‘มะขามป้อมอาร์ตสเปซ’ พื้นที่ศิลปะเพื่อความเข้มแข็งในเชียงใหม่

ภาพลักษณ์ของเชียงใหม่เต็มไปด้วยความสุนทรีย์ จึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่หลายคนเลือกหนีไปพักผ่อนหาช่วงเวลาชิลๆ ชาร์ตแบตให้มีพลังเตรียมรับมือกับชีวิตหนักๆ ความสุนทรีย์ในเชียงใหม่จึงมีมากมายหลายประเภทให้เลือกเสพ ตั้งแต่วัฒนธรรมล้านนา ดอยสูง หรือคาเฟ่เก๋ๆ ที่มีอยู่ทุกตรอกซอกซอย รวมถึงพื้นที่ศิลปะอย่าง Makhampom Art Space ในอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

ขึ้นชื่อว่า Art Space ก็ชัดเจนว่าจะได้พบเห็นงานศิลปะ และหากใครคุ้นเคยกับชื่อ ‘กลุ่มมะขามป้อม‘ เจ้าของพื้นที่นี้ ก็น่าจะเดาได้ไม่ยากว่าศิลปะที่จะได้เจอคือศิลปะการละคร เพราะกลุ่มมะขามป้อม หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือมูลนิธิสื่อชาวบ้าน เริ่มผลิตผลงานละครมาตั้งแต่ปี 2523 ด้วยความเชื่อที่ว่าศิลปะการละครสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมได้ พวกเขาจึงผลิตละครร่วมกับชุมชนต่างๆ เพื่อสะท้อนปัญหาต่างๆ ของสังคมและใช้สื่อเพื่อแก้ปัญหาทางสังคมเรื่อยมาในลักษณะกลุ่มละครเร่ จนมาลงหลักปักฐานในพื้นที่ 11  ไร่ ของอำเภอเชียงดาว มะขามป้อมอาร์ตสเปซประกอบด้วย ร้านกาแฟ ห้องสมุด สนามเด็กเล่น แกลลอรี่ที่มีไว้จัดแสดงงานศิลปะแขนงอื่นๆ นอกจากศิลปะการละคร โดยเฉพาะประติมากรรมจากขยะ ซึ่งนักท่องเที่ยวทั่วไปสามารถเข้าไปพักผ่อน สัมผัสบรรยากาศท้องทุ่งนาของเชียงใหม่ได้ พื้นที่สำคัญอีกส่วนคือ พื้นที่จัดกิจกรรมและที่พัก พื้นที่ส่วนนี้มีขึ้นเพื่อรองรับกลุ่มคนที่เข้ามารับการฝึกอบรมหลักสูตรเพื่อพัฒนาศักยภาพที่จัดโดยมะขามป้อม เช่น หลักสูตรละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง กระบวนการเรียนรู้เพื่อเข้าใจความเป็นมนุษย์ หลักสูตรศิลปะแห่งสันติภาพ การละครเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง ให้ผู้เข้าอบรมมีความแข็งแกร่งด้านความรู้ ไปพร้อมๆ กับซึมซับพลังจากธรรมชาติ พื้นที่ส่วนนี้จึงเป็นพื้นที่ที่สร้างรายได้ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิ

ที่จริงแล้วเป้าหมายของมะขามป้อมอาร์ตสเปซไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงผู้ที่มาเยี่ยมเยือนเท่านั้น เป้าหมายสำคัญอีกกลุ่มคือคนในพื้นที่หมู่บ้านปางแดงซึ่งเป็นชนเผ่าดาราอาง แม้ทั้งหมดจะเกิดบนแผ่นดินไทย แต่ไม่ได้รับสัญชาติไทย ฐานะยากจน และไม่มีที่ดินทำกินได้ เป้าหมายข้อหนึ่งจึงมีเพื่อเสริมสร้างให้ชุมชนชาวดาราอางเข็มแข็งขึ้น ด้วยการให้สมาชิกในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการ เช่น มาเป็นแม่ครัวในการประกอบอาหารให้กับผู้เข้ารับการอบรม รวมถึงการเปิดโรงเรียนกายกรรม ให้เด็กในชุมชนได้ฝึกฝนทักษะการแสดงประเภทต่างๆ ฝึกกายกรรม เพื่อให้มีรายได้จากการแสดงต้อนรับผู้มาเยือน รวมถึงเรียนภาษาอังกฤษ การบริหารจัดการกลุ่ม เรียนรู้ภูมิปัญญาจากปู่ย่าตายาย ที่สำคัญคือทำความเข้าใจปัญหาชุมชนของตนเอง ให้เด็กๆ สามารถผลิตละครเพื่อสื่อสารเรื่องราวของชาวดาราอางให้สังคมได้รับรู้ โดยเด็กกลุ่มแรกได้นำละครไปแสดงที่กรุงเทพฯ ในปี 2553  เพื่อระดมทุนซื้อที่ดินและย้ายหมู่บ้านใหม่ หลังจากนั้นในปีต่อๆ มา เด็กแต่ละรุ่นก็จะตั้งเป้าหมายในการระดมทุนเพื่อแก้ปัญหาต่างๆในชุมชน เช่น สร้างสนามเด็กเล่น ซื้อท่อน้ำ ทำถังขยะชุมชน เรื่อยมาท่ามกลางอุปสรรคต่างๆ จนชุมชนชาวดาราอางกลายเป็นเพื่อนญาติพี่น้องกับทีมมะขามป้อมไปแล้ว

มะขามป้อมอาร์ตสเปซ จึงเป็นพื้นที่ที่ใช้ศิลปะเป็นตัวกลาง สร้างความเข็มแข็งด้านความรู้ให้กับผู้เข้ารับการอบรม สร้างความเข็มแข็งให้กับชุมชน และสุดท้ายจึงเป็นการสร้างความเข็มแข็งให้กับมะขามป้อมเองทั้งจากรายได้และการช่วยเหลือซึ่งกันและกันกับชุมชน

อ้างอิง: มูลนิธิสื่อชาวบ้าน, ผู้จัดการออนไลน์, Hellochiangdao 

บันทึก

บันทึก

บันทึก

บันทึก

บันทึก

Bhanond Kumsubha

ภานนท์ เคยฝันอยากทำงานภาคสังคมแต่ถูกคนรอบตัวตั้งคำถามว่า "แล้วจะมีอะไรกิน" เลยเลือกมาสอนหนังสือในมหาวิทยาลัย เพราะคิดว่าเป็นจุดลงตัวระหว่าง "การมีกิน" กับ "การได้แบ่งปันกับคนอื่น" วันหนึ่งเมื่อแนวคิด "กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) ที่ตอบโจทย์ของ "การมีกิน" กับ "การแก้ปัญหาสังคม" เริ่มเป็นรูปร่าง จึงอยากมีส่วนช่วยผลักดันให้คนที่มีฝันเหมือนๆ กัน ได้ทำฝันให้เป็นจริง

See all articles

Next Read