เดี๋ยวนี้ผู้คนมากมายต่างให้ความสนใจกับการพัฒนานวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นที่นอนรักษ์โลกที่ผลิตจากวัสดุเหลือใช้หรือรองเท้าที่ทำจากสาหร่ายทะเล ล่าสุดทีมนักศึกษาจากเนเธอร์แลนด์ได้พัฒนานวัตกรรมสุดทึ่ง “รถยนต์จากพืช” คันแรกของโลกที่สามารถวิ่งบนถนนได้จริง
รถยนต์คันนี้มีชื่อว่า Lina ผลงานของนักศึกษาทีม TU/Ecomotive จาก Eindhoven University of Technology ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นรถที่ย่อยสลายได้ มีน้ำหนักเบา ผลิตจากผักกาดฝรั่ง (sugar beet) และป่าน ตัวแชสซีของรถผลิตจากพลาสติกชีวภาพที่ได้มาจากผักกาดฝรั่งซึ่งจะมีลักษณะเป็นโครงรังผึ้ง อยู่ระหว่างแผ่นชีทคอมโพสิตเส้นใยป่านสองแผ่น ทำให้มีความแข็งแรงและมีน้ำหนักเบา สามารถกันฝนและกันแดดได้เป็นอย่างดี ส่วนกระจกของรถนั้นทำมาจากใยแก้วและด้านในของรถก็ทำมาจากพืชหลายชนิด จะมีแค่เพียงล้อและระบบกันสะเทือนเท่านั้นที่ไม่ได้ใช้วัสดุชีวภาพ โดยรถมีน้ำหนักเพียง 310 กิโลกรัม สามารถโดยสารได้ 4 คน ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ซึ่งใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ที่ให้กำลังไฟ 8 กิโลวัตต์ ใช้มอเตอร์ 2 ตัวทำให้ Lina สามารถขับเคลื่อนด้วยความเร็วสูงสุดที่ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
แม้ว่า Lina จะยังไม่ผ่านการทดสอบความปลอดภัยด้านการชนและยังเป็นแค่รถยนต์ต้นแบบที่กำลังรอเงินทุนเพื่อนำมาปรับปรุงพัฒนาให้สามารถนำมาใช้งานจริง แต่อย่างน้อย Lina ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพื่อความยั่งยืนและเป็นรถยนต์ต้นแบบให้กับรถยนต์ประหยัดพลังงานต่อไปในอนาคตได้
อ้างอิง: Springwise, Inhabitat