‘Melayu Living’ ห้องรับแขกแห่งพื้นที่มลายู สะท้อนชีวิตและความสุข ณ ปลายด้ามขวาน

เหรียญย่อมมีอยู่ 2 ด้านเสมอ เหรียญด้านหน้าเปรียบได้กับความสวยงามที่ถูกเปิดเผยให้คนภายนอกได้เห็น ขณะที่อีกฝั่งเป็นตัวแทนของความไม่เด่นไม่ดีที่มักถูกปิดบังซ่อนเร้นเอาไว้ แต่สำหรับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หน้าเหรียญที่เราควรจะได้เห็นกลับสวนทางจากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น ภาพความรุนแรงในช่วงเวลากว่า 10 ปีมานี้ ได้สร้างความตื่นกลัวให้แก่คนภายนอก ทว่าในความรุนแรงที่มีอยู่จริงนั้น ก็ยังมีอีกฟากฝั่งของความสงบสุข แต่นั่นไม่ใช่ความสวยงามเพียงสิ่งเดียวที่เกิดขึ้นในดินแดนปลายด้ามขวานแห่งนี้

“เราตั้งใจที่จะสร้างสเปซสำหรับงานสร้างสรรค์ทุกประเภท เพื่อให้คนในพื้นที่สามารถส่งต่อความรู้ ความสุข เป็นพื้นที่ที่สามารถหลอมรวมให้คนซึ่งมีความคิดดีๆ ได้มาร่วมกันเพื่อสร้างประโยชน์ให้ได้มากที่สุด และต้องการให้ภายนอกมีโอกาสรับรู้แง่มุมดีๆ ท่ามกลางหน้าข่าวที่ลงแต่เรื่องความรุนแรง” ราชิต ระเด่นอาหมัด บอกเล่าถึงความตั้งใจแรกเริ่มของกลุ่ม ‘Melayu Living (มลายู ลีฟวิ่ง)’

(จากซ้ายไปขวา: ศิวกร สนิทวงศ์, ราชิต ระเด่นอาหมัด, ประกอบ กาซันการัดชอ, มูหัมหมัด เบ็ญอุโระ, อาซีซี ยีเจะแว, สมโภช เจ๊ะอาลี, อนันต์ กาเดร์, ประเสริฐ ราชนิยม, ซูเบร เจะดอเลาะ, มณูศักดิ์ หลีเจริญ)

จากเป้าหมายถึงหลักไมล์ของห้องรับแขกแห่งพื้นที่มลายู

Melayu Living หรือ ห้องรับแขกแห่งพื้นที่มลายู ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2558 ซึ่งเริ่มจากการเป็นกลุ่มสถาปนิกของภูมิภาค อันเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายกระจายศูนย์ย่อยที่ดำเนินการโดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ในชื่อ ‘กรรมาธิการสถาปนิกทักษิณเขตภาคใต้ตอนล่าง’ ซึ่งมีอาจารย์วิวัฒน์ จิตนวล เป็นประธานกรรมาธิการฯ ในสมัยนั้น และมีสถาปนิกเป็นสมาชิกหลัก

“เมื่อมีการตั้งคณะทำงานเรียบร้อย เราก็อยากจัดสรรให้มีพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Space) ในพื้นที่ขึ้น เมื่อหลายๆ คนทราบข่าวก็มีวิชาชีพอื่นๆ ที่สนใจจะเข้าร่วมอาสาทำงานตามที่ตัวเองถนัด ทั้งสถาปนิก ช่างภาพ กราฟิกดีไซเนอร์ คอลัมนิสต์ ซึ่งมีสถาปนิกทั้งจากยะลาและนราธิวาสมาร่วมด้วย พื้นที่นี้จะเป็นจุดเชื่อมทั้งคนจีน คนไทย คนมุสลิมมาอยู่ร่วมกัน โดยไม่แบ่งแยก ปัจจุบันที่นี่มีสมาชิกซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ในวัย 25-40 ปี ทั้งหมด 18 คน มีทั้งคนในพื้นที่เดิม รวมทั้งน้องๆ ที่เพิ่งเรียนจบจากกรุงเทพฯ แล้วกลับมาทำงานที่บ้าน” ซึ่ง Melayu Living ตั้งปลายทางคือการสร้างความเคลื่อนไหว โดยอาศัยความถนัดทางวิชาชีพของตนและความร่วมมือของคนในพื้นที่มาเป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างการรับรู้ ทั้งด้านประวัติศาสตร์ ตลอดจนวัฒนธรรมเฉพาะของท้องถิ่น

เพราะอะไรต้อง Melayu Living?

“เราได้เห็นรูปภาพห้องรับแขกของบ้านทรงมลายูที่มีความเรียบง่าย สมถะ และดูอบอุ่น จากสถาปนิกในพื้นที่ที่โพสต์ลงในเฟสบุ๊คและเขียนประกอบภาพว่า Melayu Living ซึ่งเป็นชื่อที่เรารู้สึกว่ามีความหมายตรงกับสิ่งที่เราอยากเป็น คือเราอยากเป็นห้องรับแขกของมลายู เป็นประตูบานแรกที่เปิดรับแขกที่จะเข้ามาในพื้นที่ ต้อนรับด้วยกิจกรรมสร้างสรรค์เท่าที่เราสามารถทำได้”

ทำงานเป็นกลุ่มย่อย รับผิดชอบงานตามถนัด

ห้องรับแขกแห่งนี้จะทำงานด้วยระบบการจัดสรรหน้าที่รับผิดชอบตามทักษะที่แต่ละคนมีและสนใจ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายออกแบบ ฝ่ายปฏิคม ฝ่ายช่างภาพ ฝ่ายอาหาร ฯลฯ แต่ท้ายที่สุดแล้ว ทุกคนจะมีเป้าหมายร่วมเดียวกัน นั่นคือการสร้างกิจกรรมสร้างสรรค์ในพื้นที่ โดยที่ทุกบทบาทจะถูกดำเนินงานร่วมกันแบบคนละไม้คนละมือ

ในขวบปีแรก พวกเขาเริ่มจากกิจกรรมเล็กๆ ที่เน้นหนักไปในเชิงสถาปัตยกรรม ด้วยการเชิญสตูดิโอออกแบบและก่อสร้างมาให้ความรู้และร่วมทำเวิร์คช็อปกับสมาชิกที่ส่วนใหญ่เป็นสถาปนิก “เรามีไอเดียในการจัดงานที่ให้ความรู้สึกถึงความเป็นพี่น้อง ไม่เป็นทางการมากนัก มีอาหารพื้นถิ่นมาเชื่อมโยงความสัมพันธ์ มีบรรยากาศสบายๆ เพื่อให้ผู้มาร่วมงานและบริษัทที่มาให้ความรู้อบอุ่นและประทับใจ”


หนึ่งในกิจกรรมที่ว่านั้นคือ ‘Hello Future’ ที่ได้ พี่แจ๊ค – ปิตุพงษ์ เชาวกุล จาก SUPERMACHINE STUDIO มาบรรยายเกี่ยวกับงานสถาปัตยกรรมและประสบการณ์ในฐานะสถาปนิก “งานนี้ไม่ได้มีแต่สถาปนิกมาฟังอย่างเดียว แต่ยังมีผู้คนจากอาชีพอื่นๆ ที่เข้ามาร่วมงานเกือบ 300 คน ซึ่งผลตอบรับค่อนข้างดี ทุกคนประทับใจในสิ่งที่ได้รับในกิจกรรมครั้งนั้นมาก และสิ่งที่เราตั้งใจมอบให้กับแขกที่เราเชิญมาคือการพาไปดูวิถีชีวิตของชาวบ้านในจังหวัดปัตตานี ในพื้นที่ที่คนภายนอกมองว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงและอันตราย ในครั้งนั้น มีการปั่นจักรยานชมมัสยิดกลางปัตตานี มัสยิดกรือเซะ และนั่งดื่มชาในหมู่บ้าน ซึ่งนั่นเป็นภาพสะท้อนให้คนที่มองมายังปัตตานีเห็นว่า ในความรุนแรงที่เขามองเข้ามา เป็นแค่ส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้น พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ไม่ได้น่ากลัวเหมือนข่าวที่ถูกนำเสนอไป”

ทุกปัญหาแก้ได้ด้วยความตั้งใจ

ในทุกๆ การเดินทาง สิ่งที่ไม่คาดคิดมักเข้ามาทดสอบความตั้งใจเราอยู่เสมอๆ เช่นเดียวกับเส้นทางของชุมชนนักคิดกลุ่มนี้ “เรามีอุปสรรคหลักๆ คือคณะทำงานเราไม่รวยครับ (หัวเราะ) อันนี้พูดเล่น แต่เป็นเรื่องจริงนะ บางอย่างเราคิดอยากจะทำ อยากจะปรับปรุง แต่เราติดปัญหาเรื่องงบประมาณ บางโครงการจึงยังไม่เกิดขึ้น และด้วยความที่เราไม่ถนัดเรื่องของบประมาณสนับสนุนที่มากนัก งบประมาณที่ได้มาส่วนใหญ่จะหมดไปกับการจัดกิจกรรม เราก็พยายามทำด้วยกำลังของเราให้ดีที่สุด แผนหลักที่วางไว้จึงดำเนินไปอย่างช้าๆ ซึ่งในเรื่องของเงินทุน เราเองก็พยายามหาแหล่งเงินทุนจากตัวอย่างของกรรมาธิการสถาปนิกล้านนาที่ทำ year plan เพื่อเสนอให้กับผู้ที่สนใจอยากสนับสนุนกิจกรรม ปีที่ผ่านมาเป็นปีแรกที่เราได้เริ่มทำ year plan เพื่อของบประมาณจากบริษัทห้างร้าน ซึ่งเราก็ได้การสนับสนุนมาประมาณ 10 บริษัท จนได้เป็นทุนในการจัดกิจกรรมต่างๆ ได้พอสมควร และบางบริษัทก็เสนอตัวมาช่วยงาน เช่น ช่วยในเรื่องเครื่องเสียง วิดีโอ ทำให้เราลดต้นทุนได้พอสมควร รวมถึงคณะทำงานทุกคนที่ร่วมแรงกันลงมือทำทุกอย่างที่สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้

นอกจากนี้ ก็คงจะเป็นเรื่องของเวลา ทุกๆ ครั้งที่จบกิจกรรมในแต่ละครั้ง ปัญหาที่พบส่วนใหญ่คือเรื่องเวลา ด้วยทุกคนมีงานประจำ การมารวมตัวเพื่อปรึกษาหารือ ประชุมวางแผนอะไรต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่ยากที่จะมาเจอกันได้พร้อมหน้าพร้อมตา แต่ในท้ายที่สุดทุกคนก็จะรู้บทบาทของตัวเองและทำให้งานนั้นผ่านไปได้ตามกำลังของเราอย่างดีที่สุด”


สื่อสารอย่างสร้างสรรค์

สิ่งน่าสนใจอย่างหนึ่งในการทำงานของ Melayu Living คือการทำงานด้วยความจริงใจ ตั้งใจ และเข้าใจ “เราใช้ความจริงใจและความตั้งใจในการสร้างพื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์เข้าหาชุมชน ซึ่งกิจกรรมที่ผ่านมาคงเป็นสิ่งชี้วัดเป็นอย่างดีว่าเรามีเจตนาที่ดีต่อบ้านต่อเมือง ทำให้ผู้ใหญ่ในชุมชนมีความเอ็นดูและสนับสนุนในสิ่งที่พวกเรากำลังทำอยู่ เอาจริงๆ เลยนะ สังคม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเลย เพียงแต่สิ่งที่หลายๆ คนเข้าใจมาจากการสื่อสารของคนนอกพื้นที่ที่พยายามสร้างความขัดแย้งกันของคนต่างศาสนาให้เห็น การที่คนท้องถิ่นอยู่ร่วมกันมาหลายร้อยปี ความขัดแย้งกันเกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดาของทุกสังคม แต่ไม่ได้รุนแรงอย่างที่ใครเข้าใจ สิ่งที่เราต้องการสื่อสารกับคนภายนอกก็คือ พวกเราอยู่ร่วมกันปกติและเหมือนเดิม พี่น้องมุสลิม พี่น้องชาวจีน ชาวไทยพุทธยังไปมาหาสู่กันสม่ำเสมอ เรายอมรับในความต่าง ทุกวันนี้ยังมีการตั้งวงดื่มน้ำชา ยังเสวนาเรื่องราวในอดีต ปัจจุบัน และมองอนาคตของบ้านเมืองที่อยากจะให้เกิดความสงบสุขร่วมกัน”


จิตอาสาสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อชุมชนและตนเอง

“ทุกกิจกรรม เราจะใช้แรงกันเหนื่อยมาก บางคนไม่ได้อยู่ในพื้นที่ก็ยังขับรถกันมาเพื่อประชุม มาจัดเตรียมสถานที่ ซึ่งสิ่งที่ทำให้ทุกคนมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ ความสนุกและความตั้งใจดี พื้นที่แห่งนี้เหมือนทุกคนได้มาปลดปล่อยพลังและความคิดหลังจากเสร็จสิ้นงานหลักของตัวเอง เราเชื่อตรงกันว่าอะไรก็ตามที่ทำจากหัวใจ จากความสนุกที่อยากจะสร้างสรรค์เพื่อทำให้ทุกคนมีความสุขแล้ว ผู้ที่เข้ามาสัมผัสก็จะได้รับความสุขนั้นกลับไปด้วย”


(จากซ้ายไปขวา: กริยา บิลยะลา, ดวงตา ระเด่นอาหมัด, นิมินทรา มินทราศักดิ์)

‘พื้นที่สีแดง’ ภาพที่เห็นกับสิ่งที่เป็น

ด้วยภาพที่คนมอง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านสื่อต่างๆ สิ่งที่เราเห็นคือความอันตราย แต่สำหรับคนในพื้นที่อย่าง Melayu Living แล้ว ที่นี่ยังคงมีความงดงามซ่อนตัวอยู่ “ความรุนแรงมีอยู่จริง แต่ความสงบสุขก็มีอยู่จริงเช่นกัน ขึ้นอยู่กับว่าเราเลือกที่จะมองด้านไหนเป็นหลัก จริงๆ แล้วความรุนแรงในพื้นที่มีเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมาก หากเปรียบกับโจรฆ่าชิงทรัพย์ตามหัวเมืองใหญ่ๆ ซึ่งก็ใช่ว่าจะเกิดกันทุกตรอกซอกซอย บางทีอาจเป็นเพราะว่าการนำเสนอข่าวที่สะเทือนขวัญย่อมเป็นที่สนใจกว่าข่าวสร้างสรรค์ นั่นจึงเป็นตัวกระตุ้นให้คนภายนอกยิ่งมองเห็นแต่ภาพความรุนแรงและความไม่สงบของพื้นที่ เมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้ แทนที่เราจะมัวยึดติดอยู่แต่กับความรุนแรง ซึ่งทำให้สังคมวนอยู่กับทัศนคติด้านลบแบบนี้ เราน่าจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมไม้ร่วมมือกันสร้างความภาคภูมิใจ รักษาอัตลักษณ์ที่เราเคยมีและเป็นอยู่ให้กลับมาอีกครั้งดีกว่า”


วันนี้และวันหน้าของ Melayu Living

ในปี 2018 นี้ กิจกรรมที่จะเกิดขึ้นใน Melayu Living จะมีทั้งความหลากหลายและเข้มข้นขึ้น โดยยังคงอยู่ใต้กรอบของความสร้างสรรค์ แผนระยะสั้นที่เกิดขึ้นกันไปแล้วคือการสร้างพื้นที่จัดกิจกรรมสร้างสรรค์ รวมทั้งแพลทฟอร์มสำหรับการขายผลงานออกแบบและผลิตภัณฑ์ดีๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กับโครงการ ‘Bloom Concept Store’

“เราอยากให้คำว่า ‘Bloom’ พ้องเสียงกับคำว่า ‘Boom’ ที่เป็นเสียงของระเบิด แต่ Bloom ของเราเป็นการเสนอว่าพื้นที่แห่งนี้กำลังเบ่งบาน” โดยเป้าหมายคู่ขนานที่กำลังดำเนินการคือการสร้างที่พักเล็กๆ สบายๆ ให้คนที่อยากจะมาสัมผัสกับจังหวัดปัตตานีในรูปแบบใหม่

“สำหรับอนาคตไกลๆ เราเคยมองกันว่า ถ้าวันหนึ่งเราไม่สนุกกับมันแล้วล่ะ? จะเกิดอะไรขึ้นกับ Melayu Living? แต่ท้ายที่สุด เมื่อเราได้มาคุยกัน ก็ยังสรุปตรงกันเหมือนเดิมว่า ตราบใดที่เราเริ่มต้นด้วยเจตนาดี คิดเพื่อสังคมเป็นอันดับแรก ไม่มองเรื่องผลประโยชน์ที่จะได้รับ เราเชื่อว่าสิ่งดีๆ มักจะมาพบเจอกัน แม้ว่าทุกคนต้องเสียสละเวลา หรือบางครั้งต้องเสียสละทรัพย์ส่วนตัว แต่สิ่งที่ได้รับกลับมา คุ้มค่ามากกว่าเงินทองหรือคำชื่นชมใดๆ คือทำให้พื้นที่นี้มีประโยชน์ต่อบ้านเมือง ซึ่งเมื่อเราตั้งเป้าหมายไว้ดีแล้ว อนาคตทุกอย่างจะเกิดอะไรขึ้นให้เป็นเรื่องที่พระเจ้ากำหนดเอง”

(ขวา: บศกร บือนา)
(จากซ้ายไปขวา: อัลอลิศ หะยีอาแว, อับดุลรอแม ตาเละ)
(มูฮำหมัดซอบรี แวยะโกะ)
(อุสมาน เจะซู)


ภาพและอ้างอิง: Melayu Living, Facebook: Melayu Living

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles