‘จินตกาญ ศรีชลวัฒนา’ กับแคมเปญ ‘เข้าใจพาร์กินสัน’ เปลี่ยนความไม่รู้สู่ความเข้าใจ

เพียงไม่กี่วันก่อนจะถึงวันพาร์กินสันโลกในปี 2561 คลิปวิดีโอความยาว 1.31 นาที ที่บอกเล่าเรื่องราวของผู้ป่วยพาร์กินสันได้สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อสังคมไทยแบบมหาศาล ด้วยยอดวิวกว่า 1 ล้านวิวในวันแรกของการออนแอร์ ทำให้โรคที่ผู้คนเคยรับรู้เพียงแค่การ ‘มีอยู่’ ได้ทลายกำแพงของ ‘ความไม่รู้’ สู่ ‘ความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ และใส่ใจ’ ต่อผู้มีอาการของโรคนี้มากขึ้นเป็นเท่าตัว

แคมเปญที่ว่าคงเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่มีการร่วมแรงร่วมใจระหว่างสมาคมนิสิตเก่านิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ, ชมรมเพื่อนพาร์กินสัน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, สภากาชาดไทย ตลอดจนกลุ่มคนและองค์กรที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ ตั้งแต่ เอส – คมกฤษ ตรีวิมล ที่ขึ้นแท่นผู้กำกับให้กับแคมเปญนี้ เครือข่ายเอเจนซี่โฆษณาและโปรดักชั่นเฮาส์, บริษัท ออมนิคอม มีเดีย กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด รวมทั้งองค์กรพันธมิตรที่พร้อมเปิดพื้นที่สื่อให้อย่างอิสระและให้แบบไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ความเป็นมาของแคมเปญที่มัดใจคนดูได้อย่างอยู่หมัดนี้เกิดขึ้นเมื่อไรและได้อย่างไรนั้น เราลองให้ อิม – จินตกาญ ศรีชลวัฒนา หนึ่งในฟันเฟืองสำคัญของงานนี้เล่าให้ฟังกัน

กว่าจะมาเป็น ‘เข้าใจพาร์กินสัน’

จุดเริ่มต้นของแคมเปญ ‘เข้าใจพาร์กินสัน’ เกิดขึ้นในปี 2560 จากการที่ประธานชมรมเพื่อนพาร์กินสัน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ติดต่อมายังสมาคมศิษย์เก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเป้าหมายเพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับโรคพาร์กินสันและผู้ป่วยให้คนทั่วไปเข้าใจมากขึ้น

“ตอนนั้นมีโอกาสเข้าไปเป็นกรรมการสมาคมนิสิตเก่า คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีครูกี้ (ผศ.ดร.ม.ล.วิฏราธร จิรประวัติ) เป็นนายกสมาคม ครูกี้บอกกับพี่ว่ามีเรื่องจะให้ช่วยและเล่าให้ฟังถึงโปรเจ็กต์ของชมรมเพื่อนพาร์กินสัน ซึ่งมาขอให้ทางสมาคมช่วยทำวิดีโอเพื่อสื่อสารให้คนเข้าใจเรื่องโรคพาร์กินสัน จริงๆ ก็มีการทำไปแล้วนะ แต่ขายเท่าไหร่ก็ไม่ผ่านสักที พอได้เข้าไปคุยเราก็เห็นปัญหาว่าตอนที่ทำ ทีมงานยังไม่มีการเคลียร์โจทย์ว่าวิดีโอชุดนั้นทำขึ้นด้วยเป้าหมายอะไร สื่อสารกับใคร ต้องการผลตอบกลับแบบไหน อยากให้หาทุน อยากให้คนรู้จัก ต้องการอาสาสมัคร หรืออย่างอื่น เมื่อโจทย์ตรงนี้ยังไม่ชัดเจน เราต้องเริ่มวางแผนใหม่ ขอบข่ายงานของพี่ก็คือ พี่ทำร่วมกับพี่บี๋ (ปรารถนา จริยวิลาศกุล) ซึ่งเป็นคนสายงานเดียวกัน ประเภทวางแผนและชักใย (หัวเราะ)”

“หลังจากไปรับบรีฟกับคุณหมอ เราก็ถามความต้องการว่าทำไมถึงต้องทำให้คนรู้เรื่องโรคนี้ โรคนี้ป้องกันและรักษาหายได้ไหม ซึ่งหากป้องกันและรักษาให้หายขาดไม่ได้ ถ้าคนรู้แล้วจะช่วยอะไร จนได้คำตอบว่า หากสังคมไม่รู้ว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน พวกเขาจะถูกมองด้วยสายตารังเกียจ อาจจะคิดว่าคนคนนี้เมา น่ารำคาญ ถูกคิดด้วยมุมมองที่ไม่ดีนัก ขณะที่จริงๆ เหล่านี้เป็นอาการของผู้ป่วย ทำให้พวกเขาไม่กล้าออกจากบ้าน ซึ่งพาร์กินสันเป็นโรคทางสมอง ที่เซลล์ประสาทสมองในตำแหน่งที่เรียกว่า Substantia Nigra มีการตายและลดจำนวนลง ทำให้สารสื่อประสาทชื่อว่า Dopamine ซึ่งสร้างมาจากเซลล์ประสาทมีปริมาณลดลง และเป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการต่างๆ ทั้งทางกายและทางใจ เริ่มเก็บตัว ซึมเศร้า และไม่อยากอยู่ ซึ่งเมื่อโจทย์ชัดเจนขึ้น เราจึงต้องทำให้คนรู้ว่าคนคนนี้เป็นโรคพาร์กินสันนะ เขาไม่ได้แกล้งและไม่ได้ตั้งใจ เมื่อเคลียร์โจทย์ได้เรียบร้อยจึงเริ่มแก้สตอรี่บอร์ด คิดใหม่ทำใหม่ เสร็จแล้วก็นั่งมองหน้า ว่าจะออนแอร์ที่ไหน ถ้าในโรงพยาบาลก็ไม่ช่วยอะไรนะ จะให้คนป่วยมาเห็นใจกันเองเหรอ งานนี้เราต้องการพับพลิค เราต้องการให้สังคมรับรู้ ครูกี้เลยบอกว่าถ้าอย่างนั้นก็เอาไงเอากัน”

365 วัน กับภารกิจสุดหิน

แคมเปญที่ใช้เวลาหนึ่งปีเต็มนี้มาพร้อมกับโจทย์หิน ตั้งแต่ข้อจำกัดในเรื่องเวลาทำงาน เงินทุนสนับสนุน กับเป้าหมายใหญ่ที่ต้องทำให้คนเห็นมากที่สุดและสื่อสารให้คนทั่วไปที่ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับเรื่องพาร์กินสันเข้าใจได้ภายในเวลาไม่กี่นาที

“เราไปรับบรีฟ เคลียร์โจทย์ ทำรีเสิร์ชด้วยการคุยกับคุณหมอ พยาบาล คุยกับผู้มีอาการพาร์กินสันและครอบครัว เพื่อที่จะให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับโรค รวมทั้งคนที่พอจะรู้เรื่องและไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับพาร์กินสันด้วย จากนั้นจึงย่อยข้อมูลของคุณหมอ จากภาษาแพทย์เพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจได้ ลดความซับซ้อนทั้งหมด ตั้งแต่ความรู้ของโรค สาเหตุ อาการ จากนั้นก็ต้องแพลนให้รัดกุมที่สุดเพราะนักแสดงทั้งหมดคือผู้มีอาการพาร์กินสัน ซึ่งหากเราอยากให้เห็นอาการที่เกิดขึ้นจริง เราต้องขอให้พี่ๆ ออฟยา แต่เราจะมาบอกว่าพี่ๆ คะ วันนี้ไม่ทานยาได้ไหม ก็ไม่ได้ เพราะเขาต้องทานตรงเวลาแบบเป๊ะมากๆ แล้วยาอันตรายด้วย งานหนักจึงไปตกที่โปรดิวเซอร์ที่ต้องเช็คพี่ๆ แต่ละคนว่าต้องทานยากี่โมง ออฟกี่โมง ต้องจัดตารางเวลาให้แมชกับตารางการกินยา ที่ยากขึ้นไปอีกคือเรามีเวลาถ่ายทำแค่วันเดียว เพราะเราไม่มีสตางค์ แต่เราโชคดีมากที่ได้ความช่วยเหลือจากทุกคน และใช้โลเคชั่นคือโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นที่ถ่ายทำหมด ด้วยเหตุผลในเรื่องความปลอดภัยของทีมนักแสดงทุกคนด้วย”

ความช่วยเหลือจะมาหาผู้ตั้งใจดีเสมอ

“อย่างที่บอกว่าตอนทำโครงการนี้ เรามีข้อจำกัดหลายเรื่อง ทั้งเวลา เงินทุน บุคลาการ ซึ่งโลกนี้ไม่มีของที่ถูก เร็ว และดีมาพร้อมกันได้ งานนี้เลยต้องขอบคุณทุกคนทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งครูกี้ ทีม ออมนิคอม มีเดีย กรุ๊ป (ประเทศไทย) ที่มาช่วยเรื่องโปรดักชั่นและการออนแอร์ เราแพลนไว้ว่าจะปล่อยคลิปวันที่ 11 เมษายน 2561 ซึ่งเป็นวันพาร์กินสันโลก แต่กลัวว่าจะชนกับสงกรานต์ เลยเลือกออนแอร์ก่อนเลยดีกว่า แล้วพอวันที่ 11 เมษายน ค่อยมีกิจกรรม สิ่งที่เราคาดหวังหลังจากการออกอากาศ คือคนน่าจะหลั่งไหล เราจึงแพลนตั้งแต่ก่อนจะปล่อยคลิป เตรียมไว้ทุกอย่างและอาศัยคอนเน็คชั่นทั้งหมดที่มี โทรไปหาพี่ๆ ว่าอยากได้คนสายเอดิเตอร์เขียนข่าวช่วยเราในเรื่องการอธิบายโครงการ ไปรบกวนพี่ๆ น้องๆ ดาราที่มีทั้งหมดในมือตอนทำโครงการ ‘เป็ดติดล้อ’ (งานวิ่งการกุศลที่นำรายได้ไปซื้อรถเข็นให้เด็กผู้พิการ) ให้ช่วยแชร์ ให้ครูกี้โทรไปหาพี่ย้ง (ทรงยศ สุขมากอนันต์) gdh พี่ย้งบอก “ได้ครับมาดาม เดี๋ยวผมทำให้” (หัวเราะ) แล้วบังเอิญครูกี้ไปทำฟัน หมอฟันของครูเป็นเจ้าของสื่อตรง BTS เราก็เลยเล่าให้เขาฟัง เจอใครก็เล่าให้เขาฟัง ใช้วิธีแบบนี้ว่าเรากำลังทำอะไรกันอยู่ อาศัยแต่ละคนช่วยเล่าเรื่องราวนี้ต่อๆ กันไป พอทุกคนทราบถึงจุดประสงค์ ความช่วยเหลือก็หลั่งไหลเข้ามาจนงานนี้เกิดขึ้นได้ในที่สุด ซึ่งการได้ทำแคมเปญนี้และงานภาคสังคมอื่นๆ ทำให้พี่ได้รู้ว่าสังคมไทยเต็มไปด้วยคนมีน้ำใจและพร้อมจะเข้าใจ แค่ต้องสื่อสารหน่อย เมื่อสารไปถึงมือของผู้รับสาร พวกเขาก็พร้อมจะเข้าใจผู้ป่วย ผู้ป่วยก็มีกำลังใจ สุดท้ายแล้วก็กลับมาเหมือนเดิมคือถ้าเจตนาดีแล้ว หนทาง ความช่วยเหลือ มีอยู่แล้ว”

คลิปเบื้องหลัง "เข้าใจพาร์กินสัน"

การเป็นนักแสดงจำเป็นต้องก้าวข้ามขีดจำกัดทั้งทางจิตใจและ “ร่างกาย” มันไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนธรรมดา และไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับ “พวกเขา”ติดต่อรับคำปรึกษา: ศูนย์พาร์กินสัน จุฬาฯ สภากาชาดไทย FB: เพื่อน พาร์กินสัน,FB: Parkinson Chula หรือ www.chulapd.org โทร. 081-107-9999#เข้าใจพาร์กินสัน

โพสต์โดย Parkinson Chula Fanpage เมื่อ วันอังคารที่ 3 เมษายน 2018

 

นิเทศศาสตร์กับการรักษาความไม่รู้สู่ความเห็นอกเห็นใจ

“เอาจริงๆ นะ คนในสังคมอาจไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่อง เราเข้าใจได้ แต่บางเรื่องในเมื่อจำเป็นจะต้องรู้ เราก็ทำให้เขารู้ เราไม่ได้ไปรักษาโรคพาร์กินสันหรอก แต่เรารักษาคนในสังคมอยู่ รักษาความไม่เข้าใจกัน ความไม่เห็นอกเห็นใจกัน พอคนเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นและมีอยู่ ความเห็นใจกันก็จะเกิดขึ้น พี่คิดอย่างนี้นะว่าถ้างานของพี่ที่พี่เคยทำให้คนเปลี่ยนมือถือทุกๆ 2 เดือนได้ อยากได้รถใหม่โดยไม่จำเป็นได้ ทำไมเราจะทำให้คนเปลี่ยนความคิดที่จะอยากช่วยเหลือคนที่ไม่รู้จักไม่ได้ล่ะ ถ้าถามความรู้เกี่ยวกับพาร์กินสัน เอาจากคนรอบๆ ตัวก่อนเลยนะคะ เขาก็จะถามว่า พาร์กินสันคืออะไร บางคนที่เคยได้ยินก็จะนึกไปถึง ไมเคิล เจ ฟ๊อกซ์ ที่เขาป่วยเป็นโรคนี้ หรือนึกถึงอาการ เช่น การสั่น ส่วนใหญ่จะทราบกันเท่านั้น เว้นแต่มีคนในครอบครัวที่เป็นผู้มีอาการถึงจะบอกได้ เอาเป็นว่าถ้าไม่ใช่คนในวงการแพทย์ก็จะไม่รู้เลย ซึ่งคลิปนี้ ตอนออนแอร์วันแรก ถือว่าฟีดแบคดีมากนะคะ ประมาณล้านวิว คนเข้ามากดไลค์แฟนเพจ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ จากที่เคยมีอยู่ 1,000 คน เป็น 25,000 คน แต่ฟีดแบคที่สำคัญที่สุดคือคนพิมพ์เข้ามาถาม มาให้กำลังใจ เข้ามาเล่าว่าพวกเขาเคยเห็นเหมือนกัน หรือแถวบ้านมีคนเป็นอย่างนี้ เริ่มรู้เกี่ยวกับโรคมากขึ้น ฟีดแบคดีมากจนมีหนังสือต่างๆ มาขอสัมภาษณ์ พี่คิดว่าวิดีโอนี้นอกจากจะส่งสารได้ตรงจุดและเป้าหมายแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นคือทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าพวกเขามีตัวตน คนทั่วไปเองก็เข้าใจและรู้สึกตื่นตัว ภารกิจที่เหลือพวกเราเลยบอกให้คุณหมอเตรียมพร้อมแอดมินในเรื่องการตอบคำถามได้เลยนะ (ยิ้ม)”

เพราะกำลังใจคือลมใต้ปีก

“พี่คิดว่ามนุษย์ต้องให้กำลังใจและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน นี่คือความหมายของสังคม คนเราอยู่คนเดียวไม่ได้ ต่อให้เราเก๋แค่ไหน ชีวิตดี หรือจะอยู่สูงแค่ไหนก็ตาม แม่พี่สอนเสมอว่า สังคมเราเป็นพีระมิด ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าเราต้องตั้งหน้าตั้งตาตะกายให้ขึ้นไปอยู่จุดสูงสุดอย่างเดียว แต่คุณต้องดูแลฐานด้านล่างให้เขาอยู่ดี กินดี และมีความสุขด้วย อย่าลืมถึงแม้คุณจะอยู่สุขสบายอยู่บนสุด แต่ถ้าข้างล่างพัง คุณก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน พี่ไม่เชื่อว่าคนเรามีความเท่าเทียม นิ้ว 5 นิ้ว ยังไม่เท่ากันเลย เพราะฉะนั้น เราถึงต้องช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน ที่ด้อยโอกาสกว่า จะเสวยสุขอย่างเดียวก็ไม่ใช่ อย่างเคส เข้าใจพาร์กินสัน มีผู้ป่วยเขาแชร์กันในชมรม รวมทั้งส่งเรื่องมาให้เราว่าจากปกติเวลาไปตลาดแถวบ้านตอนเช้า คนก็จะเดินเลี่ยงๆ แล้วก็มองเขาด้วยสายตาที่ไม่โอเค แต่หลังจากคลิปออกไป แม่ค้าและเด็กๆ มาถามว่า พี่เป็นพาร์กินสันใช่ไหม ขอให้แข็งแรงเร็วๆ นะคะ หรือมีคุณป้าท่านหนึ่ง แกบอกไปร้านทำผม ปกติเด็กวัยรุ่นที่เป็นช่างก็จะมองด้วยสายตาที่ไม่เป็นมิตรเท่าไหร่ เลยลองทำใจกล้าไปอีกครั้ง แกก็เล่าว่าช่างมองด้วยสายตาที่เป็นมิตรและอ่อนโยนมากเลย ซึ่งพี่ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไรนะ แต่ที่พี่รู้สึกเลยคือวันนี้เขามีความหวังในการจะมีชีวิตอยู่ แม้ตัวโรคจะรักษาไม่หาย แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการให้กำลังใจกัน ตั้งแต่ตัวคนป่วย รวมถึงคนที่ดูแลรักษาตัวผู้ป่วยด้วย”

สังคมอยู่ได้ด้วยความรัก ความรักที่เราเห็นปัญหาของคนอื่นเป็นปัญหาของเรา

“หลังจากที่พี่ค่อยๆ ก้าวขาเข้าไปในส่วนที่เรียกว่า ‘สังคมมงคล’ ความดีมันดึงดูดกันนะ เหมือนที่พี่มีโอกาสได้เข้าไปช่วยงานเพื่อสังคมหลายๆ แห่ง ทั้งงานนี้ งานเป็ดติดล้อ หรือ Operation Smile (www.operationsmile.or.th) ที่ทำให้พี่มีโอกาสได้เจอคุณหมอที่เป็นคนก่อตั้งมูลนิธิสร้างรอยยิ้ม มีคำพูดของคุณหมอพี่จำมาจนถึงวันนี้เลยก็คือ ‘ความรักคือการที่เราเห็นปัญหาของคนอื่น เป็นปัญหาของเรา’ โอเค ปัญหาของคนที่เรารัก ของพ่อแม่เรา แน่นอนว่าเราก็จะทุกข์ด้วย แต่ถ้าเวลาที่เราเห็นคนอื่นเป็นทุกข์ แล้วอยากช่วย นี่แหละคือการหล่อเลี้ยงให้สังคมอยู่ได้ เอาจริงๆ การช่วยคนอื่นไม่ใช่เรื่องซับซ้อน ลองกลับไปดูตัวเองว่ามีกำลังช่วยไหม ถ้ามี ถ้าพร้อม เราลองช่วยในส่วนที่เราทำได้ดูไหม บ้านพี่ไม่ได้รวย พี่เป็นคนทำงานเหมือนกับคนอื่นๆ ความช่วยเหลือ เราไม่จำเป็นต้องมีพันล้าน ร้อยล้าน เพื่อที่จะช่วยคน วันนี้คุณมี 100 คุณให้ 5 บาท คุณมี 5,000 คุณให้ 10 บาท คุณมี 1 ล้าน คุณให้หมื่นนึง เวลาจะช่วยคน ไม่ต้องรอว่าเดี๋ยวเรารวยก่อนแล้วกัน เอาจริงๆ ถ้าคุณกินอิ่ม นอนหลับ ทุกวันนี้มีงานทำ คุณก็ช่วยคนได้แล้ว เราไม่จำเป็นต้องทุ่มจนเราเดือนร้อน พี่คิดว่าค่อยเป็นค่อยไป ทุกๆ อย่างแหละ เพียงแต่เราตั้งธงไว้ว่าถ้าสิ่งที่เราทำจะเป็นประโยชน์กับสังคมรอบๆ ข้างหรือเปล่า ถ้าใช่ก็ลงมือทำ มีแค่นั้นจริงๆ”

หนึ่งสมอง สองมือ สี่ห้องหัวใจ นำทางสู่การแก้ปัญหา

“ทุกๆ ครั้งเวลาเจอปัญหา พี่จะมี 3 ส่วน ที่ต้องทำงาน นั่นคือ ‘Hand Head Heart’ เราใช้สมองในการแก้ไข ส่วนหัวใจของเราจะเป็นกำลังสำคัญที่บอกให้เรารู้ว่าสิ่งที่ทำและกำลังจะทำนั้นดีแน่ ใช่แน่ และถูกต้องไหม ในที่นี้หมายถึงจุดหมายในระยะยาวนะ ส่วนสองมือก็คือการลงมือทำ อาจด้วยอาชีพพี่ที่เป็นนักวางกลยุทธ์ เรามีหน้าที่แก้ปัญหา แก้โจทย์ทางธุรกิจ การสื่อสาร การตลาด ถึงแม้เราวางแผนแล้ว แต่ระหว่างเดินทางไปเกิดสะดุดก็ต้องแก้ ทุกๆ งาน ไม่ว่าจะงานเพื่อสังคมหรืองานเพื่อธุรกิจ ต้องมีปัญหาให้แก้อยู่แล้ว จะไปนั่งครำครวญก็ใช่เรื่องนะ หาวิธีแก้เถอะ บ่นได้ พี่ก็บ่น แต่ก็ต้องแก้ไป อย่าจมอยู่ในปัญหานั้น ซึ่งวิธีแก้ก็มีตั้งแต่แก้เอง ไปหาคนที่เชี่ยวชาญมาช่วย

อย่างงานนี้ ความสะดุดก็มีตลอดทาง ซึ่งสิ่งที่เราทำคือการหาทางออก เรามีนักข่าว แต่ไม่รู้จะบรีฟสื่ออย่างไร ก็ไปหาคนที่เก่งเรื่องนี้ เขียนบรีฟที่เป็น press release ออกมา หรือการจะส่งสารให้คนทั่วไปรู้ว่าพี่ๆ เหล่านี้มีอาการพาร์กินสัน หรือทีมโปรดักชั่นก็คิดกันว่าลองติดสัญลักษณ์เป็นดอกทิวลิปให้คนทั่วไปรู้ไปเลยว่าพี่ๆ มีอาการพาร์กินสันไหม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนั้นคือไม่มีใครยอมติดเลย เราเข้าใจนะว่าพวกเขากลัวและอายที่จะบอกว่าตัวเองป่วย สิ่งที่เราแก้ไขกันคือการพูดคุยและบอกถึงจุดประสงค์ว่าทำไมเราถึงเลือกใช้วิธีนี้ในการสื่อสาร นี่ไม่ใช่การประจานตัวเอง แต่คือสัญลักษณ์ของฮีโร่ เป็นสัญลักษณ์ของคนที่กำลังสู้กับโรค เป็นนักสู้ในการใช้ชีวิต เป็นสัญลักษณ์ของความภูมิใจและเข้มแข็ง ซึ่งเมื่อแคมเปญนี้ออกไป พี่ๆ ก็เริ่มคุยกันว่าพวกเขาอยากจะติด ในความคิดพี่อิม คนเราควรจะต้องละอายในสิ่งที่ตัวเองกระทำไม่ดีหรือการกระทำที่เดือดร้อนคนอื่น เพราะสิ่งเหล่านั้นทำให้ตัวเองและครอบครัวตกต่ำ แต่เราไม่ควรต้องละอายในสิ่งที่เขาเกิดมาเป็น พี่รู้ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่ต้องสู้กับทัศนคติของคนรอบข้าง คนในสังคม แต่ที่ยากไปอีกคือการต่อสู้กับทัศนคติของความน้อยเนื้อต่ำใจของตัวผู้ป่วยเอง คนเราเกิดมาแตกต่าง สิ่งที่เราน่าจะช่วยกันคือการยอมรับ เข้าใจ และหาวิธีอยู่ร่วมกันให้ได้ในความแตกต่างนี้มากกว่า”

ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น

แม้จะมีข้อจำกัดในเรื่องเงินทุน แต่ในเมื่อมีความตั้งใจและเป้าหมายที่ชัดเจน ความสำเร็จก็ไม่ไกลเกินเอื้อม “ต้องบอกว่าเราไม่มีเงินสักบาท สิ่งที่มีคือความตั้งใจล้วนๆ พี่เชื่อเสมอเลยนะว่า ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น พี่เชื่อจริงๆ เลยว่า ถ้าเรามีความตั้งใจ โดยเฉพาะ ถ้าเป็นความตั้งใจที่ดี อย่างไรก็จะมีทางไป เพราะฉะนั้น เข้าใจพาร์กินสัน ใช้เวลา 1 ปี เต็ม แบบถ้ามีลูกก็คลอดเลยเหมือนกัน (หัวเราะ) ซึ่งแม้จะเป็น 1 ปี ที่ต้องให้กำลังใจตัวเอง ให้กำลังใจคนที่ทำงานกับคุณว่าเป็นไปได้ เพราะถ้าเทียบกับการทำงานปกติ หนังโฆษณา 1 เรื่อง เพียงแค่มีเงิน มีบรีฟ เวลา 3 เดือน ก็รู้เรื่องแล้ว เพราะฉะนั้น หากเราจะสร้างพระ จะสร้างวิหารบนภูเขา ไม่ง่ายหรอกและต้องมีศรัทธาประมาณหนึ่ง ถ้าส่วนตัวพี่อิม พี่ไม่รู้คนอื่นเป็นหรือเปล่าแต่คิดว่าน่าจะใกล้เคียง คือเวลาเราทำโฆษณา เราจะมีความรู้สึกลึกๆ ตลอด เรารู้ว่างานนี้จะฮิตหรือไม่ฮิต ก็ดูจากความตั้งใจนี่แหละ ตั้งแต่ใครจะได้ประโยชน์ ถ้างานนั้นไม่ดีกับผู้รับสาร เราก็จะพอคาดเดาได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น หลายๆ ครั้งที่พี่จะถามตัวเองเหมือนกันนะว่าเราเดินถูกทางไหม แต่เมื่อดีแน่ๆ แล้ว ก็จงมีศรัทธาและทำไปเถอะ คุณเดินมาถูกทางแล้ว”

คุณค่าของชีวิตในวันที่เรามองเห็นคุณค่าของตัวเองและผู้อื่น

“ถ้าถามว่าพี่มองคุณค่าชีวิตเปลี่ยนไปไหม ตอนแรกพี่ไม่รู้หรอกว่าความคิดและมุมมองการใช้ชีวิตพี่เปลี่ยนไป จนกระทั่งเพื่อนๆ และคนรอบข้างซึ่งอยู่กันมาตั้งแต่เด็กบอกว่าแกเปลี่ยนไปนะ เมื่อก่อนนี้งานมาเป็นอันดับหนึ่ง พอทำงานเสร็จก็กินข้าวกับเพื่อน เสาร์อาทิตย์ออกไปนวดหน้า ฉันจะต้องมีทุกอย่าง แฟชั่นวีคไปตลอด คิดว่าเราต้องไต่บันไดสังคมที่เป็นพีระมิด ต้องขึ้นไปอยู่ข้างบน แต่ตอนนี้ตรงไหนก็ได้แล้ว พี่ว่าที่เปลี่ยนอย่างแรกคงตามวัยด้วย กับอีกอย่างคือสิ่งที่เราให้ค่าเปลี่ยนไปแล้ว ซึ่งการได้ทำงานที่สร้างประโยชน์หรือมีส่วนช่วยคนอื่น สอนอะไรกับชีวิตพี่เยอะมากนะ ทำให้ความคิดพี่ค่อยๆ เปลี่ยนไป ทำให้รู้ว่าเราโชคดีขนาดไหน ตอนนี้พี่มีความสุขกับเรื่องง่ายๆ มากขึ้น อยากให้เวลากับแม่ อยากอยู่บ้านเล่นกับหมาแมว แต่ก่อนพี่จะเป็นคนที่อี๋ยูนิฟอร์มมาก ทำไมต้องใส่เสื้อยืดแบบนี้ ไม่เอาเลยนะ ทุกวันนี้ใส่เสื้อที่เป็น Operation Smile ด้วยความภาคภูมิใจ เพราะเราภูมิใจจากสิ่งที่เราทำ ถามว่าพี่ยังทำอะไรเพื่อตัวเองอยู่ไหม ก็ยังทำเยอะอยู่ แต่อาจเพราะเรารู้สึกพอแล้ว ก็เลยทำทุกอย่างให้ตัวเองได้เร็วขึ้น เวลาให้คนอื่นก็มีมากขึ้นตามมา ถ้าจะบอกว่ามนุษย์เท่าเทียมกันตรงไหน เราเท่าเทียมในความที่ทุกคนเป็นคน เราช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อ และพึ่งพากัน เขาอาจจะไม่ได้เก๋ ไม่ใช่คนหล่อหรือสวย ไม่ได้มีการศึกษาสูง แต่เขามีน้ำใจ นั่นทำให้คนคือคนที่แท้จริง พี่เชื่อว่าทุกคนเกิดมาเป็นคนดีเป็นพื้นฐานเพียงแต่ระหว่างการดำเนินชีวิตอาจทำให้เราหลุดไปจาก core value ที่เราควรจะเป็น เราอาจจะมัวแต่เอาสตางค์ไปหาความสุขให้ตัวเอง มัวแต่บอกว่าฉันทำงานหนัก ฉันสมควรจะได้รับสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่วันใดที่เราหาทางกลับมาที่แกนได้ ชีวิตเราก็จะมีความสุข ตอนนี้พี่กลับมาเป็นคนมากขึ้น และพบว่าความไม่สมบูรณ์แบบก็ไม่เสียหาย อาจจะเบี้ยวๆ ไปบ้างก็ไม่เป็นไร ไม่มีใครสมบูรณ์ เพราะเราก็ไม่”

กิ่งก้านสาขาของเข้าใจพาร์กินสัน

“จริงๆ ก็ยังไม่ได้เป็นรูปเป็นร่างที่ชัดเจน แต่เป็นความหวังของพี่ที่พยายามไปบิ้วคุณหมอและพี่ๆ ผู้ป่วย เพราะสิ่งที่เรากำลังทำคือเราแก้โรคไม่รู้ของสังคม ขณะเดียวกันก็อยากจะปรับจูนความคิดความรู้สึกของความน้อยเนื้อต่ำใจที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยด้วย แม้ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าวันนั้นจะมาถึงเมื่อไหร่และเราเองก็คงอุ้มเขาไม่ได้ตลอด แต่สิ่งที่ทำได้คือเราสามารถให้ know how ในสิ่งที่เชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างชุดข้อมูลที่เข้าใจง่ายและชัดเจน การเตรียมความพร้อมของบุคลากรในการให้ข้อมูล รวมถึงการใช้วิธีสื่อสารแบบที่คนในสังคมสามารถเข้าใจได้จริงๆ หน้าที่ของคนจากฝั่งนิเทศศาสตร์ เราทำไปหมดแล้ว เพราะฉะนั้นที่เหลือ เราคาดหวังว่าถ้าคุณหมอมีปัญหาอะไรหรือมีอะไรให้ช่วย บอกได้เลย เราก็ยินดีช่วยทุกอย่าง และเป้าหมายสูงสุดพวกเราอยากจะเห็นคือวันที่พี่ๆ เขาประกาศด้วยความภาคภูมิใจว่าฉันเป็นโรคพาร์กินสัน แต่ชั้นไม่ยอมแพ้”



ภาพ: Ketsiree Wongwan, www.chulapd.org
อ้างอิง: www.chulapd.org

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles