Junko Fukutake Terrace พื้นที่กิจกรรมแบบเปิด เชื่อมมหาวิทยาลัยเข้ากับชุมชน

สถาปัตยกรรมสำหรับการศึกษาควรมีส่วนกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ เมื่อเหล่านักศึกษาที่ต้องอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยกำลังถูกบ่มเพาะให้เป็นคนที่ค้นหาตัวเอง มีแนวคิดของตัวเองก่อนออกไปรับใช้สังคม มหาวิทยาลัยและสังคมจึงควรเป็นสิ่งที่นักศึกษาควรทำความรู้จักควบคู่กัน

ณ มหาวิทยาลัยโอะคะยะมะ เมืองโอะคะยะมะ ประเทศญี่ปุ่น มีอาคารรูปทรงบางเบา แลดูลื่นไหล คืองาน Junko Fukutake Terrace ออกแบบโดยสำนักงานสถาปนิกญี่ปุ่นนาม SANAA อาคารนี้ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยโอะคะยะมะ วิทยาเขตสึชิมะ ทางมหาวิทยาลัยมีนโยบายให้มหาวิทยาลัยเข้าหาชุมชนมากขึ้น จึงรื้อรั้วเดิมออกไป ให้อาคารนี้ทำงานกับชุมชนโดยรอบมากขึ้น ด้วยที่ตั้งอาคารอยู่ริมมหาวิทยาลัยก่อนจะไปยังชุมชนข้างเคียงในแนวเหนือใต้ แถมยังรายล้อมด้วยต้นแปะก๊วยช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีได้ง่าย

โปรแกรมอาคารเป็นพื้นที่ให้นักศึกษาได้มาพักผ่อน พบปะ สร้างกิจกรรมสันทนาการกันนอกห้องเรียน พร้อมกับให้สถาปัตยกรรมเป็นตัวเชื่อมมหาวิทยาลัยเข้ากับชุมชน มากกว่าจะตัดขาดจนเกิดความห่างเหินต่อสังคม ตัวโครงสร้างแลเบาบางตามไสตล์ SANAA หลังคาเป็นแผ่นโลหะบาง เสาเหล็กกลมสีขาววางตัวลอยไปมาอดูอิสระ ใช้ผนังกระจกโดยรอบ ช่วยทำให้สถาปัตยกรรมดูบางลง ลดพื้นที่กั้นกางในมหาวิทยาลัยและชุมชน

อาจจะเป็นการเริ่มต้นให้นักศึกษาเตรียมตัวสู่สังคมก่อนเข้ารับใช้สังคม ให้เข้าหาชุมชนด้วยการใช้พื้นที่ที่มีความเชื่อมโยงของภายนอกและภายใน ต้องรอดูผลลัพธ์สุดท้ายว่าส่งผลเป็นอย่างไรกันบ้าง แต่เชื่อว่าน่าสนใจ

อ้างอิง: designboomsanaajterraceafasiaarchzine, ja 104. PUBLIC SPACE.2015 – 2016.Publisher:The Japan Architect

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles