สถาปัตยกรรมสามารถช่วยยกระดับชีวิตผู้คนให้ดีขึ้นได้ เมื่อเข้ามาแก้ปัญหาที่สังคมนั้นกำลังประสบอยู่ เช่นกันกับแนวคิดของโครงการ HOME-FOR-ALL ซึ่งเป็นองค์กรไม่หวังผลกำไร ก่อตั้งโดย Toyo Ito สถาปนิกชาวญี่ปุ่น เพื่อให้เหล่าสถาปนิกร่วมช่วยกันออกแบบสถาปัตยกรรมให้กับผู้คนที่เดือดร้อนจากภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่น
เมื่อปี 2554 เกิดเหตุแผ่นดินไหวและสึนะมิในที่โทะโฮะคุ เมืองโสะมะ จังหวัดฟุคุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น เหล่าสถาปนิกในญี่ปุ่นจึงเข้ามาร่วมด้วยช่วยกันทำงานสถาปัตยกรรมแก้ปัญหานี้ จึงเป็นอาคารศูนย์ชุมชนที่พักพิงชั่วคราวที่ออกแบบสถาปัตยกรรมโดยสำนักงานสถาปนิกในญี่ปุ่น Toyo Ito & Associates และ Klein Dytham architecture
ภัยพิบัติคราวนั้นทำลายบ้านเรือนกว่า 250,000 หลังคาเรือน บ้านฉุกเฉินถูกสร้างขึ้นอย่างเร่งด่วน แต่ยังขาดพื้นที่ร่วมกันในชุมชน จึงกลายเป็นอาคารหลังนี้ที่แล้วเสร็จในปี 2558 ตัวอาคารมีหลังคารูปทรงคล้ายหมวกฟางญี่ปุ่นด้วยโค้งที่มาจากเส้นสายของโครงสร้างหลังคา กิจกรรมภายในเน้นให้เด็กอายุไม่เกิน 4 ขวบสามารถเข้ามาเล่นข้างในได้ เพื่อป้องกันผลกระทบจากรังสีหลังแผ่นดินไหว เมื่อเด็กไม่สามารถเล่นภายนอกได้อย่างอิสระ การออกแบบพื้นที่ภายในจึงเป็นการจำลองธรรมชาติจากภายนอก ด้วยรูปทรงต้นไม้จำลองที่เป็นทั้งโครงสร้างเสา พร้อมกับตกแต่งไปด้วยการฉลุเป็นนกฮูกเกาะกิ่งเสาไม้
วัสดุที่เลือกใช้ก็เป็นไม้ที่ประกอบจากแผ่นไม้ชิ้นบาง ซ้อนกันไปจนเป็นโครงหลังคาผืนใหญ่ สามารถเป็นทั้งส่วนตกแต่งและโครงสร้างในคราวเดียวกัน เป็นทั้งโครงสร้างพร้อมการตกแต่ง แม้ว่าจะเป็นไม้ แต่ด้วยการออกแบบให้ไม้ซ้อนกันอย่างเป็นระบบหลายชั้น มันสามาถกลายเป็นโครงสร้างที่กว้างได้กว่า 20 เมตรเลยทีเดียว
เหล่าสถาปนิกสามารถมีบทบาทต่อการพัฒนาสังคมเราได้ เพียงแค่ช่วยกันคนละนิด แล้วผลลัพธ์จะก่อตัวเป็นความยิ่งใหญ่ยั่งยืนได้เอง
อ้างอิง: Toyo-Ito, Klein-Dytham, dezeen, archdaily