เคอบุน-เคอบุน บังซาร์ (Kebun-Kebun Bangsar) เป็นสวนสำหรับชุมชน (community garden) ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ราว 35,000 ตารางเมตร ในย่านที่อยู่อาศัย Bangsar ของกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย เดิมทีพื้นที่บนเนินบริเวณนี้เป็นพื้นที่ทิ้งร้างภายใต้กรรมสิทธิ์ของรัฐบาลมาเลเซีย ส่วนหนึ่งเพราะเป็นพื้นที่ที่ตั้งอยู่ใต้สายไฟฟ้าแรงสูงขนาดใหญ่ จึงไม่เหมาะที่จะก่อสร้างอะไรได้ แต่ Ng Sek San ภูมิสถาปนิกชื่อดังชาวมาเลเซียเล็งเห็นศักยภาพของพื้นที่นี้ เขาและทีมงานจึงยื่นเรื่องขอใช้พื้นที่จากทางรัฐบาล เพื่อปรับเปลี่ยนเป็น community garden ที่เปิดให้ทั้งชาว Bangsar และใครก็ตามสามารถเข้ามาใช้พื้นที่ทำสวนและเรียนรู้ได้
หลังจากใช้เวลาดำเนินการยื่นเรื่องขออนุญาต รวมทั้งทำความเข้าใจกับชาวบ้านที่คัดค้านโปรเจ็กต์นี้ เป็นเวลาทั้งหมด 5 ปี Kebun-Kebun Bangsar จึงได้เริ่มต้นขึ้น ภายในสวนเราจะพบทั้งไม้ผล ไม้ดอก (ที่บางส่วนเลือกมาเพื่อดึงดูดแมลงปอ ผีเสื้อ) สมุนไพร รวมทั้งผึ้งที่นำมาเลี้ยงแบบธรรมชาติ และลูกเจี๊ยบที่เพิ่งมีคอกขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ การที่พื้นที่ถูกทิ้งร้างมาเป็นเวลานานส่งผลดีในเรื่องการเป็นพื้นที่ปลอดสารพิษ เช่นเดียวกับการที่พื้นที่ตั้งอยู่บนเนินก็ทำให้ทีมงานสามารถเลือกปลูกพืชพันธุ์หลากหลายชนิดที่ต้องการแสงแดดแตกต่างกันในแต่ละเวลาของวันได้ Kebun-Kebun Bangsar ยังทำระบบกรองน้ำด้วยชั้นหินที่ไหลลงมาตามพื้นที่แต่ละขั้น ทำให้สามารถทำเอาน้ำเสียจากท่อระบายน้ำด้านบนมาเป็นน้ำสะอาดที่ใช้ได้เมื่อน้ำไหลลงมายังพื้นที่ด้านล่าง
แต่ละวันจะมีชาวบ้านที่อยู่ในละแวก Bangsar เข้ามาเดินเที่ยวเล่นในสวน เช่นเดียวกับชาวมาเลเซียจากที่อื่นๆ ที่แวะมาศึกษาการทำสวนของชุมชน นอกจากนั้น ทุกสองสัปดาห์ของช่วงเช้าวันอาทิตย์ จะมีกิจกรรม ‘Gotong Royong’ หรือ อาสาสมัคร ‘ร่วมด้วยช่วยกัน’ ที่เปิดให้ใครก็ตามที่สนใจอยากมีส่วนร่วม เข้ามาศึกษาเรื่องการทำสวน รวมทั้งมาเป็นอาสาสมัครรดน้ำ พรวนดิน กำจัดวัชพืช และปลูกต้นไม้ ‘Gotong Royong’ ที่เกิดขึ้นที่ Kebun-Kebun Bangsar เป็นกิจกรรมที่สนุก เพราะนอกจากผู้คนจากหลายๆ ที่จะได้มาทำความรู้จักกัน แบ่งปันความรู้เรื่องการทำสวนกันแล้ว หลายครั้งก็ยังมีชาวบ้านอาสาทำอาหารมาเลี้ยง มีการให้ความรู้เรื่องการทำสวน และมีเด็กๆ จากที่ต่างๆ รวมทั้งบ้านเด็กกำพร้าในละแวกใกล้เคียงมาเรียนรู้ที่มาของอาหารต่างๆ และมาเล่นฟุตบอล จับปลา ฯลฯ กันอย่างสนุกสนาน
ผลผลิตส่วนหนึ่งของ Kebun-Kebun Bangsar จะถูกส่งไปที่ Soup Kitchen ในกัวลาลัมเปอร์ที่ชื่อ Pitstop Café และชาวชุมชนที่เข้าไปเยี่ยมชมสวนก็สามารถเก็บพืชผักสวนครัวไปใช้ได้ด้วยเช่นกัน นอกจากนั้น ใครก็ตามที่อยากจะทำ community garden ในชุมชนของตัวเองบ้าง Kebun-Kebun Bangsar ก็ไม่หวงลิขสิทธิ์ รวมทั้งยังยินดีให้ข้อมูลเรื่องการยื่นเรื่องขอใช้พื้นที่สาธารณะ และอาจเข้าไปช่วย set up สวนได้ในบางส่วน ด้วยการส่งทีมงานไปอบรมให้ความรู้
–
Text & Photo: Tunyaporn Hongtong