HiveSters การท่องเที่ยวเพื่อสังคมรูปแบบใหม่ ร่วมพัฒนาชุมชนด้วยการท่องเที่ยวแบบยังยืน

เป็นการท่องเที่ยวที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน
เป็นการท่องเที่ยวที่สามารถรักษาคุณค่าวัฒนธรรมดั้งเดิมไม่ให้เลือนหาย
เป็นการท่องเที่ยวที่ต้องไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม

เงื่อนไขข้างต้นคือสิ่งที่ทำให้ HiveSters แตกต่างไปจากการท่องเที่ยวทั่วไปที่เราเห็นกันอยู่ กับปลายทางที่ไม่ได้มีเพียงแค่ความสุข สนุก และประสบการณ์ แต่แพลทฟอร์มการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่นี้ แม้จะเพิ่งเริ่มต้น แต่ได้บรรจุกว่า 60 กิจกรรมการท่องเที่ยว พร้อมๆ กับการเข้าไปพัฒนาชุมชนในประเทศไทยมาแล้ว 13 แห่ง

การพูดคุยกับ อชิ-อชิรญา และ มิ้นต์-ชญานิศ ธรรมปริพัตรา ไม่ได้น่าสนใจเพียงแค่ไอเดียในการก่อร่างสร้างตัว หรือวิธีการที่ HiveSters เลือกใช้เพื่อรักษาเสน่ห์ของพื้นที่ให้ยั่งยืนได้อย่างไร ในแบบที่ดูธรรมดาแต่ไม่น่าเบื่อ สนุกและทำให้คุณไม่ได้เป็นเพียงแค่ tourist ที่ชิม แชะ ช้อปแบบเคยๆ แต่รวมไปถึงเส้นทางของโครงการล่าสุดของพวกเขาอย่าง ‘APPEAR’ กับการชุบชีวิตให้ชุมชนเก่าแก่ทั้ง 6 แห่งในกรุงเทพฯ กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง


Q: ก่อนจะเริ่มต้น HiveSters ว่าทั้งสองท่านเรียนและทำอะไรมาก่อน?

อชิรญา: อชิเรียนทางด้านบริหารธุรกิจการตลาดจาก BBA ธรรมศาสตร์ หลังจากนั้นก็ไปทำงานที่ Uniliver เริ่มต้นด้วยการเข้าโปรแกรม Management Trainee ซึ่งเป็นโปรแกรมที่เปิดโอกาสให้เราได้ทำงานแต่ละฟังก์ชั่น แล้วก็ขยับมาเป็น Assistant Brand Manager ก็ทำด้านการตลาดอยู่ประมาณ 4 ปีกว่าค่ะ ตอนนั้นก็ตัดสินใจไปเรียนต่อ MBA Luxury Brand Management ที่ประเทศฝรั่งเศส

ชญานิศ: ส่วนมิ้นท์เรียนจบด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วได้ทุนการศึกษา Fulbright ไปเรียนต่อด้านกฎหมายระหว่างประเทศและสิทธิมนุษยชนที่มหาวิทยาลัย Georgetown สหรัฐอเมริกา มีประสบการณ์ทำงานเป็นที่ปรึกษาและนักวิจัยด้านสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชนให้หลากหลายองค์กรในหลายประเทศ เช่น องค์การแรงงานระหว่างประเทศ องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรภาครัฐ

Q: ฟังดูแล้ว ก็ไม่ได้เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเลย แล้วอะไรคือจุดหักเหให้มาทำงานงานด้านนี้?

อชิรญา: ตอนที่อชิไปเรียนปริญญาโท เราเลือกเรียน MBA Luxury Brand Management ก็เพราะอยากรู้และชอบอะไรที่เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ รู้สึกว่าอะไรที่ขั้นเทพของในวงการมันคือ luxury เราอยากเรียนรู้ด้านแบรนดิ้ง แล้วส่วนตัวก็ชอบงานศิลปะ งานคราฟท์ ท่องเที่ยว โรงแรม ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างที่สนใจมันมีอยู่ในโปรแกรมนี้ เรียนที่ฝรั่งเศสประมาณปีกว่าๆ แล้วก็กลับมาเมืองไทย ช่วงที่อชิกลับมาใหม่ๆ ก็ถามตัวเองว่าเราจะทำอะไรดี ตอนนั้นอยากทำกิจการของตัวเอง อชิกับมิ้นท์โตมากับธุรกิจท่องเที่ยวที่บ้านค่ะ แม่เปิดบริษัทท่องเที่ยวมา 30 กว่าปีแล้ว เราก็อยากนำประสบการณ์ทั้งการทำงานและการเรียนเรามาต่อยอด

พอดีช่วงนั้นมิ้นท์เรียนโทด้านกฎหมายอยู่ที่ Washington DC ประเทศสหรัฐอเมริกา เขาก็เล่าไอเดียที่ได้ไปเห็นจาก Social Good Summit ซึ่งจัดพร้อมกับการจัดสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เพื่อโชว์ผู้นำทางความคิดและพลเมืองของโลกที่ได้นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการพัฒนาอย่างประสบความสำเร็จ ซึ่งในงานมี Social Enterprises หลายแห่งมาเล่าเรื่องราวของเขา ตอนนั้นมันเป็นอะไรที่ใหม่มากสำหรับเมืองไทยเพราะเป็นการทำธุรกิจและใช้นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อไปแก้ปัญหาสังคม พอได้ฟัง ก็รู้สึกว่าเจ๋งดี เกิดมาไม่รู้เลยว่ามันมีโมเดลแบบนี้อยู่ด้วย เพราะว่าปกติเราก็จะคุ้นชินกับการที่ NGO หรือรัฐเข้าไปช่วย ทำให้เกิดความสนใจใน Social Enterprise

ประกอบกับการที่เราเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยๆ เห็นจากเพื่อนๆ เวลาที่พวกเขามาเที่ยวเมืองไทย ทำไมชอบไปเที่ยวอะไรที่เรารู้สึกว่า เฮ้ย! นี่มันไม่ใช่บ้านเรา ไม่ได้บอกเล่าอะไรที่เป็นเมืองไทยจริงๆ เลย อย่างเวลาถามเพื่อนว่าจะไปเที่ยวไหนกัน เขาก็จะบอกว่าตลาดน้ำ เราก็โอเคได้ แล้วจะไปตลาดน้ำอะไรกัน เขาก็จะไปตลาดที่เป็น man made ซึ่งเราก็บอกว่าทำไมไม่ไปตลาดนี้ล่ะ พ่อแม่ชั้นไปที่นี่ ปั่นจักรยานกันไปวันเสาร์อาทิตย์ ซึ่งสิ่งที่พบคือคุณลุงคุณป้าเขาพายเรือจริงๆ พายมาจากบ้านเขา ผลผลิตที่เอามาขายก็มาจากสวนในสวนเขาจริงๆ ซึ่งเพื่อนๆ เราจะไม่รู้ เพราะตอนเสิร์ชมันไม่มีที่นี่ในอินเตอร์เนต ไม่มีข้อมูล ซึ่งสถานที่ที่เราไปเจอ ก็เพราะคุณแม่จะชอบปล่อยให้ลูกไปหาประสบการณ์ท่องเที่ยว จะมีเป็นทริปเซอร์เวย์ เราเลยมีโอกาสไปเที่ยวทั่วประเทศไทย ซึ่งนั่นทำให้เราได้ค้นพบว่าเมืองไทยเรามีหลายสิ่งหลายอย่างที่ดีมากๆ เรามีของดี แต่ว่าหนึ่ง-คนไม่รู้สถานที่นั้น สอง-หลายๆ ที่เป็นการท่องเที่ยวแบบไม่ยั่งยืน เช่น สมมติเราไปหมู่บ้านชาวเขา คืออชิว่าเวลาเราไปเที่ยว เราก็ต้องเคารพคนที่เราไปอยู่ด้วยไม่ใช่เห็นเขาเป็นเหมือน human zoo ภาพที่เห็นคือคนมาถ่ายชาวเขา แล้วมองว่าคือสิ่งแปลก สิ่งที่เราเห็นคือวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของเขา หรือเวลาไปทะเล เราก็จะเกิดคำถามว่าทำไมไปเหยียบปะการัง การนำทัวร์ นอกจากบริการ สิ่งที่น่าจะต้องมีควบคู่กันไปคือการให้ความรู้และความตระหนักด้วย เราเห็นแบบนี้แล้วรู้สึกอยากจะกรี๊ด (หัวเราะ) หรือเคสที่เจอเยอะๆ คือคนมาเที่ยวแล้วชอบไปขี่ช้าง ซึ่งตรงจุดนี้บางทีนักท่องเที่ยวบางคนอาจจะไม่รู้ ความเข้าใจที่เห็นก็คือเขามองว่าการขี่ช้างคือเป็นการท่องเที่ยวอีกรูปแบบแนวผจญภัย แต่จริงๆ ช้างเขาโดนทรมานทำให้เชื่อง ซึ่งในความเป็นจริง เขาก็ควรจะได้วิ่งเล่นอยู่ในป่าตามธรรมชาติมากกว่า

Q: ทั้งหมดนี้เลยกลายเป็นสิ่งหล่อหลอมให้เกิด HiveSters?

อชิรญา: ใช่ค่ะ เราอยากใช้ความรู้และความสามารถเเละประสบการณ์ที่โตมากับธุรกิจท่องเที่ยวของที่บ้านมาแก้ปัญหาตรงนี้ อยากเห็นการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

Q: การท่องเที่ยวแบบ HiveSters แตกต่างจากรูปแบบการท่องเที่ยวทั่วไปอย่างไร?

อชิรญา: core หลักเราคือเราต้องการนำเสนอ real Thai experience ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เที่ยวแบบไทยแท้ๆ แล้วก็ยั่งยืน และเราเน้นว่าต้องสนุก ชื่อ HiveSters มาจากคำว่า Hive ที่แปลว่า รังผึ้ง ความตั้งใจของเราเลยคือเราอยากเป็นรังผึ้งที่ช่วยเชื่อมระหว่างนักท่องเที่ยวที่ต้องการประสบการณ์แบบพื้นถิ่นจริงๆ กับคนที่อยู่ในพื้นที่นั่นๆ ที่มีความรู้และเข้าใจบริบทพื้นที่เข้าด้วยกัน อย่างเช่น คุณลุงคุณป้าที่อยู่ในชุมชน หรือคุณป้าที่ทำงานฝีมือ งานทอผ้า เราอยากเป็นคนกลางที่ทำให้คนจากสองฝั่งได้มาทำความรู้จักกัน ผ่านกิจกรรมที่สนุกด้วยและยั่งยืนด้วย ดังนั้น กระบวนการทำงานหลักๆ ของเราคือเราจะทำงานกับคน 2 ฝ่าย เราต้องการโปรโมทคนที่ทำกิจกรรมยั่งยืน เพราะเจอหลายๆ ครั้ง ที่คนกลุ่มนี้ทำดี แต่ไม่มีใครเห็น แล้วกิจการก็ปิดตัวลงไป อย่างเช่นเหมือนตอนนั้นมิ้นท์ไปเจอคุณลุงพายเรือไม้ที่อัมพวาเพื่อพานักท่องเที่ยวดูหิ้งห้อย เพราะหิ้งห้อยที่อัมพวาไม่มีแล้ว หลังจากเรือยนต์เข้าไปรบกวนจนชาวบ้านต้องตัดต้นลำพูทิ้ง ซึ่งคุณลุงคนนี้เขาพยายามรณรงค์ให้มาใช้เรือพาย แต่ว่าเรือพายค่าใช้จ่ายก็จะสูงกว่าเรือยนต์ คนที่ไม่รู้จักคุณลุง ซึ่งพอได้ยินราคาก็จะตั้งคำถามว่าทำไมค่าเรือแพงจัง แต่เขาไม่ทราบว่านี่คือค่าแรงจริงๆ ปัจจุบันนี้คุณลุงไม่ได้ทำแล้ว ซึ่งเราไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นซ้ำเเล้วซ้ำอีก

นอกจากนี้ เรายังต้องการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนว่าจริงๆ แล้วมันไม่ใช่เรื่องไกลตัว เราก็บอกลูกค้าเสมอว่า เที่ยวทุกครั้งคุณมีทางเลือกนะว่าจะเที่ยวแบบยั่งยืนหรือไม่ยั่งยืน อย่างเช่น คุณจะไปดูสัตว์ทะเลในอควาเรียมที่โดนขังหรือว่าจะไปดูที่พวกเขาอยู่ตามธรรมชาติ แล้วดูอย่างถูกวิธี มีการให้ความรู้ระหว่างการท่องเที่ยวว่า Marine System มีอะไรบ้าง แล้วแต่ละชนิดในระบบนิเวศสัมพันธ์กันอย่างไร นี่เป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญในการทำองค์กร


Q: แล้วการท่องเที่ยวแบบ HiveSters มีกี่ประเภท?

อชิรญา: หลักๆ มี 6 ประเภท โดยแบ่งเป็น Food: โปรแกรมที่พาคุณไปทานอาหารในท้องถิ่นหรือชุมชนนั้นจริงๆ Animals: เช่น โปรแกรมการไปใช้เวลาอยู่กับช้างที่ศูนย์ที่ดูแลช้างถูกต้องตามหลักการ เช่น ไม่มีการขี่ช้างหรือให้ช้างทำสิ่งที่ไม่ใช่ธรรมชาติอย่างวาดรูปหรือปั่นจักรยาน Art & Craft: ก็จะพาไปชุมชนช่างฝีมือ เช่น เรียนปั้นกับอาจารย์ปั้นเซรามิก Adventure: ก็จะพาไปผจญภัยในพื้นที่ธรรมชาติ เช่น สกีน้ำแบบไทยๆ โดยพี่ๆ ชาวประมง Body & Mind: เช่น เวิร์คช็อปทำสบู่ เรียนรู้เรื่องสมุนไพรไทย และ Green: เป็นโปรแกรมที่พาไปเรียนรู้การทำฟาร์มแบบออร์แกนิก

Q: กลุ่มเป้าหมายของ HiveSters มีกลุ่มใดบ้าง?

อชิรญา: เราแบ่งเป็น 3 ส่วนหลักๆ แรกสุดคือเราจัดทริปให้นักท่องเที่ยวซึ่งก็จะเป็นนักท่องเที่ยวทั่วไป เช่น มาเป็นครอบครัว คู่รัก กลุ่มเพื่อน ส่วนองค์กร ก็จะแตกเป็น company trip การวางแผนและบริหารโครงการ Creating Shared Value หรือ CSV ให้องค์กร เพราะว่า CSR ที่ทำๆ กันมา บางโครงการก็ยังไม่ได้ยั่งยืน อย่างการปลูกต้นไม้ ซึ่งโดยหลักการ การปลูกต้นไม้เป็นกิจกรรมที่ดีมากนะคะ แต่ว่าการที่ต้องไปปลูกมันเป็นตอบโจทก์ปัญหาที่มีอยู่แล้วหรือเปล่า วิธีการแก้ปัญหานั้นมันเชื่อมโยงกับความเชียวชาญที่มีอยู่แล้วขององค์กรหรือไม่ สร้างผลที่ยั่งยืนกลับคืนมาให้องค์กรไหม และกิจกรรมนั้นจะส่งผลในระยะยาวหรือไม่ ถ้าปลูกแล้วก็ต้องมั่นใจว่าปลูกแล้วมันต้องขึ้นนะ มีคนดูแลต่อนะ เพราะหลายๆ ครั้ง เราได้ยินเสียงสะท้อนจากคุณลุงคุณป้าในชุมชนว่า ปลูกแล้วมันก็ตาย ซึ่งสุดท้ายก็กลายเป็นภาระให้คนในชุมชนต้องมาจัดการต่อ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ HiveSters ทำคือเราต้องการออกแบบโปรแกรมให้เหมาะสมกับความต้องการขององค์กรและความต้องการของชุมชนด้วย ส่วนแบบที่สามคือเรารับพัฒนากิจกรรมท่องเที่ยวยั่งยืนในชุมชนต่างๆ


Q: เพราะฉะนั้น การทำงานของ HiveSters คือเวิร์คจากทั้งสองฝั่ง?

อชิรญา: ใช่ค่ะ เพราะหลายๆ ครั้งการทำงานแบบทางเดียว ฉันมีแล้วฉันจะให้ แต่ว่าชุมชนก็บอกฉันก็มีอยู่แล้ว ดังนั้นเราก็ต้องหาวิธีที่ให้มันตรงกัน แล้วยั่งยืนจริงๆ ไม่ใช่แค่พูดว่ายั่งยืน

Q: ทำงานกับชุมชน โดยเฉพาะเราเองก็ถือเป็นคนแปลกหน้าสำหรับเขา ยากไหม?

อชิรญา: ทำโปรดักท์ชุมชนถือว่าต้องขั้นเทพเลยนะ เพราะว่าปกติถ้าทำทัวร์อย่างไปเที่ยววัดพระแก้ว เราไม่ต้องเทรน ไม่ต้องทำอะไรเลย แค่โทรบอกไกด์ว่า โอเคพรุ่งนี้มีวัดพระแก้ว 2 คน ไกด์ก็จะรู้หมดว่าต้องเดินเที่ยวอะไรบ้าง แต่กับชุมชน ไกด์ไม่รู้เลย แล้วถ้าดูทั้งซัพพลายเชน ตั้งแต่โปรดักท์ดีเวลล็อปเม้นท์ ถ้าทำจริงๆ มันใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ถ้าทำแบบเต็มสตรีมคือ HiveSters จะมีกระบวนการที่เราเรียกว่า Community Incubation Program คล้ายๆ สตาร์ทอัพ แต่นี่เราสตาร์ทอัพให้คนในชุมชน ซึ่งการทำงานมันจะเริ่มตั้งแต่การไปสำรวจพื้นที่ เราต้องไปสำรวจก่อนว่าชุมชนมีอะไร ประชุมร่วมกับชุมชน ซึ่งหากชุมชนอยากทำด้วยจริงๆ เราก็ต้องมาวิเคราะห์ว่าทางชุมชนเองเข้มแข็งพอไหม มีอะไรน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นด้านสถานที่ท่องเที่ยว อาหาร กิจกรรมต่างๆ หลายๆ เคส คือ ชุมชนมีของดี 100 อย่าง อยากเล่าหมดเลย แต่เราก็บอกว่าไม่ได้ เพราะเวลาเราจำกัด เพราะฉะนั้นจะต้องเลือกอะไรที่เป็นไฮไลท์ในการชูนำเพื่อเล่าเรื่อง หลังจากนั้นก็มาวิเคราะห์ตลาดให้เขาว่าทำอะไร ทำแบรนดิ้ง พัฒนาโปรแกรมท่องเที่ยว เมื่อพัฒนาเสร็จ เราก็ทำ marketing material อย่างการถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอ เขียนบล็อก ผลิตสื่อเป็นภาษาไทยและอังกฤษ เขียนให้น่าดึงดูด ทำ map plan ช่วยเขาคิดราคาค่าใช้จ่าย สร้างระบบบริหารจัดการให้เขา เช่น ถ้าคุณป้ารับออเดอร์ booking จะมีขั้นตอนดังต่อไปนี้นะ เพราะที่เราเจอคือเกือบ 80-90 เปอร์เซ็นต์ คนในชุมชนจะยังไม่แน่ใจว่าควรคิดราคาสินค้าหรือตั้งราคาอย่างไร

นอกจากนี้ เราก็ต้องอบรมนักสื่อความหมายด้วย เพราะว่าถ้าไปชุมชน แล้วไม่มีคนเล่าเรื่องมันจะไม่ได้อรรถรส เราต้องสร้างคนในชุมชนเพื่อให้เขาสื่อสารกับนักท่องเที่ยวได้ด้วย หลังจากขั้นตอนนี้ เราก็เชิญนักท่องเที่ยวตัวจริงเสียงจริงลงไปเทสโปรแกรมที่เราดีไซน์มาด้วย แล้วก็ให้เขาฟีดแบ็ค ปรับแก้ เสร็จแล้วก็เข้าสู่ช่วงประชาสัมพันธ์ เชิญสื่อลงไปทำโปรโมท ให้บล็อกเกอร์ลงไปเขียนรีวิว เสร็จแล้วเราก็มาวัดผลว่าสิ่งที่ทำก่อนและหลัง เราสร้างอิมแพ็คอะไรไปบ้าง ซึ่งกินเวลาประมาณ 6 เดือน ต่อ 1 ชุมชน เพราะว่าเราอยากทำครั้งเดียวแล้วให้คุณลุงคุณป้าสามารถใช้ได้ไปตลอดเลย

Q: ยกตัวอย่างชุมชนที่ไปร่วมพัฒนาเพื่อให้เห็นภาพการทำงานชัดขึ้นได้ไหม?

อชิรญา: เรารู้จักชุมชนจากหลายๆ ทาง ทั้งในสื่อที่เขาทำโปรโมท หรือตอนไปประชุมแล้วเจอคุณลุงคุณป้าในชุมชนอยู่ด้วยก็มีโอกาสได้พูดคุยกัน และเราก็มีพาร์ทเนอร์ที่น่ารักอย่าง กองการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร การท่องเที่ยวเเห่งประเทศไทย (ททท) และองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท) ซึ่งเป็น 3 องค์กรที่มีหน้าที่พัฒนาและโปรโมทกิจกรรมการท่องเที่ยวที่จะช่วยเชื่อมเรากับชุมชน หรือบางทีเพื่อนไปมา ก็จะมาบอกว่า อันนี้เจ๋ง ไปสิ ซึ่งชุมชนที่เรารู้จักจากองค์กรและไปทำงานด้วย เช่น

ชุมชนตลาดน้อยเป็นชุมชนแรกๆ ที่เราเรียกว่าเป็นชุมชนที่ซ่อนอยู่จริงๆ คนทั่วไปจะรู้จักแต่เยาวราช แต่ตลาดน้อยอาจจะยังไม่เป็นที่รู้จัก แล้วก็ที่นี่มีอะไรน่าสนใจเยอะ เพราะเป็นชุมชนไทยจีน เป็นชุมชนที่รักกันมาก จะมีชมรมคนรักตลาดน้อย มีอาอี้มารวมกลุ่มกันเพื่ออยากสร้างอัตลักษณ์ให้คงอยู่ในชุมชน เพราะที่นี่เป็น prime location area คนที่อาศัยอยู่ข้างใน ถ้าไม่ขายก็ให้เช่า ทำให้วัฒนธรรมที่สืบสานมาตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า ตา ยาย มันเลือนหายไป เช่น ร้านขนมที่เปิดมา 60-70 ปี แล้วก็เป็นรุ่นสุดท้าย ถามว่า แล้วรุ่นใหม่จะอยากสืบสานไหม เขาบอกก็ยังไม่รู้เลยว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป มีร้านกาแฟที่ ดร.ป๋วยไปทานทุกวันเพื่อถกเถียงเรื่องการเมือง เป็นร้านกาแฟชงแบบโบราณ มีเซียงกง หรือบ้านที่อาม่าเย็บหมอนด้วยมือ เราก็เลยตัดสินใจพัฒนาโปรแกรมร่วมกับอาอี้ ซึ่งโปรเเกรมท่องเที่ยวชุมชนตลาดน้อยนี้ เราได้รับรางวัลกินรี สาขายอดเยี่ยมในปีนี้ด้วยค่ะ

Q: อย่างชุมชนนี้ ถ้าลงไป ไฮไลท์ของที่นี่คืออะไรบ้าง?

อชิรญา: มีอาหารไทย-จีนที่ขึ้นชื่อในพื้นที่ เช่น ติ่มซำ ขนมเปี๊ยะโบราณ บ๊ะจ่าง กาเเฟโบราณ คุณยายเย็บหมอนไหว้เจ้าเเบบจีนโบราณ มีบ้านเก่าๆ สมัยต้นรัชกาล ศาลเจ้าโจซือกง ซึ่งมัน hidden มาก ฝรั่งไปก็จะกรี๊ดกร๊าด (หัวเราะ) เพราะเขาจะรู้สึกว่าเขาไม่ใช่ tourist นะ เป็น local ของแท้เลย

Q: แล้วกิจกรรมในชุมชนอื่นๆ ล่ะ?

อชิรญา: อย่างในหมวด Adventure จะมีหมู่บ้านชาวประมง ซึ่งมิ้นท์ไปเจอตอนไปหาหอยแครง (หัวเราะ) หน้าปลาเขาก็จะหาปลาเลี้ยงชีพ พอช่วงที่ไม่ใช่ฤดูกาลที่หาปลาไม่ได้ ทำให้รายได้ลดลง เราเลยไปเวิร์คโปรแกรมกับเขาจนเกิดโปรแกรม Thai Retro Wakeboarding with Local Fisherman ซึ่งนอกจากจะได้เล่นกีฬาแล้ว เราก็มีกิจกรรมตกปลาแล้วก็เอาปลาที่ตกได้กลับมาทำกับข้าวกินกัน แล้วเราจัดอาหารแบบแซ่บๆ ไทยแท้ๆ แบบไม่เอารสฝรั่งเลย เผ็ดก็เผ็ดเลย (ยิ้ม)

Q: โครงการล่าสุดอย่าง APPEAR ที่ HiveSters ทำงานร่วมกับโรงแรมและองค์กรต่างๆ ในการพัฒนาชุมชนเก่าแก่ของกรุงเทพฯ ล่ะ เป็นอย่างไร?

ชญานิศ: โครงการนี้เริ่มในเดือนตุลาคม 2015 ที่มาที่ไปนั้นเกิดจากที่เราพบว่าในกรุงเทพฯ มีชุมชนเยอะมาก แล้วหลายๆ ชุมชนได้เลือนหายไป อย่างที่เรารู้จักดีก็เวิ้งนครเกษม หรือที่เพิ่งเป็นข่าวได้ไม่นานก็ป้อมมหากาฬ แล้วสิ่งเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่เฉพาะในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัดก็เป็น เพราะการเจริญเติบโตของเมือง โปรเจ็กต์นี้เราเลยมีเป้าหมายคือ ต้องการชุบชีวิตชุมชนที่กำลังจะเลือนหายไปให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งจาก Disappear ให้มา Appear ผ่านการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน และเราต้องการใช้การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมาคลี่คลายปัญหาที่มีอยู่ในแต่ละชุมชน เป็นโปรเจ็กต์ยักษ์เพิ่งจบไป มีทั้งหมด 6 ชุมชน คือ นางเลิ้ง บางลำพู บ้านบุ เกาะศาลเจ้า บางกระดี่ และหัวตะเข้ โดยจะเป็นชุมชนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่ง 6 ชุมชนนี้เป็นโครงการนำร่อง ซึ่งแพลนปีนี้เราจะไปต่างจังหวัดด้วย

โครงการนี้ถือเป็นครั้งแรกในวงการท่องเที่ยวในเมืองไทยเลยที่มีหลายฝ่ายร่วมมือกันพัฒนาชุมชน ทั้งหน่วยงานรัฐและองค์กรเอกชน อย่างกองการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานครที่ช่วยแนะนำเเละเชื่อมต่อกับชุมชน United Nations Development Programme (UNDP) เป็นพาร์ทเนอร์ที่จะคอยช่วยเราเรื่องเงินทุนและการพัฒนาด้านสังคม และอีก 6 โรงแรม ที่อยู่ในกรุงเทพฯ The Sukhothai, Anantara Riverside, Banyan Tree, The Erawan Group, Sheraton Grande, Sukosol ในรูปแบบบัดดี้ โดยมีการจับคู่ 1 โรงแรม ต่อ 1 ชุมชน เป็น Alliance of Good Neighbors เพื่อให้โรงแรมช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชน ทุกโรงแรมได้นำโปรแกรมท่องเที่ยวเหล่านี้ไปเสนอให้กับแขกที่มาเข้าพัก และนอกจากนี้ โรงแรมก็มาร่วมพัฒนาโปรเจ็กต์ในชุมชน เช่น เรื่องขยะ เรื่องสิ่งแวดล้อม ความยากจน เรื่องการศึกษา แล้วแต่ว่าชุมชนไหนมีปัญหาอะไร นอกจากนี้ก็จะมี ททท. และ แอร์เอเชีย เป็นผู้สนับสนุนด้วย ซึ่งขั้นตอนก็จะคล้ายๆ เวลาเราลงชุมชนคือเราจะสร้างโปรแกรมการท่องเที่ยว ทำ marketing material ให้ทุกชุมชน วิดีโอ ภาพถ่าย ข้อมูล แผ่นพับที่นักท่องเที่ยวถ้าจะไปก็สามารถเดินถือแล้วไปได้เลย


Q: ความน่าสนใจของทั้ง 6 ชุมชนนี้มีอะไรบ้าง?

อชิรญา: เช่น ในชุมชนนางเลิ้ง มีคุณป้ากัญญา ซึ่งเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ยังรำละครชาตรีอยู่ คุณป้าอายุ 70 กว่าแล้ว แกก็บอกว่าฉันไม่อยากให้มันจากไปพร้อมกับฉัน หรืออย่างขันลงหินที่ชุมชนบ้านบุ ที่ตอนนี้เหลือช่างไม่กี่คนแล้ว ถ้าช่างคนใดคนหนึ่งหายไป มันก็จะหายไปเลย เราเลยอยากรักษาสิ่งที่มีอยู่ไว้ รวมถึงชุมชนหัวตะเข้ที่เป็นชุมชนไม้โบราณ ทำว่าวแบบยั่งยืน ซึ่งใช้วัสดุคือใบไม้แห้งที่ไม่ใช้แล้ว

Q: เงินทุนในการลงชุมชนมาจากที่ไหน รวมถึงเงินหมุนเวียนในการรันธุรกิจของ HiveSters ด้วย มันมาจากฝั่งนักท่องเที่ยว จากชุมชน หรือได้รับเงินสนับสนุนจากองค์กรใดองค์กรหนึ่ง?

อชิรญา: สิ่งที่เราทำให้ชุมชนนั้น เราลงทุนของเราเองหรือจากโปรเจ็กต์ APPEAR ที่เราได้เงินสนับสนุนจากพาร์ทเนอร์ต่างๆ ในการพัฒนาโปรเเกรมท่องเที่ยว เราไม่ได้เก็บสตางค์ชุมชน ซึ่งถามว่ารายได้ของเรามาจากไหน ก็จะมาจากการขายกิจกรรมท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวเเละองค์กร เราเป็น inclusive travel model ที่อยากกระจายรายได้สู่คนท้องถิ่นให้ได้มากที่สุด เช่น กิจกรรมทริปต่างๆ ก็จัดโดยคนในชุมชน เรื่องพาหนะ แทนที่จะใช้รถตู้ เราจะใช้รถสองแถว ซึ่งมีลุงคนขับเป็นคนในชุมชน อาหารและน้ำดื่ม ก็จะซื้อจากคุณลุงคุณป้าที่อยู่ในชุมชน นักสื่อความหมาย เราเชื่อว่าคนที่รู้จริงที่สุดก็คือคนที่เกิดและโตในชุมชน เพราะฉะนั้นคนนำก็คือ คุณลุง คุณป้า พี่ๆ ที่อยู่ในชุมชน แต่ว่าเราจะมีไกด์ภาษาอังกฤษมาช่วยแปลเเละคอยเซอร์วิสลูกค้า

Q: เอาเข้าจริงเวลาคนไปเที่ยว เราก็จะไม่ได้โฟกัสมากกับเรื่องความยั่งยืน เป้าหมายของคนส่วนใหญ่คือการไปพักผ่อน หาความสนุก HiveSters ทำอย่างไรให้มันมาอยู่ในเส้นทางเดียวกัน?

ชญานิศ: ความยั่งยืนของเรา ถ้าพูดง่ายๆ ก็เหมือนว่าถ้าเราเที่ยววันนี้อีก 10 20 30 ปีข้างหน้า เราก็ยังสามารถเที่ยวได้เหมือนเดิม ไม่ใช่ว่า พอสถานที่ไหนพอเริ่มดัง คนแห่กันไปตูมเดียว เสร็จก็ย้ายไปที่ใหม่แบบนี้ เช่น อัมพวาหรือเชียงคาน ที่อัตลักษณ์หรือทรัพยากรธรรมชาติบางอย่างมันหายไป แต่เดิมมี แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว และคนในท้องที่ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร นี่คือโจทย์ของ HiveSters เลยว่าจะทำอย่างไรให้คนมาเที่ยวที่อาจจะไม่ได้สนใจเรื่องยั่งยืน แต่รู้สึกได้ว่าการเที่ยวนั้นสนุกจังเลย ขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้เขาอยากมาสร้างการเปลี่ยนแปลงเรื่องการท่องเที่ยวในเมืองไทยให้ดีขึ้นได้ด้วย

Q: แล้วความยั่งยืนในมุมของ HiveSters เป็นแบบไหน?

ชญานิศ: เราจะมองใน 3 ประเด็น หนึ่ง-รายได้จากการท่องเที่ยวลงไปถึงคนในท้องที่ไหม ซึ่งสิ่งที่เราทำคือโปรดักท์จะต้องสร้างงานที่ดีและกระจายได้รายสู่คนท้องถิ่น งานที่ดีในที่นี้คือต้องอยู่ในเรทที่คนทำงานและครอบครัวอยู่กินได้อย่างพอเพียงมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่แค่เรทค่าแรงขั้นต่ำ ถ้าไปดู GDP ของไทย การท่องเที่ยวมีสัดส่วนใหญ่มากเลยนะ แต่ว่าหลายๆ ครั้ง ตัวกลางเอาไปเกือบหมด ขณะที่คนในชุมชนท้องถิ่นกลับไม่ได้รายได้ตรงนี้ สอง-ด้านสังคมและวัฒนธรรม เพราะวัฒนธรรมที่มีอยู่ค่อยๆ หายไป เราจะทำอย่างไรให้วัฒนธรรมเหล่านั้นยังคงอยู่ จากที่เรามองสังคมเดี๋ยวนี้ คนรุ่นใหม่สนใจ Kpop Jpop อะไรไทยๆ รู้สึกมันไม่คูล ไม่เท่ เลยไม่อยากสืบสาน เอาจริงๆ วัฒนธรรมไทยเหล่านี้มันก็คือทุนในด้านการท่องเที่ยวและมรดกของประเทศที่เราทุกคนควรต้องช่วยกันรักษานะ และสาม-ด้านสิ่งแวดล้อม เพราะทุกครั้งที่มีนักท่องเที่ยว แน่นอนมันเกิดผลกระทบในแง่ลบ ไม่ว่าจะเรื่องคาร์บอนไดออกไซด์ ขยะ หรือแค่เดินย้ำเข้าไปในป่ามันก็เกิดรอยทางคนย้ำแล้ว สิ่งที่เราให้ความสำคัญคือทำอย่างไรให้ผลกระทบด้านลบเกิดขึ้นน้อยที่สุดในสถานที่ท่องเที่ยว

Q: จากธุรกิจของครอบครัวที่ทำด้านท่องเที่ยวมาก่อน พอเรามาทำงานของตัวเองที่ทำเรื่องท่องเที่ยวเหมือนกัน สิ่งที่เราเรียนรู้จากธุรกิจครอบครัวได้ใช้ใน HiveSters มากน้อยแค่ไหน?

อชิรญา: ได้เยอะเลย เพราะว่าตั้งแต่เด็ก คุณแม่ก็จะปล่อยให้ไปเที่ยวหลายๆ ที่ เพราะฉะนั้นเราก็จะมีไอเดียกับสถานที่ท่องเที่ยวว่ามีอะไรบ้างอันนี้อันแรก สองก็คือวิธีการทำงานที่เรามีโอกาสไปช่วยพี่ไกด์ตั้งแต่เด็กๆ ทั้งเข็นกระเป๋า จัดเมนูก็ได้เห็นวิธีการทำงาน เรียนรู้ ลองผิดลองถูกมาแล้ว ทักษะตรงนี้เราก็นำมาประยุกต์ใช้กับ HiveSters มาปรับให้เข้ากับลักษณะโปรดักท์ที่เราทำอยู่ ซึ่ง HiveSters เป็นรูปแบบธุรกิจที่อิงมาจากรูปแบบการท่องเที่ยวของเราสองคนที่ไม่ใช่แบบเที่ยวฉาบฉวยเเค่ชิม ช้อป แชะ แต่ความสนใจเราคือเราอยากไปเรียนรู้วัฒนธรรม อัตลักษณ์ของท้องถิ่นนั้นๆ ผู้คน การมีปฏิสัมพันธ์กับคนในพื้นที่ การเที่ยวแบบนี้สำหรับเรา มันเป็นประสบการณ์ที่จะติดตัวเราไปตลอด ไม่มีทางลืม และเราก็อยากให้ประสบการณ์แบบนี้กับลูกค้าของเรา ขณะเดียวกัน เราก็อยากให้ชุมชนมีชีวิต ให้เขาสามารถจัดการการท่องเที่ยวของเขาได้ เป้าหมายเราอยากให้เป็นอย่างนั้น ให้คุณลุงคุณป้ารับลูกค้าเองได้ เขาจะได้มีกิจกรรมทำได้ทุกวันด้วย (ยิ้ม)


Q: การทำงานที่ผ่านมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานบริการที่ต้องเกี่ยวข้องกับคนเยอะมาก ทั้งองค์กร ชุมชน นักท่องเที่ยว ปัญหาหรืออุปสรรคที่เจอมีอะไรบ้าง และแก้ปัญหาอย่างไร?

อชิรญา: แน่นอนการทำงานกับคน ปัญหาหรืออุปสรรคมันย่อมมีอยู่แล้ว แต่ทุกการทำงานมันต้องอาศัยเวลาในการทำความรู้จัก ทำความเข้าใจ สิ่งสำคัญในการทำงานกับชุมชน เราต้องดูว่าชุมชนเข้มแข็งไหม อยากทำจริงๆ หรือเปล่า ประเด็นเหล่านี้เราจะต้องเคลียร์กันอย่างตรงไปตรงมากับชุมชนก่อนที่เราจะทำท่องเที่ยวนะ เพราะเวลาไปคุยไปอธิบาย เขาอาจจะยังไม่เห็นภาพ เพราะมันยังจับต้องไม่ได้ แล้วหลายๆ ชุมชน พอได้ไปทำแล้วเริ่มเป็นรูปธรรมแล้ว คนที่ยังไม่ได้เริ่มทำพอเขามาเห็นว่า อ๋อจริงๆ เป็นอย่างนี้นะ ก็จะเริ่มมีคนกลุ่มใหม่เข้ามาสนใจ มาถามว่ามีอะไรให้ช่วยไหม เช่น เด็กรุ่นใหม่ พอเห็นนักท่องเที่ยวเข้ามา เขาก็เริ่มสนใจ เริ่มมาช่วย มาเป็นลูกมือ

ชญานิศ: มิ้นท์ว่าการท่องเที่ยว เอาจริงๆ มันเหมือนดาบสองคม ถ้าทำให้ดี มันจะดีไปเลย แต่ว่าถ้าทำในเวลาที่ไม่พร้อมมันอาจจะเกิดความขัดแย้งขึ้นได้ ถ้าเปรียบง่ายๆ ก็เหมือนการสร้างบ้านสักหลังหนึ่ง โครงบ้านมันต้องแข็งแรง จากนั้นประตู หน้าต่าง ผนัง มาเสริมเพิ่มเติม เราก็จะได้บ้านที่สมบูรณ์ แต่ถ้าเสาบ้านโครงบ้านยังอ่อนแอ มันอาจจะส่งผลกระทบไปถึงความสัมพันธ์ของคนในชุมชนได้ ซึ่งถ้าชุมชนไหนยังไม่พร้อม เราก็อาจจะยังไม่จัดตรงนี้ แต่ถ้าอยากให้เราช่วยแนะนำเพื่อเพื่อให้เขาพร้อม เรายินดีมากเลย

Q: คือไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ จะเข้าไปจัดการนั่นนี่ได้เลย?

อชิรญา: เวลาเราเข้าไป เราเข้าไปบนพื้นฐานของความเคารพในสิ่งที่ชุมชนมี อชิว่ามันเป็นศาสตร์และศิลป์ ซึ่งถ้าเราเข้าไปด้วยความตั้งใจที่ดี เขาก็จะเห็นเองว่าเรามาดี เราเองก็ต้องแสดงความจริงใจ บอกกับเขาว่าเที่เราเข้ามาเรามีจุดประสงค์ที่อยากจะมาพัฒนาจริงๆ ไม่ใช่มาทำแบบแป๊บๆ แล้วก็ไป

Q: แล้วความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชุมชนละคะ?

อชิรญา: การเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดเจนคือรายได้ จากแต่ก่อนที่เวลามีทัวร์มาลง ชาวบ้านในชุมชนก็นั่งกันตาปริบๆ แต่ว่าตอนนี้ถ้านักท่องเที่ยวเข้าไป เราพยายามจัดกิจกรรมให้คนที่อยู่ในชุมชนได้รับรายได้ และเป็นรายได้ที่ยุติธรรมและสมเหตุสมผลทั้งฝั่งชาวบ้านและนักท่องเที่ยวด้วย สองจะเป็นในแง่ของวัฒนธรรม เมื่อมีนักท่องเที่ยวไปเรียน มันกลายเป็นว่า สิ่งเหล่านี้ได้รับการสืบสานโดยเด็กรุ่นใหม่ที่เข้ามาเป็นลูกมือ อย่าง กิจกรรมเรียนรำกับคุณยาย จากแต่ก่อนที่คุณยายพยายามชักชวนให้มาเรียนสิ ยายอยากสอน พอมีนักท่องเที่ยวเข้าไปเรียน ก็มีการบอกต่อ ตอนนี้ก็มีเด็กๆ สนใจอยากมาเรียน นั่นก็ทำให้สิ่งที่คุณยายอยากให้คงอยู่ถูกสานต่อ ท่านก็ดีใจ เพราะท่านมี passion และ passion นั้นก็มีคนมาตอบรับแล้ว ซึ่งเหล่านี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่นับว่าดีมาก หรือคุณยายเบิ้มที่เกาะศาลเจ้า ซึ่งปกติแล้วก็จะขายของเล็กๆ น้อยๆ ให้นักท่องเที่ยวในวันเสาร์อาทิตย์ อาจมีผัดหมี่บ้าง ขนมกล้วยบ้าง วันหนึ่งเราเดินไปจ๊ะเอ๋ยาย ก็เลยถามท่านว่าคุณยายสอนนักท่องเที่ยวทำขนมไหม แล้วตั้งแต่บัดนั้น คุณยายก็สอนทำขนมกล้วย ทุกวันนักท่องเที่ยวเดินถือแผนที่ เข้าไปในชุมชนแล้วก็บอก Where is Yai Berm? จะมาเรียนขนมกล้วย (ยิ้ม) คุณยายก็มีความสุข


ชญานิศ: นี่เป็นสิ่งที่เราเห็นด้วยตาเปล่า แต่ว่าเรามีแพลนที่จะวัดผลอีกครั้งหนึ่งซึ่งต้องใช้เวลาเก็บข้อมูล โดยให้ third party เข้าไปเก็บข้อมูลว่าจริงๆ แล้ว คนในชุมชนรู้สึกอย่างไร รู้สึกเปลี่ยนแปลงไหม อย่างชุมชนในโครงการ APPEAR คือปกติเขาจะมีกลุ่มคนที่ทำท่องเที่ยวอยู่แล้ว มีคนเข้าไปเยี่ยมชมดูงาน แต่ว่าก่อนหน้านี้ไม่ได้แบบขายเชิงพาณิชย์ นี่เลยเป็นครั้งแรกที่เริ่มมีนักท่องเที่ยวเข้าไปจริงๆ แล้วสร้างรายได้จริงๆ หรือชุมชนตลาดน้อยที่ตอนนี้มีบริษัททัวร์เมืองนอกไปติดต่ออาอี้ให้รันทริปให้ ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดียิ่ง

Q: หลังจากที่ทำ HiveSters มุมมองในการทำงานและการมองสังคมเปลี่ยนไปจากเดิมไหม?

อชิรญา: อย่างอชิกับมิ้นท์ เราเหมือนมาจากคนละโลกกัน มิ้นท์จะเป็นโลกของการพัฒนา อชิอยู่ในโลกธุรกิจ สมัยก่อน เวลาจะทำอะไร เราจะมีแพลนในการขายโปรดักท์สักชิ้น โปรดักท์มันไม่เปลี่ยน เราก็จะทำหนังโฆษณาแอร์ เรดิโอสปอต แมกกาซีน ทำอะไรจะเป็นขั้นตอน แล้วก็เห็นผลตามที่เราวางไว้ แต่เมื่อเราก้าวมาทำ HiveSters มันคืองานบริการ ทำงานกับคน ซึ่งเป็นโปรดักท์ดุ๊กดิ๊กได้ ดิ้นได้หมดเลย มันไม่ใช่โปรดักท์ก้อนสี่เหลี่ยม เราต้องทำงานกับคน ไม่ว่าจะเป็นชุมชน ลูกค้า พาร์ทเนอร์ เป็นการเปิดโลกทัศน์อันยิ่งใหญ่มาก ถึงแม้เราจะโตมากับธุรกิจท่องเที่ยว แต่ก็มีอะไรที่ต้องเรียนรู้อีกเยอะ ซึ่ง beyond service ด้วย

การทำงานกับชุมชนเเป็นศาสตร์และศิลป์ เป็นงานที่ละเอียดอ่อน เพราะเราต้องคุยกับหลายฝ่าย คุยกับคนในทีม คุยกับคุณลุงคุณป้า ทำอย่างไรให้ทุกฝ่ายมองไปที่ปลายทางเดียวกัน แล้วเซอร์วิสเป็นอะไรที่ต้องไม่ตายตัว อย่างจัดทัวร์ เราต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตลอดเวลา อะไรก็เกิดขึ้นได้ ฝนตกต้องทำอย่างไร ซึ่งสิ่งที่สำคัญมากๆ สำหรับ HiveSters ก็คือทีมงาน อย่างไกด์ที่เราพาไป แม้จะมีไกด์ท้องถิ่นอยู่แล้ว แต่ก็ต้องเทรนไกด์ที่เขาพูดภาษาอังกฤษให้เข้าใจชุมชนด้วย เพราะเขาเองจะชินกับสถานที่ท่องเที่ยวหลักเช่นวัดวัง ฉะนั้นการเทรนทีมก็ขั้นแอดวานซ์เหมือนกัน ขนาดพี่ไกด์ที่เค้าทำมาแบบ 40-50 ปี เขายังบอกเลยว่าสิ่งที่ HiveSters ทำอยู่มันหินมากเลยนะ อชิรู้ไหม เราก็บอกว่ารู้ (ยิ้ม)

ชญานิศ: สำหรับมิ้นท์ ก่อนหน้านี้ได้ทำเกี่ยวกับการพัฒนา ด้านนโยบาย ด้านกฎหมายอะไรต่างๆ มาก่อน ก็จะเป็นอะไรที่ จับต้องยากนิดนึง ต้องไปคิดมาแล้วก็ต้องมีการรณรงค์ผลักดันคนอื่นให้มันเกิดขึ้นเพราะเราไม่ใช่คนที่มีอำนาจในการตัดสินใจ และต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผล แต่ HiveSters ได้ลงมือทำเองแล้วเห็นผลเป็นชิ้นเป็นอัน ณ ตอนนั้นเลย อย่างพานักท่องเที่ยวไปชุมชนครั้งนึง เราเห็นได้เลยทันที่หลังจบทริปว่าคุณลุงคุณป้ามีความสุขที่มีคนมาสนใจสิ่งที่เขาทำอยู่ หรือเรารู้ได้เลยว่าวันนี้เขามีเงินที่จะเอาไปใช้จ่ายซื้อสิ่งที่จำเป็นสำหรับบ้านเขา ครอบครัวเขา แล้วมันก็เป็นเรื่องท้าทายล้วนๆ สมมติทำงานในด้านการพัฒนา คนที่ได้เงินทุนสนับสนุนให้มาทำกิจกรรมก็จะทำโครงการแล้วรายงานผลที่เกิดขึ้นกลับไป คือเราสามารถโฟกัสแค่งานด้านสังคมและการพัฒนาอย่างเดียวได้เลยเพราะมีเงินสนับสนุนแล้ว แต่การทำงานตรงนี้จะต้องทั้งคิดเพื่อแก้ปัญหาทางสังคมและต้องคิดด้วยว่าทำอย่างไรบริษัทจะอยู่ได้ด้วยในเชิงธุรกิจ ซึ่งโลกธุรกิจเป็นเรื่องที่ใหม่สำหรับเรา ทำให้เราเริ่มเข้าใจการทำธุรกิจ การตลาด การขาย และการอยู่ในวง Social Enterprise ทำให้เราเปิดโลกกว้างมากในการมีโอกาสมาเรียนรู้การ ใช้ Theory of Changes หรือการนำกระบวนการความคิดแบบ Design Thinking มาใช้วิเคราะห์และแก้ปัญหา

Q: คำจำกัดความเรื่องความสำเร็จและความสุขเป็รอย่างไร ณ ตอนนี้?

อชิรญา: ถ้าหากว่าวัดค่าความสำเร็จ อชิว่ามันก็วัดยากนะ แต่ว่าถ้าถามว่าตอนนี้รู้สึกอย่างไร แฮปปี้ไหมที่เรามาถึงปัจจุบันนี้ แฮปปี้มาก เพราะระยะเวลาแค่ 3 ปี ได้ขนาดนี้เราพอใจมากๆ ปีนี้เราได้รับรางวัลท่องเที่ยวระดับโลก Golden Palm Award จาก ITB Berlin รางวัลกินรี เเละรางวัลคุณภาพจากกรมการท่องเที่ยว เราคิดว่าเราพัฒนาไปได้มากกว่านี้อีกในอนาคต ไม่หยุดอยู่เเค่นี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เรากำลังพยายามขยายและสร้างอิมแพคต่อไป เพราะอชิว่าสิ่งที่เราทำอยู่หลักๆ มันคือการสร้างความสุข ไม่ว่าจะให้กับลูกค้าที่มาเที่ยว ให้กับชุมชนที่เราทำงานด้วย แล้วเวลาเราเห็นอะไรระหว่างทริป เราจะเห็นเลยว่าสิ่งที่เราทำมันใช่ เห็นลูกค้าที่มาเที่ยวได้ไปเรียนทำขนมไทย รำ เห็นคุณยายมีความสุข ยิ้ม ดีใจ เราก็จะมีความสุข มันเป็นความสุขที่จับต้องได้ แล้วเราไม่อยากให้มันหยุดอยู่แค่นี้ เราอยากขยายต่อไปอีก

วันก่อนอชิเพิ่งคิดถึงวันที่เราเริ่มต้นครั้งแรก เราเริ่มจากไอเดียแค่โทรมาเม้าท์มอยกัน แล้วตอนนั้นมีโครงการ Banpu Champions for Change (BC4C) ปี 4 ของบ้านปู เพื่อนมิ้นท์ก็แนะนำว่าให้ลองสมัครดู เราก็เลยลองสมัคร ซึ่งได้รางวัลชนะเลิศมา ทำให้เราได้เงินทุนที่จะทำให้ไอเดียเกิดขึ้นจริง ทำให้เราบอกตัวเองว่าเฮ้ยมันจริงๆ แล้วนะ ระหว่างทางเราฝ่าผันอะไรมาเยอะ อชิว่าแค่สร้างบริษัทตัวเองก็ยากแล้วนะคะ แต่สร้างธุรกิจเพื่อสังคมเป็นอะไรที่ยากกว่า เราลองผิดลองถูกมาเยอะ อย่างบางทีสิ่งที่เขาทำกันมาในตลาดก็อาจจะใช้กับชุมชนไม่ได้ แล้วเราก็ต้องมาหาวิธีการปรับเปลี่ยนให้มันใช้ได้

ชญานิศ: การดำเนินมาถึง ณ จุดนี้ หลังจากเห็นทุกอย่างเกิดขึ้น มิ้นท์รู้สึกว่า หนึ่งมันต้องใช้เวลา สองต้องมีความตั้งใจมากๆ อย่างโครงการ APPEAR มันเป็นแนวความคิดที่ใหม่มากตอนที่ทำเพราะตอนนั้นนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ยังไม่รู้จักชุมชนในโครงการ ยังไม่เคยมีใครจับคู่โรงแรมกับชุมชนมาทำงานโปรโมทการท่องเที่ยวและแก้ปัญหาสังคมร่วมกัน แล้วเราไปเคาะประตูขอเข้าพบกับโรงแรมหลายแห่งในกรุงเทพฯ ซึ่งบางคนก็จะถามว่า HiveSters คืออะไรเพราะเราเป็นน้องใหม่ ทำโครงการนี้ทำไม ทำไมเขาต้องเสียเวลาการทำงาน ยังไม่ค่อยมีใครเข้าใจ ไม่มีใครเห็นภาพว่าตอนจบจะเป็นไปอย่างไร จากวุ้นเป็นก้อนๆ ทำจากไม่มีอะไรเลย แล้วก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะสำเร็จไหม เราต้องสร้างความมั่นใจ หาความร่วมมือ จนกระทั่งเป็นรูปเป็นร่างเกิดพาร์ทเนอร์ขึ้น แล้วตอนนี้เราชื่นใจที่เห็นผลว่ามันเกิดขึ้นจริงแล้ว HiveSters ได้พานักท่องเที่ยวจริงไปไปชุมชนในโครงการแล้ว

โรงแรมสุโขทัยมีการสั่งซื้อน้ำฟักข้าวจากชุมชน จัดระดมทุนในโรงแรมให้ชุมชนเพื่อนำไปสร้างที่พักต้อนรับนักท่องเที่ยว โรงแรมอนันตราสอนเด็กในชุมชนในการแยกขยะและจัดซื้อกล่องแยกขยะให้เพราะขยะในชุมชนทำให้กระทบเรื่องการท่องเที่ยวได้ หรืออย่างโรงแรมเอราวัณก็กำลังพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวในบางลำพู และบันยันทรีได้จัดกิจกรรมทำความสะอาดในชุมชน สุโกศลได้สั่งขนมชุมชนเข้าในไลน์บุฟเฟ่ของโรงแรม ซึ่งเป็นความสำเร็จที่เราดีใจว่าเห็นโรงแรมเขาร่วมมือกับชุมชนแล้ว และก็เป็นครั้งแรกของบางแห่งเลยที่เดียว และความร่วมมือนี้ก็ไม่ได้หยุดแค่นี้ ทุกวันนี้เรายังประชุมกันอยู่ว่าต่อไปเราจะทำกิจกรรมอะไรดี เป็นจุดเริ่มต้นความสำเร็จเล็กๆ ที่ภูมิใจ จากความไม่แน่ใจมาถึงรางวัลจาก ITB Berlin ที่ช่วยยืนยันอีกทีว่าเรามาถูกทางแล้ว มันก็ทำให้เราเรียนรู้ในครั้งต่อไปว่าถ้าเรามีไอเดียจะทำอะไรใหม่ๆ ที่เป็นนวัตกรรมและเราเชื่อในไอเดียนั้นว่ามันจะแก้ปัญหาจริง การที่มันดูมัวๆ และต้องคลำต้องหาทางออกเนั้นเป็นเรื่องธรรมดาและเราต้องไม่ท้อ สุดท้ายแล้วเวลาเราเห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวคนในชุมชนในชีวิตของเขาไปในทางที่ดีขึ้น มันทำให้เรารู้สึกว่าสิ่งที่ทำนี้มันคุ้มค่า

อ้างอิง: hivesters.com
ภาพ: hivesters.com, Maneenoot Boonrueang

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles