เนเธอร์แลนด์เปลี่ยนที่กักขังให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ + สร้างงานให้ผู้ลี้ภัย

จากจำนวนนักโทษที่น้อยลงอย่างต่อเนื่องในช่วงสิบกว่าปีมานี้ นอกจากจะทำให้รัฐบาลเนเธอแลนด์จำต้องประกาศปิดเรือนจำกว่า 19 แห่ง และมีอีกจำนวนหนึ่งที่กำลังทยอยปิดตัวลงในไม่ช้าแล้วขณะเดียวกันก็ยังส่งผลกระทบต่อระบบการจัดการเรือนจำหลายต่อหลายแห่ง ทั้งการต้องหานักโทษมาเพิ่มด้วยการเปิดบริการ ‘คุกเช่า’ ให้กับรัฐบาลประเทศข้างเคียง อาทิ เรือนจำ Tilburg ที่อนุญาตให้รัฐบาลเบลเยี่ยมเคลื่อนย้ายนักโทษมาประจำที่นี่ (ซึ่งรัฐบาลเนเธอแลนด์ตัดสินใจสิ้นสุดสัญญาไปเมื่อมกราคมที่ผ่านมา) ไปจนถึงการสร้างประโยชน์กับพื้นที่ด้วยการมอบหน้าที่ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงคุกโบราณ Het Arresthuis ให้กลายเป็นโรงแรมหรูแนวโมเดิร์นขนาด 40 ห้อง ไปจนถึงโครงการล่าสุดที่ City of Amsterdam ปรับปรุงคุก Bijlmerbajes ให้กลายเป็นศูนย์ผู้ลี้ภัยและ design platform นามว่า ‘Lola Lik’ แห่งนี้ด้วย

บนพื้นที่กว่า 8,000 ตารางเมตร ของ Lola Lik ถูกจัดสรรให้เป็นพื้นที่ห้องประชุม โรงอาหาร แปลงผักผลไม้ คาเฟ่ ลานกิจกรรม พิพิธภัณฑ์ชั่วคราว และ Start-up Kitchen ที่ดำเนินงานโดย Jay Asad เจ้าของโรงแรม ร้านขนม และร้านอาหารชื่อดังหลายแห่งในดามัสกัส ที่จะมาทำหน้าที่เป็นเมนทอร์ให้แก่คนรุ่นใหม่ซึ่งมีภูมิหลังเป็นผู้ลี้ภัยและอยากจะก้าวมาเป็น start-up ในธุรกิจด้านนี้ รวมทั้ง Refugee Company ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนให้เกิดการสร้าง ‘งาน’ ในหมู่ผู้ลี้ภัย พร้อมๆ กับการส่งเสริมให้เกิดการสร้างสัมพันธภาพที่ดีขึ้นระหว่างคนดัทช์และผู้ลี้ภัย

Lola Lik ยังมีพื้นที่สำนักงานสำหรับแบ่งเช่า อันเป็นที่ตั้งของสตูดิโอออกแบบและองค์กรด้านวัฒนธรรมรุ่นใหม่ อาทิ Waarmakers สตูดิโอออกแบบผลิตภัณฑ์ โดย Simon Akkaya และ Maarten Heijltjes โรงภาพยนต์ Solar World Cinema ที่สามผู้ก่อตั้งอย่าง Maureen Prins, Stien Meesters และ Maartje Piersma จัดฉายหนังแบบไม่จำกัดประเภทด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ด้วยความเชื่อที่ว่า ‘หนัง’ เป็นสื่อกลางประเภทหนึ่งที่สามารถเชื่อมโยงคน โดยเฉพาะคนดัทช์กับผู้ลี้ภัยให้เข้าใจความแตกต่างของกันและกันมากขึ้นได้ รวมทั้ง Lab20 พื้นที่ทางวัฒนธรรมที่เปิดโอกาสให้ทั้งนักเรียน นักศึกษา บุคคลทั่วไป รวมทั้งผู้ลี้ภัยสามารถเข้ามาดื่มด่ำกับคุณค่าและสนุทรียภาพของศิลปะรูปแบบต่างๆ ผ่านโปรแกรมด้านดนตรี การเต้นรำ และเวิร์คช็อปที่พวกเขาจัดขึ้น

ด้วยสถานการณ์ที่อยู่ท่ามกลางความกระอักกระอ่วน ความกลัว และการแบ่งแยกระหว่างผู้ลี้ภัยและพลเมืองชาวยุโรป ณ เวลานี้ การเกิดขึ้นของ Lola Lik ได้แปรสภาพพื้นที่แห่งการจองจำไปสู่หน้าที่ใหม่ที่เต็มไปด้วยอิสรภาพและโอกาส และนี่อาจจะเป็นอีกประกายแห่งความหวังที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง ทั้งความรู้สึกและความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ลี้ภัยและคนในเมืองแห่งความหลากหลายแห่งนี้ก็เป็นได้

อ้างอิง: Lola Lik

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles