INCARNATE: แฟชั่นชุดห่อหุ้มขยะ สะท้อนปัญหาการคุกคามสัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม

รีไซเคิลอาร์ตอาจไม่ใช่ของใหม่ในแวดวงการศิลปะ แต่ท่ามกลางสภาวะอากาศแปรปรวนและโลกร้อนที่เรากำลังเผชิญ การแปรรูปขยะให้เป็นสิ่งสร้างสรรค์ถือว่าจำเป็น เพื่อส่งเสียงกระตุ้นเตือนให้ทุกภาคส่วนคำนึงถึงปัญหา และภัยพิบัติที่ส่งผลกระทบทุกชีวิต ศิลปะอาจเป็นตัวอย่างหนึ่งที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง มีอุตสาหกรรมอื่นอีกมากมายที่สามารถนำวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ใหม่ได้  “เอ๋ “ วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ คือศิลปินผู้สนใจงานด้านรีไซเคิลอาร์ตมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ตั้งแต่สมัยเรียนที่คณะศิลปกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทุกวันนี้กล่าวได้ว่าเธอคือศิลปินผู้สร้างสรรค์งานอาร์ตจากขยะแนวหน้าคนหนึ่งของเมืองไทย

ที่มาของงานแสดงศิลปะชุด INCARNATE

โดยปกติแล้วงานที่ทำมักเป็นงานศิลปะจัดวางหรืออินสตอลเลชั่น เช่น ประติมากรรมวาฬตัวโตที่ทำจากพลาสติกเหลือใช้ ซึ่งทำร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ในโครงการ “ขยะล่องหน” Care the Whale เมื่อปี 2562 มาปี 2564 นี้เป็นผลงานในรูปแบบของ performance art ผสมกับการเดินแฟชั่น โดยใช้ชื่อชุดว่า INCARNATE เป็นงานที่น่าทึ่ง สตั้นต่อทุกสายตาผู้ชมในงาน Mango Art Festival ซึ่งจัดขึ้นที่ LHONG 1919 เมื่อวันที่ 3-6 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา และได้รับเสียงตอบรับจากสังคมและชุมชนคนรักศิลปะมากมาย เริ่มต้นจากความใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมมาเมื่อ 7-8 ปีก่อน ซึ่งใช้วัสดุจากขยะรีไซเคิลมาผลิตงาน ในชุดแรก ๆ ยังใช้การพ่นสีเสปรย์ แต่ในชุดหลัง 3-4 ปีที่ผ่านมานั้น เอ๋ ก็พัฒนาไปสู่การไม่ใช้สีเสปรย์ใด ๆ ที่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เรียกว่าเป็นงานที่ตรงกับคอนเส็ปต์ และนำไปรีไซเคิลได้ร้อยเปอร์เซนต์ ซึ่งในแต่ละชิ้นงานนั้นจะคำนวณเป็นคาร์บอนฟุ๊ตพรินท์ไว้ด้วยว่าเราใช้ปริมาณขยะไปเท่าไหร่และช่วยลดคาร์บอนในสภาพแวดล้อมได้จริง เพราะการนำวัสดุใหม่มาใช้เท่ากับการสร้างขยะเพิ่มให้กับโลกด้วย

แม้จะเป็นงานรีไซเคิลเหมือนกันแต่ทุกงานย่อมต้องมีแนวคิดที่แตกต่าง

การแสดงงานนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าไปเจอะเจออะไรที่กระทบใจ จัดเป็นแรงบันดาลใจในโปรเจ็กต์นั้น เช่น งานชิ้นล่าสุดนี้เกิดจากการไปเดินป่า แล้วสะเทือนใจเกี่ยวกับสัตว์ป่าที่ได้รับผลกระทบจากขยะพลาสติก จึงนำมาเป็นไอเดียในการผลิตงาน คืออยากให้มนุษย์รู้สึกถึงความแปลกปลอม และพิษภัยที่เข้าไปปนเปื้อนในชีวิตสัตว์ จึงออกแบบเป็นชุดเสื้อผ้าที่หากคนได้สวมใส่แล้วจะรู้สึกถึงความรุงรังอึดอัด และลำบากในการใช้ชีวิตมากมายแค่ไหน เราอาจเห็นภาพจากสารคดีที่สัตว์ทั้งหลายต้องตาย เพราะกินขยะพลาสติกที่กระเพาะเขาไม่อาจย่อยได้ หรือ ยางพลาสติกที่ติดรัดตัวจนพัฒนาการบิดเบี้ยว พิกลพิการ ซึ่งความบิดเบี้ยวเหล่านั้นล้วนเกิดจากพฤติกรรมการบริโภคและการทิ้งขยะของมนุษย์ ท้ายสุดชีวิตสัตว์ป่าเหล่านั้นก็ค่อย ๆ สูญพันธุ์ไป ไม่ต้องแปลกใจเลยที่แฟชั่นชุดประหลาดเหล่านี้ถึงมาห่อหุ้มบนร่างของนายแบบ นางแบบ พร้อมทั้งเดินอวดโฉมต่อสายตาผู้ชม ไม่ใช่เพื่อการค้า หรือความสวยงาม แต่เป็นการสะท้อนภาพความจริง เปลือยความเห็นแก่ตัว และไม่รับผิดชอบของคนเราออกมาในรูปของแฟชั่น

นี่อาจเป็นเสียงหนึ่งที่ร้องทุกข์แทนสัตว์ป่าและธรรมชาติที่กำลังเดือดร้อน แต่ไม่ว่าจะกู่ร้องดังแค่ไหน ก็ใช่จะเปลี่ยนโลกให้พ้นจากวิกฤตปัญหาได้ง่าย ก็เพราะพฤติกรรมการบริโภคของผู้คนในสังคมที่ยังคงอยู่ในวงจรแห่งการผลิตและการสร้างขยะมลพิษทุกวัน  งานศิลปะชุดนี้หลังจากจบที่งาน Mango Art Festival แล้วตามกำหนดการเดิมนั้นยังจะนำไปจัดแสดงต่อที่แกลเลอรี่ Cu Art 4C ตลอดเดือนเมษายนด้วย แต่เนื่องจากเหตุการณ์ระบาดระลอกใหม่ของโควิดจำเป็นต้องงดไปอย่างน่าเสียดาย ถึงอย่างไรก็ตามเรายังคงติดตามความเคลื่อนไหวและผลงานสร้างสรรค์ชุดใหม่ที่จะช่วยปลุกจิตสำนึกให้สังคมเกิดความตื่นตัวรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมต่อไป

อ้างอิง: www.facebook.com

Tags

วรัญญู อุดมกาญจนานนท์

Art may not be the only way to brighten the world, but it is essential to create a beautiful life. รักงานสร้างสรรค์อิสระ...งานเขียนเป็นหนึ่งในนั้น เพราะตัวหนังสือคือความคิดที่เชื่อมโลกกับเราไว้ด้วยกัน

See all articles

Next Read