Living Seawall บ้านหลังใหม่ของสิ่งมีชีวิตในทะเล ช่วยกรองสิ่งสกปรกในน้ำได้ด้วย

นอกจากการตั้งเป้าที่จะนำพลาสติกจากการรีไซเคิลขวดพลาสติก อวนจับปลา และขยะพลาสติกอื่นๆ มาใช้เป็นองค์ประกอบของชิ้นส่วนที่เป็นพลาสติกภายในตัวรถอย่างน้อย 25% ให้ได้ภายในปี 2025 เพื่อช่วยลดปริมาณขยะ ตลอดจนลดจำนวนการผลิตชิ้นส่วนพลาสติกใหม่ๆ แล้ว แบรนด์รถยนต์จากแดนไวกิ้งอย่าง Volvo ก็ทำโครงการคู่ขนานอีกหลายอย่าง ทั้งการสร้างความตระหนักรู้ถึงวิกฤตของไมโครพลาสติก อันเป็นมลพิษตกค้างอยู่ใต้ท้องทะเลและสร้างมลพิษแก่มหาสมุทรทั่วโลก การรณรงลดใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกผ่านกิจกรรมการเก็บขยะบริเวณชายหาดที่จัดโดย Volvo Ocean Race โดยมีโปรเจ็กต์ชื่อ ‘Living Seawall’ เป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมดังกล่าวด้วย

Living Seawall เกิดจากความร่วมมือกันระหว่าง Volvo, Sydney Institute of Marine Science (สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลของซิดนีย์) และ Reef Design Lab เพื่อพัฒนากระเบื้องทรง 8 เหลี่ยม ที่จำลองรูปทรงมาจากรากของต้นโกงกาง กระเบื้องที่ผลิตขึ้นจากการนำเอาคอนกรีตมาผสมเข้ากับวัสดุอย่างไฟเบอร์ซึ่งมีต้นทางมาจากพลาสติกรีไซเคิล มีฟังก์ชั่นหลักๆ คือการเป็นที่อยู่ให้กับสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล ขณะที่ยังสามารถใช้เป็นตัวกรองสิ่งสกปรกออกจากน้ำได้ในเวลาเดียวกัน

ณ ปัจจุบัน Living Seawall ได้ถูกนำไปติดตั้งบริเวณอ่าวซิดนีย์ ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีทีมนักวิจัยเฝ้าสังเกตการณ์คุณภาพการทำงานของสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวจากนี้ไปอีก 20 ปี แว่วว่าด้วยลักษณะทางกายภาพบริเวณชายฝั่งของเมืองดังกล่าวที่เป็นกำแพงกั้นน้ำ ก็เอื้อให้ Living Seawall สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการเป็นที่อยู่ของสัตว์น้ำ ขณะที่ฟังก์ชั่นอย่างการกรองสิ่งสกปรกและโลหะหนักเพื่อคืนความสะอาดให้แก่ท้องทะเลนั้น กำลังอยู่ในระหว่างการวัดผล ซึ่งก็น่าจะมีส่วนช่วยได้ไม่มากก็น้อย

อ้างอิง: www.volvocars.com

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles