เคยสังเกตไหมว่าปกติแล้ว ขวดน้ำพลาสติกในบ้านเรามีชีวิตอยู่นานเท่าไหร่ นับตั้งแต่เราหยิบมันออกมาจากตู้เย็นในร้านสะดวกซื้อไปจนถึงวินาทีที่เราดื่มน้ำข้างในจนหมด…ก็อาจจะประมาณไม่ถึงสิบนาทีล่ะมั้ง หรืออาจจะนานกว่านั้นหน่อยถ้าคุณพกใส่กระเป๋าติดตัวไปไหนต่อไหนด้วย ฟังดูอายุสั้นใช่ไหม ถ้าเทียบกับพลังงานที่สูญเสียไปในการผลิตขวดพลาสติกขึ้นมาสักขวด และยิ่งไปกันใหญ่ถ้าเทียบกับระยะเวลาในการกำจัดในฐานะของเสียเมื่อใช้เสร็จสิ้น
เพื่อยืดอายุขวดพลาสติกที่ทิ้งกันให้เกลื่อนในทุกวันนี้ ดีไซเนอร์เพื่อสังคมจากลอนดอนอย่าง Micaella Pedros จึงคิดวิธีการรีไซเคิลแบบใหม่ในรูปแบบของโปรเจ็กต์ Joining Bottles โปรเจ็กต์เชิงทดลองที่เธอนำขวดพลาสติกธรรมดาๆ มาเปลี่ยนเป็นวัสดุเชื่อมชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ไม้ต่างๆ เข้าด้วยกัน หลังจากไปเก็บขวดน้ำพลาสติกที่ทิ้งอยู่ตามถังขยะ เธอก็นำขวดเหล่านั้นมาแปรรูปให้เป็นเนื้อเหลวด้วยความร้อน ก่อนที่จะนำพลาสติกเหลวนั้นมาเชื่อมกับชิ้นส่วนต่างๆ ซึ่งเธอก็พบว่านอกจากจะมีความแข็งแรงทนทานแล้ว อีกหนึ่งข้อดีของพลาสติกเหลวนี้คือมีความยืดหยุ่นสูง ทำให้สามารถประยุกต์ใช้ได้กับรูปทรงที่หลากหลาย ส่วนวัสดุที่เริ่มต้นจากไม้นั้นก็เป็นเพราะไม้เป็นวัสดุอีกอย่างที่พบได้ทั่วไปในท้องถิ่นนั่นเอง
“โปรเจ็กต์ Joining Bottles นี้มุ่งสนับสนุนความเชื่อที่ว่าเราทุกคนและทุกชุมชนสามารถนำสิ่งที่มีอยู่กลับมาใช้ใหม่ได้ โปรเจ็กต์นี้สามารถสร้างความแตกต่างได้ในหลายๆประเทศ โดยกระตุ้นให้คนในชุมชนเก็บขวดพลาสติกและไม้ที่เหลือใช้มาใช้ใหม่ วิธีนี้จะช่วยให้พวกเขาแข็งแกร่งขึ้นด้วยตัวเอง” Pedros กล่าวไว้ในเว็บไซต์ของโครงการ
[vimeo url=”https://vimeo.com/172330337″ width=”600″ height=”350″ autoplay=”1″]
อ้างอิง: Joining Bottles