Heer Bench ม้านั่งเพื่อคุณแม่ เปิดเสรีให้วัฒนธรรม ‘นมจากเต้า’ เป็นทางเลือกของผู้หญิง

โมเม้นท์แห่งการให้นมหรือปั๊มนม ‘จากเต้า’ ในที่สาธารณะนั้นเป็นประสบการณ์แห่งความงกเงิ่นที่คุณแม่ๆ ทั้งหลายเข้าใจดี โดยเฉพาะในสถานที่ที่วุ่นวายและคนเยอะเป็นพิเศษเช่นตามร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า สนามบิน สถานีรถไฟ อาคารที่ทำงานในเมือง ฯลฯ ทั้งๆ ที่การแพทย์สมัยใหม่ก็สนับสนุนเหลือเกินให้คุณแม่ขยายเวลาการให้นมมารดาออกไปให้นานที่สุด แต่ในทางกลับกัน เราต้องยอมรับว่าที่ทางหรือการออกแบบสาธารณะที่จะเอื้อให้ ‘วัฒนธรรมนมแม่’ นี้ดำเนินไปได้จริง กลับแทบไม่มีปรากฏอยู่เลยในโลกปัจจุบัน (ส่งผลให้คุณแม่หลายคนถอดใจเพราะทนอึดอัดกับสายตาประชาชนเวลาเอาลูกเข้าเต้าไม่ไหว หรือในบางวัฒนธรรมชาวบ้านเขาก็อึดอัดกับภาพการควักเต้าของเหล่าแม่ๆ เช่นกัน)

นี่เองคือข้อปัญหาคาใจ ‘ในทุกมุมโลก’ ที่ทำให้สตูดิโอออกแบบ 52hours จากกรุงปราก นำเสนอไอเดียม้านั่งสำหรับการให้นมเบบี๋ในที่สาธารณะขึ้นเป็นครั้งแรก พวกเขาตั้งชื่อมันง่ายๆ ว่า Heer (ให้พ้องเสียงไปกับคำว่า Here ในภาษาอังกฤษที่แปลว่า ‘ตรงนี้’) โดยกลุ่มดีไซเนอร์หวังว่าฟังก์ชั่นของมันจะนำมาซึ่งความสะดวก สงบ และความเป็นส่วนตัวให้กับเหล่าคุณแม่ที่จำเป็นต้องทำงานตามธรรมชาตินี้ ภายใต้สภาพแวดล้อมอันวุ่นวายของชีวิตเมืองใหญ่

Ivana Preiss และ Filip Vasic สองตัวแทนจาก 52hours กล่าวว่าแม่ๆ ที่ยังให้นมจากเต้าทุกคน ล้วนฝันถึงมุมเล็กๆ แบบนี้ที่จะเป็นโอเอซิสตรงกลางระหว่างความสงบ สะดวก และความไม่รุ่มร่ามทางสายตา

“แม้ทุกวันนี้การให้นมจากเต้าในที่สาธารณะจะเป็นที่ยอมรับได้มากขึ้น แต่ในหลายๆ วัฒนธรรม อาจจะด้วยเรื่องค่านิยมของสังคม ความรู้สึกปลอดภัย หลักทางจิตวิทยา หรือเหตุผลส่วนตัวอะไรก็แล้วแต่ บรรดาแม่จำนวนมากก็ยังรู้สึกไม่โอเคกับโมเมนท์ที่ต้องควักเต้าต่อสายตาสาธารณชนอยู่ดี” นั่นคืออินไซต์ที่สองดีไซเนอร์ค้นพบจากการทำวิจัยกับแม่ลูกอ่อนหลายร้อยคนในทุกมุมโลก

บางคนอาจจะแย้งว่าปัจจุบันก็มีการจัดมุมหลบสายตาให้แม่ลูกอ่อนไปนั่งให้นมกันบ้างแล้ว แต่ Ivana และ Filip ก็โต้กลับทันทีว่า “ถึงจะมีก็ยังขาดความสะดวกสบายด้วยประการทั้งปวง และยังถือว่ามีน้อยมากๆ แต่ที่สำคัญที่สุดมันเป็นการจัดสรรพื้นที่ในลักษณะที่กีดกันแม่ลูกอ่อนออกไปจากวิถีชีวิตของคนอื่นมากกว่า”

แนวคิดนี้ผลักดันให้ดีไซเนอร์ออกแบบ Heer ขึ้นเป็นม้านั่งตัวยาวสีชมพูสดใส โดยคำนึงถึงหลักการยศาสตร์ของแม่ที่มานั่งให้นมบุตร เช่นสามารถหมุนปรับองศาได้ตามความต้องการ พร้อมมีฟังก์ชั่นโยกหน้า-หลังได้เล็กน้อย และมีชิ้นส่วนบังตารูปโค้งที่โอบรับกับพฤติกรรมของผู้ใช้ได้อย่างพอดี “งานดีไซน์นี้จะเป็นเสมือนโอเอซิสที่โอบอุ้มแม่และเด็กในช่วงเวลาการให้นม แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ทำให้คนเป็นแม่ต้องตัดขาดจากสภาพแวดล้อมไปอย่างสิ้นเชิง” ดีไซเนอร์ได้ออกแบบม้านั่งที่เชื่อมต่อกันไว้สำหรับคนที่ติดตามคุณแม่ไปในขณะให้นมด้วย เช่นอาจจะเป็นคุณพ่อ ลูกคนโต เพื่อนฝูง ที่สามารถตามมานั่งพูดคุยได้ปกติ หรือแม้กระทั่งสาธารณชนคนทั่วไปก็สามารถมานั่งใกล้ๆ ได้โดยไม่สร้างความกระอักกระอ่วนต่อกัน

อย่างไรก็ดีเราทุกคนย่อมรู้ซึ้งว่าเรื่องค่านิยมหรือขนบในแต่ละสังคมนี้…ไมใช่สิ่งที่จะกดปุ่มเปลี่ยนได้ในพริบตา และม้านั่งให้นมที่เราพูดถึงข้างต้น ไม่ว่ามันจะถูกออกแบบมาดีแค่ไหน ก็คงจะไม่ใช่คำตอบเดียวที่จะทำให้ ‘วัฒนธรรมการให้นมแม่ในที่สาธารณะ’ เป็นที่ยอมรับขึ้นได้อย่างเท่าเทียมในทุกสังคม …ณ จุดนี้เราคงหวังได้เพียงว่ามันจะบันไดอีกขั้นที่นำไปสู่การเปิดเสรีภาพให้แก่เพื่อน ‘มนุษย์แม่’ ในเวทีที่กว้างขึ้น

ปัจจุบัน 52hours กำลังแสวงหาความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนในหลายๆ เมืองทั่วโลก เพื่อจะนำม้านั่ง Heer ไปติดตั้งในพื้นที่สาธารณะต่างๆ อาทิ ศูนย์การค้า สนามบิน สถานีรถไฟ ฯลฯ คลิกดูข้อมูลเพิ่มเติมและนำเสนอเมืองของเราไปได้เช่นกันที่ www.inviteheer.com

อ้างอิง: www.inviteheer.com

Visa Sortrakul

บรรณาธิการ tcdcconnect.com และนักเขียนอิสระ สร้างแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมเมือง งานสร้างสรรค์ท้องถิ่น และการเดินทางกลับสู่ธรรมชาติ ปัจจุบันหลงใหลการประยุกต์อารยธรรมโบราณและองค์ความรู้ชาวบ้านสู่งานสร้างสรรค์ใหม่ๆ

See all articles