บ้านการเคหะแนวใหม่ในญี่ปุ่นเปลี่ยนที่อยู่แนวดิ่งสู่แนวราบสร้างปฏิสัมพันธ์กันและกัน

ทุกสถาปัตยกรรมมีรุ่งเรือง โรยรา และรออุบัติใหม่

ดันจิ (Danchi) คือที่พักแบบอาคารพักอาศัยรวมราคาถูกที่มีกำเนิดในยุค 1960 ของญี่ปุ่น อันเป็นผลจากเศรษฐกิจที่เติบโตหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ผู้คนอพยพเข้าเมืองหลวง คือ กรุงโตเกียวเป็นจำนวนมาก แต่เหล่าดันจินี้ไม่สามารถไปสร้างในตัวเมืองที่แออัด ราคาแพงได้ จึงได้ออกมาสร้างยังย่านชานเมืองที่ไกลออกไป แต่มีระบบการขนส่งอย่างรถไฟที่พาเหล่ามนุษย์เงินเดือนสามารถเข้าไปทำงานในเมืองได้ในเวลาไม่นานนัก ทำให้ดันจิได้รับความนิยมสำหรับคนญี่ปุ่นในยุคนั้นมาก แต่สุดท้ายแล้วดันจิก็ถึงคราวร่วงโรยในยุค 1990 จากสภาวะขาลงของเศรษฐกิจญี่ปุ่น พวกมันจึงค่อยๆ ตายไปในที่สุด

ประกอบกับในปัจจุบันญี่ปุ่นมีปัญหาการหดตัวของประชากร เหล่าดันจิยิ่งค่อยหมดความสำคัญลงไป ไม่มีใครต้องการที่พักอาศัยแบบเดิมอีก ตึกเหล่านี้เริ่มเก่า เริ่มร้าง ผู้คนอพยพออกไปเรื่อย ๆ

จากปัญหานี้ทำให้ Kowa Public Apartment Complex เสนอทางออกด้วยการสร้างหมู่บ้านที่ไม่ขึ้นแนวดิ่งจนไม่น่าอยู่ แต่เสนอทางออกของการเคหะยุคใหม่ของญี่ปุ่น เป็นบ้านการเคหะแนวใหม่ในจังหวัดไอจิ พวกมันถูกออกแบบโดย 2 สถาปนิก เคนทะโร คุริฮะระ และ มิโฮะ อิวะทสึคิ จาก Studio Velocity สถาปนิกเสนอให้รีโปรแกรมจากอพาร์ทเมนท์แนวดิ่งซ้อนกันสูงขึ้นไปที่ขาดปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรมชาติ และผู้อาศัยกับเพื่อนบ้าน แนวทางการออกแบบใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยการนำเสนอจากการแปลความบ้านญี่ปุ่นที่เป็นบ้านมี ‘เอ็นกะวะ’ โดยรอบบ้าน

เอ็นกะวะ คือพื้นที่ระหว่างภายนอกและภายในของบ้าน มีลักษณะเป็นระเบียงพร้อมหลังคาคลุม เมื่อต้องการที่จะสร้างสภาพแวดล้อมในบ้านให้เป็นส่วนตัว เอ็นกะวะจะถูกปิดล้อมด้วยเหล่าบ้านโชจิ หรือประตูเลื่อนกรุด้วยกระดาษขุ่น เมื่ออากาศดี มีอุณหภูมิที่อบอุ่น บานโชจิก็จะถูกเปิด เพื่อเชื่อมพื้นที่ระหว่างภายนอกกับภายใน

แนวคิดปลุกจิตวิญญาณของเอ็นกะวะ จึงกลายเป็นบ้านไม้ชั้นเดียวเรียงตัวกันไป บ้านแต่ละหลังมีพื้นที่ให้หายใจได้ระหว่างกัน บ้านที่สร้างใหม่ไม่จำเป็นต้องเป็นอพาร์ทเมนท์สูง อยู่กันในห้องคับแคบ แต่เป็นบ้านไม้ที่มีเอ็นกะวะให้ผู้คนได้ทักทาย พบปะกันของผู้คนในชุมชน ทั้งยังทำให้คนหลายรุ่น ทั้งเด็ก และผู้สูงอายุที่กำลังเพิ่มขึ้นในสังคมญี่ปุ่น ได้ดูและกันและกันอีกด้วยเช่นกัน

สภาพการณ์เปลี่ยนไป สังคมก็เปลี่ยนตาม สถาปัตยกรรมเองก็มีหน้าที่รับใช้สังคมให้ยกระดับผู้คนจากทุกสภาพการณ์ จึงจะเป็นสถาปัตยกรรมที่ดี ใช่หรือไม่?

อ้างอิง: www.studiovelocity.jpwww.spoon-tamago.com

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles