Gustavo Petro อดีตนายกเทศมนตรีเมืองโบโกตา ประเทศโคลอมเบีย เคยกล่าวว่า “ประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ใช่ประเทศที่คนจนมีรถยนต์ส่วนตัว แต่เป็นประเทศที่คนรวยใช้ระบบขนส่งสาธารณะต่างหาก”
ระบบขนส่งมวลชนเป็นอีกเรื่องที่ท้าทายไม่น้อยในประเทศกำลังพัฒนาอย่างบ้านเรา ซึ่งหากจะมองหาการพัฒนาแบบยั่งยืนนั้นก็อาจเป็นได้แค่ความฝัน เพราะแค่ระบบขนส่งพื้นฐานอย่างรถเมล์ไทยที่แม้จะมีอายุปาเข้าไป 110 ปีแล้ว แต่เราก็ยังเอาแน่เอานอนไม่ได้ว่ารถจะมาเมื่อไหร่ สายนี้ไปไหนบ้าง ไหนจะต้องผจญภัยกับความหลากหลายของรูปแบบรถ ทั้งวนขวา วนซ้าย รถเสริม และขึ้นทางด่วน ทว่าคนทำงานกลุ่มเล็กๆ ในนาม ‘Mayday’ ไม่ได้ปล่อยให้ปัญหาเหล่านั้นเป็นเพียงแค่ความเคยชิน พวกเขาทั้ง 5 อันประกอบไปด้วย สุชารีย์ รวิธรธาดา (หนูลี), วิภาวี กิตติเธียร (อุ้ม), วริทธิ์ธร สุขสบาย (แวน), สุวิชา พิทักษ์กาญจนกุล (เนย) และ ศานนท์ หวังสร้างบุญ (ศา) ได้ใช้ทักษะจากสาขาอาชีพและความสนใจส่วนตัว มาปรับปรุงระบบขนส่งโดยประเดิมที่รถเมล์เป็นลำดับแรกร่วมกับหลายๆ องค์กร ทั้ง ThaiGa และกลุ่มคนรักรถเมล์ไทย Bangkok Bus Club วันนี้…เนยและอุ้ม ตัวแทนกลุ่ม Mayday จะมาเล่าให้เราฟังแบบหมดเปลือกตั้งแต่จุดเริ่มต้นของพวกเขา การคลี่คลายจากข้อมูลมหาศาลไปสู่ป้ายรถเมล์รูปแบบใหม่ที่เข้าใจง่ายกว่าเดิมนั้นทำได้อย่างไร รวมถึงเส้นทางที่ไม่ง่ายเลยกับการพาระบบขนส่งพื้นฐานนี้ให้กลายเป็นทางเลือกแรกของคนกรุงเทพฯ อย่างแท้จริง
Q: Mayday เริ่มต้นขึ้นได้อย่างไร?
A: ถ้านับจากเหตุที่ทำให้รวมกลุ่มกันจริงๆ จะเป็นช่วงเดือนตุลาคมปี 2559 หลังจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสวรรคต พวกเราทำงานกันอยู่ที่โฮสเทล Once Again เราเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างพิธีเคลื่อนพระบรมศพ จากโรงพยาบาลศิริราชไปพระบรมมหาราชวัง มีประชาชนเข้ามาในเกาะรัตนโกสินทร์เยอะมาก และวันนั้น แวนซึ่งเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ของเรา เขาเป็นคนชอบนั่งรถเมล์อยู่แล้วได้เห็นผู้บริหาร ผู้กำกับที่เขาเคยไปฝึกงาน ทุกคนที่ปกติไม่ได้ขึ้นรถเมล์แต่มาอยู่บนรถเมล์เหมือนๆ กัน ทำให้เขารู้สึกว่าความจริงแล้ว พวกเราสามารถสร้างรถเมล์ให้เป็นทางเลือกแรกของทุกคนได้ ก็เลยเริ่มมาคุยกันว่าพวกเราสามารถช่วยทำอะไรเกี่ยวกับการขนส่งขั้นพื้นฐานนี้ได้บ้างไหม นั่นคือจุดเริ่มต้น
Q: เป้าหมาย Mayday ต้องการเข้าไปแก้ปัญหาอะไรบ้าง?
A: ขอเท้าความนิดนึง คือ Once Again Hostel เปิดขึ้นมาจากความตั้งใจของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ในเมืองเก่า จากเมืองที่กำลังจะตาย เพราะชุมชนต่างๆ ค่อยๆ หายไป กลับมามีชีวิตเหมือนเก่า กลุ่มเพื่อนๆ ของเราก็ชักชวนกันว่า พวกเราสามารถเอาทักษะและความรู้ที่มีมาทำอะไรได้บ้าง เพื่อนคนหนึ่งสนใจเรื่องพื้นที่สาธารณะ อีกคนสนใจเรื่องรถเมล์เพราะฉะนั้นเป้าหมายสุดท้ายไกลที่สุดในการรวมตัวของพวกเราก็คือ ‘การทำให้เมืองน่าอยู่’ ขณะที่เป้าหมายของ Mayday เอง เรามุ่งเน้นไปที่การเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ระบบขนส่งมวลชนต่างๆ ดีขึ้นและเป็นทางเลือกหลักของคนไทยจริงๆ ไม่ใช่เป็นทางเลือกเมื่อรถยนต์ส่วนตัวใช้ไม่ได้แล้วจริงๆ ถึงค่อยเลือกใช้งาน เราอยากทำให้ขนส่งมวลชนมีคุณภาพที่ดี มีประสิทธิภาพมากพอที่คนจะเลือกใช้เพื่อเป็นทางเลือกแรกในชีวิตประจำวัน
Q: ความหลากหลายของสมาชิกใน Mayday ที่มีทั้งวิศวกร นักผังเมือง กราฟิกดีไซเนอร์ และนักเขียน ทำให้รูปแบบการทำงานออกมาในลักษณะไหน?
A: ความแตกต่างของสาขาวิชา ทำให้เราต้องใช้เวลาปรับเข้าหากันเยอะพอสมควร ซึ่งหากวิศวกรเป็นคนคิด แต่กราฟิกดีไซเนอร์หรือคนทำคอนเทนต์ไม่เข้าใจ ก็ทำให้การทำงานไม่สมบูรณ์ จากเดิมที การวางแผนเรื่องขนส่งมวลชนจะเป็นลักษณะจาก top down ที่คิดว่าพื้นที่นี้ควรจะมีอะไร เป็นการออกคำสั่งจากผู้ที่มีอำนาจ แล้วต้องการจะพัฒนาพื้นที่ แต่เมื่อเรามีความหลากหลาย รูปแบบความคิดเป็นตรงกันข้ามก็คือ bottom up นั่นคือการคิดจากการเป็นผู้ใช้งานจริงๆ เราอยากให้วิธีการที่ออกมาทำให้คนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายที่สุด นี่คือข้อดีของความหลากหลาย ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจึงถูกกลั่นกรองมาจากคนหลายๆ ด้าน
Q: สิ่งที่ Mayday ทำออกมาเป็นรูปธรรมไปแล้วมีอะไรบ้าง?
A: ถ้าผลงานที่เห็นเป็นประจักษ์สายตา นอกจากเฟซบุ๊คที่เป็นพื้นที่ในการสื่อสารด้านเนื้อหาต่างๆ แล้ว เราทำป้ายรถเมล์ออกมา 2 ป้าย ป้ายแรกอยู่ที่หน้ากองสลากเก่ากับศาลารอรถบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
Q: ป้ายรถเมล์ของ Mayday แตกต่างไปจากป้ายที่มีอยู่เดิมอย่างไร?
A: ป้ายรถเมล์ที่เราทำขึ้นเกิดจากมุมมองของผู้ใช้งาน ซึ่งสิ่งที่พบคือป้ายรถเมล์ที่มีอยู่ไม่เป็นมิตรกับคนใช้งานเลย เพราะเราไม่รู้ว่าแต่ละสายไปไหนบ้าง ทำให้เราเริ่มออกแบบจากสิ่งที่ไม่รู้ ตั้งคำถามว่าในฐานะคนใช้งาน เราอยากรู้อะไรที่จะเอื้อต่อการเดินทาง อย่าง 2 ป้ายแรก อย่างที่เล่าคือแวนเขาเป็นคนหนึ่งที่รักรถเมล์ เหมือนเป็นแฟนพันธุ์แท้เลย ก็จะค่อนข้างรู้เยอะพอสมควรว่าแต่ละสายไปไหนบ้าง ซึ่ง 2 ป้ายแรกยังไม่ค่อยยากในเรื่องของข้อมูล แต่ตอนนี้เรากำลังผลักดันให้ป้ายรถเมล์ลักษณะนี้เกิดทั้งเกาะรัตนโกสินทร์อยู่ ฉะนั้นอย่างแรกคือการทำข้อมูลที่มีมหาศาลมากขึ้น (หัวเราะ) แต่เราก็ได้ความร่วมมือจากหลายฝ่ายค่ะ ตั้งแต่ กรุงเทพมหานครที่ช่วยสนับสนุนข้อมูลบางส่วน จาก Bangkok Bus Club (www.facebook.com/bangkokbusclubpage) ที่เป็นสมาคมคนรักรถเมล์เหมือนกัน โดยจะมาช่วยอัพเดทข้อมูล ได้อาสาจากงาน TED Talk ที่มาช่วยกันตั้งชื่อป้ายว่าแต่ละป้ายควรจะชื่อป้ายว่าอะไรดี
Q: แล้ว Mayday คลี่คลายจากข้อมูลมหาศาลนั้นออกมาเป็นป้ายในแบบไหน?
A: การออกแบบก็เริ่มต้นจากแวนอีกเหมือนกันที่เขาจะเข้าใจเรื่องการใช้งานรถเมล์และเป็นนักออกแบบด้วย การคิดก็จะคิดจากพื้นฐานที่ง่ายที่สุด ให้ข้อมูลที่เมื่อมีคนมาอ่านก็สามารถใช้งานได้เลย เราลองออกแบบป้ายในมุมมองของพวกเราขึ้นมา พยายามเปลี่ยนรูปแบบป้ายให้น้อยที่สุด แต่ใส่ข้อมูลให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งด้วยพื้นฐานตัวป้ายจะเป็นป้ายสีฟ้าๆ บอกว่ามีสายไหน แต่พื้นที่ข้างล่างยังเหลืออยู่ ทำให้สามารถใส่ข้อมูลต่างๆ เข้าไปได้ อย่างแรก เราเข้าไปอัพเดทสายรถที่ผ่านจุดนั้นจริงๆ โดยช่วงที่รถเมล์กำลังจะเปลี่ยนเส้นทาง เราก็เว้นที่ไว้ให้สามารถแปะสติกเกอร์ในกรณีที่หากมีการเปลี่ยนแปลง อีกส่วนที่เพิ่มเข้ามาคือชื่อป้าย เพราะว่าผู้ใช้งาน ทั้งคนต่างจังหวัด นักท่องเที่ยวก็ไม่รู้ว่าตอนนี้ตัวเองอยู่ตรงไหน อย่างน้อยเราอยากให้เขารู้ว่าตอนนี้เขาอยู่ตรงไหน ด้านล่างจะเป็นพื้นที่บอกเส้นทางของรถแต่ละสายว่าจากป้ายนี้ รถสายนี้จะมุ่งหน้าไปที่ไหนบ้าง เป็นจุดใหญ่ๆ โดยจะมีทั้งภาษาไทยและอังกฤษ
แต่เมื่อเราทดลองทำ 2 ป้าย เราก็คิดว่าจริงๆ แล้ว Mayday ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านออกแบบขนาดนั้น เรายังต้องการความคิดเห็นจากหลายๆ ฝ่ายซึ่งเราเลือกที่จะโพสต์ลงไปบนเฟซบุ๊ค ก็มีคนมาคอมเม้นท์มากมายว่าอยากให้มาเพิ่มตรงนั้นตรงนี้ ตัวหนังสือจางลงไปหรือเปล่า อยากใช้ตัวอักษรมีหัว คนแก่จะได้อ่านง่าย เราเก็บรวบรวมทุกคอมเม้นท์ แล้วก็คิดว่าจะมีใครที่สามารถช่วยให้เราทำสิ่งนี้ได้ดีขึ้นได้ จนกระทั่งเราได้รับความช่วยเหลือจาก ThaiGa (สมาคมนักออกแบบเรขศิลป์ไทย / www.facebook.com/thaigaofficial) ที่เข้ามาดูแลเรื่องการออกแบบป้าย พี่ๆ ได้ใช้หลักการออกแบบ signage เช่น การเลือกใช้รูปแบบอักษรว่าฟ้อนท์ไหนเหมาะกับผู้ใช้งานจริงๆ การใช้สีสำหรับคนตาบอดสีที่เห็นแล้วอ่านเข้าใจ การใส่สัญลักษณ์ต่างๆ บนป้ายเพื่อบอกว่ารถสายนี้เป็นรถธรรมดาหรือรถปรับอากาศ รถวิ่งขึ้นทางด่วน รถบริการตลอดคืน ระบุจุดเชื่อมต่อต่างๆ ไปยัง BTS และ MRT โดยคำนึงถึงความเข้าใจของคนใช้งานเป็นสำคัญ สิ่งที่เราไม่คาดคิดคือ ทาง ThaiGa มอบหมายงานให้พี่ๆ ดีไซเนอร์อาสาสมัครไปว่าอยากจะขอให้พวกเขามาช่วยจัด template ใน 100 กว่าป้ายที่กำลังจะเกิดขึ้น ปรากฏว่างานพี่ๆ ทำกันมาเต็มที่ทุกคน บางคนก็นำเอาประสบการณ์ตอนที่ไปอยู่ประเทศต่างๆ เข้ามาว่าที่ไหนมีข้อดีตรงไหนบ้าง ทำกันอย่างเข้มข้นมากและลงดีเทลมากกว่าที่เราคิดไว้ พวกเราประทับใจจริงๆ ค่ะ (ยิ้ม)
Q: หลังจากที่ไปติดตั้งแล้ว มีการวัดผลบ้างไหม?
A: เราวางแผนไว้ว่าจะเก็บแบบสำรวจเพื่อไปพัฒนาการทำป้ายถัดๆ ไป แต่ ณ ตอนนี้ ที่ทำไปแล้วคือการสัมภาษณ์ผู้ใช้งาน เช่น สอบถามคุณลุงคุณป้าว่าเข้าใจหรืองงไหม แต่ว่าฟีดแบ็คที่เห็นชัดๆ เลย คือทุกครั้งที่ผ่านทั้งสองบริเวณนั้น จะเห็นคนหยุดอ่านป้ายอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งเยอะมากด้วย แล้วก็ประชาชนจากจังหวัดต่างๆ ที่เดินทางมาเคารพพระบรมศพรัชกาลที่ 9
Q: สำหรับการทำงานกับ Eyedropperfill ล่ะคะ ตอนนี้ทั้งสองทีมทำอะไรร่วมกันอยู่?
A: ตอนนี้อยู่ในพาร์ทที่กำลังพูดคุยกัน ซึ่ง Eyedropperfill จะช่วยในเรื่องการออกแบบตัวรถ เพื่อที่ในอนาคตอาจจะมีการนำไอเดียที่เกิดขึ้นไปเสนอให้กับภาครัฐ ว่าหากจะมีการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลง จะเปลี่ยนไปเป็นแบบไหนได้บ้างและภาคประชาชนจะเข้าไปช่วยอะไรได้บ้าง
Q: มีการร่วมมือกับองค์กรที่ดูแลเรื่องรถเมล์โดยตรงอย่าง ขสมก. บ้างไหม?
A: สำหรับ ขสมก. จะเป็นลักษณะของการขอคำปรึกษาว่าหากเราอยากจะทำแบบนี้ เขาจะมีช่องทางให้เรานำไอเดียไปเสนอได้ไหม มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นได้บ้างไหม ซึ่งก็ได้ความร่วมมือที่ดี รวมถึงการสนับสนุนทางด้านข้อมูล เอาเข้าจริง ทาง ขสมก. อยากจะแก้ปัญหาเหมือนกัน แต่ยังขาดบุคลากรในเรื่องการออกแบบอยู่ค่อนข้างเยอะ พอเราอาสาที่จะเข้ามาช่วยดูแล เขาก็ค่อนข้างเปิดใจสูงเลย
Q: ใน Mayday เอง แต่ละคนจัดสรรหน้าที่กันอย่างไร?
A: จากสมาชิก 5 คน แต่ละคนจะมีความถนัดเป็นของตัวเอง แต่ภายใต้ความถนัดนั้น เราถูกปูพื้นฐานมาไม่เหมือนกัน ก็จะมีความไม่เข้าใจกันเกิดขึ้นได้ ทำให้ต้องมาตกลงกันให้เกิดตรงกลางก่อน นั่นคือความยาก เพราะสุดท้ายแล้วเรื่องที่เราออกแบบเป็นเรื่องที่เราต้องเข้าใจกันเองให้ได้ก่อน
สำหรับหน้าที่ ถ้าแบ่งตามงานก็จะชัดเจน โดยอุ้มเป็นนักผังเมืองก็ต้องเป็นดูแลข้อมูลกับฝ่ายวิศวกรนั่นคือ หนูลี ที่จะทำเรื่องระบบ เนยเป็นคนทำคอนเทนท์ให้คนทั่วไปสามารถเข้าใจได้ อ่านแล้วไม่เป็นภาษาเอเลี่ยน งานกราฟิกจะเป็นหน้าที่ของแวนที่จะทำให้อย่างไรให้ดีไซน์เข้าถึงทุกคนได้
Q: เกือบหนึ่งปีที่ผ่านมา การเข้ามามีส่วนร่วมในงานภาคสังคม ได้เจอประสบการณ์อะไรกันมาบ้าง?
A: สิ่งที่พบหลักๆ จะเป็นเรื่องการทำให้ภาครัฐเชื่อในสิ่งที่เราเชื่อว่าการมีส่วนร่วมเป็นสิ่งสำคัญ เราต้องฟังเสียงประชาชนนะ การออกแบบก็เป็นอีกเรื่องที่จำเป็นไม่น้อยสำหรับทุกๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ เรือ หรือแม้แต่ป้ายก็ตาม เราต้องพยายามทำให้เขาเชื่อให้ได้ว่าสิ่งเหล่านี้จำเป็นอย่างไร แล้วหาตรงกลางของความต้องการ ดูข้อจำกัด เช่น จริงๆ แล้วเขาอยากจะทำแต่ติดปัญหาอย่างอื่นไหม ทำอย่างไรให้ทุกฝ่าย win-win เช่น ป้ายรถเมล์ เราเองพยายามจะลดต้นทุนให้น้อยที่สุด แต่ให้ประชาชนได้ประโยชน์จริงๆ
Q: นอกจากรถเมล์แล้ว Mayday มีแผนที่จะดูแลขนส่งมวลชนอื่นๆ ไหม?
A: เราวางว่าจะเป็นระบบขนส่งสาธารณะทั้งหมด แต่เราเริ่มจากรถเมล์ก่อน เพราะเป็นระบบขนส่งที่สามารถเชื่อมต่อพื้นที่ได้เยอะมาก ครอบคลุมที่สุด แต่ประสิทธิภาพที่มียังไม่ได้ถูกดึงมาใช้จริงๆ ณ ตอนนี้ สิ่งที่เห็นคือการมุ่งแก้ปัญหาด้วยการสร้างระบบราง เช่น การสร้างรถไฟฟ้า แต่ความจริงแล้ว ถ้ารถเมล์ได้แสดงประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ ได้วิ่งตามเส้นของตัวเองจริงๆ รถมีสภาพดี คนใช้งานจะสามารถเดินทางด้วยศักยภาพที่เท่ากันได้ ขณะเดียวกัน เราก็พยายามมองให้เป็นโครงข่ายภาพรวมทั้งหมดว่าทุกๆ ระบบเชื่อมต่อและไปด้วยกันได้
Q: ในฐานะผู้ใช้งาน ประสบการณ์ตรงที่เจอมาในระบบรถเมล์ไทยคืออะไรบ้าง?
เนย: สิ่งที่เนยเจอคือปัญหาเรื่องความไม่เชื่อมต่อกัน ไม่มีข้อมูล เช่น ถ้าเราอยากไปเซ็นทรัลเวิลด์ ต้องนั่งสายไหน เมื่อก่อนถ้าเล่าประสบการณ์จริงๆ เนยใช้รถไฟฟ้าอย่างเดียวเลย เพราะเป็นเด็กต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ แล้วก็ค่อยๆ รู้เพิ่มขึ้นทีละสาย เมื่อก่อนยืนรอสายเดียวชั่วโมงกว่า เพราะไม่รู้ว่าจริงๆ แล้ว แค่เราเดินทะลุไปทางนี้ จะมีรถเมล์อีกเป็น 10 สายเลยที่ไปได้ แต่พอคนไม่รู้ว่ามีรถเมล์ผ่านเส้นนี้นะ ไม่รู้ว่าต้องใช้งานอย่างไร ก็เลือกไปแท็กซี่ ไปรถไฟฟ้าแล้วกัน ซึ่งแพงกว่า ทั้งๆ ที่จริงๆ ความเร็วอาจจะไม่ได้ต่างกันมาก เนยคิดว่าเรื่องข้อมูลเป็นปัญหาใหญ่ในระบบขนส่งมวลชนไทย ยิ่งพอมาทำ Mayday แล้วก็ยิ่งรู้เลยว่าข้อมูลไม่มีอะไรเป็นระบบเลย
อุ้ม: สำหรับอุ้ม ตามที่เรียนมา ระบบขนส่งสาธารณะที่ดีควรทำให้เราสามารถวางแผนการใช้ชีวิตได้ แต่ระบบขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ เราวางแผนหรือคาดเดาอะไรไม่ได้เลย อย่างน้อย เวลาเราขับรถ เราสามารถเปิด Google Map ได้ว่าใช้เวลากี่นาที แต่ถ้าเราเลือกนั่งรถเมล์ ก็ต้องมานั่งกังวลว่าสายนี้จะมาหรือเปล่า เป็นรถร้อนหรือรถเย็น ถ้ามีนัดสำคัญนั่งรถร้อนเหงื่อชุ่มก็ไม่ได้แล้ว หรืออยู่ดีๆ รถเสีย คนขับจะแวะซื้อหมูปิ้งไหม อุ้มว่านี่เป็นปัญหามากๆ เลยว่าเราไม่สามารถเอาชีวิตไปแขวนกับระบบขนส่งสาธารณะได้
Q: สิ่งที่อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแก้ไขปัญหาตรงนี้คืออะไร เพื่อให้คุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนเกิดขึ้น?
อุ้ม: ก่อนที่จะมาทำ Mayday อุ้มอยากให้องค์กรที่ดูแลมาลองใช้รถเมล์สักครั้งหนึ่ง เพื่อให้เขาได้เห็นปัญหาจริงๆ เพราะหากเขาตัดสินใจใช้วิธีการแก้ไขปัญหาโดยที่ไม่เคยเป็นผู้ใช้งาน เขาไม่มีทางเข้าใจหรอกว่าปัญหาคืออะไร เพราะไม่ใช่ภาพจริง ผลลัพธ์ที่ได้อาจจะตอบสนองกับความต้องการมากกว่านี้ แต่พอเริ่มทำ Mayday ก็เริ่มเปลี่ยนวิธีคิด อุ้มมองว่าการมีส่วนร่วมน่าจะมีบทบาทในการช่วยแก้ไขปัญหามากกว่า การช่วยเสนอแนะความคิดของเราให้ภาครัฐ นั่นน่าจะเกิดประโยชน์ที่ดีขึ้นได้
เนย: เนยยังโฟกัสเรื่องข้อมูลว่าหากเขาสามารถเก็บข้อมูลต่างๆ รู้ว่าสำคัญและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้อย่างไร ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากๆ มีรายงานออกมาทุกปีนะว่าตัวเลขประชาชนเท่านี้ แต่ก็ไม่ได้ถูกนำไปคิดต่อว่าจะแก้ไขอย่างไรให้รองรับประชาชนได้ รถเสียทุกปีจะต้องแก้ไขปัญหาอย่างไร หรืออย่างน้อยที่สุด ถ้าเกิดมีแล้วไม่รู้จะจัดการกับข้อมูลอย่างไหร ลองปล่อยออกมาให้ประชาชนสามารถนำไปใช้ต่อเพื่อช่วยพัฒนาให้ดีขึ้นไหม เนยคิดว่าหากข้อมูลสามารถเปิดเป็นสาธารณะ คนรุ่นใหม่ที่มองเห็นปัญหา อาจจะอยากนำข้อมูลเหล่านี้ไปสร้างอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาได้อีกก็ได้
Q: ได้อะไรจากการทำ Mayday บ้าง?
เนย: การทำ Mayday ทำให้เนยได้เปิดใจรับฟังความคิดเห็นของคนหลากหลายกลุ่ม ได้เรียนรู้วิธีการทำงานกับคนที่ไม่เหมือนเราเลย ทั้งกลุ่มคนรักรถเมล์ที่รู้ทุกอย่างแบบโครตลึก หรือการทำงานกับดีไซเนอร์ที่ทำให้เราเห็นถึงความสำคัญของดีเทลเล็กๆ น้อยๆ ที่ปกติเราไม่ได้คิดไปถึงจุดนั้น ตั้งแต่การใช้สีหรือฟ้อนท์ที่ต้องเอื้อกับคนทุกกลุ่มให้ได้มากที่สุด ได้เห็นมุมมองที่หลากหลายมากๆ ซี่งปกติเราก็ทำงานออฟฟิศ ไม่เคยเห็นอะไรอย่างนี้มาก่อนอย่าง ซึ่งสนุกมากที่ได้เรียนรู้วิธีการทำงานของแต่ละคน
อุ้ม: สิ่งที่เปลี่ยนไปมากที่สุดเลย คืออุ้มรู้สึกว่าตัวเองกลายเป็นคนใจกว้างมากขึ้น คือปกติเราจะเรียนเรื่องระบบขนส่งมาอยู่แล้ว เลยจะรู้กระบวนการครบแทบทุกอย่าง ทำให้อุ้มเปิดใจมากขึ้นเกี่ยวกับการพัฒนา
Q: อะไรเป็นกำลังใจให้อยากสานต่องานภาคสังคม?
อุ้ม: ความสนุกและความตื่นเต้นในสิ่งและผู้คนที่เจอ บางเรื่องเราไม่เคยรู้มาก่อน อย่างตอนไปเจอพี่ๆ จาก ThaiGa คือตื่นเต้นมาก หรือตอนที่เขาออกแบบ เราไม่เคยรู้ว่าฟอนต์มีผลกับการอ่านมากขนาดนั้น ได้ความรู้ที่ลึกมากขึ้น อุ้มสนุกกับการงานที่มาจากมุมมองของคนที่หลากหลาย
เนย: เมื่อก่อนเคยคิดว่าเรียนจบแล้วจะกลับไปอยู่ต่างจังหวัด เพราะไม่ชอบเมือง แต่ไปๆ มาๆ ก็อยู่มาปี 2 ปีแล้ว จนมาทำงานที่นี่ ทำให้ความคิดเนยเปลี่ยนไปว่าสิ่งที่เราคิดไม่ใช่ทางแก้ไขปัญหาแบบที่ควรจะเป็น เพราะถ้าทุกคนเกลียดเมืองแล้วย้ายไปต่างจังหวัดหมด ปัญหาก็จะไปเกิดที่ต่างจังหวัดอยู่ดี เมื่อได้มาทำงานตรงนี้ทำให้เรามีความหวังว่าสักวันหนึ่ง เราเองหรือลูกหลานคนที่อยู่ในเมืองจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้โดยไม่ต้องโหยหาหรือหนีไปต่างจังหวัด เป็นเมืองที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วม ทุกคนอยากอยู่ ได้เป็นส่วนหนึ่งของเมืองที่น่าอยู่ การทำ Mayday เป็นสิ่งที่สร้างหนทางไปสู่เป้าหมายนั้น แม้ว่าเป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งก็ตาม
Q: อย่างที่ทั้งสองคนเล่าว่าเอาเข้าจริงมีคนจำนวนไม่น้อยเลยที่อยากยื่นมือมาช่วย สำหรับคนที่ยังลังเลกับการเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคม คุณเนยและคุณอุ้มจะแนะนำอะไรได้บ้าง?
อุ้ม: อุ้มไม่อยากให้ชินกับปัญหาที่เจอแบบ..อยู่ๆ ไปเถอะ หรือมันซวยอย่างนี้แหละ อย่างน้อยหากเจอปัญหา ลองแก้กันดู อาจจะนิดๆ หน่อยๆ ก็ได้ แต่อยากให้ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างดีกว่าเลือกที่จะอยู่เฉยๆ แล้วไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลย อุ้มเชื่อเสมอว่าทุกอย่างเป็นไปได้ ที่นี่คือเมืองของเรา บ้านของเรา น่าจะถึงเวลาที่เราจะต้องสร้างบทบาทให้ตัวเอง อาจไม่ต้องเป็นเรื่องใหญ่มากก็ได้ เริ่มจากการทิ้งขยะให้ลงถังอะไรอย่างนี้ก็ได้
เนย: เมื่อก่อนเนยอยู่ในสายสื่อสารมวลชน ทำนิตยสาร ก็มักจะคิดว่าทำงานแบบนี้จะช่วยสังคมอะไรได้ แต่พอย้ายฝั่งมาทำงานสังคมก็เข้าใจว่าจริงๆ แล้ว ถ้าคิดจะช่วย เราจะพบว่ามีอีกหลากหลายวิธีมากที่จะใช้ทักษะส่วนตัว อย่างเนยทำงานสื่อสาร เราก็ลองหาวิธีสื่อสารให้คนอ่านอ่านเรื่องนี้แล้วสร้างอิมแพคกับเขาสิ หรืออาจจะเริ่มจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เช่น ทำให้คนในออฟฟิศรู้สึกอยากแยกขยะ เนยคิดว่าช่วยกันคนละนิดคนละหน่อยได้ โดยที่ไม่ต้องถึงขนาดต้องลาออกแล้วมาช่วยสังคมอะไรขนาดนั้น เราสามารถใช้สิ่งที่ทำได้และทำได้ดีมาช่วยได้ ซึ่งการทำ Mayday เราเจอคนแชทมาถามว่า “ช่วยอะไรได้บ้างไหม” เยอะมากเลยนะ
Q: ถ้าเทียบก่อนและหลังทำ Mayday มุมมองการใช้ชีวิตหรือการทำงานปรับเปลี่ยนไปอย่างไร?
อุ้ม: การใช้ชีวิตเปลี่ยนไปค่ะ อย่างแค่รถเมล์จอดตรงนี้ เราจะคิดแล้วว่าจะเกิดผลกระทบกับคนกี่คน หรือถ้ารถเมล์จอดเลยป้ายไป ป้ากับลุงจะวิ่งทันไหม ภาพจะออกมาเลย หรือตอนที่สมาคมคนรักรถเมล์มาช่วยเรื่องการตั้งชื่อป้ายพวกเขามีความรู้ลึกมาก ทำให้อุ้มตระหนักได้ว่า บางทีผู้รู้อาจจะไม่ใช่แค่คนที่เรียนมาโดยตรงอย่างเดียว แต่เป็นผู้ใช้งานหรือเป็นคนที่รักสิ่งนั้นจริงๆ ก็ได้
เนย: เปลี่ยนไปเยอะเลยค่ะ เพราะเมื่อได้ทำงานกับคนที่หลากหลาย เราใช้เวลาอยู่คนเดียวน้อยลง และกล้าที่จะออกไปถามผู้คนมากขึ้น จากแต่ก่อนที่นั่งรถเมล์ เราจะคิดแค่จากจุด A ไปจุด B แต่ทุกวันนี้ เวลานั่งรถเมล์ เนยจะสังเกตคนและพฤติกรรมไปด้วยว่ามีปัญหาระหว่างเดินทางตรงไหนบ้างไหม แล้วเราจะแก้สิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร มีวิธีไหนไหมที่ทำให้คนไม่ต้องเบียดกันบนรถเมล์แน่นๆ จะมีคำถามเหล่านี้เกิดขึ้นในหัวตัวเองทั้งๆ ที่เมื่อก่อนไม่ได้คิดมากมายขนาดนั้น
Q: มองอนาคตของ Mayday ไว้ที่จุดไหน?
A: ด้วยเป้าหมายหลักๆ ของเราคือการผลักดันกระบวนการการมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นในนโยบายการพัฒนาของภาครัฐซึ่งการจะไปถึงจุดนั้นได้ เราต้องสร้างโมเดลหลายๆ อย่างที่ทำให้เขาเชื่อ เลยคิดว่าคงจะต้องมีโครงการหลายๆ ส่วน ที่เราสร้างการมีส่วนร่วม แน่นอนว่ากระบวนการแบบนี้ต้องใช้เวลาพอสมควร แต่พวกเราคิดว่านี่เป็นสิ่งที่มีประสิทธิภาพ เป็นการออกแบบจากผู้ใช้งานจริงๆ ซึ่งเส้นทางในอนาคตคือถ้าเราทำโมเดลนี้ซ้ำไปเรื่อยๆ วันหนึ่ง เราจะสามารถผลักให้เกิดนโยบายระดับชาติได้โดยมีประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาจริงๆ แต่ปลายทางสุดๆ เลยเราอยากให้ระบบขนส่งสาธารณะเป็นทางเลือกแรกของในการเดินทางของคนไทย โดยที่ Mayday จะขอเป็นส่วนหนึ่งในการที่จะทำให้เกิดขึ้น
หนูลี – สุชารีย์ รวิธรธาดา
อุ้ม – วิภาวี กิตติเธียร
แวน – วริทธิ์ธร สุขสบาย
เนย – สุวิชา พิทักษ์กาญจนกุล
ศา – ศานนท์ หวังสร้างบุญ
ภาพ: Karn Tantiwitayapitak, Mayday SATARANA
อ้างอิง:Mayday SATARANA