ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมบำบัดนั้นก็คือการฝึกทอผ้า โดยปลายทางของการบำบัดน้องๆ กลุ่มที่มีความบกพร่องทางสมองเพื่อให้พวกเขามีสมาธิมากขึ้น ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาความสามารถในเข้าสังคมได้ดีขึ้นด้วย

“หลังจากที่ได้เห็นผ้าทอจากกระบวนการบำบัด ซึ่งแต่ละผืนมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง โปสก็เกิดความคิดว่า ถ้าเราสามารถเปลี่ยนผ้าหนึ่งผืนที่แต่เดิมจะถูกนำไปเก็บไว้เพื่อรอการบริจาค ไปสู่การพัฒนาให้ผ้าเหล่านี้ให้กลายเป็นโปรดักท์ที่เพิ่มมูลค่าขึ้นมาได้ก็น่าจะเป็นแนวทางที่ดี เพราะนอกจากการช่วยบำบัดน้องๆ แล้ว ก็ยังสร้างรายได้หมุนเวียนให้แก่ครอบครัวของเด็กๆ ทำให้เกิดความภาคภูมิใจ และการยอมรับจากสังคมได้ด้วย”

ผ้าแต่ละผืนจะไม่มีการกำหนดสีสัน ลวดลาย ขนาด หรือรูปแบบ ผ้าตั้งต้นมาในรูปแบบใด นั่นคือโจทย์ท้าทายที่จะพาโปสเตอร์ไปสู่การพัฒนา ประยุกต์ รวมถึงเสาะหาวัสดุ วิธีการตัดเย็บ และสร้างฟอร์มกระเป๋าแบบชิ้นต่อชิ้น เพื่อให้ทุกรายละเอียดถูกประกอบขึ้นอย่างเหมาะสมที่สุดกับผ้าผืนนั้นๆ เป็นต้นว่า การนำผ้าทอมือของชุมชนมาใช้ร่วมกับผ้าทอของเด็กๆ หรือการบุด้านในตัวผ้าเพื่อให้โครงสร้างกระเป๋ามีความทนทานมากขึ้น ขณะที่ยังคำนึงถึงเรื่องฟังก์ชั่น ซึ่งต้องใช้งานได้ดีและทนทานด้วย แม้ปัจจัยทั้งหลายทั้งปวงจะทำให้ผลิตภัณฑ์ของ HEARTIST มีต้นทุนสูงกว่าปกติ แต่ทุกๆ ใบจะถูกตั้งราคาแบบที่ผู้ซื้อสามารถจับต้องได้

การเดินทางที่ผ่านมาของ HEARTIST ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะโปสเตอร์ต้องใช้เวลาในการสร้างความไว้ใจและเชื่อมั่นให้กับกลุ่มผู้ปกครอง ในทางคู่ขนาน..เธอยังต้องลองผิดลองถูกกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ด้านการใช้งานและความสวยงาม ในเวลาเดียวกันก็ต้องคิดไปถึงการหักกลบลบหนี้เพื่อสร้างกำไรเพื่อให้องค์กรสามารถดำเนินต่อไปได้ด้วยตัวเอง แต่เมื่อเป้าหมายไม่ใช่การแสวงหาผลประโยชน์ แต่คือการดึงเอาคุณค่า ตัวตน และความสามารถของเด็กๆ มาร้อยเรียงและบอกเล่าผ่านผลงานที่เกิดขึ้น โดยมีปลายทางคือสร้างการยอมรับและมองเห็นคุณค่าในฐานะของมนุษย์คนหนึ่ง สิ่งเหล่านี้แหละที่ทำให้ HEARTIST ยังคงก้าวต่อไปเพื่อทำหน้าที่ในการส่งผ่านเมสเสจเหล่านี้สู่สาธารณชน

ร่องรอยของความตะปุ่มตะปั่มหรือความไม่เสมอกันของผ้าแต่ละผืน แม้จะแสดงให้เห็นถึงความไม่สมบูรณ์แบบ แต่ในความไม่สมบูรณ์แบบนั้นเองก็ได้ซ่อนความพยายามและแน่วแน่ที่โปสเตอร์หรือแม้แต่ตัวเราเองก็สามารถมองเห็นและสัมผัสได้ “น้องบางคนมีความบกพร่องทางสมองทำให้น้องอยู่นิ่งนานๆ ไม่ได้ บางคนกล้ามเนื้อมือไม่แข็งแรง บางคนมีอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่มั่นคงในช่วงเวลานั้น ซึ่งทำให้เกิดความไม่เสมอกันของลวดลายในบางจังหวะ แต่สำหรับโปส นี่คุณค่าและตัวตนของพวกเขา”











ภาพ: Courtesy of HEARTIST, Sudaporn Jiranukornsakul
อ้างอิง: www.facebook.com/heartistdid

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles