‘ไอรีล ไตรสารศรี’ ผู้ก่อตั้ง ART.for.CANCER บอกเป็นมะเร็งแล้วดี?!

“ถ้าคุณมีเครื่องย้อนเวลาเพื่อไปเปลี่ยนแปลงอดีตได้ คุณเลือกที่จะเปลี่ยนมันไหม?” คำตอบของ ไอรีล ไตรสารศรี หรือ ออย ที่ว่า ‘เป็นมะเร็งแล้วดี’ ก็ชวนให้เราสงสัยและแปลกใจอยู่ไม่น้อยทีเดียว… แต่ความเบิกบานที่ส่งผ่านมายังสีหน้า แววตา และน้ำเสียง รวมถึงสิ่งที่ออยได้เล่าให้เราฟังตลอดการสนทนาต่อไปนี้ ก็ทำให้เราเข้าใจแล้วว่า คนที่ ‘มีทุกข์ไว้ให้เห็น ไม่ได้มีทุกข์ไว้ให้เป็น’ นั้นเป็นอย่างไร และการเปลี่ยนวิกฤตของตัวเธอเองไปสู่การสร้างโอกาสรอดให้อีกหลายชีวิตผ่านโครงการ ART.for.CANCER นั้น มัน ‘ดี’ อย่างที่เธอว่าไว้จริงๆ

Q: ART.for.CANCER เกิดขึ้นเพราะอะไร?

A: โครงการนี้เริ่มขึ้นเมื่อ 4 ปี ก่อน หลังจากที่ตรวจพบว่าตัวเองเป็นโรคมะเร็งตอนอายุ 27 ย่าง 28 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเดินทางไปเรียนต่อปริญญาโทแค่อาทิตย์เดียว เหตุการณ์ครั้งนั้นถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตเลย เพราะมันทำให้เราเห็นถึงคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ คุณค่าของเวลา จากที่ไม่เคยสำเหนียกเรื่องพวกนี้มาก่อน ก็เข้าใจเลยว่าชีวิตคนเราไม่แน่นอน ช่วงที่รักษาตัวที่โรงพยาบาล ก็พบว่ายังมีคนอีกมากเหลือเกินที่ขาดโอกาสในการรักษา เพราะข้อจำกัดทางทุนทรัพย์ ขนาดออยเองก็ต้องรักษาหลายทาง ทั้งผ่าตัด ให้คีโม ฉายแสง ซึ่งแม้เราโชคดีที่มีทุนทรัพย์ มีโอกาสในการรักษา มีที่บ้านคอยซัพพอร์ต ก็ยังไม่แน่ใจเลยว่าการรักษามันจะยืดเยื้อหรือจะมีค่ารักษาที่บานปลายไปเท่าไหร่ พอเห็นแบบนั้นเราก็เข้าใจความรู้สึกคนที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกับเรา ขนาดออยที่เข้าถึงการรักษาก็ยังกลัวตาย กลัวความทรมาน ทุกข์หนัก แล้วคนที่ไม่มีโอกาสทางการรักษา เขาลำบากยิ่งกว่า มันเหมือนทุกข์ซ้อนทุกข์ ไม่มีความหวัง จากตรงนั้นก็เลยอยากจะทำอะไรดีๆ ที่เป็นประโยชน์กับคนอื่น โครงการนี้ก็เลยเกิดขึ้น

Q: ถ้าอย่างนั้น ตอนที่โครงการนี้เริ่มต้น คุณออยก็ยังอยู่ในช่วงรักษาตัว แล้วการทำงานในตอนนั้นเป็นไปอย่างไร?

A: จากจุดเริ่มต้นคืออยากหาสตางค์ไปช่วยผู้ป่วย แต่ด้วยสถานการณ์ตัวเองในตอนนั้นค่อนข้างจำกัด เลยคิดว่าเราลองใช้ศักยภาพด้านศิลปะที่เรามีอยู่เอามาต่อยอดในการหาเงินไหม เลยใช้ตรงนี้เป็นสื่อกลางในการระดมเงินทุน หลังจากนั้นออยเลยชวนเพื่อนๆ พี่ๆ มาช่วยบริจาคผลงานศิลปะ แล้วก็พยายามหาช่องทางที่ทำให้ตัวเองทำงานไม่ลำบากมาก การเปิดแฟนเพจในเฟซบุ๊คก็เลยเป็นช่องทางหลักในตอนนั้น หน้าที่ของ ART.for.CANCER คือการเป็นสื่อกลางระหว่างผู้บริจาคผลงานกับผู้ร่วมทำบุญ โดยผู้บริจาคสามารถส่งภาพผลงานมา แล้วตั้งราคาร่วมทำบุญมาเลยว่าอยากให้คนทำบุญกับงานนี้เท่าไหร่ ซึ่งเขาไม่ต้องส่งผลงานมาไว้ที่เรา จากนั้นออยจะนำภาพนั้นๆ มาโพสต์ลงแฟนเพจ ถ้าใครสนใจอยากช่วยเหลือก็สามารถบริจาคผ่าน ART.for.CANCER ได้ เราก็จะเป็นคนแจ้งให้ศิลปินส่งผลงานไปให้คนร่วมทำบุญ

หลังจากนั้น เราค่อยๆ ขยายไปสู่การจัดกิจกรรมอื่นๆ ทั้งการออกแบบเสื้อและสินค้าต่างๆ เพราะคิดว่าน่าจะเข้าถึงคนอื่นได้มากขึ้น ด้วยราคาที่ไม่สูงมากน่าจะสะดวกคนที่อยากช่วยเหลือมากขึ้น ซึ่งรายได้ทั้งหมด เราจะเอามารวมกันแล้วหาร 3 เพื่อส่งไปยังโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี และสถาบันมะเร็งแห่งชาติ แล้วก็ระบุเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งยากไร้ทุกประเภท พอเงินเริ่มมากพอที่จะตั้งเป็นกองทุนได้ เราจึงตั้งเป็นกองทุนที่ชื่อว่า ‘โครงการ ART.for.CANCER’ อยู่ในโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่งนี้

Q: หลังจากที่โครงการดำเนินมาสู่ปีที่ 5 ความช่วยเหลือส่งไปยังผู้ป่วยมากน้อยแค่ไหน?

A: เงินบริจาคทั้งหมดที่ถูกนำเข้ากองทุนในศิริราช รามาธิบดี และสถาบันมะเร็งแห่งชาติ จะถูกนำไปช่วยเหลือคนไข้มะเร็งยากไร้ นอกจากนี้ ยังมีการจัดสรรบางส่วนไปใช้ในการสนับสนุนเรื่องมะเร็งด้านอื่นๆ ด้วย เช่น การนำไปใช้ในเรื่องค่าเดินทางและค่าที่พักให้กับผู้ป่วยที่ขาดทุนทรัพย์เพื่อให้เขามีความสะดวกสบายในการมารักษามากขึ้น รวมไปถึงจัดกิจกรรมให้ความรู้กับผู้ป่วยเพื่อให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับมะเร็ง

Q: แล้วมีอุปสรรคที่เจอระหว่างทางบ้างไหม?

A: จริงๆ แล้วมันก็ไม่มีอะไรมากนะ อย่างที่บอก..พอใช้ใจนำ เวลามีปัญหาอะไรก็พยายามแก้ไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ออยจะเอาใจเขามาใส่ใจเราเสมอ เช่นว่าถ้าเราอยากบริจาคเงินให้สักที่หนึ่ง เราอยากจะรู้อะไรบ้าง อยากรู้ว่ามันโปร่งใสไหม เอาไปทำอะไร พยายามจะคิดแทนก่อนและคิดให้รอบคอบ เราไม่อยากให้คนรู้สึกว่าเอาเงินเขาไปทำอะไรที่ไม่โปร่งใส ออยไม่ถือว่ามันเป็นอุปสรรคที่หนักหนา มันคือการพัฒนาต่อให้ยั่งยืน จากเล็กๆ ค่อยๆ ทำให้มันอยู่ได้ด้วยตัวเอง ถ้าอุปสรรคจริงๆ ที่นึกออกตอนนี้คือเรายังทำอยู่คนเดียว ยังไม่มีทีม เพราะฉะนั้นก็ต้องพัฒนาและหาคนที่มีใจอยากจะทำร่วมกันเพื่อต่อยอดให้โครงการอยู่ได้อย่างยั่งยืน แต่ถือว่าโชคดีมากที่ทำแล้วคนค่อนข้างเชื่อใจและเชื่อมั่นในสิ่งที่เราทำ เขาอาจจะเห็นความตั้งใจและความต่อเนื่องด้วย

Q: การทำงานที่มีเงินเข้ามาเกี่ยวข้องก็มักจะเจอกับคำถามต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความโปร่งใสอย่างที่คุณออยเล่ามา แล้ว ART.for.CANCER มีวิธีการจัดการสิ่งเหล่านี้อย่างไร?

A: ART.for.CANCER เป็นโครงการเล็กๆ แล้วเราก็พยายามหาวิธีอะไรก็ได้ที่ทำให้คนสบายใจที่สุด ให้เห็นถึงความตั้งใจ เห็นถึงความบริสุทธิ์ว่ามันเกิดขึ้นจากใจจริงๆ ตอนแรกเราใช้วิธีการแชร์ทุกอย่างทั้งสมุดบัญชีหรือรายการการถอนเเข้าถอนออกของเงินจะไม่มีการถอนเข้าออกบ่อยๆ ถอนไปก็จะเป็นก้อนใหญ่ๆ เพื่อนำไปบริจาคเลย สำหรับตัวสินค้าที่ทำขึ้นก็จะหักเฉพาะค่าใช้จ่ายที่เป็นตัวต้นทุน เช่น เราทำเสื้อการกุศลหรือต้องส่งไปรษณีย์ก็จะมีค่าใช้จ่ายในส่วนนั้น เราก็จะหักเฉพาะส่วนนั้น โดยจะมีการชี้แจงว่าเราหักค่าใช้จ่ายเท่านี้ๆ นะ เงินส่วนที่เหลือเท่านี้จะนำไปหาร 3 เป็นจำนวนเท่าไหร่ แม้จะยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นเรื่องเป็นราว แต่เราพยายามทำให้มันโปร่งใสที่สุด ให้ทุกคนเห็นที่มาของเงินเข้าและออก พอมีกองทุน มันก็สามารถตรวจสอบได้ดีขึ้น คนสามารถบริจาคเข้ากองทุนได้เลยโดยไม่ต้องผ่านบัญชีกลางของโครงการ แต่เรายังต้องมีบัญชีโครงการเอาไว้เผื่อในกรณีการดำเนินการที่เป็นเรื่องหยุมหยิมต่างๆ เช่น การทำเสื้อ ซึ่งก็จะมีการชี้แจ้งให้แฟนเพจทราบทุกๆ ครั้ง

Q: ตอนนี้มีคิดบ้างไหมว่าจะทำอย่างไรให้โครงการนี้ยั่งยืนและสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง?

A: สิ่งแรกที่คิดคือต้องมีทีมที่จะเข้ามาจัดการอะไรต่างๆ ให้เป็นระบบมากขึ้น จากเริ่มแรกที่เป็น manual ก็อยากจะต่อยอดด้วยการทำเป็นธุรกิจเพื่อสังคมของตัวเอง โดยจะมี ART.for.CANCER เป็นหนึ่งในขาธุรกิจ ซึ่งเราอยากทำอะไรในเชิงของอาร์ตกับดีไซน์ที่สามารถช่วยเหลือสังคม โดยไม่ได้เจาะจงเรื่องมะเร็งอย่างเดียว รายได้ของธุรกิจตรงนั้นก็เอามาเข้ากองทุน แล้วถ้าทำให้มันเป็นรูปเป็นร่างได้ เราก็จะมีเงินในการรันระบบต่างๆ ต้องยอมรับว่าทุกๆ อย่างต้องมีค่าใช้จ่าย ถ้าเราสามารถทำอะไรที่เป็นธุรกิจเพื่อสังคม แล้วต่อยอดได้แบบที่ตั้งใจไว้ ออยก็จะบาลานซ์ชีวิตตัวเองได้ด้วย ได้ทำทั้งโครงการนี้ มีเงินในการที่ใช้ชีวิตของตัวเอง และสิ่งที่เราทำก็ส่งผลที่ดีต่อสังคมด้วย

Q: มีการนำความรู้ทางศิลปะหรือการแลกเปลี่ยนความรู้กับองค์กรต่างๆ เกี่ยวกับด้านมะเร็งเพื่อนำมาบรรเทาความเจ็บปวดให้กับผู้ป่วยร่วมกับการรักษาทางหลักบ้างไหม?

A: ในฐานะที่เราเคยเป็นและได้ทำ ART.for.CANCER เราเห็นได้เลยว่า ศิลปะสามารถนำมาทำประโยชน์ได้มากกว่าการเป็นเรื่องของความสุนทรีย์ มันสามารถจับต้องได้มากกว่านั้น ระยะหลังหลังก็จะคุยกับพี่ๆ น้องๆ ว่าสนใจที่จะนำงานศิลปมาทำอะไรอย่างอื่นบ้างไหม เช่น ศิลปะก็สามารถนำไปเป็นสื่อกลางในการช่วยเหลือผู้ป่วย ไปจัดกิจกรรมให้เขามีความสุขได้ อย่างที่พี่เบิร์น (ชาญฉลาด กาญจนวงศ์) นำกิจกรรมศิลปะบำบัดไปช่วยผู้ป่วยมะเร็งก็เป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ดี

นอกจากจะทำโครงการนี้แล้ว ออยมีโอกาสไปพูดให้กำลังใจผู้ป่วย แล้วก็ทำงานกับหลายๆ องค์กร เช่น ปลุกพลังเปลี่ยนไทย ซึ่งเป็นโครงการของทางภาครัฐและเอกชนร่วมมือกัน สนับสนุนโดย สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) โดยเราเปิดพื้นที่ให้คนมาร่วมกันเพ้นท์รูป แล้วก็นำงานศิลปะเหล่านั้นไปติดที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เราอยากทำให้บรรยากาศในหวอดสดชื่นขึ้น

Q: สิ่งที่ได้รับหลังจากทำโครงการนี้มันเปลี่ยนมุมมองการใช้ชีวิตและวิธีการมองโลกบ้างไหม?

A: โดยสิ้นเชิงเลย เราเข้าใจถึงแก่นของชีวิต จากตอนแรกที่รู้สึกว่าทำไมต้องเป็นเรา ทำไมต้องเป็นเร็ว ขอแก่กว่านี้อีกหน่อยไม่ได้เหรอ 27 เองตอนนั้น มันเป็นวัยที่กำลังวาดฝันอนาคตที่ออยรู้สึกว่ามันแน่นอนแล้ว กำลังจะไปเรียนต่อ จองตั๋วเครื่องบินเรียบร้อย มีที่เรียน เหมือนทุกอย่างมันพังอยู่ตรงหน้าหลังจากสิ้นสุดคำว่า “คุณเป็นมะเร็ง” มันเปลี่ยนชีวิตออยไปตลอดกาลเลยนะ วิธีคิดเปลี่ยน เป้าหมายในการใช้ชีวิตก็เปลี่ยนมาจนถึงทุกวันนี้ แต่ตอนนี้ ออยรู้สึกว่ามันดีที่ทำให้ตัวเองเข้าใจแก่นแท้ของชีวิตตั้งแต่อายุยังน้อย ไม่ปล่อยให้เวลามันล่วงเลยไป บางคนอาจจะมีเวลาในชีวิตยาวนาน แต่อาจจะยังไม่รู้เลยว่าตัวเองมีเป้าหมายในชีวิตอะไร ไม่รู้ว่าอยากจะทำอะไร หรือยังไม่มีโอกาสได้ทำในเรื่องอะไรดีๆ เรื่องที่เป็นประโยชน์กับคนอื่น กับคนในครอบครัวคนที่เรารัก จากแต่ก่อนที่ได้เคยได้ยินว่าชีวิตคนเรามันสั้น อย่าประมาท หรือเกิดแก่เจ็บตายเป็นเรื่องธรรมดา วันนี้เราเข้าใจและเห็นคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ เห็นคุณค่าของปัจจุบันมากขึ้นเยอะ

Q: แล้วตอนที่รู้ คุณออยรับมือกับมันอย่างไร?

A: หลังจากอึ้งไปพักใหญ่ เราก็ตั้งสติคิดว่ามันเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้แล้ว ถ้าอย่างนั้นก็ทำปัจจุบันให้มันดีเพื่ออนาคตที่ดีก็แล้วกัน ออยเริ่มจากการดีไซน์ว่าถ้าเราป่วย เราจะเป็นคนป่วยแบบไหน ทำให้สิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้มีคุณค่าที่สุด ตอนนี้กลายเป็นรู้สึกว่าการที่มีชีวิตอยู่ สมมุติเราว่าอีกปีข้างหน้าเราไม่ได้อยู่แล้ว แต่เราก็โอเคคุ้มที่เคยผ่าน 5 ปีนี้มาได้ ตั้งแต่เป็นมะเร็งชีวิตเรามีคุณค่ามากเลย เราได้ทำเพื่อคนอื่น หลายๆ อย่างในชีวิตดีขึ้น นี่ไม่พูดเอาสวยๆ นะ (หัวเราะ) มันดีจริงๆ มันเปลี่ยนเราไปในทางที่ดี เราเห็นคุณค่าในแต่ละวันมากขึ้น รู้ว่าอะไรจำเป็นและอะไรไม่จำเป็น อะไรสำคัญในชีวิต และปล่อยวางบางอย่างได้ง่ายขึ้น แต่เราก็ยังเป็นเหมือนเดิมนะ มีความรู้สึกโกรธ ไม่พอใจ เพียงแต่ว่าจะปล่อยวางได้ง่ายขึ้นและมากขึ้น บางทีพอเครียดมากเกินไป เราก็เออชีวิตจะตายวันตายพรุ่งก็ยังไม่รู้เลย เลยคิดว่าระยะเวลาในการมีชีวิตอยู่มันไม่สำคัญเท่าเราทำอะไรและอยู่เพื่ออะไร

Q: ในฐานะที่เคยเป็นผู้ป่วย คุณออยอยากจะฝากบอกอะไรกับคนที่กำลังต่อสู้โรคนี้ รวมถึงคนใกล้ชิดเพื่อให้ผ่านสถานการณ์ตรงนี้ไปให้ได้?

A: สำหรับผู้ป่วย เราบอกเลยว่าจิตใจเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ เมื่อเรารู้ว่าตัวเองป่วย ออยแนะนำเลยนะว่า ‘ต้องตั้งสติ’ โอเคเราป่วย แต่ถ้าเรามองมันว่ามันเป็นธรรมดาของชีวิต เกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นเรื่องปกติมากที่มนุษย์ทุกคนต้องเจอ ตั้งสติแล้วมานั่งพิจารณาสิ่งรอบตัวว่าเรื่องแบบนี้มันไม่ได้เกิดขึ้นกับเราคนเดียว โรคนี้บูมมากจริงๆ คนเป็นเยอะ คนตายทุกวัน แต่เมื่อถึงเวลาที่เป็น ลองใช้ตรงนี้เพื่อที่จะเรียนรู้กับมัน หลังจากตั้งสติได้แล้ว สเต็ปต่อไปที่จะทำให้ผ่านมันไปได้จริงๆ คือต้องยอมรับความจริงกับสิ่งที่เราเจอ ธรรมะช่วยได้นะ ถึงบางคนไม่ได้เป็นพุทธ แต่ธรรมะคือธรรมชาติ เรื่องนี้มันเป็นเรื่องธรรมชาติที่เราต้องเจอ กล้าเผชิญว่าตอนนี้เราป่วย ไม่ใช่ฉันป่วยแล้วบอกว่าไม่จริง ไม่ยอมรับ ซึ่งมันไม่มีประโยชน์ เพราะฉะนั้น เมื่อเราตั้งสติและยอมรับมันได้แล้ว ก็มากำหนดทิศทางชีวิตว่าเราจะทำอย่างไรต่อไป แต่ถ้าอยากจะร้องไห้หรือเศร้ามันเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ต้องฝืนแต่จงเศร้าด้วยความเข้าใจ สุดท้ายเราก็ต้องอยู่กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า เลือกทำในสิ่งที่เราทำได้ให้มันดีที่สุด ทำปัจจุบันให้ดีเพื่อที่อนาคตมันจะดีตาม

ตัวออยตอนนั้นก็ยอมรับเลยว่าเราป่วยนะ แล้วเราก็ดีไซน์ตัวเองว่าเราจะเป็นคนป่วยแบบไหน ก็บอกตัวเองนะว่าถ้าป่วย ฉันจะต้องเป็นคนป่วยที่กำลังใจแข็งแรง เป็นคนป่วยที่ทำให้คนรอบข้างเห็นว่าเราสู้ คนในครอบครัวพอเขาเห็นเราป่วยเขาไม่มีความสุขหรอก มันเจ็บปวดไม่ต่างกัน มันสำคัญนะกับการที่เราเข้มแข็ง มันเหมือนผนึกกำลังกัน ถ้าเราเศร้า เราแย่เขาก็แย่ การมีกำลังใจที่ดีเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมกัน อีกอย่างหนึ่งคือการที่คนป่วยได้มีโอกาสได้เจอคนที่มีประสบการณ์ร่วม ซึ่งคนที่เคยเป็นสามารถเป็นที่ปรึกษาให้กับเขาได้ เป็นเพื่อนเขาได้ มันจะทำให้เขารู้สึกไม่โดดเดี่ยว รู้สึกมีคนเข้าใจ ผู้ป่วยก็สามารถเรียนรู้จากคนอื่นด้วยว่ามันมีวิธีการดำเนินชีวิตหรือวิธีคิดอย่างไรที่ทำให้ผ่านมันไปได้

Q: การได้เจอคนที่มีประสบการณ์ร่วมอย่างนั้นเหรอ? มันช่วยได้อย่างไร?

A: อย่างที่ออยมีโอกาสได้ทำงานร่วมกับชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย (Thailand Breast Cancer Community) มันช่วยผู้ป่วยได้ตั้งแต่จุดเริ่มต้นเลยนะ ไม่ใช่ปลายทาง อย่างที่บอกเรื่องของจิตใจสำคัญมาก การที่เขาได้เจอคนที่คุยกับเขาได้ ที่สำคัญคือคนที่คุยได้คือคนที่สามารถให้ข้อมูลถูกต้อง ซึ่งถ้าคอมมูนิตี้แบบนี้เข้มแข็ง ผู้ป่วยจะมีพี่เลี้ยงเป็นไกด์ว่าเขาต้องระวังอะไรหรือดูแลตัวเองอย่างไร อย่างออยทำโครงการ ART.for.CANCER แล้วก็เปิดตัวว่าตัวเองเป็น ก็จะมีคนเข้ามาถามและปรึกษาตลอดว่าจะต้องทำอะไรอย่างไรบ้างในช่วงที่เป็น ออยรู้สึกว่าตรงนี้มันช่วยคนได้เยอะ ทำให้เขาไม่หลงทาง มีอะไรเขาก็จะนึกถึงเรา อย่างเวลาเขาอยากรู้หรือสงสัยข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาว่าถูกเท็จจริงแค่ไหน ก็จะมาปรึกษาเราว่าข้อมูลนี้เชื่อได้ไหมหรือถูกต้องหรือเปล่า? อันนี้เป็นอีกส่วนหนึ่งที่น่าจะช่วยผู้ป่วยได้จำนวนมากเหมือนกัน มากกว่าการที่เราเอาเงินไปช่วยเขาที่ปลายทาง ออยอยากมีอะไรที่มันสามารถสนับสนุนคนไข้ได้ครบวงจรเหมือนกัน

Q: มีเหตุการณ์ไหนบ้างไหมที่รู้สึกว่าการทำโครงการนี้มันมีความหมายกับเรา?

A: ล่าสุดออยได้ไปออกบูธในนาม ART.for.CANCER ที่ศิริราชมา แล้วก็มีชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมไปด้วย ซึ่งจะมีรับบริจาคเต้านมเทียม ก็จะเจอคนหลากหลายที่เดินเข้ามา บางคนเข้ามาถาม บางคนก็ดูเขิน บางคนก็เหมือนมีความทุกข์มา เรานั่งอยู่ตรงนั้น เรารับหลายความรู้สึกมาก แล้วมีพี่คนหนึ่งเขาเดินเข้ามาด้วยสีหน้าที่เราสัมผัสได้เลยว่าเขากำลังทุกข์ เขาเดินเข้ามาที่บูธแล้วก็มองเต้านมเทียม ถามว่าถ้าอยากได้อันนี้ต้องทำอย่างไรถึงจะได้ ออยก็แจ้งขั้นตอน ถามว่าถ้าจะขอข้อมูลให้สมัครสมาชิกสะดวกไหม เป็นคนไข้หรือเปล่าคะ เขาบอกใช่ เขาก็ไม่พูดกับเรานะ เอาแต่เขียนข้อมูล ตอนนั้นอารมณ์มาเต็มมาก ออยเลยเริ่มชวนคุยว่าหนูก็เป็นเหมือนกัน หนูเป็นตอนอายุ 27 นี่ก็รักษาเสร็จแล้ว 4-5 ปี แล้ว สบายมากเลย แข็งแรง ไม่มีอะไร พี่เขาก็เริ่มมองหน้าเรา แล้วเสียงก็เริ่มอ่อนลงถามกลับว่าน้องก็เป็นเหรอ ออยก็บอกว่าใช่ค่ะ นี่ก็กินยาอยู่ตอนนี้ หนูทำมาหมดทั้งผ่าตัด คีโม ฉายแสง เขาก็เลยมองหน้าแล้วก็บอกว่า เนี่ยพี่เพิ่งรู้ว่าเป็น หมอบอกว่าต้องตัดเต้านม เขาก็ก้มหน้าพอเงยหน้าขึ้นมา แล้วก็พูดว่าลูกพี่เพิ่ง 4 ขวบเอง แล้วน้ำตาก็ร่วงเหมือนเขาอั้นไว้ คือออยเข้าใจความรู้สึกเลยนะ ยิ่งคนเป็นแม่ด้วย ออยก็ค่อยๆ บอกว่าเราเข้าใจความรู้สึก เคยผ่านตรงนี้มาก่อน พี่ต้องตั้งสตินะ ทำในสิ่งที่มันเสริมสร้างกำลังใจเพราะกำลังใจมันมีผลมาก ทุกอย่างมันขับเคลื่อนได้ด้วยใจ ยิ่งมะเร็งเต้านมถ้าเจอหมอเร็ว ก็รักษาได้ดี แล้วคุณหมอก็เก่ง เพราะฉะนั้นเรื่องร่างกายปล่อยให้คุณหมอทำหน้าที่ไป ส่วนเรื่องของจิตใจพี่ก็ต้องเต็มที่เหมือนกัน พี่ตั้งสติ แล้วก็คิดว่ามันเป็นไปแล้ว แก้ไขไม่ได้แล้ว ก็ทำตรงนี้ให้ดีที่สุด เขาก็สีหน้าดีขึ้น เขาก็บอกอย่างนั้นถ้าพี่มีอะไรพี่ขอคุยกับน้องได้ไหม ขอไลน์ได้ไหม ซึ่งออยอยากบอกตรงนี้เลยนะไม่ว่าใครก็ตามที่อยากจะมาปรึกษากับออย บางคนอาจจะเกรงใจ แต่เข้ามาได้เลย ออยไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องเสียเวลา ถ้าเขาไม่เจอเราวันนี้ แล้วเขาทุกข์ คิดสั้น หรือเลือกไม่รักษา ออยคิดว่าถ้าเขามาคุยกับเราถึงจะไม่นาน แต่มันช่วยสร้างกำลังใจเล็กๆ ให้กับเขาได้ มันดีกว่ากันเยอะ มันมีค่ากว่าการที่เอาเงินทองไปให้ใครอีก ออยอยากให้ตรงนั้นมันเกิดขึ้นจริง อยากให้คนที่กำลังมีความทุกข์เขารู้ว่าต้องคุยกับใคร ซึ่งนอกจากกำลังใจแล้ว มันจะเป็นประโยชน์ในแง่การเพิ่มโอกาสทางการรักษาที่ถูกต้องด้วย มีเยอะนะ คนที่กลัวคีโม คนที่มีความเชื่อผิดๆ ตามในหนังในละครว่าให้คีโมไปต้องตายด้วย ไม่มีใครรอดเลย ซึ่งมันไม่ได้เป็นแบบนั้น ถ้าเราได้ข้อมูลที่ถูกต้อง

Q: อะไรคือสิ่งที่ทำให้คุณออยอยากทำโครงการนี้ต่อไป?

A: การที่มีโอกาสได้ช่วยคนอื่น เพราะทำโครงการนี้ ออยเลยได้เห็นว่าจริงๆ แล้ว มีคนที่อยากจะช่วยเหลือคนอื่นเยอะมาก ได้เห็นน้ำใจ ได้รู้จักคนดีๆ มันเป็นเรื่องที่ดีที่ได้เจอคนที่คิดไปในทิศทางเดียวกัน แล้วเรื่องของออยก็สามารถให้แรงบันดาลใจคนที่ไม่ป่วยให้อยากลุกขึ้นมาทำอะไรดีๆ บ้าง หมายถึงคนที่ไม่ได้ป่วยหรือใช้ชีวิตปกติอยู่และไม่ได้คิดว่าวันหนึ่งตัวเองจะเป็นอะไร พอเห็นออยทำโครงการนี้ ได้เห็นว่าความป่วยไม่ได้เป็นอุปสรรคในการลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อคนอื่น ออยเชื่อว่าหลายๆ คนมีจิตใจที่อยากทำอะไร เพียงแต่ว่ายังไม่ได้เริ่ม อาจจะไม่กล้าหรือกลัว แต่พอเห็นออยทำ เขาก็รู้สึกอยากจะมาช่วยเรา อยากลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อสังคม เพื่อนบางคนเห็นออยทำ เขาก็อยากจะเอาความสามารถตัวเองลุกขึ้นมาทำอะไรบ้าง รู้สึกว่ามันเป็นส่วนดีที่มันได้ต่อยอด แล้วก็ในเรื่องของวงการศิลปะด้วย ออยรู้สึกว่าคงจะดีถ้าออยเป็นหนึ่งในเป็นแรงกระตุ้นเล็กๆ ให้ศิลปินหรือคนทำงานดีไซน์ใช้ศักยภาพ ใช้ไอเดีย มาสร้างสรรค์สังคม ซึ่งมันไม่ต้องใช้เงินทองอะไรมากมายเลย

Q: ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ คุณออยอยากเปลี่ยนอะไรในอดีตไหม?

A: จริงๆ แล้ว การเป็นโรคนี้มันเป็นโอกาสที่ดีและถ้าให้เราเปลี่ยนอดีตได้เราก็ไม่เปลี่ยน ถ้าไม่เป็น ก็คงไม่ได้คิดอะไรได้อย่างนี้ ไม่สำนึกอะไรได้แบบนี้ ไม่มีกำลังใจ แล้วรู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่ามากกับการที่เป็น เป็นมะเร็งแล้วดี เวลาพูดกับคุณหมอ แกก็จะอืม แปลกเนอะบอกหมอว่าเป็นมะเร็งแล้วดี (หัวเราะ) ก็เคยถามตัวเองนะว่าทำไมต้องเป็นเรา ทำไมต้องเป็นตอนนี้ ถามตัวเอง แล้วก็หาคำตอบให้ตัวเองเสร็จสรรพ คืออยู่หน้ากระจกคุยกับตัวเองเลยว่าเป็นแล้วเศร้ามันได้อะไร ยอมรับความจริงแล้วเดินหน้าสิ ออยคิดว่าเรื่องบางเรื่องไม่จำเป็นต้องได้คำตอบ แม้บางอย่างจะอยู่เหนือการควบคุม อยู่เหนือความคิดเรา แต่ออยเชื่อเสมอว่าทุกอย่างมันมีเหตุและปัจจัย วันนี้เราอาจจะไม่รู้คำตอบว่าทำไม สิ่งที่ออยคิดคือทำหน้าที่ ทำปัจจุบันให้ดีเพื่อที่อนาคตมันก็จะดีด้วย เต็มที่ในแบบของเรา แต่ตอนนี้กลับมาย้อนถามสิ่งที่เราเคยอยากรู้ก็ได้คำตอบแล้วนะว่าทำไมต้องเป็นเรา ว่าทำไมต้องเป็นอายุเท่านี้ เราก็มีคำตอบของเราว่าเป็นก็ดี เป็นเราดีแล้ว ตอนนั้นอาจจะมีคำตอบแค่ว่าถ้าคิดว่ามีคนในครอบครัวจะเป็น เป็นพ่อเป็นแม่ ไม่เอา เป็นพี่สาว เขามีลูก ไม่เอา พี่ชายก็มีลูก ไม่เอา เป็นฉันนี่แหละดีแล้ว (หัวเราะ) เหมาะที่สุด เพราะเป็นคนที่แข็งแรงมาก่อนด้วย เป็นนักกีฬาด้วย ซึ่งก็คิดว่าอาจจะเป็นส่วนหนึ่งก็ได้ที่ทำให้เราฟื้นฟูตัวเองได้เร็ว ด้วยความที่อายุยังน้อย มีความแข็งแรง ออยรู้สึกว่าบนความโชคร้ายของเรา มันก็มีความโชคดีอยู่ในนั้น รวมถึงมันให้โอกาสเราที่จะแบ่งปันสิ่งที่เรามีเพื่อช่วยคนอื่นต่อได้อีก

อ้างอิง: www.facebook.com/ART.for.CANCERbycomeonireal
ภาพ: Ketsiree Wongwan

Tags

Tags: , ,

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles