‘Local Alike’ การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน โดยชุมชนเพื่อชุมชน ที่ให้มากกว่าความสุข

จากต้นขั้วทางความคิดที่ต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยมีความเข้มแข็งและความสุขของชุมชนเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ การก่อร่างสร้างตัวของ Local Alike จึงเกิดขึ้นโดยมี สมศักดิ์ บุญคำ (ไผ) และ สุรัชนา ภควลีธร (นุ่น) สองผู้ร่วมก่อตั้งเป็นหัวหอกหลัก โดยมีกลุ่มมดงานอย่าง ปฐมพร พงษ์นิล (โบว์), เพ็ญศิริ สอนบุตร (อุ๋ม), ทรงกลด ถานะวร (ตูมตาม), สุดารัตน์ อาชวานันทกุล (หมิ่น) และ อานนท์ สุภาศรี (ไผ่) ที่มาช่วยเสริมทัพให้กลุ่มกิจการเพื่อสังคมกลุ่มนี้เป็นอีกทางเลือกที่มุ่งสร้างคุณค่าและเพิ่มมูลค่าให้การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เกิดขึ้นได้จริง วันนี้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับคุณไผและทีมงานถึงแรงบันดาลใจและแนวคิดในการสร้างรูปแบบการท่องเที่ยวที่การพัฒนาทั้งด้านสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และสังคมอย่างยั่งยืนคือหัวใจขององค์กร

Q: ก่อนที่จะมาก่อตั้ง Local Alike คุณทำอะไรมาก่อน?

A: ผมจบปริญญาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สาขาปิโตรเคมีที่ศิลปากร หลังจากนั้นก็ได้ไปทำงานกับบริษัทเยอรมัน เป็นวิศวกร ทำได้ประมาณ 3 ปี ก็ตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโทด้านการบริหารธุรกิจอย่างยั่งยืนที่ซานฟรานซิสโก ตอนที่เรียนก็จะเน้นเรื่องกิจกรรมเพื่อสังคมโดยเฉพาะ พอเรียนจบก็กลับมาฝึกงานกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง แล้วพอดีได้โปรเจ็กต์ที่ต้องเข้าไปช่วยหมู่บ้านซึ่งอยู่ในโครงการดอยตุงครับ หน้าที่ในตอนนั้นก็คือทำแผนธุรกิจเรื่องโฮมสเตย์ พอฝึกงานได้ 2 เดือน ทางมูลนิธิคงเห็นว่าผลงานดีก็เลยทาบทามให้ทำงานเต็มเวลาที่นั่นเลย ตอนนั้นผมได้ทำตำแหน่งพัฒนาธุรกิจ ซึ่งเป็นแนวพัฒนาธุรกิจชุมชนให้กับดอยตุง แม่ฟ้าหลวง

สมศักดิ์ บุญคำ (ไผ)

 

 

Q: แล้ว Local Alike เกิดขึ้นได้อย่างไรและมีแนวคิด รวมถึงจุดประสงค์ในการทำงานอย่างไร?
A: จริงๆ ความคิดเรื่อง Local Alike มันค่อยๆ เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนที่ผมทำงานอยู่ในมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงแล้ว จนกระทั่งทำได้หนึ่งปี เราได้เรียนรู้งานเยอะมากกับงานชุมชน พอถึงจุดหนึ่งก็เริ่มมั่นใจว่า Local Alike น่าจะเป็นแนวคิดที่จะช่วยสังคมได้เยอะพอสมควร เลยตัดสินใจลาออกแล้วทำมาอย่างจริงจัง
พูดให้เห็นภาพง่ายๆ เลยก็คือ Local Alike เป็น platform ที่เราอยากจะทำขึ้นมาเพื่อเชื่อมโยงระหว่างการท่องเที่ยวโดยชุมชนกับนักท่องเที่ยวที่สนใจในเรื่องการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนเข้าด้วยกัน แต่เราไม่ใช่แค่ platform อย่างเดียว เราจะทำหน้าที่เป็นพาร์ทเนอร์กับชุมชนแบบระยะยาวด้วย โดยจะทำงานร่วมกันทั้งในเรื่องการพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวว่าเราจะนำเสนออะไร เที่ยวแบบไหน โดยให้เครื่องมือจากการท่องเที่ยวมาช่วยในการพัฒนาชุมชนต่อ ซึ่งจุดประสงค์หลักของ Local Alike จะเป็นการแก้ปัญหา 3 อย่างด้วยกัน
อย่างแรก ต้องบอกเลยว่ารายได้จากการท่องเที่ยวของเมืองไทยเยอะมากนะ เป็น GDP อันดับต้นๆ เลย แต่คำถามคือว่ารายได้ที่เข้ามามันไปลงชุมชนมากเท่าไร หรือจริงๆ แล้วไปหาโรงแรมใหญ่ๆ บริษัททัวร์ใหญ่ๆ มากกว่า ซึ่งบริษัททัวร์ใหญ่ๆ ส่วนมากเราต้องยอมรับว่านักลงทุนคือคนต่างชาติไม่ใช่คนไทย ขณะเดียวกันการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนจริงๆ รากของมันคือเรื่องของชุมชนนะครับ แล้วตัวของชุมชนเองก็มีศักยภาพ มีความรู้ความสามารถอยู่แล้ว ซึ่งการท่องเที่ยวโดยชุมชนในเมืองไทยมีมากกว่า 100 ชุมชนที่ถูกพัฒนาขึ้นมาให้เป็นการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างแท้จริง แต่ติดที่เขายังเข้าไม่ถึงนักท่องเที่ยว และนักท่องเที่ยวก็ยังเข้าไม่ถึงเขาด้วย นี่คือปัญหาที่สอง
อีกปัญหาหนึ่งก็คือฝั่งนักท่องเที่ยวเองที่เข้ามาแล้วเขารู้สึกว่าถูกหลอกลวงมา ปัจจุบันนี้เทรนด์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืนเยอะมากนะ จาก 22 ล้านคนที่เข้ามาค้นข้อมูล มีประมาณ 20% ที่ให้ความสนใจกับการท่องเที่ยวแบบนี้ แต่สิ่งที่เขาได้รับมันเป็นภาพแค่บางมุม เช่น ไปชุมชนนี้ ไปเดินป่าก็คือยั่งยืนของคุณแล้ว แต่จริงๆ มันไม่ใช่ในมุมมองของเรา ความยั่งยืนจริงๆ ต้องเกิดจากการที่ชาวบ้านที่เป็นเจ้าของทรัพยากร เขาตัดสินใจและคิดในการทำการท่องเที่ยวด้วยตัวเอง ซึ่งเราก็อยากให้นักท่องเที่ยวกลุ่มที่เขาสนใจจริงๆ มีโอกาสได้เข้าไปเรียนรู้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น ถ้าเทียบกับแพคเกจทัวร์ปัจจุบันที่บริษัททัวร์ส่วนใหญ่นำเสนอก็จะมีไกด์จากบริษัททัวร์ ซึ่งไม่ใช่ของชุมชน เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะได้เรียนรู้จริงๆ อาจจะไม่ใช่รากใหญ่ชุมชน Local Alike อยากเปลี่ยนคำว่า ‘การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน’ ของเมืองไทยให้ดีขึ้นครับ

ปฐมพร พงษ์นิล (โบว์) / สุดารัตน์ อาชวานันทกุล (หมิ่น)

Q: Local Alike มีสมาชิกกี่คนและแบ่งหน้าที่การทำงานกันอย่างไร?

A: ตอนนี้ก็มีอยู่ประมาณ 5 คน มีน้องนุ่นที่เป็น co-founder ดูแลด้านการออกแบบมีเดียและแพคเกจทัวร์ มีดีเวล็อปเปอร์ในทีมที่ทำเว็บไซต์ (www.localalike.com) แล้วก็มีอีก 2 คน ที่จบทางด้านการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนมาโดยตรงและทำในเรื่องการพัฒนาทัวร์อะไรต่างๆ เราจะแบ่งงานออกเป็น 4 ส่วนใหญ่ๆ คือเรื่องของการพัฒนาด้านท่องเที่ยวก็จะเป็น tourism development ที่ลงไปทำงานกับชุมชนเพื่อให้ได้มาซึ่งแพคเกจทัวร์ที่จะขายบนเว็บไซต์ ส่วนถัดมาคือ community development คือเราจะส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ลงลึกเรื่องการพัฒนาชุมชน โดยเงินที่ได้มาจากการท่องเที่ยวก็จะถูกมาทำใช้ในการพัฒนาชุมชน ในหมู่บ้านของเขาต่อ ส่วนที่สามคือ website development ที่เน้นการพัฒนาเทคโนโลยีล้วนๆ เช่น โมบายแอพพลิเคชั่นเพื่อให้การเชื่อมต่อด้านการท่องเที่ยวง่ายขึ้น ส่วนสุดท้ายจะเป็น project แบบเฉพาะกิจ เช่น การจัดกิจกรรมเพื่อสังคม พานักท่องเที่ยวไปดูกิจกรรมเพื่อสังคมตามจังหวัดต่างๆ มีกิจกรรมพิเศษเป็นธีม เช่น ธีมอาหาร ธีมออร์แกนิก ซึ่งแต่ละโปรเจ็กต์ก็จะมีคนดูแลไป ส่วนผมจะดูแลภาพรวมทั้งหมด

ทรงกลด ถานะวร (ตูมตาม)

อานนท์ สุภาศรี (ไผ่)

Q: อยากให้ช่วยเล่าลักษณะการทำงานและตัวอย่างรูปแบบโครงการ เพื่อให้เราเห็นภาพการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนในแบบที่ Local Alike กำลังทำอยู่หน่อยได้ไหม?

A: Local Alike จะต่างจากบริษัททัวร์ตรงที่เราใช้ทุกอย่างที่อยู่ในชุมชนทั้งหมดเลย ซึ่งการท่องเที่ยวแต่ละที่มันจะขึ้นกับบริบทของชุมชนเป็นหลัก เราจะใช้เวลาทำงานกับชุมชนนานพอสมควรเพราะว่าเราอยากให้เขาบริหารจัดการเองได้ เพราะฉะนั้น Local Alike จะเริ่มจากการไปฝังตัวในชุมชนสักพักหนึ่งเพื่อสำรวจดูว่าอะไรคือสิ่งเขาอยากได้ อะไรคือสิ่งที่เขามี แล้วเราค่อยมาดูว่ามันน่าสนใจมากน้อยแค่ไหน ถ้าสิ่งที่เขาคิดและมีมันน่าสนใจอยู่แล้วเราก็จะไม่เปลี่ยนอะไร แต่ถ้ามีอะไรที่เราคิดว่าน่าจะนำเสนอความเป็นชุมชนของเขาได้ดีขึ้น เราจะเสนอให้เขาลองฟังดู แล้วเราก็จะเริ่มทำเทสทริป พานักท่องเที่ยวเข้าไป โดยเราจะเป็นแค่คนสังเกตการณ์ ไม่มีปากเสียงอะไรทั้งสิ้น เพราะอยากให้นักท่องเที่ยวฟีดแบคกับชาวบ้านโดยตรง หลังจากนั้นถ้าทุกอย่างพร้อมเราจะขึ้นเว็บไซต์ ซึ่งถ้ามีนักท่องเที่ยวจองมา ก็สามารถติดต่อตรงไปที่ชาวบ้านได้เลย

อย่างที่เกาะยาวน้อย (จ.ภูเก็ต) ซึ่งเป็นชุมชนอิสลามทำเรื่องประมง ที่นั่นถูกสร้างเป็นการท่องเที่ยวชุมชนอยู่แล้ว เราก็แค่ทำให้มั่นใจว่าเขามีแพคเกจทัวร์ที่มีศักยภาพพอโดยที่เราจะเป็นตัวกลาง หรือที่ชุมชนสี่พันไร่ ดอยแม่สลอง จังหวัดเชียงราย ชุมชนนี้เกิดจากการรวมกลุ่มกันของคุณลุงคุณป้า 16 คน ที่อยู่ในหมู่บ้านซึ่งเห็นศักยภาพของชุมชนตัวเอง คือที่นี่ถือว่าเป็นจุดกางเต้นท์บนเนินเขาที่สวยงามมาก หลายคนยังไม่มีโอกาสได้ไป สิ่งที่ชาวบ้านทำคือการนำเงินมาลงทุนเท่าๆ กัน เพื่อไปซื้อเต้นท์ ไปสั่งแคร่ให้นักท่องเที่ยว เขาขายแค่นั้น แต่เรามองเห็นศักยภาพที่มากกว่านั้นว่าที่นี่น่าจะเป็นแหล่งเดินป่าที่สวยงามได้ด้วย เราเลยลองเข้าไปเสนอความคิดดูว่าถ้าชุมชนช่วยกันได้ เรามาลองทำเส้นทางเดินป่าด้วยกันไหม แล้วก็เอากลุ่มวัยรุ่นที่สามารถนำเดินป่าได้มารวมกลุ่มกันเพื่อให้เขามีรายได้ด้วย ส่วนเราก็มีหน้าที่แค่โชว์ว่าโอเคช่วงเวลานี้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในหมู่บ้านนะ หลังจากนั้นก็เป็นหน้าที่พี่แล้วนะ เขาก็จะมีคนมารับที่สนามบิน เป็นทริป 3 วัน 2 คืน คือชาวบ้านก็จะรับผิดชอบกันเอง

เพ็ญศิริ สอนบุตร (อุ๋ม) / สุรัชนา ภควลีธร (นุ่น)

Q: แล้วอย่างนี้รายได้ของ Local Alike จะมาจากไหน?

A: เราจะตกลงกับชาวบ้านก่อนว่าถ้าแพคเกจ 3 วัน 2 คืน มีเรื่องการเดินทาง โฮมสเตย์ อาหาร กิจกรรมต่างๆ เขามีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ เขาก็จะคิดมา เราก็ช่วยเขาคิดว่าราคานี้เหมาะสมไหม สมมติเขาบอกมาว่าแพคเกจ 3 วัน 2 คืน คนละ 3,000 พัน เราก็อาจจะมาต่อยอดกันไปเป็น 3,300 หรือ 3,600 บาท แต่ก็จะไม่ได้เยอะเกินไปถ้าเทียบกับบริษัททัวร์ปกติ

Q: เสียงตอบรับที่ Local Alike ได้รับจากลูกค้าและชุมชนเป็นอย่างไรบ้าง?

A: ลูกค้าที่ผ่านมาตั้งแต่เริ่มจดทะเบียนบริษัทจนถึงตอนนี้ก็ 330 คนแล้วนะ ที่เราได้รับมาก็อย่างเช่นนักท่องเที่ยวจากนอร์เวย์ที่เขามาเที่ยวกับเราครั้งแรก พอกลับไปก็มาอีก 3-4 รอบ แล้วสุดท้ายเขาก็บอกว่าเออไผ เราเห็นสิ่งที่ Local Alike ทำว่าทำกันจริงๆ เขาก็อยากจะช่วยเหลือ สิ่งที่เกิดขึ้นคือเราร่วมกันจัดเป็นซีรีย์ทริป คือเขาจะพานักท่องเที่ยวนอร์เวย์มาเดือนละ 8-9 คน เพื่อจะไปลงชุมชน 2 อาทิตย์ ขณะที่เขาเองก็ได้รายได้ของเขาด้วย แต่ช่วงเวลานี้ในบ้านเราทุกอย่างผันผวนอย่างที่เห็น บางทริปจากต่างชาติก็จะถูกเลื่อนไปหน่อย เพราะฉะนั้นเราต้องหันมาโฟกัสที่คนไทยมากขึ้น โปรเจ็กต์ที่เป็นเฉพาะกิจก็จะมีมากขึ้นด้วยโดยเราเริ่มออกแบบกิจกรรมเพื่อสังคม กิจกรรมที่มีธีมเป็นอาหารที่เราจัดเอง หรือถ้าใครมาบอกเราว่าพี่หนูชอบชุมชนนี้มากเลย พี่ไผจัดทริปแบบนี้ให้ได้ไหม เราก็จะทำให้ได้ แต่ที่แน่นอนอย่างหนึ่งคือทุกทริปเราจะเน้นว่า ต้องมีอย่างน้อยเลยคือการไปนอนในชุมชนที่เราทำงานอยู่ด้วย ซึ่งที่เห็นตอนนี้คนไทยก็จะสนใจเรื่องที่ตัวเองอยากไปดู อยากไปรู้จักชุมชนมากขึ้นนะ

Q: เวลาที่ต้องเข้าไปในชุมชน ความยากง่ายและอุปสรรคที่ต้องเจอมีอะไรบ้าง แล้วแก้ไขมันอย่างไร?

A: พวกผมอาจจะโชคดีหน่อย เพราะตอนแรกที่เราเรียนรู้ที่จะทำงานกับชุมชน เราก็มีมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงเป็นคนคอยสนับสนุน แต่แน่นอนว่าแรกๆ จะอยู่ในช่วงสับสนหน่อยระหว่างกลุ่มคนที่สนใจเรื่องงานท่องเที่ยวและกลุ่มที่เขาไม่รู้ว่าทำไมถึงต้องท่องเที่ยว ทำไมต้องทำ แล้วเขาจะได้อะไร เวลาทำงาน พอเข้าไปสำรวจเราก็จะเข้าไปเจาะกลุ่มคนที่เขาอยากทำก่อน แล้วก็ให้กลุ่มที่อยากทำเนี่ยแหละไปคุยกับเพื่อนๆ เขาเองหรือคนในหมู่บ้านว่า ทำแล้วจะมีผลดีกับเขาอย่างไร กับหมู่บ้านหรือชุมชนอย่างไร พอถึงเวลาที่เรามั่นใจแล้วว่าทุกคนเอาด้วย เราก็จะเริ่มทำ ผมว่ามันอยู่ที่ความตั้งใจของเรามากกว่าว่าอยากจะทำงานกับเขามากแค่ไหน ถ้าเราแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริง สักพักหนึ่งเขาจะเกิดการยอมรับเราเอง ทุกชุมชนจะเป็นอย่างนี้นะ แต่ถ้าชุมชนที่มีความพร้อมแล้วทุกอย่าง เราก็จะเข้าไปง่ายหน่อย เพราะเขารู้ว่าเรามาด้วยมุมมองที่ไม่ใช่บริษัททัวร์ ซึ่งชาวบ้านเองก็เคยทำงานกับบริษัททัวร์มาบ้าง เขาก็จะรู้ว่า Local Alike ต่างออกไป เขาจะดีใจและยินดีที่ได้ทำงานด้วยมากกว่า

Q: ที่ผ่านมามีโครงการไหนที่ทีม Local Alike รู้สึประทับใจเป็นพิเศษบ้างไหม?

A: ผมคิดว่าคงจะเป็นชุมชนแรกที่เราทำคือบ้านสวนป่า (จ.เชียงราย) ชุมชนนี้มีคนเพียงแค่หนึ่งคนในหมู่บ้านที่อยากทำ เป็นคนรุ่นใหม่ที่เห็นศักยภาพของหมู่บ้านตัวเองว่าทำการท่องเที่ยวได้ ชุมชนนี้จะเป็นชุมชนในดอยตุงที่มีธรรมชาติสวยงามมากเลย มีเส้นทางเดินป่าที่สวยมาก แล้วเขาก็รู้ปัญหาของหมู่บ้านว่ามีทั้งเรื่องการจัดการขยะและยาเสพติด ซึ่งเขาอยากแก้ไขและคิดว่าการท่องเที่ยวจะทำให้หมู่บ้านเขาสว่างขึ้น พอเขาเห็นว่าเรามีเป้าหมายเดียวกัน ก็เลยเกิดการทำงานร่วมกันขึ้น พี่เขาต่อสู้มาเยอะนะ ต้องทะเลาะกับผู้ใหญ่บ้าน ทะเลาะกับคนในหมู่บ้าน แต่เราก็บอกไปว่า ไม่เป็นไร พวกเราทำไปเถอะ ตัวผมเองเชื่อเสมอว่าถ้าทุกอย่างดีขึ้นเดี๋ยวจะมีคนตามมาเอง

จากตอนแรกที่เราเข้าไปทำตั้งแต่ปี 2012 จนถึงตอนนี้ ผู้ใหญ่บ้านเห็นด้วยแล้ว เวลาเราไปผู้ใหญ่บ้านก็จะมาทักทาย เกิดการจัดการขยะที่เป็นระบบมากขึ้นเพราะหลังจากที่เราพานักท่องเที่ยวไป นักท่องเที่ยวจะมีคอมเม้นต์ว่าขยะแยะจัง ชาวบ้านก็เริ่มรู้สึกว่าบ้านตัวเอง ทำไมต้องให้คนอื่นมาบอกว่าขยะไม่ดีนะ ก็เกิดการติดต่อระหว่าง อบต. กับหมู่บ้านขึ้น พา อบต. เข้ามาเก็บขยะซึ่งจนถึงตอนนี้ก็ยังจะต้องทำต่อไปเพราะว่าปัญหาการจัดการขยะในสวนป่าค่อนข้างที่จะฝังลึกมานาน แต่เราก็เห็นการเริ่มต้นและเราก็จะใช้การท่องเที่ยวนี่แหละเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้และเรื่องอื่นต่อไป อย่างตอนนี้ที่เราวางแผนจะทำต่อไปคือการสร้างโฮมสเตย์ แต่ก็ต้องสร้างความพร้อมก่อน ต้องเคลียร์ปัญหาสิ่งแวดล้อมให้ได้ก่อน ตอนนี้เราก็จะมีที่พักในหมู่บ้านสี่พันไร่ ซึ่งทั้งสองชุมชนเขารู้จักกันแล้ว พอนักท่องเที่ยวมาก็จะไปนอนที่สี่พันไร่ แล้วก็มาเดินป่าที่สวนป่า ตรงนี้ก็กลายเป็นว่ามันเกิดเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเรากับชาวบ้าน และชาวบ้านด้วยกันเอง ซึ่งพวกเขากระตือรือร้นมากที่จะทำงานเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวในหมู่บ้านตัวเอง

Q: สิ่งที่ได้สัมผัสจากการทำงานกับชาวบ้าน กับชุมชน อะไรคือสิ่งที่เราต้องแก้ไขเพื่อช่วยให้สังคมเข้มแข็งขึ้น และจุดแข็งของสังคมบ้านเราคืออะไรที่ควรจะดึงขึ้นมาใช้เพื่อสร้างศักยภาพให้เกิดขึ้น?

A: ที่ใกล้ตัวที่สุดก็คือเรื่องของความเข้าใจระหว่างชุมชนชนบทกับชุมชนเมือง แม้กระทั่งทีมงานของเราเองที่ร่วมกันสร้างขึ้นมา บอกตรงๆ เขามาด้วยใจจริงๆ เริ่มแรกที่เขาสนใจก็ประมาณว่า พี่ผมอยากไปเที่ยว ผมก็พาเขาไปเสร็จปุ๊บ เขาก็มาบอกว่าพี่ผมทำกับพี่ต่อนะ ผมก็บอกเขาว่าโอเคเราเข้าไปทำตรงนี้หน้าที่เราคือไปรับฟัง ซึ่งทำให้เขาเรียนรู้อะไรมากขึ้น เหมือนกับเขาได้เรียนรู้จากสภาพแวดล้อมในชุมชน ใจเย็นลง การได้ไปฟังลุงๆ พี่ป้าน้าอาที่หมู่บ้านเขาพูด เขาได้รู้ว่าเออสนุกว่ะ ถึงแม้ชาวบ้านจะมีการศึกษาไม่เท่ากับคนในเมือง แต่สิ่งที่เขามีคือเรื่องภูมิปัญญาชาวบ้าน การเรียนรู้ธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนในเมืองไม่รู้ เอาง่ายๆ เลยถ้ามีปัญหาเรื่องอะไรสักอย่างขึ้นมา เช่น เรื่องความมั่นคงทางอาหาร คนที่อยู่รอดคือชุมชนชนบทนะ คนกรุงเทพฯ ตายหมดแล้ว แม้กระทั่งเรื่องภัยธรรมชาติเอง ชุมชนเขาเรียนรู้ที่จะอยู่รอด โอเคเรื่องโครงสร้างบ้านอะไรอาจจะพังได้ง่ายกว่าของคนกรุงเทพฯ แต่ถามว่าสิ่งที่เขาถูกปกป้องมาจากธรรมชาติมันดีกว่า เพราะชุมชนมันดีกว่า เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่คนเมืองชอบมองเรื่องชุมชนชนบทว่าไม่มีความรู้ ไม่มีการศึกษา แต่การศึกษาอาจจะไม่ใช่คำตอบในชีวิตก็ได้ การศึกษาอาจจะจำเป็นในระดับหนึ่งในเรื่องการอ่านเขียน แต่ถามว่าประสบการณ์ชีวิตที่ทำให้คุณเอาตัวรอดได้อาจจะไม่ใช่การศึกษาในมุมมองของชุมชนนะ สิ่งที่ทำให้อยู่รอดของคนเมืองคือเรื่องการศึกษา แต่ถ้าในชุมชนมันอาจจะไม่ใช่ ผมอยากจะลดช่องว่างตรงนี้ให้มันแคบลง อยากเอาสิ่งที่เรียนมาในเรื่องการบริหารจัดการแบบยั่งยืนกับความรู้ที่ชุมชนมีในเรื่องการบริหารจัดการตัวเองมารวมกันเพื่อสร้างสิ่งที่เป็นมูลค่าที่สุดขึ้นมา

Q: สิ่งที่เห็นชัดเจนเลยก็คือ Local Alike ไม่ได้มุ่งไปที่การทำกำไรเป็นหลัก อะไรเป็นสิ่งที่จะทำให้ตัวองค์กรสามารถดำเนินไปได้?

A: ปีนี้เราต้องทำงานหนักมากขึ้น เพราะว่าปีที่แล้วเราทำงานกับฝั่งชุมชนเยอะมาก ไม่ค่อยได้สนใจว่ารายได้จะมีเท่าไร แต่ปีนี้เราต้องมั่นใจว่ารายได้เราต้องมีพอที่จะเลี้ยงชีพได้ คือเราคิดว่าทำให้เราอยู่ได้ก็พอ ไม่ได้คิดถึงกำไรมาก สิ่งที่ทำต่อไปคือเราต้องทำให้เราเป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวหรือคนที่สนใจเรื่องนี้มากขึ้น ขณะเดียวกันเราก็ต้องขยายฐานชุมชนให้มากขึ้นด้วย ต้องเพิ่มความหลากหลาย ทำให้ทุกอย่างเป็นระบบ เราอยากให้สิ่งที่เราทำเป็นเหมือนสิ่งที่จุดประกายให้บริษัททัวร์อยากจะทำแบบที่เราทำบ้าง เพราะบริษัททัวร์ที่เราเจอ แต่ไม่ทุกที่นะ บริษัททัวร์ดีๆ ก็มี แต่ที่พวกผมไปเจอเองกับหมู่บ้านคือ ตอนนั้นทำงานกับชาวบ้านเสร็จแล้วตอนเย็นก็เล่นหมากเก็บ เล่นฟุตบอลกับน้องๆ สักพักมีบริษัททัวร์พานักท่องเที่ยวเข้ามา 5 คันรถ นั่ง 2 แถวเข้ามา ไกด์ก็พาเดินไปแล้วพูดอธิบายถึงหมู่บ้าน ถ่ายรูปแล้วไป ผมรู้สึกว่าทำไมเป็นแบบนี้ แบบนี้ไม่ได้เรียกว่าการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนนะ เขายังไม่ได้คุยกับชุมชนเลย ยังไม่ได้สนับสนุนสินค้าของชุมชนเลย เขามาแค่ฟังไกด์ ซึ่งไกด์คนนั้นก็ไม่รู้มาจากไหน เสร็จแล้ว 5 นาที ก็ออกไป แต่จริงๆ เขาสามารถทำได้มากกว่านั้น นั่นคือการพานักท่องเที่ยวมาสัมผัส มาอยู่กับชุมชน มาศึกษา มาเรียนรู้เขา มาดูจุดยืนของเขาว่าเป็นอย่างไร และสิ่งที่จะได้กลับไปมันมีค่ามากกว่านั้นเยอะเลย

Q: ถ้าอย่างนั้น สมมติว่าวันหนึ่งมีคนที่ทำแบบ Local Alike เกิดขึ้นมากมายล่ะ?

A: เราจะยินดีมากๆ เลยนะ

Q: ตั้งแต่สองปีที่แล้วจนถึงทุกวันนี้ ความสำเร็จในมุมมองของ Local Alike คืออะไร?

A: ความสำเร็จสูงสุดที่เราตั้งไว้คือ อยากให้แต่ละชุมชนอยู่ด้วยตัวเองได้ ถามว่าสำเร็จหรือยัง ผมคิดว่าสำเร็จไปก้าวหนึ่งที่ Local Alike สามารถฝ่าฟันมาและทำให้คนได้เห็นว่าคอนเซ็ปการท่องเที่ยวชุมชนมันเป็นอย่างไร ตอนนี้สิ่งที่เราทำคือการพิสูจน์ให้ได้ว่า Local Alike ของเราทำอย่างไรให้อยู่ได้ ชาวบ้านอยู่ได้ หลังจากนั้นไม่ว่าจะมีอุปสรรคแค่ไหน ผมคิดว่าเราพร้อมนะ ขอยกตัวอย่างชุมชนหนึ่งที่มีโอกาสได้ไปทำคือ ชุมชนแม่กำปอง จ.เชียงใหม่ เป็นชุมชนอยู่ในหุบเขาซึ่งเย็นตลอดปี เรามีโอกาสได้ไปลุยร่วมกับแม่กำปองซึ่งเป็นโฮมโมเดลของการท่องเที่ยวชุมชนในเมืองไทยเลย เขาทำมา 20 กว่าปีแล้ว ปัจจุบันแม่กำปองไม่ต้องใช้เงินจากรัฐบาล แล้วชาวบ้านก็อยู่กันอย่างสงบเรียบร้อย ร่มเย็น มี 14 หลังคาเรือนที่รับนักท่องเที่ยวได้ เป็นโฮมสเตย์ มีแพคเกจทัวร์ มีเงินหมุนเวียนของเขาเอง มีคนจัดการในหมู่บ้านถ้ามีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยว แล้วก็มาหมุนเวียนร่วมกันในหมู่บ้าน ความซื่อสัตย์ในหมู่บ้านนี้มีสูงมาก ความร่วมมือก็สูงมากด้วย ที่น่าสนใจคือคนรุ่นใหม่เขาจะกลับมาทำงานในหมู่บ้าน ซึ่งเป้าหมายของเขาคือการลดการย้ายถิ่นจากชุมชน จากหมู่บ้านไปทำงานที่กรุงเทพฯ นี่คือสิ่งที่ผมและ Local Alike อยากจะเห็นนะ

Q: นอกจากเรื่องการท่องเที่ยวแล้ว แผนถัดไปที่คิดว่าควรจะต้องส่งเสริมคืออะไร?

A: อย่างที่บอกว่าเป้าหมายคือเราทำให้หมู่บ้านยั่งยืนได้ ตอนนี้เราอาจจะประสบความสำเร็จเรื่องการท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราจะทำต่อไปคือเรื่องผลิตภัณฑ์ชุมชนที่เขาขายได้ เรารู้ว่าแต่ละชุมชนมีของดีอยู่แล้ว อาจจะไม่ถึงกับต้องเป็นโอทอป แต่ทุกหมู่บ้านเขามีของดีของตัวเอง เราอยากจะช่วยเขาออกแบบ ทำออกมาให้มันขายได้เพื่อเพิ่มรายได้ให้เขา แล้วเราก็อาจจะมูฟไปในขั้นที่สูงกว่า เราต้องมองหลายองค์ประกอบในการที่จะทำให้หมู่บ้านอยู่ได้ด้วยตัวเอง ผมก็เรียนรู้มาจากดอยตุงเพราะว่าดอยตุงเมื่อ 30 ปีที่แล้วชาวบ้านปลูกฝิ่นหมดเลย ปัจจุบันนี้ดอยตุง 29 หมู่บ้านอยู่ได้ด้วยตัวเองแล้ว

Q: อะไรคือความสุขที่ในการทำงานนี้ อะไรคือสิ่งที่หล่อเลี้ยงให้คุณและ Local Alike ทุกคนรู้สึกว่าการอยู่ตรงนี้มันคือความสุข?

A: สำหรับผมคือการได้ทำงานกับชาวบ้าน เพราะว่าทำงานกับพวกเขาแล้วรู้สึกสบายใจมาก เอาจริงๆ เลยนะ ผมเคยทำงานโรงงาน ทำงานเป็น corporate มา สิ่งที่เหมือนกันคือทุกคนทำเพื่อตัวเอง เพื่อกำไร ทำเพื่อจุดประสงค์หนึ่ง เพื่อตอบโจทย์ของคนคนหนึ่ง กลุ่มองค์กรหนึ่ง แต่สิ่งที่เราทำกับชาวบ้านนี้คือเรารู้ว่าเป้าหมายของเราคือการแบ่งปันสิ่งที่มีร่วมกันนั่นคือความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ถ้าถามว่ามันจะเปลี่ยนแปลงได้ไหม ถ้าตราบใดที่มันเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ผมยอมที่จะให้เปลี่ยน แล้วชาวบ้านเขาก็ยอมที่จะให้เปลี่ยน แต่ถ้าเปลี่ยนแปลงแล้วแย่ลง เราเองต้องรู้ก่อน ชาวบ้านเองต้องรู้ก่อนว่าตอนนี้เริ่มไม่ดีแล้ว อันนี้เราต้องหาทางออกในการเปลี่ยน เพราะฉะนั้นความสุขของผมก็คือการได้ทำงานกับชาวบ้าน แล้วทำให้คนที่เราทำงานด้วยมีความสุข

Q: ภาพของ Local Alike อีก 5-10 ปี ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร?

A: ถ้าทางธุรกิจก็คือเราจะทำงานกับชุมชนให้มากขึ้น อยากจะทำงานกับทุกชุมชนที่เป็นการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนในเมืองไทยซึ่งมีมากกว่า 100 ชุมชน แล้วหลังจากนั้นก็จะขยายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเราก็มั่นใจว่าประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความน่าสนใจในตัวเองมากอยู่แล้ว

ภาพ: Local Alike, Ketsiree Wongwan
อ้างอิง: Local Alike

บันทึก

บันทึก

บันทึก

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles