School of Changemakers องค์กรบ่มเพาะนักเปลี่ยนแปลงสังคม

(จากซ้ายไปขวา) คุณลัพธวรรณ ลีรพงษ์กุล (โม), คุณวิชยพัฐ เสนาปัก (บอย), คุณกอปรทิพย์ อัจฉริยโสภณ (จือ), คุณธุวรักษ์ ปัญญางาม (เกด), คุณพรจรรย์ ไกรวัตนุสสรณ์ (นุ้ย) และคุณวรกมล ด่านประดิษฐ์ (อ้อ)

‘บ่มเพาะ’ เกิดขึ้นจากคำสองคำ นั่นคือ ‘บ่ม’ ที่แปลว่า สั่งสม อบรมให้สมบูรณ์ และ ‘เพาะ’ ที่หมายถึง ทำให้เกิดขึ้น เมื่อคำสองคำนี้มาเจอกัน ก็มักจะนำมาซึ่งการเริ่มต้น การสั่งสม การอบรมให้เกิดความเจริญก้าวหน้า งอกเงย สมบูรณ์ และนี่ก็เป็นสิ่งที่โครงการ School of Changemakers ทำมาตลอดระยะเวลาที่ผ่าน โดยมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ที่มีความตั้งใจจริงกับการความเปลี่ยนแปลงในสังคม ผ่านเครื่องมือที่พวกเขาใช้ นั่นคือ ‘นวัตกรรม (Innovation)’ และ ‘ความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship)’

วันนี้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณพรจรรย์ ไกรวัตนุสสรณ์ (พี่นุ้ย) รองผู้อำนวยการมูลนิธิ อโชก้า ประเทศไทย และหัวหอกหลักของโครงการดังกล่าว ถึงกระบวนการคิดในการนำสองสิ่งข้างต้นมาสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม พัฒนาการของปัญหาสังคมที่มีต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่น่าสนใจไปกว่านั้น ความท้าทายในเส้นทางของการ ‘บ่ม’ และ ‘เพาะ’ เหล่านักเปลี่ยนแปลงสังคม ตลอดจนเครื่องมือสำคัญอย่างความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมว่าสามารถเปลี่ยนแปลสังคมได้จริงหรือไม่…

Q: ก่อนที่จะมาทำงานด้านสังคม พี่นุ้ยเรียนและทำงานด้านไหนมาก่อน?

A: หล้งจากเรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พี่ได้ทำงานสายนิเทศศาสตร์อยู่ 3 เดือน พอพ้นโปรก็ลาออก เพราะรู้ว่าตัวเองไม่ชอบงานในสายนี้ เลยตัดสินใจไปอยู่ที่อเมริกา 1 ปี เพราะอยากรู้จริงๆ ว่าชอบและอยากทำอะไร ตอนนั้นคิดว่าถ้าได้คำตอบแล้วจะกลับมา ด้วยความที่มีเวลานั่งคิดก็เลยมีโอกาสค้นหาจุดที่รู้สึกว่าอยู่แล้วมีคุณค่า ประกอบกับพื้นฐานครอบครัวเป็นผู้ประกอบการ พี่เลยถูกเลี้ยงมาในสิ่งแวดล้อมที่ให้คิดและทำแบบเจ้าของกิจการ ก็กลับมาพร้อมกับแผนธุรกิจ ซึ่งสิ่งที่พี่อยากทำตอนนั้นคือบ้านดูแลเด็กกำพร้า โมเดลที่คิดไว้คืออยากให้มีคนมาช่วยออกแบบและขายงานซึ่งคนที่อาศัยอยู่ในบ้านสามารถทำได้ โดยเราจะทำการตลาดให้ ถ่ายทอดความรู้ และทำแผนธุรกิจที่ดี ซึ่งน่าจะช่วยสนับสนุนบ้านเด็กกำพร้าที่ต้องการความช่วยเหลือได้ แต่พอกลับมา ก็มีคนไปชวนไปทำงานที่ CIVICNET (มูลนิธิการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม) เสียก่อน สิ่งที่เตรียมไว้เลยยังไม่ได้ทำ

Q: การทำงานที่ CIVICNET ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของงานสายสังคมเลยไหม?

A: ที่นี่ พี่เป็นฟรีแลนซ์ประจำ รับผิดชอบงานเป็นโครงการ ซึ่งในแต่ละโครงการก็จะมีโอกาสได้เจอกลุ่มคนทำงานภาคสังคมในประเทศไทย การทำงานที่นี่ทำให้เราเห็นการทำงานภาคสังคมจริงๆ เพราะตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยจนถึงช่วงจบมาใหม่ๆ พี่มองว่าหากจะทำงานภาคสังคม นอกจากต้องมีใจแล้วเราต้องมีสตางค์ด้วย ยังไม่เข้าใจว่าภาคสังคมมีโอกาสที่สามารถเป็นสตาร์ทอัพได้ มีงานให้ทำ มีองค์กรต่างๆ รองรับ และโอกาสมีเยอะแยะ หลังจากที่ได้เรียนรู้จากที่นี่ เลยตัดสินใจทำสตาร์ทอัพของตัวเองชื่อ YIY (Youth Innovation Year) ร่วมกับ สุนิตย์ (เชรษฐา) และ อุ๊ กฤตยา (ศรีสรรพกิจ) โดยก่อตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ ที่มีอายุตั้งแต่ 15-25 ปี มีโอกาสได้ริเริ่มโครงการหรือกิจการเพื่อสังคมของตัวเอง โดยได้เงินทุนจาก UNICEF และ สสส. แน่นอนว่าการทำสตาร์ทอัพที่ทำงานตั้งแต่ 7 โมงเช้าเลิกเที่ยงคืน ทำได้ไม่เกิน 2 ปีมันก็ burn out ยิ่งเป็นสตาร์ทอัพที่เกี่ยวกับสังคมซึ่งไม่ตรงกับสิ่งที่ทางบ้านเขาอยากให้เราทำ ตอนนั้นถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่ยิ่งใหญ่ในชีวิต จึงหยุดทำ แต่ช่วงที่หยุดนี่แหละก็พบว่าตัวเองชอบงานภาคสังคมเข้าจริงๆ แล้ว พอ Ashoka ชวน ก็เลยมาทำงานที่นี่ตั้งแต่ตอนนั้น

(*ปัจจุบัน YIY เปลี่ยนชื่อเป็น why i why ดำเนินกิจการเพื่อสังคมที่สนับสนุน ให้คำปรึกษา และพัฒนาทักษะเยาวชนที่สนใจทำกิจกรรมเพื่อสังคม

คุณพรจรรย์ ไกรวัตนุสสรณ์ (นุ้ย)

Q: หน้าที่หลักๆ ของพี่นุ้ยใน Ashoka คืออะไร?

A: ด้วยเป้าหมายของ Ashoka คือการสนับสนุนผู้ประกอบการสังคม รวมถึงคนที่มีไอเดียใหม่ๆ เกี่ยวกับการแก้ปัญหาสังคมสามารถเริ่มต้นสิ่งที่สนใจได้ ซึ่งจากประสบการณ์ของ Ashoka ตลอด 30-40 ปี มานี้ พบว่าผู้ประกอบการสังคมใหม่ๆ ที่มีความเชื่อมั่นว่าตัวเองเปลี่ยนจะอะไรได้นั้น พวกเขาถูกหล่อหลอมความคิดดังกล่าวมาตั้งแต่วัยเด็ก ตอนมัธยม มหาวิทยาลัย ที่อาจเคยสร้างโปรเจ็กต์ด้านสังคมมาก่อน นั่นทำให้คนกลุ่มนี้มีความเชื่อว่าตัวเองสามารถทำอะไรได้ Ashoka จึงอยากจะสร้างประสบการณ์แบบนี้ให้เด็กๆ ทั่วโลก ดังนั้น จึงออกโปรแกรมที่ชื่อว่า Youth Venture เพื่อมองหาคนที่สามารถทำโปรแกรมนี้ในเมืองไทย ประกอบกับว่าพี่เคยทำสตาร์ทอัพเรื่องนี้มาแล้ว ดังนั้น สิ่งที่พี่ทำที่นี่คือการดูแลโปรแกรมนี้ให้กับ Ashoka รับผิดชอบตั้งแต่เรื่องการตั้งทีมงาน หาเงินทุน และความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ รวมถึงค้นหาว่าโปรแกรมที่ให้คนรุ่นใหม่ในประเทศไทยเชื่อมั่นในตัวเองว่าสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ควรจะมีรูปแบบอย่างไร

Q: แล้วจากโปรแกรม Youth Venture นำไปสู่การทำงานใน School of Changemakers ที่พี่นุ้ยดูแลอยู่ในปัจจุบันได้อย่างไร?

A: ตอนที่ทำ Youth Venture เราก็มี conflict กับ Ashoka มาตลอด ด้วยความที่สำนักงานใหญ่ของ Ashoka อยู่ที่อเมริกา เยาวชนของเขาคือ 12-18 ปี ซึ่งเมื่อเรามาทำมาร์เก็ตรีเสิร์ชในประเทศไทย เด็กอายุ 12-18 ปี ของเราคือเด็กมัธยมต้น-มัธยมปลาย ซึ่งหากเราสนับสนุนให้เด็กกลุ่มนี้ทำโครงการ เราจะต้องคุยกับคุณพ่อคุณแม่ของน้องๆ ด้วย ซึ่งวัฒนธรรมที่แตกต่างจากตะวันตกก็จะเกิดคำถามต่างๆ ตามมา เช่น เรานำสตางค์ไปให้น้องๆ ทำไม และเมื่อเข้าสู่ตลาดและลงมือทำจริง จากการคาดคะเนคือเราสามารถช่วยเด็กได้แค่เพียง 10 คน ซึ่งหากเรามองไปที่เด็กในระดับอุดมศึกษาหรือกลุ่มที่เพิ่งเรียนจบ ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างเด็กกลุ่มนี้จะมีศักยภาพในการผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้มากกว่า ทั้งเวลาที่มากกว่า ความสนใจ ความต้องการ ความรับผิดชอบ ทำให้เยาวชนในโปรแกรม Youth Venture ของบ้านเราจะโตกว่ากลุ่มเด็กที่ Ashoka ต้องการ ซึ่งมันไม่ใช่ Youth Venture แล้ว สุดท้ายจึงมีการผสมผสานโปรแกรมต่างๆ ของ Ashoka เข้ามา ทั้งโปรแกรมที่ทำงานกับกลุ่มมหาวิทยาลัยและคนทั่วไป เราจึงตั้งโปรแกรมขึ้นใหม่ นั่นคือ School of Changemakers ซึ่งแม้จะเป็นโปรแกรมของ Ashoka ก็จริง แต่เป็นโปรแกรมที่มีเฉพาะในเมืองไทย

Q: จุดประสงค์และกลุ่มเป้าหมายของ School of Changemakers คืออะไรและใคร?

A: Ashoka เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงในโลก ใครๆ ก็สามารถเปลี่ยนได้ตราบเท่าที่เรามีระบบสนับสนุน ซึ่งสิ่งที่ Ashoka สนใจจะมี 2 อย่าง คือ Innovation (นวัตกรรม) กับ Entrepreneurship (ภาวะผู้ประกอบการ) และการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้จริงนั้น เราต้องไปเปลี่ยนที่รูปแบบ โครงสร้าง และทัศนคติของคน ซึ่งจะทำแบบนั้นได้ ก็ต้องอาศัยนวัตกรรม และเมื่อ Ashoka เชื่อว่าทุกคนสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ เราก็ต้องสร้างระบบสนับสนุนให้มาก โดยวิธีทำงานของ Ashoka คือการเป็นคนกลางที่ต้องอ่านตลาดให้ออกว่าประเทศไทยเป็นอย่างไร เราสามารถทำงานกับใครหรือองค์กรไหนเพื่อให้เกิด Innovation และ Entrepreneurship ในแต่ละกลุ่มเป้าหมายได้บ้าง ซึ่ง School of Changemakers เลยเป็นการสร้างระบบสนับสนุนคนรุ่นใหม่ที่ต้องการสร้างโครงการเพื่อสังคมในประเด็นที่แต่ละคนสนใจ

สำหรับกลุ่มเป้าหมาย ก่อนหน้านี้เราพุ่งเป้าไปที่เด็กมหาวิทยาลัย แต่กลายเป็นว่า 2 ปีที่ผ่านมา กลุ่มคนที่ทำแล้วเห็นผล มีประสิทธิภาพ คือกลุ่มคนทำงานแล้วที่มีอายุในช่วง 25-35 ปี พวกเขามองเห็นว่าตลาดของ Social Enterprise (กิจการเพื่อสังคม) กำลังเปิด การทำงานเพื่อสังคมมีที่ยืน มีคนสนับสนุน และมีคนเข้าใจมากขึ้น ซึ่งเด็กๆ มหาวิทยาลัยที่เราสนับสนุน ริเริ่มโครงการได้ก็จริง แต่ไปได้ไม่สุด สัก 6 เดือน ก็เลิก ขณะที่พี่ๆ ที่ทำงานแล้ว กลับเป็นกลุ่มที่เริ่มแล้ว ทำได้จริง สร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง

Q: ยกตัวอย่างคนกลุ่มนี้ให้เราฟังได้ไหม ว่ามีใครและทำอะไรบ้าง?

A: แม้จะเป็นไปในทิศทางที่ดีอย่างที่พี่บอก แต่การสร้างความเปลี่ยนแปลงยังต้องใช้เวลาและเป็นงานที่ต้องทำระยะยาว ตอนนี้ที่เห็นภาพชัดก็จะมี a-chieve ที่ทำโครงการและกิจกรรมให้เด็กๆ มีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับอาชีพต่างๆ ซึ่งไม่ใช่แค่การแนะแนวอาชีพ แต่ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้การทำงานจริง ได้คุยกับคนในสาขาอาชีพนั้นๆ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญและดีต่อเด็กๆ ในการตัดสินใจเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย แต่ตอนนี้ a-chieve ก็ยังไม่ถึงปลายทางที่พวกเขาอยากจะทำ ซึ่งต้องอาศัยเวลาอีกพักใหญ่ๆ ในการไปถึงเป้าหมายเขาได้ หรือ The Guidelight ที่เป็นอยู่ในช่วงของการเริ่มต้น โดยการทำงานของ The Guidelight ได้ช่วยให้น้องตาบอดสามารถสอบผ่านได้ แต่ปลายทางของน้องก็ไม่ใช่แค่ให้เด็กตาบอดสอบผ่าน เขามองไปถึงอาชีพของเด็กตาบอดหลังจากเรียนจบไปแล้วด้วย อย่างที่บอก การสร้างความเปลี่ยนแปลงลักษณะนี้ต้องอาศัยเวลา ซึ่งเด็กๆ ที่เข้าโครงการของเราแล้วรอดไปได้ ปีแรก ปีที่สอง เราดีใจมาก เพราะว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

Q: ดูเหมือน School of Changemakers ทำงานกับกลุ่ม SE เป็นหลัก เป็นแบบนั้นรึเปล่า?

A: เราสนใจว่าจะแก้ปัญหาสังคมอย่างไรในทุกรูปแบบมากกว่า ทั้งการเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneur) ผู้ประกอบการภายใน (Intrapreneur) โครงการเพื่อสังคม NGO ได้หมด ทุกโมเดล ซึ่งแต่ละรูปแบบมีดีในแบบตัวเอง

Q: ถ้าอย่างนั้น คนที่จะเดินเข้ามาที่ School of Changemakers สามารถแบ่งได้เป็นกี่กลุ่ม?

A: คนที่เข้ามาหาเราสามารถแยกย่อยได้ 4 กลุ่ม กลุ่มแรกคือคนรุ่นใหม่ หรือ first jobber ที่อยากสตาร์ทอัพ อยากเป็นผู้ประกอบการ แล้วคนที่เข้ามาเผอิญว่าได้ยินเรื่อง SE แล้วอยากเริ่มทำ SE ของตัวเอง กลุ่มที่สองคืออาจารย์มหาวิทยาลัยที่อยากได้โมเดลและวิธีการทำงานใหม่ๆ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง เพราะมหาวิทยาลัยทำงานบริการชุมชนค่อนข้างมาก ซึ่งตอนนี้มีประมาณ 10-12 มหาวิทยาลัยที่ทำงานร่วมกับเรา กลุ่มที่สามคือกลุ่มธุรกิจที่เปิดตัวและตั้งตัวได้แล้ว แต่ตั้งคำถามว่าธุรกิจของตัวเองจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคมได้อย่างไร ซึ่งเราจะเข้าไปช่วยในเรื่องนี้ กลุ่มที่สี่คือ NGO ที่ต้องการอยู่รอด เพราะการหาเงินทุนในปัจจุบันมันเปลี่ยนไปมาก การที่จะอยู่รอดได้ เราต้องปรับตัว

Q: School of Changemakers สนับสนุนในเรื่องใดบ้าง?

A: อันดับแรก เราจะใช้เวลาจำนวนมากในการนั่งฟังว่าเขาอยากจะทำอะไร เพราะอะไรถึงจะทำ ซึ่งคำถามหลังนี่สำคัญที่สุด แล้วคนส่วนใหญ่ไม่ได้เลือกทำเพราะเป็น passion ตัวเองจริงๆ หรือทำในขนาดที่ตัวเองสามารถทำได้ มาถึงคืออยากจะเปลี่ยนโลกเลย แต่เมื่อถามว่ามีเวลา มีข้อมูล มีความรับผิดชอบมากพอที่จะทำได้ขนาดนั้นไหม ยังไม่นะ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราช่วยอย่างแรกคือ มาค่ะ มาทำความเข้าใจเรื่องผู้ประกอบการกันก่อน มาคุยกันว่าสนใจเรื่องนั้นๆ จริงไหม เมื่อเจอแล้วว่าอยากทำอะไรจริงๆ ก็ถึงคำถามที่ว่าแล้วจะทำในรูปแบบไหน จะเริ่มอย่างไร เริ่มจากปัญหาหรือจาก passion เมื่อได้คำตอบแล้ว กระบวนการถัดมาคือทำอย่างไรให้ได้นวัตกรรม ซึ่งสำหรับบ้านเราไม่ใช่การสร้าง gadget หรือไอเดียที่อลังการอะไร แต่คือการทำในแบบของตัวเอง เข้าใจความต้องการจริงๆ หาข้อมูลเชิงลึกของปัญหาให้ได้จริงๆ ว่าปัญหาและโอกาสในการแก้อยู่ตรงไหน เพราะฉะนั้น เมื่อเข้ามาเจอเรา เราจะให้แต่ละคนไปทำความเข้าใจ ซึ่งก็จะมีวิธีการทำความเข้าใจที่ไม่เหมือนกัน อาจจะต้องใช้เวลาหลักเดือนหรือหลักปีในการเก็บข้อมูล แล้วสร้างนวัตกรรมจากจากตรงนั้น

สิ่งที่ School of Changemakers ให้ไม่ต่างจาก incubator ทั่วไปที่ให้คำปรึกษาและกระบวนการเพื่อให้รู้ว่าเขาจะเริ่มอย่างไร จะต้องคิดจากไหนไปไหน และต้องไปทางไหนต่อ สิ่งที่ต่างก็คือ เราจะไม่มีบอกว่าอะไรถูกหรือผิด เราจะให้เขาตัดสินใจเองว่าจะไปทางไหน จนพัฒนามาถึงจุดที่เขาพร้อมปล่อยโครงการ จากนั้นเราจึงส่งต่อไปให้คนสามารถช่วยจับคู่เขากับกลุ่มที่ต้องการสนับสนุนได้จริง

Q: ใน School of Changemakers แบ่งหน้าที่กันอย่างไร? 

A: ตอนนี้เราแบ่งเป็น 4 ทีมหลักๆ ได้แก่ ‘Content’ ที่จะเข้ามาดูว่าปัญหาท็อปเทนในเวลานี้คืออะไร แล้วพัฒนาเครื่องมือขึ้นมา เล่าเรื่อง changemaker ทั้งหมด ‘Community’ คือการเป็นตัวกลางให้ change maker รู้จักกันและสนับสนุนกัน ทั้งคนเก่าและคนใหม่ ผ่านการจัดงานและตัวเว็บไซต์ด้วย ‘Classroom’ จะเป็นทีมที่จัดทำเวิร์คช็อปต่างๆ และเปิดโอกาสให้คนที่สนใจจะเริ่มต้นมีโอกาสได้เข้ามาเรียนรู้วิธีการและสามารถทำโปรเจ็กต์ได้ สุดท้ายคือ ‘Partnership’ ซึ่งเราเชื่อว่าหากจะสร้างระบบ มันไม่ได้มีแค่การทำ แต่ต้องมีคนสนับสนุน รวมถึงมีโมเดลและเครื่องมือที่สร้างขึ้นด้วย ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะการเป็น partnership กับกลุ่มธุรกิจ แต่กับคนที่จะได้ประโยชน์จากสิ่งที่เราสร้างขึ้น ตลอดจนคนที่จะเรียนรู้ไปพร้อมกับเราด้วย เช่น มหาวิทยาลัยต้องการระบบแบบนั้นเหมือนกันรึเปล่า เครื่องมือหรือโมเดลที่เราสร้างขึ้น สามารถมาแชร์กับมหาวิทยาลัยได้ไหม

Q: ที่นี่มีการทำงานร่วมกับใครบ้างในเรื่ององค์ความรู้ต่างๆ?

A: นอกจากการโค้ชชิ่งที่ School of Changemakers จะรับคนและเทรนทักษะเพื่อให้เป็นพี่เลี้ยงของน้องๆ ในช่วง 6 เดือนแรก ทำหน้าที่คิด รับฟัง และตั้งคำถามคู่กันไปแล้ว เรายังมีการให้คำปรึกษาอีกระดับหนึ่งก็คือ Help Desk ซึ่งจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นๆ เลย อย่างเรื่องแบรนดิ้ง เราได้พี่บี๋ (ปรารถนา จริยวิลาศกุล) มาช่วย อ.แอ๋ม (รศ.ดร.กฤตินี ณัฏฐวุฒิสิทธิ์) จากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ เข้ามาดูเรื่องการตลาด และคุณปริญ มานะอาภรณ์ มาช่วยดูแลเรื่อง Business Model ส่วนพี่จะเข้ามาดู Social Model เอง ซึ่งเป็นการเชิญมาช่วยมากกว่า ที่สำคัญคือพี่ๆ น้องๆ กลุ่มนี้ตั้งใจอยากมาช่วยทำด้วย ซึ่งเราเริ่มจากการชวนมาทำเวิร์คช็อป แล้วแกก็รู้สึกว่ามีอะไรอยากให้ช่วยอีกไหม (หัวเราะ) ซึ่งทุกคนไม่ใช่เก่งอย่างเดียวแต่ใจเขาด้วยค่ะ เพราะเขาเชื่อว่าถ้าความเชี่ยวชาญที่เขามีนั้นมีประโยชน์ เขาก็อยากช่วย จริงๆ ตอนนี้เรายังมีความต้องการอีกมากมายนะคะ ทั้งผู้เชี่ยวชาญเรื่องการวัดผลกระทบทางสังคม โซเชียลมีเดีย เทคโนโลยี แต่เราก็ยังไม่กล้าเชิญใคร เพราะว่ามาตรฐานสูงจริงๆ หลักๆ ก็จะมี 3 ท่าน ถ้ารวมพี่นุ้ยด้วยก็จะเป็น 4 แต่ก็จะไม่นับก็ได้ ฉะนั้นเราเป็นระบบเปิด ใครก็ตามที่เดินเข้ามาแล้วบอกว่าอยากทำ ใครขอมาคุย เราก็คุยหมด

Q: School of Changemakers ดำเนินการด้วยเงินสนับสนุนจากไหน?

A: จะมีภาคธุรกิจที่สนใจลงทุนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสังคม การสนับสนุนคนรุ่นใหม่ทำเรื่องสตาร์ทอัพ รวมถึงบริษัทต่างๆ ที่เราทำงานด้วย โดยเราก็จะบอกถึงปัญหาที่มีอยู่และรูปแบบการช่วยเหลือว่าสามารถทำอย่างไรได้บ้าง ขณะเดียวกัน Ashoka ก็เป็นองค์กรแบบโกลเบิลซึ่งจะมีงานที่ประเทศอื่นๆ สร้างไว้ แล้วเขาอยากทำงานกับประเทศไทยด้วย เราก็จะได้รับการสนับสนุนจากภาคธุรกิจที่เป็น global company ซึ่งเป็นดีลมาจากต่างประเทศด้วย

Q: แล้วปัญหาที่ต้องการความช่วยเหลือในขณะนี้มีอะไรบ้าง?

A: ปกติแล้วในแต่ละปี เราจะทำมาร์เก็ตรีเสิร์ชว่าปัญหาอันดับต้นๆ ที่ต้องการการแก้ไข ต้องมีการสร้างนวัตกรรมไปช่วยเหลือคือเรื่องอะไร แต่แปลกนะ เพราะนอกจากเรื่องเศรษฐกิจ สุขภาพจิต คนชรา การศึกษา วัยรุ่น ที่ยังเป็นเรื่องใหญ่และต่อเนื่องมาจากปีก่อนๆ ปีนี้เรายังจับเทรนด์อะไรไม่ได้เลย ตอนนี้ก็รอดูอยู่ว่าจะมีอะไรใหม่ๆ

Q: จากประสบการณ์ที่ผ่านมา พี่นุ้ยคิดว่าอะไรคืออุปสรรคของการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม?

A: 10 ปีที่แล้วเจออุปสรรคอะไร 10 ปีนี้ก็ยังเจอ คือคนไทยไม่เชื่อในตัวเอง เพราะเราไม่มีระบบสนับสนุนใดเลยตั้งแต่เราโตขึ้นมาที่จะทำให้เชื่อว่าเราสามารถเปลี่ยนอะไรได้ เหมือนกับเราโตขึ้นมาในระบบโรงเรียนที่ไม่ส่งเสริมให้เราเป็นตัวของตัวเอง คิดเอง ทำเอง หรือมีส่วนร่วมในระบบโรงเรียน คุณครูก็ช่วยตัดสินใจให้เราหลายเรื่อง หรือคุณพ่อคุณแม่ก็ช่วยตัดสินใจว่าเราจะเรียนอะไรในแต่ละช่วงชีวิต จะไปทำงานก็ไม่แน่ใจว่าเปอร์เซ็นของคนที่ตัดสินใจเองและสู้ชีวิตเองมีเท่าไร เพราะฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่คนไทยมีส่วนร่วมกับสังคมค่อนข้างน้อยเมื่อมาดำเนินชีวิตจริงๆ ซึ่งสิ่งที่ขาดไปก็ไม่ใช่ความผิดของคนไทย เพราะเราเคยรันแบบสอบถามว่าคนไทยอยากจะร่วมเปลี่ยนสังคมไหม อยากไหมที่จะเห็นประเทศชาติดีขึ้น อยากร่วมแก้ปัญหาไหม เกิน 90 เปอร์เซ็นต์ เขาอยากให้เกิดขึ้น อยากทำ อยากช่วย แต่ถ้าถามว่าเขาเชื่อว่าตัวเองจะมีส่วนร่วมเปลี่ยนแปลงได้ไหม ถ้าวันนี้ออกไปทำเลย ทำได้ไหม คนไทย 70 เปอร์เซ็นต์ ยังไม่เชื่อ จะมีเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ ที่เชื่อและพร้อมที่จะไปทำ พี่คิดว่าอุปสรรคและสิ่งที่ยังขาดมากๆ ก็คือ เราต้องสร้างแรงกระตุ้น อีกปัจจัยคือสภาพสังคมโดยรวมที่ยังไม่เอื้ออำนวย เช่น สถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้

Q: แน่นอนว่าการแก้ปัญหาสังคมเป็นเรื่องที่ต้องทำระยะยาว แต่ถ้าจะเริ่มจากตอนนี้ วันนี้ เราสามารถทำอะไรได้บ้าง? film The Mummy 2017 streaming

A: ถ้าเท่าที่เห็น พี่รู้สึกว่ามันดีขึ้นมากแล้วนะ ถ้าเทียบกับ 10 ปี ก่อนที่พี่เริ่มทำ why i why โอกาสที่จะให้เด็กในมหาวิทยาลัยริเริ่มทำโครงการเพื่อสังคมโดยไม่เกี่ยวกับกิจกรรมของนักศึกษา มียังน้อยมากนะ แต่มาตอนนี้ มีทุกที่ ทุกมหาวิทยาลัย ใครสนใจทำโครงการอะไร มาเสนอได้เลย มีงบประมาณช่วยสนับสนุน ถ้าจะขาดก็อาจจะเป็นตัวข้อต่อว่า ถ้าเด็กคิดจะทำแล้วจะเห็นผลจริงได้ไหม นอกจากโครงการในมหาวิทยาลัย พี่คิดว่าถ้ามีการลงทุนเพิ่มเติม มีกองทุนที่ทำให้มหาวิทยาลัยมีเงินที่สนับสนุนให้เกิดวิชาเรียนและระบบที่ให้ความรู้เรื่องการทำกิจการเพื่อสังคมจริงๆ ก็น่าจะเป็นความหวังได้จริงๆ หรือในขณะนี้ที่ภาคธุรกิจกำลังสนใจเรื่องการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมมาก และสนใจมากกว่าการที่จะเป็น CSR ที่ใช้เพื่อประชาสัมพันธ์องค์กร แต่เป็นการตั้งคำถามจริงๆ ว่าธุรกิจที่ทำเพื่อสังคมทุกวันนี้มันดำเนินไปถึงการสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริงไหม ซึ่งหากความสนใจจากฝั่งธุรกิจยังมีต่อเนื่อง ก็อาจเป็นอีกความหวังหนึ่งเลย เช่น บริษัท A เลือกทำเรื่องน้ำ บริษัท B เลือกทำเรื่องเด็ก มันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่เห็นผลได้จริง เพราะการสนับสนุนและลงมือทำจะเป็นเรื่องระยะยาวที่สามารถสร้างโอกาสให้คนจำนวนมากได้จริงๆ ประเทศไทยก็จะไม่ต้องมาหวังแบบลมๆ แล้งๆ แล้ว สำหรับพี่และทีมก็เป็นส่วนหนึ่งที่อาจจะแค่ติ่งเดียวที่พยายามที่จะวาง position ตัวเองให้ถูกว่าจะอยู่ตรงไหนและทำอะไร และพี่เชื่อว่าทุกๆ องค์กรก็คิดแบบนี้ในการเลือกจุดยืนให้ถูกและพยายามต่อไป ซึ่งต้องเห็นผลสักวัน ไม่นานหรอก

Q: ตอนนี้พี่นุ้ยเป็นห่วงปัญหาอะไรมากที่สุด?

A: ถ้ามากที่สุดน่าจะเป็นเรื่องคุณภาพคน เพราะมันคือภาพสะท้อนภาพรวมของประเทศทั้งประเทศ ถ้าย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เราคุยกันว่าประเทศไทยอยู่ในระดับเดียวกับมาเลเซียและเวียดนาม แต่ ณ วันนี้ สองประเทศ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านเรานำหน้าเราไปหลายก้าวแล้ว พี่เองมีโอกาสได้ไปทำงานในหลายๆ ประเทศ ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการที่เกิดขึ้น ทั้งที่สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฮ่องกง ถ้าเป็นประเทศตะวันตกนี่เราเทียบเขาไม่ได้เลยนะ ซึ่งเมื่อคุณภาพคนของเราแข่งขันกับใครไม่ได้ แล้วเราจะอยู่ตรงไหน ที่น่ากลัวไปกว่านั้น คือคนไทยยังไม่รู้ อย่างน้องๆ ในมหาวิทยาลัยหรือ first jobber ยังไม่รู้ว่าเราแข่งกับใครไม่ได้แล้ว และคนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เห็นสถานการณ์ในประเทศอื่นว่าเขาไปถึงไหนกันแล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พี่กังวล

Q: แล้วเราจะทำอย่างไรได้บ้าง?

A: ทุกวันนี้ งานที่ Ashoka ทำอยู่ก็คือเรื่องนี้ ซึ่งพี่เองทำงานให้กับองค์กรที่ฮ่องกงในเรื่องการช่วยสตาร์ทอัพ ทุกๆ ปี เวลาที่ฮ่องกงจัดงานก็จะแจ้งกับอาจารย์มหาวิทยาลัยและองค์กรที่ทำงานด้านเด็ก ไม่ว่าจะเป็น สวทช. สสส. ไปกับเราเยอะๆ เพื่อให้ได้เห็นว่าเด็กในเอเชียไปถึงไหนกันแล้ว ซึ่งทุกคนก็จะกลับมาพร้อมแรงบันดาลใจ มองเห็นสถานการณ์ภายนอกที่เป็นอยู่มากขึ้น ในความคิดของพี่ ทุกความกลัว ทุกปัญหา ทุกวิกฤติ มันคือโอกาสทั้งหมด ยิ่งมีมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเป็นโอกาสให้เราได้เรียนรู้มากขึ้นเท่านั้น ตอนนี้ที่คิดก็คือจะทำอย่างไรให้มันดีขึ้นเสียที แล้วปัญหาต่างๆ ไม่ใช่สิ่งที่เราเห็นคนเดียว คนอื่นๆ ก็เห็นเหมือนกัน ดังนั้น เราอาจจะไปเจอคนที่คิดเหมือนกัน ซึ่งมันก็มีโอกาสที่เราจะทำเรื่องนี้ไปด้วยกันได้

Q: ตอนนี้ School of Changemakers จะมีการปรับโครงสร้างการทำงานที่เปลี่ยนแปลงจากปีก่อนๆ บ้างไหม?

A: ตอนนี้เรากำลังปรับกลยุทธ์การทำงานอยู่ค่ะ เพราะที่ผ่านมา School of Changemakers รับทุกคน ใครก็ได้ที่อยากสร้างความเปลี่ยนแปลง เดินเข้ามาได้เลย แต่ตอนนี้เราจะไปในทิศทางที่จะรับเฉพาะคนที่จะทำจริงๆ 2 ปี ที่ผ่านมาสิ่งที่เรียนรู้ก็คือเราช่วยทุกคนไม่ไหว เราพยายามตามหาคนที่อยากทำมากๆ จริงๆ มีเป้าหมายชัดเจน มี commitment แล้วเราก็อยู่กับเขาไป ร่วมระดมทุน ทุ่มให้คนกลุ่มนี้มากขึ้น อยากทำอะไรที่สนุก ขณะเดียวกันก็สามารถช่วยคนจำนวนมากได้ด้วย

นอกจากนี้ เรากำลังหานักลงทุนใจกล้า คือถามว่าในภาคการลงทุนทางสังคม ประเทศไทยมีภาคธุรกิจที่สนใจจะลงทุนกับเราเยอะมากนะ แต่ตอนนี้ทุกคนยังไม่กล้าเสี่ยง นั่นหมายความว่าตอนนี้ทุกคนอยากจะลงทุนกับ SE หรือโปรเจ็กต์ที่มันตั้งตัวได้แล้วหมดเลย ทำให้คนที่อยู่ในช่วงเริ่มต้น อยู่ในกระบวนการค้นหาวิธีตั้งตัวให้อยู่ได้ เช่น อาจจะเพิ่งปล่อยโปรเจ็กต์ได้แค่ 6 เดือน-1 ปี จะไม่ได้เกิด เราจึงพยายามสร้างนวัตกรรม โปรดักท์ และวิธีการพูดคุยกับนักลงทุนที่ทำให้เขาเชื่อมั่นและกล้าที่จะมาลงทุนกับโปรเจ็กต์ใหม่ๆ และมีความเสี่ยง ซึ่งหากคนกลุ่มนี้ไม่ได้การสนับสนุนเงินก้อนหลัก เขาก็ไม่สามารถทดสอบโมเดลของเขาได้ ไม่เกิดนวัตกรรม ไม่เกิดคนใหม่ๆ ที่ก่อร่างสร้างตัวเองไปให้แก่นักลงทุนเพื่อลงทุนได้

Q: ขอย้อนกลับไปที่กลุ่ม SE (Social Enterprise) สักนิดหนึ่ง เพราะตอนนี้ยังมีคนอีกไม่น้อยที่สงสัยว่า SE คืออะไร ทำอะไร และเพื่ออะไร ในฐานะที่พี่นุ้ยมีประสบการณ์ในภาคสังคม พอจะขยายความให้เราฟังได้ไหม?

A: คงจะเป็น SE ในมุมมองพี่และจากฝั่ง Ashoka ด้วย ซึ่งถ้าจะอธิบายให้ง่ายที่สุด คือ ในโลกของเรา จะมี  2 โมเดลหลักๆ คือหนึ่งฝั่งธุรกิจที่เกิดขึ้นมาเพื่อแสวงหาผลกำไร ขณะที่ NGO หรือมูลนิธิต่างๆ เกิดขึ้นเพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาสังคม ไม่ได้หาเงินเลย โดยทุกวันนี้ ในภาคธุรกิจจะหาแต่กำไรอย่างเดียวก็อยู่ไม่ได้แล้ว เพราะกำไรที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งก็มาจากการต้องลดค่าใช้จ่ายซึ่งมันส่งผลกระทบทุกอย่าง ตั้งแต่ใช้แรงงานเด็ก การปล่อยของเสีย แม้พวกเขาจะได้เงินเยอะมาก แต่ก็ก่อปัญหาที่ส่งผลกระทบให้สังคมมากตามไปด้วย โลกทุกวันนี้รับไม่ได้แล้ว ส่วนฝั่งสังคม เมื่ออยากทำอะไร ก็ต้องเขียนโครงการเพื่อของบประมาณสนับสนุน แต่วันใดก็ตามที่เขาไม่อยากให้ เงินทุนก็จะหมดลง งานที่ทำอยู่ก็จะทำต่อเนื่องไม่ได้ ดังนั้น SE ไม่ได้เกิดขึ้นมาเพราะว่ามันอยากเกิดหรือเพราะมันสวยงาม ฟังดูดี มันเกิดจากความจำเป็น คือโลกบีบให้ 2 ฝั่ง ทั้งธุรกิจที่จะหาเงินอย่างเดียวไม่ได้ ต้องรับผิดชอบต่อสังคมด้วย NGO มูลนิธิ จะทำเพื่อสังคมอย่างเดียวไม่ได้ ต้องหาสตางค์ด้วย SE จึงเป็นโมเดลลูกผสมที่อยู่ตรงกลาง โดยรวมจุดแข็งของทั้งสองฝั่งเข้าด้วยกัน เป็นโมเดลของการแก้ปัญหาสังคมที่มีวิธีการหารายได้เหมือนในภาคธุรกิจ

หลายคนอาจเข้าใจว่า ถ้าเราทำธุรกิจ เช่น เบเกอรี่ เมื่อมีเงินเหลือจะเอาเบเกอรี่ไปแจกเด็กๆ นั่นไม่ใช่ SE ถ้าเป็น SE ที่ทำเบเกอรี่เขาอาจจะมองว่า เราจะทำเบเกอรี่อย่างไรที่ยิ่งทำสังคมยิ่งดีขึ้น ใช้การทำเบเกอรี่มาช่วยแก้ปัญหาสังคมโดยตรง สร้างทักษะการใช้ชีวิตให้เด็กผ่านการทำเบเกอรี่ หรือเมื่อทำคุ้กกี้จะทำอย่างไรให้ยิ่งคุ้กกี้ขายได้มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้จำนวนของเด็กมีโอกาสได้ผ่านกระบวนการเทรนทักษะมีมากขึ้น มันไม่เหมือนเบเกอรี่ที่ถ้าเงินเหลือเดี๋ยวเอาไปแจกเด็ก มันคนละเรื่องกัน ซึ่งในประเทศไทยยังไม่มีตัวอย่างที่ชัดเจน แต่ประเทศอื่นๆ มีให้เห็นแล้ว แต่ SE ก็ยังเป็นเรื่องใหม่ ยังอยู่ในช่วงตั้งไข่กันอยู่

Q: ตอนนี้ ไปไหนต่อไหน ใครๆ ก็อยากเข้ามาทำ SE พี่นุ้ยมองตรงนี้อย่างไร?

A: พี่คิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือการเลือกโมเดลให้เหมาะกับตัวเอง ประเทศไทยต้องการธุรกิจที่ดี NGO ที่ดี นั่นหมายถึงการทำงานที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งมันสามารถทำให้มีประสิทธิภาพและประโยชน์ได้มากกว่านี้ มันไม่ใช่ว่าทุกโมเดลธุรกิจจะเหมาะกับ SE ไปเสียหมด โมเดลที่เหมาะกับ SE คือโมเดลที่มีลูกค้าจ่ายไหว เช่น green product, food security แต่ถ้าคุณทำงาน human trafficking, human right ช่วยเด็กด้อยโอกาส บางครั้ง SE อาจไม่ใช่คำตอบ อย่าไปยึดติดกับโมเดล พี่อยากให้มองถึงผลที่เกิดขึ้น

อีกอันที่น่าสนใจ จากประสบการณ์ที่ทำงานมาทั้งในไทยและต่างประเทศ SE ส่วนมาก ณ วันแรกเลย ไม่ได้เป็น SE นะ แต่เป็นโปรเจ็กต์ธรรมดาที่รับเงินทุนมาพัฒนาสิ่งที่เขาสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เริ่มจากศูนย์ เมื่อเห็นปัญหาแล้วอยากลุกขึ้นมาแก้ ซึ่งต้องสร้างโมเดลขึ้นมาว่าเราจะแก้ปัญหานั้นๆ อย่างไร โครงการลักษณะนี้จะได้รับเงินทุนหมดเพื่อนำมาสร้างโมเดลก่อน สังคมลงทุนให้ก่อน แล้วจึงค่อยๆ หาทางไปว่าจะเก็บเงินอย่างไร ในช่วงแรกเริ่มที่โมเดลยังไม่แข็งแรง ถ้าเราคิดสตางค์เลย เกิดล้มเหลวขึ้นมา ลูกค้าหนี SE ทุกอย่างก็ยากแล้ว

ในความคิดพี่ ถ้าอยากเป็น SE แต่วันนี้โมเดลยังไม่ชัด อย่าเพิ่งคิดสตางค์ ทำโมเดลให้แข็งแรงก่อน มันไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไหร่ที่อยากจะช่วยสังคมและคิดสตางค์ไปด้วย แค่ทีละอย่างให้รอดยังยากเลย อย่างที่บอก ว่าเลือกโมเดลให้เหมาะกับตัวเองก่อน บางทีอาจจะต้องช่วยสังคมก่อน แล้วหาโอกาสว่าถ้าจะคิดสตางค์ไปด้วย เราจะอยู่ตรงไหน หรือวันนี้ หากยังไม่พร้อมช่วยสังคม คิดสตางค์แบบภาคธุรกิจไปก่อน คิดไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีความพร้อม ค่อยเทิร์นก็ได้ มันไม่มีผิดหรือถูก

Q: จนถึงตอนนี้ อะไรที่ทำให้พี่นุ้ยยังอยู่ในพื้นที่นี้ เป็นเพราะเป้าหมายที่ต้องไปให้ถึง ความสุข หรือเหตุผลอื่น?   

A: พี่แก่แล้วค่ะ (หัวเราะ) การทำงานตอนนี้ไม่ได้เกิดเพราะ passion แล้ว พี่ไม่ปฏิเสธนะว่าในช่วงเริ่มต้น สิ่งที่พี่เลือกมาจาก passion แต่เมื่อมันดำเนินมา 10 ปี แรงขับที่ทำให้พี่ไปต่อเพราะพี่เห็นว่ามันเปลี่ยนแปลงได้จริง ทุกๆ คนรู้อยู่แล้วว่าการทำงาน ไม่ว่าจะอะไรก็ตาม มันมี input, process และ output ทุกๆ ปี พี่ก็เหมือนกัน ทุกวัน ทุกปีที่ทำงาน พี่นั่งทบทวนผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ชั่งน้ำหนักดูว่า input กับ output ที่เกิดขึ้นมันคุ้มไหม มีคนส่งแรงสนับสนุนให้ School of Changemakers และ Ashoka เท่าไร ผลลัพธ์ที่ได้มีประสิทธิภาพมากขนาดไหน ถ้าคุ้ม คุ้มอย่างไร มีอะไรต้องแก้ไขไหม ทุกๆ ปี พี่จะมองย้อนกลับไป หากเรายังทำได้คุ้มอยู่ เรายังเห็นผลลัพธ์ว่าทุกบาท ทุกสตางค์ ทุกความเหนื่อยที่เราใช้ เราทำ เราสนับสนุนให้คนลุกขึ้นไปสร้างความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ ถึงแม้ว่า 70-80 เปอร์เซ็นต์ที่มาทำโปรเจ็กต์กับเรา ไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลง ไม่ได้นำไปสู่การลงมือทำจริง ซึ่งตรงนี้พี่เข้าใจ แต่ 70-80 เปอร์เซ็นต์ที่มาแล้วพวกเขาเห็นคุณค่าในตัวเองเพิ่มขึ้น ได้เครื่องมือ วิธีการคิด แล้ว 3-4 ปี ต่อมากลับมาทำ ซึ่งก็มีให้เห็นอยู่ นั่นคือสิ่งที่ทำให้พี่ยังอยากจะอยู่ในพื้นที่นี้

อีกข้อที่สำคัญกว่าคือการได้อยู่ท่ามกลางคนดีมากๆ ทีมที่ดีมากๆ และพาร์ทเนอร์ที่ดีมากๆ ทุกคนมีความตั้งใจดี มีความพยายามที่จะสร้างเครื่องมือ กระบวนการ และคิดกันตลอดเวลาว่าจะทำให้ดีกว่านี้ได้อย่างไร จะพัฒนาอย่างไร ซึ่งมันยังสนุกอยู่ทุกวัน

อ้างอิง: School of Changemakers

ภาพ: Ketsiree Wongwan

บันทึก

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles