Homily to Country 2020 : ร้องคืนความสมบูรณ์ให้ระบบนิเวศในแม่น้ำดาร์ลิ่งโดยศิลปิน JR

Homily to Country 2020  คือโปรเจ็กต์อาร์ตต่อเนื่องของ JR ศิลปินร่วมสมัยชาวฝรั่งเศสจัดร่วมกับ NGV Triennial ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของศูนย์ศิลปะแห่งชาติ National Gallery of Victoria ประเทศออสเตรเลีย โครงการนี้นำเสนอปัญหาการลดลงของระดับน้ำและความเสื่อมสลายของระบบนิเวศในแม่น้ำดาร์ลิ่ง อันเนื่องมาจากปัญหาการขาดแคลนด้านชลประทาน ภัยแล้ง และสภาวะโลกร้อน นับเป็นปัญหาที่คล้ายกันทั่วโลก ศิลปิน JR ได้สนใจสะท้อนปัญหานี้มาก่อนหน้านี้แล้วในชื่อโปรเจ็กต์ว่า Omelia Contadina, Castel Giorgio & Odano, Italy 2019 ที่เกษตรกรพื้นถิ่นต้องพบกับการขาดแคลนน้ำและการชลประทานที่ลดน้อยลง อันเนื่องมาจากมีกลุ่มธุรกิจด้านการเกษตรกรรมขนาดใหญ่เข้ามาในพื้นที่และทำให้สภาพแวดล้อมเสียไป

แม่น้ำดาร์ลิ่งหรือชาวบ้าน Baakandji เรียกว่า Baaka ยาว 1,472 กิโลเมตร จัดเป็นแม่น้ำที่ยาวเป็นอันดับสามของประเทศ และเป็นแหล่งทรัพยากรที่หล่อเลี้ยงชุมชนมากมาย บางช่วงของลำน้ำเกิดการเปลี่ยนแปลงจากเคยสมบูรณ์กลายเป็นแห้งแล้ง สร้างความเดือดร้อนให้หลากหลายชีวิตทั้งคน และสัตว์ ชาว Baakandji ต้องประสบความยุ่งยากในการทำการเกษตรและพยายามหาทางออกให้กับวิกฤตภัยธรรมชาตินี้

ภาพเหมือนของคนทั้งสื่คนนี้ ประกอบไปด้วย Badger Bates ศิลปินอาวุโสผู้บอกเล่าเรื่องราววัฒนธรรมพื้นบ้านและเป็นที่เคารพของชาว Baakandji, Rachel Strachan และ Alan Whyte ชาวสวนผลไม้ที่เคยถูกกดดันให้ย้ายครอบครัวไปเนื่องจากประสบปัญหาการขาดแคลนด้านชลประทาน ทั้งๆ ที่ครั้งหนึ่งพื้นที่ตรงนี้เคยทำการเพาะปลูกสร้างผลผลิตและมีรายได้จากสวนผลไม้อย่างมากมาย และ Wayne Smith ซึ่งทำการเกษตรมายาวนานสืบเนื่องมาถึงรุ่นที่ 6 บรรพบุรุษของเขาตั้งรกรากทำมาหากินที่นี่มาตั้งแต่ประมาณปี 1890

ภาพเขียนขนาดใหญ่ยาว 30 เมตรของทั้งสี่คนถูกจัดวางลงในพื้นที่ซึ่งแสดงถึงปัญหาสภาพแวดล้อมที่เสียไปในแอ่งทะเลสาบน้ำจืด Menindee ซึ่งเชื่อมต่อกับแม่น้ำดาร์ลิง แล้วกลับมีสภาพเหือดแห้ง โดยที่ชาวบ้านทั้งหมดพากันแห่ภาพทั้งสี่มาปะติดกัน ศิลปินได้จัดการถ่ายภาพทางอากาศบอกเล่าเรื่องราวเป็นสัญลักษณ์ให้เห็นถึงชะตากรรมชีวิตของมนุษย์ที่กำลังเผชิญกับภัยพิบัติจากสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศที่พังทลาย

โปรเจ็กต์ Homily to Country 2020 นี้นำเสนอเป็นสามส่วน ประกอบด้วยรูปแบบศิลปะจัดแสดงรูปลักษณ์ของโบสถ์ที่เปิดโล่งพร้อมด้วยภาพเหมือนทำด้วยกระจกสีของชาว Baakandji ทั้งสี่คน ตั้งแสดงอยู่ด้านหน้าสวนประติมากรรม Grollo Equiset Garden ทางเข้าศูนย์ศิลปะ NGV ที่กรุงเมลเบิร์น พร้อมด้วยภาพยนตร์สารคดีสั้นประกอบเรื่องราว และได้จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2563 จนถึง 18 เมษายน 2564 ส่วนผลงานชิ้นล่าสุดจัดแสดงขึ้นที่ทะเลสาบ Menindee รัฐนิวเซาท์เวลส์ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมานี้ ถ่ายภาพโดย Tomm Ross ศิลปินชาวออสเตรเลีย

ปัญหาสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปนี้เกิดขึ้นเพราะระบบการทำเกษตรกรรมขนาดใหญ่ที่เน้นผลิตพืชผลชนิดเดียว กักเก็บน้ำและกั้นทางชลประทานเพื่อธุรกิจของตนจนทำลายระบบนิเวศและความหลากหลายที่ควรเป็น เป็นการสะท้อนถึงระบบทุนและอุตสาหกรรมที่ต้องการผลกำไรโดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่ตามในในอนาคต ซึ่งสังคมโลกต้องชดใช้ค่าเสียหายนั้นมากมายมหาศาลกว่าจะพลิกฟื้นความสมบูรณ์ของธรรมชาติให้กลับมา และทุกชีวิตสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม แล้วจะมีวันนั้นหรือไม่…ใม่มีใครรู้!

https://vimeo.com/518231391

แปลและเรียบเรียงจาก: www.designboom.com
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม: www.jr-art.net, www.ngv.vic.gov.au

วรัญญู อุดมกาญจนานนท์

Art may not be the only way to brighten the world, but it is essential to create a beautiful life. รักงานสร้างสรรค์อิสระ...งานเขียนเป็นหนึ่งในนั้น เพราะตัวหนังสือคือความคิดที่เชื่อมโลกกับเราไว้ด้วยกัน

See all articles