Las Tejedoras ศูนย์เรียนรู้ในเอกวาดอร์ ใช้งานได้หลากหลาย สวยกลืนกับชุมชน

การยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนอย่างยั่งยืน ไม่ใช่แค่การรอรับบริจาค แต่สามารถใช้วิธีสร้างคนให้มีทักษะเพื่อสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัวอย่างมั่นคง คำถามต่อมาคือ แล้วสถาปัตยกรรมสมารถเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างไร ตามอ่านบรรทัดต่อไปจะพบคำตอบ

ในพื้นที่ชานเมืองชิงกอน ประเทศเอกวาดอร์ มีประชาการอยู่ราว 4,900 คน ประชากรส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่มีรายได้ไม่สูงและมีโอกาสน้อยที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน ในขณะเดียวกันทาง Young Living Foundation ได้เล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้เริ่มดำเนินกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการสร้างอาชีพขึ้น เป้าหมายของการดำเนินงานคือให้กระบวนการการทำงานเป็นเครื่องมืออย่างค่อยเป็นค่อยไป มีการจัดเวิร์กช็อปต่างๆ ทั้งฝึกการก่อสร้างหลายครั้งกับชุมชนและสมาชิกในครอบครัว โดยหวังที่จะส่งผลให้เพิ่มทักษะที่ช่วยเสริมสร้างการพัฒนาท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อม ในโครงการเวิร์กช็อปมีเด็กที่มีรายได้น้อยประมาณ 150 คนเป็นผู้เข้าร่วม และแม่ๆ ของเด็กเหล่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการเวิร์กช็อปด้วย โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กร Bromelias Artisan Women ที่มุ่งเน้นการพัฒนาผ้าทอมือจากเส้นใยธรรมชาติให้กับชาวชุมชน ซึ่งต่อมามีสมาชิกเพิ่มมากขึ้นจนเกิดความต้องการพื้นที่ใหม่ เพื่อรองรับการขยายตัวของกิจกรรมเหล่านี้

เมื่อมีการออกแบบพื้นที่ใหม่ สถาปัตยกรรมใหม่จึงถูกออกแบบมาให้รองรับความหลากหลายของกิจกรรม สถาปนิกผู้รับหน้าที่ออกแบบคือ Natura Futura และ Juan Carlos Bamba โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการสร้างศูนย์การเรียนรู้ การแลกเปลี่ยน งานช่างฝีมือ และบูรณาการทุกองค์ความรู้เข้าด้วยกันที่ศูนย์นี้ในชื่อว่า Las Tejedoras

นอกจากการเกิดพื้นที่ใหม่เพื่อรองรับกิจกรรมใหม่แล้วนั้น การออกแบบสถาปัตยกรรมยังรองรับสภาพอากาศแบบเมืองร้อนของเอกวาดอร์ ตัวอาคารมีลักษณะกระจายตัวออกให้มีผิวสัมผัสมาก ส่งผลให้ระบายอากาศได้ดี ส่วนการใช้สอยก็จัดวางให้แกลเลอรีอยู่ด้านหน้าเพื่อคัดกรองผู้เข้าใช้โครงการพร้อมไปกับการเชื่อมโยงสถาปัตยกรรมเข้ากับชุมชน ในขณะที่พื้นที่ด้านหลังคอร์ตออกแบบให้ปิดมิดชิด เพื่อการรักษาความปลอดภัย เปลือกที่หุ้มอาคารโดยรอบเป็นประตูหน้าต่างบานเกล็ดไม้ ทำให้สามารถรับลมได้ดี พร้อมกับกรองแสงธรรมชาติให้เข้ามาภายในตามการใช้สอยที่พอเหมาะจากการเลือกที่จะเปิดหรือปิดตามการใช้งาน ส่วนที่เป็นผนังทึบเป็นการใช้อิฐก่อสานเป็นรูปก้างปลาเพื่อเพิ่มความแข็งแรง โครงสร้างใช้ไม้สักทรงกลมเป็นโครงสร้างหลักที่ใช้กันทั่วไป หาได้ง่ายในท้องถิ่น มีความแข็งแกร่งทนทาน ทำหน้าที่รับโครงสร้างหลังคาและพื้นชั้นบน

Las Tejedoras เป็นความพยายามที่จะสร้างสถาปัตยกรรมที่ผสานเข้าไปกับพื้นที่ ทั้งการออกแบบกิจกรรม การใช้สอย การเลือกใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อกลับมาพัฒนาท้องถิ่นผ่านสถาปัตยกรรมนั้นเอง

แปลและเรียบเรียงจาก: www.archdaily.com
ที่มา: decor.designarchello.com

Tags

Tags:

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles