It Will Be Green Again: เมื่อผู้ลี้ภัยเปลี่ยนทะเลทรายกลับเป็นป่า

“ตอนหนีออกมา ผมนึกแค่ว่าเราคงมาอยู่ในค่ายไม่กี่สัปดาห์แล้วก็ได้กลับบ้าน แต่นับถึงตอนนี้…ผมอยู่ที่นี่มา 4 ปีแล้ว” Abduraj Okoro หัวหน้าครอบครัววัย 44 ปีบอกเราไว้ในหนัง

Okoro เป็นหนึ่งในครอบครัวชาวไนจีเรียที่ต้องหนีตายออกจากบ้านเกิดเมืองนอนหลังถูกกลุ่มก่อการร้ายโบโกฮารามคุกคามเอาชีวิต ค่าย Minawao ทางเหนือของประเทศแคเมอรูนกลายเป็นเป้าหมายการลี้ภัยของพวกเขา จากจุดเริ่มต้นหลักพัน ปัจจุบันขยายตัวเป็นหลักครึ่งแสน ปัญหาที่ตามมาคือการขาดแคลนที่อยู่อาศัยที่ดีเพียงพอ และความจำเป็นที่ต้องตัดไม้มาเป็นเชื้อเพลิงหุงหาอาหารจนผืนป่าบริเวณที่ตั้งค่ายแทบแปรสภาพเป็นทะเลทรายแห้งแล้ง

ใช่ ต่อให้เป็นเพียงผู้ลี้ภัย -ที่ถูกคนส่วนใหญ่ในโลกหมางเมิน หรืออาจถึงขั้นดูแคลน- ก็ปรารถนาจะมีชีวิตที่ดีที่สุดเท่าที่มนุษย์จะพึงมีได้ และยิ่งกว่านั้น ในหนังสั้น 10 นาทีเรื่องนี้ยังทำให้เราได้เห็นมุมที่กว้างไกลขึ้นอีกด้วยว่า พวกเขายังปรารถนาจะให้ผืนดินที่พวกเขาพึ่งพาศัยนั้นได้ฟื้นฟูสภาพต่อไปเพื่ออนาคต

It Will Be Green Again บันทึกความร่วมมือของผู้ลี้ภัยในค่าย Minawao กับ UNHCR และสตาร์ตอัพในเนเธอร์แลนด์ชื่อ Land Life Company ในการพลิกฟื้นผืนดินตั้งค่ายแห่งนี้ให้กลับมาเขียวชอุ่มอีกหน ด้วยการปลูกต้นไม้จำนวน 40,000 ต้นโดยใช้อุปกรณ์ที่สตาร์ตอัพดังกล่าวออกแบบและผลิต (ซึ่งน่าสนใจมากๆ เพราะทำจากกระดาษที่ย่อยสลายได้ ตัวอุปกรณ์ที่รูปทรงคล้ายถาดอาหารหลุมจะทำหน้าที่ประคองต้นกล้าไว้ตรงกลางให้ยืนหยัดกลางสภาพลมแรงและป้องกันแมลงกับวัชพืชรบกวน ส่วนรอบๆ ถาดสามารถบรรจุน้ำ 25 ลิตรไว้ป้อนรากไม้ในระยะต้น เหมาะเป็นพิเศษกับพื้นที่ห่างไกลน้ำแบบนี้)

ไม่เพียงเท่านั้น เพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างยั่งยืน โครงการนี้ยังเสนอแนวคิดพัฒนาคุณภาพชีวิตรอบด้าน ด้วยการตั้งโรงงานขนาดเล็กเพื่อแปรรูปวัสดุเหลือใช้จากการเพาะปลูกมาเป็นเชื้อเพลิงสำหรับใช้หุงต้มแทนไม้ (ซึ่งป้องกันปัญหาการตัดไม้ และช่วยดูแลความปลอดภัยให้แก่ผู้ลี้ภัยด้วยเพราะจะไม่ต้องเสี่ยงอันตรายกับการออกเดินทางไปหาเชื้อเพลงไกลๆ อีกต่อไป), การนำดินเหนียวในพื้นที่มาใช้สร้างเตา และทำก้อนดินเพื่อสร้างบ้านดินเป็นที่พักอาศัยทดแทนการใช้เต็นท์พลาสติก

โครงการนี้เริ่มต้นเมื่อปลายปี 2017 ที่ผ่านมา พวกเขาคาดหวังว่ากลางปีนี้ ต้นไม้ทั้ง 40,000 ต้นจะได้รับการปลูกครบถ้วน แต่นี่เป็นเพียงปฐมบท เพราะผู้ลี้ภัยกว่า 200 คนที่นี่ยังได้ทำงานเพาะกล้าต่อไป และการปลูกจะยังดำเนินต่อไป แม้มีโอกาสสูงว่าผู้ลี้ภัยหลายคนคงได้เดินทางกลับบ้านก่อนจะทันเห็นผลงานจากมือพวกเขาเติบใหญ่ แต่ก็ดังที่ Abduraj Okoro บอกไว้ – ต้นไม้เหล่านี้จะกลายเป็นแหล่งผลิตอาหาร ให้ร่มเงา และนำชีวิตชีวากลับมาสู่ผืนดินแคเมอรูนนี้ได้ในวันหนึ่ง “เมื่อผมจากไป อย่างน้อยผมก็ได้ฝากป่าเอาไว้เบื้องหลัง”

Thida Plitpholkarnpim

อดีตบรรณาธิการนิตยสาร BIOSCOPE และผู้ก่อตั้ง-ดำเนินการ Documentary Club กลุ่มเผยแพร่จัดฉายหนังสารคดีจากทั่วโลก

See all articles