‘ฮันบก’ ชุดประจำชาติสาวเกาหลีดีไซน์ใหม่ให้สวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน

ย้อนกลับไปเมื่อ 100 กว่าปีก่อน ‘ฮันบก’ นับเป็นเครื่องแต่งกายของหญิงสาวชาวเกาหลีที่ใช้ในการบ่งบอกสถานะและสะท้อนความละเมียดละไมของวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครอง ฮันบกกลายเป็นอาวุธสำคัญที่หญิงสาวในยุคนั้นใช้ปกป้องตัวเอง จนเมื่อเกาหลีก้าวสู่ยุคสาธารณรัฐ ชุดดังกล่าวจึงค่อยๆ ลดบทบาทลง

แต่ไม่ว่าจะเพราะยุคสมัยและค่านิยมที่เปลี่ยนไป ความซับซ้อนของการองค์ประกอบของชุดตามประเพณีนิยมที่ส่งผลต่อความยุ่งยากในการสวมใส่ เลยไปจนถึงราคาที่สูงอยู่ไม่น้อยเมื่อเทียบกับเสื้อผ้าปกติ ที่ทำให้ชุดดังกล่าวถูกจำกัดให้สวมใส่แค่ในโอกาสพิเศษอย่างงานแต่งงาน วันซอลลัล (หรือวันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินจันทรคติ) และเทศกาลชูซ็อก (หรือวันของคุณพระเจ้า) ก็ตาม แต่สำหรับดีไซเนอร์อย่าง Hwang Yi-seul (ฮวางอีซึล) แล้ว ‘ฮันบก’ คือสิ่งมีค่าและเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นเกาหลีที่เธออยากจะเผยแพร่และคงคุณค่าของชุดประจำชาติที่ว่านี้แก่คนรุ่นใหม่ ตลอดจนสร้างความเข้าใจในวัฒนธรรมดั้งเดิมและความเป็นมาขอเกาหลีผ่านอาภรณ์เก่าแก่ดังกล่าว

“มีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังคิดว่าฮันบกไม่สามารถใส่ในชีวิตประจำวันได้ พวกเขาจึงเลือกสวมใส่ในวันที่พิเศษจริงๆ ฉันอยากสร้างค่านิยมให้คนเกาหลี โดยเฉพาะวัยรุ่นสามารถสวมใส่ฮันบกได้แบบสบายๆ เหมือนที่พวกเขาใส่กางเกงยีนส์สักตัวออกจากบ้าน” Hwang Yi-seul ดีไซน์ชุดฮันบกของเธอในรูปแบบ ‘Modern Hanbok’ ที่จับเอาลักษณะสำคัญๆ อย่างปกเสื้อและวิธีการมัดชุดมาเป็นแก่นในการออกแบบ รวมถึงการปรับเปลี่ยนและประยุกต์แพทเทิร์นที่ซับซ้อนให้เรียบง่ายขึ้น เป็นต้นว่า ลดความยาวและความกว้างของกระโปรงให้สั้นและแคบลงเพื่อให้ผู้คนใส่ได้อย่างคล่องตัว แต่ยังคงความสบายไว้ได้อยู่ การนำซิบมาใช้ในส่วนกระโปรงแทนการใช้เชือกมารัดรอบตัวเพื่อให้ง่ายต่อการสวมใส่ การเปลี่ยนวัสดุมาใช้ผ้าลินิน ฝ้าย และเดนิม ที่สะดวกต่อการบำรุงรักษาและจัดเก็บ รวมถึงการนำลวดลายอย่าง เส้น จุด และภาพกราฟิกมาใช้แทนที่ลวดลายแบบดั้งเดิม

ประเด็นที่เราสนใจไม่ได้หยุดอยู่แค่การสร้างสมดุลระหว่างความงามตามประเพณีนิยมและความสมัยใหม่จนเกิดเป็นความร่วมสมัยในวัฒนธรรมการสวมใส่ชุดฮันบกได้อย่างพอดี มีรสนิยม โดยไม่หลงลืมคุณค่าและเอกลักษณ์ ขณะเดียวกันงานของเธอยังแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจในฟังก์ชั่นของฮันบกที่ต้องสวมใส่สบายและแสดงถึงความงามแบบสาวเกาหลีขนานแท้ด้วย และความทุ่มเทของเธอกับการเข้าไปศึกษาวิธีการตัดเย็บชุดฮันบกแบบดั้งเดิมตั้งแต่วัยเพียง 14 ปี กำลังผลิดอกออกผล จนทุกวันนี้ LEESLE ก้าวสู่การเป็นแบรนด์ผลิตฮันบกร่วมสมัยที่วัยรุ่นเกาหลีทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนหญิงสาวในเอเชีย ยุโรป และฝั่งอเมริกาต่างอยากจับจองเป็นเจ้าของ นอกจากนี้ ความนิยมของ LEESLE ยังแสดงให้เห็นจากเทียบเชิญของแบรนด์ดังๆ ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์สัญชาติเดียวกันอย่าง KIA ตลอดจน Timberland ที่ดึงเธอมา collaborate งานร่วมกัน ซึ่งดูเหมือนเป้าหมายในอนาคตของ Hwang Yi-seul ที่ต้องการพาฮันบกขึ้นแท่นเป็นแฟชั่นที่ใครๆ อยากมีไว้ครอบครองจะอยู่อีกไม่ไกล

 

Hwang Yi-seul

อ้างอิง: LEESLE 

บันทึก

บันทึก

บันทึก

บันทึก

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles