La Comuna บ้านแบบ 2 in 1 ผสานที่อยู่อาศัยเข้ากับพื้นที่การลดและรีไซเคิลขยะของชุมชน

การสร้างสถาปัตยกรรมใหม่ โดยส่วนใหญ่คือการทำลายทรัพยากรที่มีจำกัดในโลกเพื่อสร้างมันขึ้นมา แนวทางที่น่าสนใจสำหรับการลดการใช้วัสดุก่อสร้างสามารถทำได้ทั้งการออกแบบให้ประหยัด หรือการเลือกใช้วัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่สำหรับการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ในแต่ละชุมชนก็เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญในภาวะปัจจุบันของโลกเรา ด้วยเราจะพบได้จากสื่อต่างๆ ถึงขยะที่กำลังจะล้นโลกของเราในเวลาอีกไม่นาน

โครงการเพื่อชุมชนในเมืองฮัวกิลา ประเทศเอกวาดอร์ ซึ่งเป็นเมืองชายแดนระหว่างเปรูและเอกวาดอร์ ได้เกิดโครงการนำร่องที่ผสานที่อยู่อาศัยเข้ากับพื้นที่สร้างการลดขยะจากชุมชน ด้วยฝีมือร่วมกันออกแบบของ 2 สำนักงานสถาปนิกเอกวาดอร์ ชื่อโครงการคือ ‘La Comuna’ แปลว่า ชุมชน กิจกรรมในงานนี้รองรับสำหรับกิจกรรมการรีไซเคิล งานช่างผสานกันกับที่อยู่อาศัย ให้สามารถเกื้อกูลกันได้ทั้งเจ้าของบ้านและกิจกรรมรองรับการลดขยะในชุมชน

พื้นที่ใช้สอยโครงการแบ่งออกเป็น 2 ชั้น ด้วยหน่วยที่มีพื้นที่แต่ละช่วงเสาขนาด 3×4 เมตร จำนวน 3 หน่วย ไม่รวมบันได ชั้นที่ 1 ซึ่งติดกับถนนหน้าโครงการเชื่อมไปยังชุมชนถูกออกแบบให้รองรับกิจกรรมสำหรับการจัดเก็บของเหลือใช้ คัดแยก จากรถจักรยานกระบะที่ขนขยะในชุมชนกลับมาแยกที่นี่ พื้นที่ชั้น 1 มีลักษณะโปร่งโล่งให้เหมาะกับงานช่าง คัดแยกของ พร้อมกับห้องเก็บของ ผนังโดยรอบจึงออกแบบให้เป็นประตูบานเกล็ดที่สามารถระบายอากาศได้ดี และยังเป็นบานเฟี๊ยมที่สามารถเปิดออกเต็มช่วงเสา ให้การใช้สอยมีความยืดหยุ่นสูงอีกด้วย สำหรับชั้นที่ 2 มีการใช้สอย ผนังไม้บานหมุนขนาดใหญ่ช่วยแยกพื้นที่ใช้สอยระหว่างห้องนอนกับพื้นที่อเนกประสงค์ พร้อมกับติดตั้งโต๊ะทำงานแบบพับเข้ากับบานประตู ทำให้สามารถใช้รองรับกิจกรรมได้หลายแบบ หากต้องการความเป็นส่วนตัวก็หมุนผนังปิดแยกพื้นที่ 2 ส่วนนี้ให้ชัดเจน หากต้องการเชื่อมโยงกิจกรรมของ 2 พื้นที่นี้ก็หมุนเปิดเชื่อมเข้าหากันได้

การเลือกใช้วัสดุหลักคือไม้ที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น พร้อมกับการออกแบบตัวหนังสือบนผนังด้านหน้าบ้านว่า recycle เพื่อส่งข้อความให้ช่วยกันลดขยะ ปัญหาทุกอย่างมันบรรเทาได้ ขอให้ลองช่วยกันเท่านั้น

 

อ้างอิง: www.naturafuturarq.com, Facebook: Frontera Sur Arquitectura

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles