จุดเริ่มต้นของ ‘กล่องดินสอ’ กลุ่มคนทำงานกลุ่มเล็กๆ ที่มีความเชื่อว่า ‘เด็กพิการทางสายตาอาจไม่สามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากการมองเห็น แต่ไม่ได้แปลว่าพวกเขาจะพิการทางความคิดหรือไร้ซึ่งจินตนาการ หากได้เครื่องมือที่เหมาะสม พวกเขาก็สามารถทำอะไรหลายๆ อย่างได้เหมือนคนทั่วไป’ ความเชื่อที่ว่าได้ก่อร่างสร้างตัวขึ้นจนเกิดเป็นผลงานชิ้นเล็กๆ แต่มีพลังอย่างน่าประหลาด เพราะมันทำให้เราเห็นได้ถึงความตั้งใจดีในสิ่งที่พวกเขากำลังทำ ความพยายามที่จะข้ามขอบข่ายในสิ่งที่ตัวเองเคยเรียนรู้ไปสู่อะไรที่ดีกว่า ที่สำคัญคือ การหยิบยื่นโอกาสในการเรียนรู้ที่ยั่งยืนให้กับน้องๆ กลุ่มนี้
วันนี้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล (ต่อ) อรุโณชา พันธุ์สด (ออม) และ Nathalie Sajda กลุ่มนักพัฒนาสื่อการเรียนรู้สำหรับผู้พิการทางสายตากลุ่มนี้ถึงที่มาที่ไปของ ‘กล่องดินสอ’ ทัศนคติของพวกเขาต่อการทำงานเพื่อสังคม และทิศทางในอนาคต
(จากซ้ายไปขวา) Nathalie Sajda, ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล (ต่อ) และ อรุโณชา พันธุ์สด (ออม)
Q: ช่วยเล่าที่มาที่ไปของทีมกล่องดินสอให้เราฟังหน่อยได้ไหมว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร รวมไปถึงแนวความคิดและเป้าหมายของกลุ่มว่าทำอะไรและทำเพื่ออะไร?
ฉัตรชัย: จริงๆ แล้วผมเริ่มทำกล่องดินสอมาตั้งแต่ตอนเรียนปริญญาโทที่ธรรมศาสตร์ครับ ประมาณ 2 ปีที่แล้ว ช่วงนั้นมีเวลาว่างเยอะ เพราะเรียนภาคค่ำ ก็เลยมีโอกาสไปเป็นอาสาสมัครสอนการบ้านน้องๆ ที่มีความบกพร่องทางสายตา แล้วพอเราไปสอนก็รู้สึกว่าการเรียนการสอนของเขายาก เพราะไม่รู้ว่าจะอธิบายให้น้องๆ เข้าใจอย่างไร เช่น เรื่องเลข เราจะอธิบายเรื่องรูปทรงเรขาคณิตให้เขาเข้าใจได้อย่างไร สามเหลี่ยมเป็นอย่างไร สี่เหลี่ยมเป็นอย่างไร โดยที่ไม่มีของหรือสื่อกลางอะไรที่จะให้เขาได้สัมผัสหรือรับรู้ มันค่อนข้างที่จะยากมาก ซึ่งอุปกรณ์ของคุณครูที่ใช้สอนก็มีข้อจำกัดอยู่ เวลาเรียนเป็นตัวอักษรเขาจะใช้อักษรเบรลล์ใช่ไหมครับ แต่ถ้าเป็นการวาดภาพ เขาจะไม่มี ก็จะเป็นลักษณะว่าคุณครูจะทำเป็นสัญลักษณ์ให้เขาจับ จะใช้ที่กลิ้งผ้ากลิ้งบนกระดาษให้เป็นนูนๆ แต่มันจะมีข้อจำกัดว่าหนามเตยเล็ก เส้นเล็ก เด็กๆ ก็สัมผัสไม่ได้
จากตรงนั้นเราก็เลยเริ่มกลับมาหาดูว่าจะมีอะไรที่เราสามารถช่วยเหลือได้บ้าง พอมาลองค้นดู ปรากฏว่ามันมีคอนเซ็ปต์ของการใช้ไหมพรมกับหนามเตยซึ่งมีมานานมากแล้ว เป็นสิบๆ ปีแล้ว แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมเพราะว่าตัวอุปกรณ์ที่ใช้ยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ใช้ครั้งคราวแล้วก็เลิกใช้กันไป เราเลยนำมาคิดต่อว่าในเมื่อแนวความคิดมันมีและน่าสนใจแบบนี้แล้ว ทำไมเราไม่ลองหยิบสิ่งเหล่านี้มาพัฒนาต่อให้ใช้งานได้จริงๆ ไปเลยล่ะ ตอนแรกเราก็ทำเป็นตัวต้นแบบง่ายๆ จากอุปกรณ์ที่เรามีนะครับ แล้วก็ทำไปแจกโรงเรียน ทางโรงเรียนก็มีฟีดแบ็คกลับมาว่าน่าสนใจมากเลย คุณครูชอบ เด็กๆ ก็ชอบ อยากจะให้เราช่วยพัฒนาต่อได้ไหม จากนั้นผมก็ค่อยๆ ทำมาเรื่อยๆ ขั้นแรกจะเป็นตัวที่ผมลองผิดลองถูกเอง พอทำไปได้สักพัก ก็มีเสียงจากคนรอบข้างบอกว่าทำไมไม่ทำจริงจังไปเลยล่ะ มันเป็นสิ่งที่ดีนะ น่าจะไปต่อไปอีกไกลเลย เราก็เลยกลับมาทบทวนกับตัวเองแล้วก็ได้คำตอบว่าลองดูสักตั้งก็แล้วกัน ช่วงนั้นธุรกิจแรกซึ่งเป็นแท็กซี่สำหรับให้บริการผู้หญิงโดยผู้หญิงของผมเพิ่งจะเลิกทำไป ผมก็เลยเข้ามาทำโปรเจ็กต์นี้จริงจังขึ้น แล้วก็ได้มาเจอกับน้องออมและ Nathalie พอดีวันนี้ Nathalie ป่วย เลยไม่ได้มาครับ
Q: ทั้งสามท่านมารวมทีมกันได้อย่างไร? อรุโณชา: อาจารย์ของออมค่ะ เขาทำงานด้าน social enterprise อยู่ แล้วพอดีอาจารย์ได้เจอกับพี่ต่อ จากนั้นก็มาบอกต่อกับออมว่าตอนนี้พี่ต่อมีโปรเจ็กต์ทำอุปกรณ์ให้กับน้องๆ อยู่นะ น่าสนใจนะ อยากลองไปทำไหม ออมสนใจก็เลยได้เข้ามาคุยกับพี่ต่อแล้วก็ทำงานร่วมกัน
ฉัตรชัย: ตอนแรกผมทำแบบ ทำดีไซน์คนเดียวเลย ก็จะทำตัวต้นแบบง่ายๆ ที่พอใช้งานได้ เอากาวติด ใช้สก๊อตเทป เอาอุปกรณ์ที่มีอยู่มาลองประยุกต์ใช้ พอช่วงประมาณปลายปีที่แล้วที่ได้เจอกับออม ก็เริ่มคิดว่าเออเราพัฒนาของจนเราไม่รู้จะพัฒนาอย่างไรแล้ว และด้วยความสามารถในการตัดและการแปะของเรามันก็ได้แค่นั้น เราอยากจะมีดีไซน์เนอร์ที่สามารถเข้ามาช่วยพัฒนาสิ่งที่เราคิดให้มันเป็นอุปกรณ์ที่ใช้งานได้จริงๆ และมีประสิทธิภาพด้วย ก็เลยได้น้องออมมาร่วมงานกัน
Q: คุณแบ่งหน้าที่ในการทำงานกันอย่างไร? ฉัตรชัย: น้องออมจะดูแลในส่วนของการออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้งหมด รวมไปถึงสื่อประชาสัมพันธ์และอาร์ตเวิร์คต่างๆ ส่วน Nathalie จะดูในเรื่องของการตลาด เรื่องการขายทั้งในและต่างประเทศ ส่วนผมก็จะดูงานส่วนที่เหลือครับ
Q: ช่วยเล่าถึงรายละเอียดของตัวผลิตภัณฑ์ ‘ปากกาเล่นเส้น’ ให้เราฟังหน่อยได้ไหม ทั้งแนวคิด การพัฒนาตัวต้นแบบ การใช้งาน และการเลือกวัสดุ?
อรุโณชา: จริงๆ แล้วออมดูมาจากตัวแบบของพี่ต่อก่อน คือตอนที่ออมเข้ามาพี่ต่อไปทำอีกตัวหนึ่งอยู่ เป็นแบบพลาสติก ซึ่งออมคิดว่าชิ้นนั้นมันกลไกเยอะ แล้วก็ดูยากไปหน่อย ก็เลยกลับมาที่แบบก่อนหน้านี้ เพราะมันมีกลไกที่ง่ายกว่า น่าสนใจกว่า แล้วก็สามารถใช้งานได้ดี
สำหรับองค์ประกอบของมันก็จะมีไม่มาก ภายในชุดประกอบไปด้วย ปากกาเล่นเส้นซึ่งเป็นปากกาทำจากไม้ยางพารา มีรูปร่างคล้ายกับกระเปาะ แล้วเราก็ออกแบบให้มันสามารถหมุนและล็อคให้แกนไหมพรมไม่หลุดออกจากตัวกระเปาะ ใช้เส้นไหมพรมแทนหมึก ปลายปากกามีการติดตัวตัดไหมขัดฟันสำหรับตัดเส้นไหมพรมเมื่อวาดเสร็จแล้ว แล้วก็จะมีสมุดเล่นเส้นซึ่งเป็นสมุดที่ติดด้วยแผ่น velcro แบบใหม่ที่เรียกว่า easy tape ข้อดีของมันคือจะมีความเรียบเมื่อสัมผัสแต่สามารถเกาะเส้นไหมพรมได้ดี เมื่อใช้ปากกาเล่นเส้นวาดลงบนสมุดเล่นเส้นแล้วจะเกิดเป็นเส้นนูนขึ้นจากไหมพรม ทำให้เด็กๆ ที่พิการทางสายตาใช้มือสัมผัสตามได้ขณะวาด เวลาที่ใช้งานเสร็จแล้ว ก็สามารถดึงไหมพรมออกจากสมุดได้ โดยเส้นไหมพรมสามารถหมุนเก็บเอาไปใช้ต่อหรือทิ้งก็ได้
ฉัตรชัย: ส่วนการเลือกใช้วัสดุ ตอนแรกผมอยากทำพลาสติก แต่ด้วยว่าพอเรายังไม่ได้ผลิตเยอะ การใช้พลาสติกมันจะไปไม่รอด เพราะว่าพลาสติกต้องผลิตเยอะมากๆ ราคาสูงเลย เราเลยหันมาดูว่าวัสดุอะไรที่จะเป็นไปได้บ้าง มาจบตรงการใช้ไม้ เพราะอย่างแรก ไม้เป็นวัสดุที่ผู้ใช้จะรู้สึกได้ถึงความอบอุ่น เหมาะกับเด็ก และการผลิตของมันสามารถผลิตน้อยชิ้นได้ ถึงแม้ต่อชิ้นจะแพงหน่อย แต่ว่ามันยังไม่ต้องไปลงทุนสูงมาก เนื่องจากเรามีงบประมาณที่จำกัดจากที่เราได้ทุนมา ซึ่งเราก็วางแผนไว้อยู่แล้วว่าจะต้องมีการพัฒนาต่อเนื่องไปอีก
Q: คุณได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานหรือองค์กรใดบ้างไหมทั้งในเรื่องของทุนและความรู้?
ฉัตรชัย: เราร่วมพัฒนากับทางหลายองค์กรนะครับ ไม่ว่าจะเป็นคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้คำปรึกษาเราในเรื่องของการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษ รวมไปถึงโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ที่เขาเป็นสถานที่ให้เรามีโอกาสได้นำไปให้น้องๆ ใช้งานจริงเพื่อนำมาดูว่ามันมีข้อผิดพลาดตรงไหน น้องๆ ใช้งานได้ไหม คุณครูเห็นว่าอย่างไร แล้วทุกๆ ฝ่ายก็จะให้คำแนะนำในการพัฒนาว่าควรจะไปในทิศทางไหน สำหรับเรื่องเงินทุน เราได้รับการสนับสนุนจากโครงการ Banpu Champions for Change นะครับ เงินทุนก้อนนั้นตอนนี้ก็ยังใช้อยู่เลย เราใช้มาตลอดครับ
Q: แล้วการออกแบบผลิตภัณฑ์สำหรับน้องๆ ผู้พิการทางสายตา เราต้องคำนึงถึงอะไรเป็นพิเศษบ้างไหม?
ฉัตรชัย: ก็จะมีหลายๆ ส่วนครับ ตั้งแต่ขนาดของตัวสมุดที่จะเท่าๆ กับสมุดอักษรเบรลล์และหนังสือเรียนของเขาเลย ตอนแรกหลายคนจะมองว่าทำไมไม่เป็น A4 พับครึ่ง หรือขนาดอื่นๆ แต่พอเราได้มาทำจริงก็พบว่าถ้าสมมติว่าสมุดเล็กไป พื้นที่ใช้งานก็จะน้อย แต่ถ้าใหญ่ไป ก็จะยุ่งยากในการเก็บและพกพา เราก็เลยคิดว่าขนาดเท่ากับที่เขาเคยใช้อยู่แล้วคือขนาดที่เหมาะสมที่สุด
ส่วนวัสดุของสมุด เราก็เลือกใช้ velcro ที่เรียบกว่า velcro ปกติ แน่นอนว่าราคาจะแพงกว่า แต่ข้อดีของมันก็คือเวลาเด็กๆ สัมผัสเส้นไหมพรมที่วาดลงไปจะค่อนข้างชัด คือเส้นจะไม่จม ถัดมาก็จะเป็นเรื่องของสีที่เราเลือกใช้ velcro สีดำก็เพราะว่าเด็กที่บกพร่องทางการมองเห็นบางคนจะมองเห็นเลือนราง พอเขาเห็นเลือนราง ก็เหมือนกับว่าเขาเห็นเป็นสีขาว เราก็เลยเลือกให้มันเป็นสีดำจะได้ใช้ได้ทุกคน แล้วพอสมุดเป็นสีดำ เส้นไหมพรมที่นำมาใช้ก็ต้องตัดกัน เราเลือกใช้สีเหลืองเป็นหลักเพราะว่าสีเหลืองเป็นสีที่สีอ่อนโยนที่สุด คือไม่แสบตาเขาที่สุด ส่วนเหตุผลที่เลือกใช้ไหมพรมเส้นเล็กเพราะเวลากดแล้วเส้นไหมจะไม่จม เวลาสัมผัสไปเส้นก็จะชัด มีความแข็งนิดๆ แต่จะสัมผัสง่ายครับ
นอกจากเรื่องเรื่องสีและวัสดุแล้ว อีกส่วนที่สำคัญเลยคือการใช้งานว่ามันสามารถนำไปใช้งานอะไรได้บ้าง หลักๆ ก็จะเป็นเรื่องการเรียนเลข การวาดรูปศิลปะ แล้วก็รวมไปถึงการทำแผนที่ เวลาเขาเดินทางเขาต้องทำแผนที่ แล้วมีวิชาอื่นๆ ที่จะต้องมีการวาดรูปประกอบก็จะใช้กันได้หมด
Q: หลังจากที่งานของเราถูกนำไปใช้จริงแล้ว ผลตอบรับจากทั้งน้องๆ เอง คุณครู และผู้ปกครองเป็นอย่างไรบ้าง?
อรุโณชา: เบื้องต้นฟิตแบ็คดีค่ะ น้องๆ ชอบ พอเขาได้ใช้ก็สนุก สามารถใช้ทำอะไรได้เยอะเลย มีประโยชน์ในการเรียน แต่เราต้องติดตามผลต่อไปอีกว่ามันได้ผลจริงๆ ไหม ต้องใช้เวลานิดหนึ่ง เพราะว่าเราเพิ่งเริ่มส่งมอบให้ตามโรงเรียนได้ประมาณ 2 เดือน แต่ตอนนี้เรามีแพลนไว้เบื้องต้นว่าจะมีการทำวิจัยเพื่อที่จะทดสอบว่าผลิตภัณฑ์มีประสิทธิภาพมากน้อยขนาดไหนสำหรับน้องๆ และมันสามารถใช้งานในขั้นต่อๆ ไปอย่างไรได้บ้าง
Q: สำหรับการกระจายของให้น้องๆ เป็นไปในรูปแบบไหน เป็นไปในรูปแบบการมอบให้ ซื้อขายระหว่างเรากับทางโรงเรียนโดยตรง หรือว่ามีผู้สนับสนุน? ฉัตรชัย: หลักๆ จะมีสปอนเซอร์เข้ามา ซึ่งพอได้ทำตรงนี้เรารู้เลยว่ามีหลายๆ หน่วยงานมากที่พร้อมจะเข้ามาช่วยสนับสนุน ยิ่งพอเป็นเรื่องการศึกษาด้วยแล้ว เขายิ่งหันมาสนใจกับการให้สื่อการสอนลักษณะนี้เพราะมันจะมีผลดีกับเด็กในระยะยาว
Q: จากการทำงานที่ผ่านมา คุณเจอความอุปสรรคหรือท้าทายอะไรบ้างไหมทั้งในเชิงเนื้องาน การทำงานร่วมกับคนจากหลายๆ องค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานร่วมกับน้องๆ และคุณผ่านมันมาได้อย่างไร?
ฉัตรชัย: อุปสรรคที่เจอใหญ่สุดตอนที่ทำมาก็คือเรื่องการผลิต เรื่องซัพพลายเออร์ครับ เพราะมีโรงไม้ไม่กี่รายในประเทศไทยที่รับทำงานแบบนี้ อำนาจต่อรองเขาสูงมาก เรียกราคาเท่าไรเราก็ต้องยอม จะเลื่อนส่งช้าแค่ไหน เราก็ต้องยอม อันนี้คือเหตุผลหนึ่งที่เราต้องการจะเปลี่ยนเป็นพลาสติกด้วย แต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไรเยอะนะครับ สนุกดี เราก็ได้เรียนรู้ว่ามันเกิดเหตุการณ์แบบนี้ได้นะ
ส่วนการทำงานกับเด็กๆ ก็จะเป็นอารมณ์ทำงานกับเด็กครับ ความอยากรู้อยากเห็นก็มี แต่อาจจะมากหน่อยเพราะเขาจะใช้การสัมผัสเป็นหลัก เขาจะออกแนวเข้ามารุมมาดูสิ่งที่เราเอาไปให้เขาลองใช้ มาถามว่าอะไร ขอจับได้ไหม ใช้อย่างไร เหมือนกับว่าพวกเขาตื่นเต้นกัน ซึ่งไม่ได้เป็นปัญหาอะไรครับ สนุกดี
อรุโณชา: สำหรับออมก็จะคล้ายๆ พี่ต่อ แต่ออกจะเป็นกระบวนการหลังจากการผลิตมากกว่า คือ เราต้องมาดู มาเก็บเนี๊ยบให้เรียบร้อยมากขึ้น ต้องทำด้วยตัวเองทุกชิ้น พี่ต่อก็ด้วย ต้องมาช่วยกัน แล้วค่อนข้างใช้เวลานานมากกว่าจะเสร็จ ซึ่งผิดไปจากที่เราคาดเยอะเหมือนกัน เพราะเราคิดว่าโรงงานทำมาเสร็จแล้ว เราก็สามารถแพ็คใส่กล่องได้เลย กลับเป็นว่าเราต้องมาดูงานส่วนนี้เพิ่มเข้ามาอีก นอกเหนือจากนี้ก็จะเป็นเรื่องวัสดุ ด้วยความที่ผลิตภัณฑ์เป็นไม้ก็จะเจอปัญหาเรื่องการล็อค จะล็อคไม่ค่อยอยู่ ไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เกิด error เยอะเหมือนกัน แต่ก็ยังใช้งานได้ดี ซึ่งเราก็นำสิ่งที่เราเจอมาประมวลเพื่อดูว่าต้องปรับต้องแก้ตรงไหนบ้างเพื่อให้ตัวผลิตภัณฑ์ดีขึ้น เช่น พอเราเอาไปให้น้อง จากตอนแรกที่เราตั้งใจให้มันตั้งได้ เอาเข้าจริงคืออันตรายมาก ตอนนี้เลยพัฒนาเป็นแบบที่ตั้งไม่ได้ แล้วก็ไม่กลิ้ง ให้มันอยู่กับที่แทน
Q: อนาคตของผลิตภัณฑ์จะเป็นไปในแนวทางไหนต่อไป?
ฉัตรชัย: เป้าหมายของเรา คือ เราอยากให้มันเป็นสื่อหลักในการใช้ของเด็กๆ เป็นสื่อหลักหมายความว่า อะไรก็ตามที่คุณจะต้องวาดรูป คุณสามารถใช้ได้ ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย เราตั้งใจให้ตัวผลิตภัณฑ์ถูกนำไปใช้ที่อื่นๆ ได้ด้วย ซึ่งตอนนี้เราได้รับความสนใจจากหลายๆ ประเทศที่ติดต่อเข้ามานะครับ ที่เราส่งออกไปแล้วก็มีสิงคโปร์กับเยอรมนี เป็นโรงเรียนสอนคนตาบอดที่นั่น ส่วนในเมืองไทย เรามีการทำงานร่วมกับทางคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ซึ่งจะมีภาควิชาการศึกษาพิเศษที่สอนคุณครูสำหรับโรงเรียนพิเศษโดยเฉพาะ ถ้าสมมติว่าเราสามารถนำอุปกรณ์ตัวนี้ไปเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยได้ เมื่อคุณครูจบไป แล้วอยู่ในโรงเรียน เขาก็จะสามารถใช้อุปกรณ์นี้ในการสอนเด็กๆ ได้อีกต่อหนึ่ง
Q: โรงเรียนที่ต่างประเทศ เขามาเจอเราได้อย่างไรคะ?
ฉัตรชัย: ตอนแรกที่เราเริ่มทำ เราส่งโครงการไประดมทุนในเว็บไซต์ครับ ปรากฏว่าได้ไม่ถึงเป้า แต่ว่าสิ่งที่เราได้กลับมาก็คือมีคนติดต่อเข้ามาว่าเขาสนใจจะซื้อไปใช้ในโรงเรียนของเขานะ ก็น่าดีใจครับ
Q: หลังจากที่ทำงานมาพักใหญ่ๆ คุณได้รับอะไรจากสิ่งที่ทำบ้าง น้องออมก่อนเลย?
อรุโณชา: พี่กลัวออมลอกพี่ต่อใช่ไหม เหมือนพี่ต่อค่ะ (หัวเราะ) เอาหลักๆ เลย ออมก็พูดไม่เก่งนะเอาแบบว่าเล่าๆ สู่กันฟังแล้วกัน คือที่สิ่งที่ได้ มันจะเหมือนคนโลกสวยมากเลย คือเรามีความสุขเวลาที่เราเห็นน้องๆ ใช้โปรดักที่เราทำแล้วเขาชอบ เขาสนุก เราก็สุขใจ มันได้มากกว่าที่เราเห็น คือเขาสามารถเอาไปใช้ต่อได้เรื่อยๆ เหมือนว่าการที่เราให้เขาไป จริงๆ แล้วเราได้อะไรมากกว่าเขาเยอะ
ฉัตรชัย: สำหรับผม น่าจะแบ่งเป็น 2 ส่วนนะครับ ส่วนแรกคือได้เรื่องประสบการณ์ในการทำธุรกิจ อันนี้คือธุรกิจที่ 2 ในชีวิต ซึ่งเป็นธุรกิจที่จริงจังกว่าธุรกิจแรกสำหรับ 3 เดือนนะครับ (หัวเราะ) ผมมีโอกาสได้เรียนรู้ขั้นตอนการเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองเยอะมาก ได้รู้จักคนเยอะมากทั้งองค์กรต่างๆ หรือจากการที่มีบริษัทต่างๆ เข้ามาสนับสนุน ได้เจอคนที่หลากหลายและอยากจะให้ความช่วยเหลือเรา ตรงนี้ได้เยอะมากจริงๆ แล้วอีกส่วนหนึ่งก็คือเด็กๆ ที่เขาได้ใช้แล้ว พอเห็นเขามีความสุข เราก็รู้สึกภูมิใจในสิ่งที่เราทำ
Q: คำถามนี้อยากจะถามน้องออมบ้าง อย่างในปัจจุบันนี้ เราจะเห็นได้ว่าบทบาทของนักออกแบบที่มีต่อสังคมดูจะมากขึ้นเรื่อยๆ น้องออมมองเรื่องนี้อย่างไรบ้าง?
อรุโณชา: คือออมชอบนะคะสำหรับการที่มีนักออกแบบเข้ามามีส่วนร่วมด้านสังคมเยอะๆ เพราะว่าส่วนใหญ่ นักออกแบบก็ยังอยู่ในวงการของเขา เพื่อนออมส่วนใหญ่ก็อยู่ในพื้นที่ตรงนั้น ออมคิดว่าการดีไซน์อะไรสักอย่างมันควรทำได้มากกว่าการแค่การดีไซน์ เหมือนว่าไม่ใช่ว่าสวยแล้วจบ เพราะว่าการที่มันสวยแล้วจบ มันทำลายโลกเยอะเหมือนกัน ออมถึงมาอยู่ทางด้านนี้แหละ การดีไซน์หรือการผลิตโปรดักสักหนึ่งอย่าง มันใช้ขั้นตอนเยอะ ใช้พลังเยอะมาก และเปลืองมากๆ ด้วย แล้วอยากให้นักออกแบบช่วยกันคิดเยอะๆ มองโลกในมุมอื่นบ้างว่ามีทางไหนที่จะดึงทักษะที่เรามีไปช่วยสังคม ช่วยโลกได้บ้าง แน่นอนว่าดีไซน์สวยมันดีอยู่แล้ว แต่จะดีกว่าถ้ามันจะให้ประโยชน์กับคนอื่นด้วย
Q: หลังจากที่ทำงานกันมา มีอะไรที่เราได้เรียนรู้หรือเปลี่ยนมุมมองตัวเองบ้างไหม?
ฉัตรชัย: สำหรับผม ผมไม่ได้คิดว่าจะทำเป็นบริษัทอย่างจริงจัง ตอนแรกตั้งใจคือเพื่อทำไปแจก แต่พอทำไปเรื่อยๆ สิ่งที่เราทำ กลับเป็นสิ่งที่สามารถหาเลี้ยงชีวิตเราได้ด้วย มีใครสนใจเอาไปใช้ มีคนให้การสนับสนุนอะไรแบบนี้เยอะมาก และมันได้ประโยชน์กับน้องๆ รวมทั้งการเรียนของเขาด้วย
อรุโณชา: ไม่มีค่ะพี่ หนูโลกสวยมาอยู่แล้วค่ะ (หัวเราะ) คือเรามองทุกอย่างดีมาแต่ต้น พอมาเจอแล้วมันดีตามที่เราคิดก็เลยสมใจที่เราคาดไว้ แต่ก็จะมีที่แบบไม่สวยเกิดขึ้นนะ ขอเล่าหน่อย อยากเล่าเฉยๆ คืออย่างออมต้องไปติดต่อโรงงานพลาสติก เขาก็จะมองตัวเองว่าตัวเองกรีน คือหนูแบบทำไมล่ะคะ? เขาบอกว่าเวลาผลิตกระดาษ ต้องใช้ขั้นตอนเยอะมากในการผลิตเพื่อให้ได้กระดาษออกมา สิ้นเปลืองพลังงาน แต่ว่าพลาสติกเนี่ยกรีน เพราะว่าเป็นผลพลอยได้จากน้ำมัน คนต้องผลิตน้ำมันอยู่แล้ว คนต้องการเชื้อเพลิง เราเอามาทำพลาสติกมันเป็นการช่วยโลก คือแทนที่จะปล่อยทิ้งไป ก็เอามาทำประโยชน์ได้ เขาบอกว่าที่มันย่อยสลายไม่ได้ไม่มีหรอก ทุกอย่างมันย่อยสลายได้ ขึ้นอยู่กับว่ากี่ปีเท่านั้นแหละ ออมคิดในใจประมาณเป็นล้านปีค่ะ (หัวเราะ) ซึ่งมันก็ทำให้ออมหันมามองว่าเออ มันมีคนอื่นๆ ที่มีมุมมองแตกต่างกับเราอยู่นะ เป็นอะไรที่ผิดคาดไปเยอะเหมือนกัน คือหนูโลกสวยอยู่แล้ว พอเจอแบบนี้นี่เอ้าหนักกว่าเดิมอีกนะ
Q: แล้วสำหรับงานที่เราทำอยู่เรียกว่าประสบความสำเร็จแล้วรึยัง?
ฉัตรชัย: จริงๆ ตัวผลิตภัณฑ์ที่เราทำอยู่ก็ยังไม่สำเร็จเรียบร้อยดีนะครับ มีผลตอบรับดีมากกว่า ตอนนี้เรากำลังพัฒนาตัวที่เป็นพลาสติกอยู่ ซึ่งจะเป็นตัวที่ดีกว่านี้ เพราะพอมันเป็นพลาสติกแล้ว ข้อจำกัดจะน้อยลงไปเยอะ พลาสติกสามารถทำรูปฟอร์มที่มันจะฟรีฟอร์มได้มากกว่าเดิม ทำให้ตัวผลิตภัณฑ์กะทัดรัดกว่าเดิม แพ็คเกจจิ้งก็เล็กกว่าเดิมได้ แล้วก็เรื่องการหมุนตรงที่ใส่ไหมพรมก็จะดีขึ้น อีกอย่างพอเป็นพลาสติกมันจะถูกกว่าเยอะครับ แล้วทุกคนเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งเรามองไว้ว่าน่าจะเลือกพลาสติกที่มีผลกับสิ่งแวดล้อมให้น้อย นอกจากนี้เราก็พยายามค้นคว้าเพิ่มเติมมาจากพวกปากกา ดินสอ สีไม้ ของเด็กว่ามันมีแบบไหนบ้าง เขาทำอะไรมาแล้วดี แล้วก็เอามาปรับใช้กับของเรา ส่วนตัวอื่นๆ เราก็มีคิดกันไปบ้างแต่ยังไม่ได้ทำ
Q: แล้วเป้าหมายของกล่องดินสอในปัจจุบันและอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป?
ฉัตรชัย: เราต้องจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ (หัวเราะ) สำหรับตอนนี้ก็คือการพัฒนาและส่งมอบผลิตภัณฑ์ของเราไปให้ตามโรงเรียนต่างๆ ในประเทศไทย มีโรงเรียนสอนคนตาบอดอยู่ 12 แห่ง ถือว่าน้อยมากนะครับถ้าเทียบกับจำนวนเด็ก ตอนนี้เราส่งผลิตภัณฑ์ของเราไปให้ใช้แล้ว 10 แห่ง คิดว่าหมดสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ เราจะส่งมอบได้อีกประมาณ 200-300 ชุด ก็น่าครอบคลุมทุกโรงเรียน ระยะสั้นๆ เราก็จะลองดูว่าแล้วเด็กที่ไม่ได้อยู่ในโรงเรียนล่ะ เราจะเข้าถึงอย่างไร รวมถึงผู้ใหญ่ที่เขาต้องการใช้งานด้วย ส่วนในระยะยาว ผมคิดว่าใน 5 ปี เรามองว่าเราอยากจะเป็นบริษัทที่ทำทางด้านอุปกรณ์การศึกษานี้แหละครับ เราอยากจะทำอุปกรณ์ที่ใครๆ ก็สามารถที่จะเข้าถึงได้นะครับ
ภาพ: เกตน์สิรี วงศ์วาร, KlongDinsor
อ้างอิง: KlongDinsor, facebook.com/klongdinsor
บันทึก