จากเฟอร์นิเจอร์ขยะสู่งานดีไซน์ใหม่ เรียนรู้วิถีรีไซเคิลอย่างยั่งยืนด้วยนวัตกรรม

โจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมข้อหนึ่งของกรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล คือถนนหนทางมักมีเฟอร์นิเจอร์ไม้เก่าถูกทิ้งไว้เป็นขยะจำนวนมาก ซึ่งปรกติแล้วขยะเหล่านี้ก็จะถูกหน่วยงานด้านสุขาภิบาลของเมืองเก็บไปแยกส่วนเพื่อฝังกลบ (และนำไปรีไซเคิลใหม่บางส่วน) แต่ล่าสุดมีนักออกแบบเจ้าถิ่นหัวคิดดีนาม Maor Aharon ที่ขอนำขยะเฟอร์นิเจอร์เหล่านี้ไปทำการทดลอง โดยเขาตั้งใจจะแปลงร่างมันใหม่ให้กลายเป็น ‘เก้าอี้สตูล’ สุดน่ารักอีกครั้ง

Maor Aharon ร่วมมือกับ Center for Environmental Education (หน่วยงานวิจัยพัฒนาขยะรีไซเคิลที่ใหญ่ที่สุดของอิสราเอล) เพื่อโปรโมทการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนในเชิงสังคมและสิ่งแวดล้อม เราชื่นชมที่ผลงานเก้าอี้ชุด Matter of Motion นี้ของเขาสามารถสื่อสารถึงคุณค่าดังกล่าวอย่างเด่นชัด ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตที่ประหยัดพลังงานด้วยเทคนิคแบบกึ่งอุตสาหกรรม ใช้กระบวนการสั้นๆ ที่อาศัยคนเพียงคนเดียวในการรีไซเคิลวัตถุดิบและผลิตสินค้าใหม่ โดยเริ่มจากขาเก้าอี้ไม้เก่าที่ถูกแยกส่วนมาใช้งานในสไตล์ที่คงฟอร์มดั้งเดิมไว้ จากนั้นค่อยนำมาประกอบเข้ากับวัสดุรองนั่งโพลิเมอร์เรซินที่มีคุณสมบัติคงทนแข็งแรง ซ่อมแซมง่าย และขึ้นรูปได้สะดวกบนเทคโนโลยีการหมุนในแม่พิมพ์

เรียกได้ว่าทั้งแนวคิดและเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานที่ Aharon นำมาใช้กับการรังสรรค์สตูล Matter of Motion นี้สามารถสะท้อนได้ถึงวิถีการพัฒนาที่ Center for Environmental Education ต้องการส่งเสริมให้ผู้คนได้ฉุกคิด และทำความเข้าใจกับโอกาสการพัฒนาขยะรีไซเคิลได้อย่างยอดเยี่ยม

อ้างอิง: designboom, Maor Aharon

Tags

Tags: , ,

Visa Sortrakul

บรรณาธิการ tcdcconnect.com และนักเขียนอิสระ สร้างแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมเมือง งานสร้างสรรค์ท้องถิ่น และการเดินทางกลับสู่ธรรมชาติ ปัจจุบันหลงใหลการประยุกต์อารยธรรมโบราณและองค์ความรู้ชาวบ้านสู่งานสร้างสรรค์ใหม่ๆ

See all articles