Micro House บ้านเล็กขนาด 5×5 เมตร ดีไซน์สวย ราคาน้อย ประโยชน์มาก

สถาปัตยกรรมในเมืองใหญ่ ล้วนต้องแก้ปัญหาที่ซับซ้อนตามบริบทของแต่ละพื้นที่ ด้วยเมืองร่วมสมัยมีปัญหาในแบบของตัวเอง เนื่องจากวัฒนธรรมในแต่ละถิ่นที่ สถาปัตยกรรมเมืองที่ดีจึงไม่สามารถไปลอกสูตรสำเร็จจากเมืองที่ดีของที่หนึ่ง ประเทศอื่น มาสวมลงในประเทศตัวเองได้อย่างแนบเนียน

อย่างเช่นในกรณีของตัวเมืองกรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย มีประชากรวัยทำงานที่ทำงานในตัวเมืองกว่า 54,000 คน แต่มีอยู่เพียง 4,800 คนเท่านั้นที่อาศัยในตัวเมือง หรือราว 9 % เท่านั้น ทำให้เมืองขาดความชีวิตชีวา เพราะจะคึกคักในเวลากลางวันช่วงชั่วโมงทำงาน แต่เมื่อเลิกงาน แรงงานเหล่านี้ต้องกลับที่พักในย่านชานเมือง ในวิถีการออกแบบเมือง สามารถใช้ศาสตร์การออกแบบเมืองแบบผสมผสานได้ ทำให้เมืองไม่ต้องแยกกิจกรรมขาดจากกันชัดเจนแบบแนวคิดเมืองจากยุคสมัยใหม่ ที่มันล้มเหลว ไม่สอดคล้องกับวิถีเอเชีย และส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาวของกัวลาลัมเปอร์ด้วย

Think City เป็นหน่วยงานที่ทำการศึกษาด้านที่อยู่อาศัย ฟื้นฟูเมืองของมาเลเซีย โดยทำงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งรัฐบาลและเอกชน รวมไปถึงชุมชนต่าง ๆ ได้ทำงานร่วมกับ DBKL หรือ KL City Hall โดยมีสถาปนิกท้องถิ่น Tetawowe Atelier ร่วมนำเสนอบ้านต้นแบบในที่ดินขนาด 5 x 5 เมตร สร้างในเวลา 3 สัปดาห์ ในงบประมาณ 100,000 ริงกิต เป็นบ้านพร้อมนิทรรศการขนาดย่อมให้ประชนทั่วไปได้สัมผัสตลอด 24 ชั่วโมงกับพื้นที่ขนาดเท่าจริงช่วงนิทรรศการ World Urban Forum เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการสร้างบ้านขนาดเล็กที่สามารถอยู่ ใช้งานในชีวิตประจำวันได้จริง ตัวบ้านต้นแบบมีเป้าหมายเพื่อตอบสนองกลุ่มคนที่มีรายได้ปานกลาง

ตัววัสดุถูกประกอบเข้าด้วยกันจากวัสดุราคาถูก การออกแบบพื้นที่ใช้สอยถูกคำนึงให้เกิดประโยชน์สูงสุด แม้ว่าเล็ก แคบ แต่ต้องคุ้มค่าทุกตารางเมตร สถาปนิกออกแบบเป็นบ้าน 2 ชั้น มีลานโล่งอเนกประสงค์ที่ชั้นล่าง ชั้นบนสำหรับอยู่อาศัย ให้พื้นที่บ้านอยู่ในกรอบขนาด 5 x 5 เมตร อันมีที่มาจากขนาดของที่รถยนต์ 2 คัน(ที่จอดรถยนต์ส่วนใหญ่ขนาด 2.40 x 5.00 เมตร) จากแนวคิดการแก้ปัญหาเมื่อเหล่าการใช้รถยนต์ลดลง จนถึงไม่จำเป็นสำหรับพื้นที่ในเมือง เพราะการใช้ Ubers และ GrabCars ที่มากขึ้น จะสามารถเติมบ้านต้นแบบเหล่านี้ลงไปในลานจอดรถที่เพิ่มขึ้น สวนกับจำนวนของ Ubers และ GrabCars นั่นเอง

เมื่อเข้าใจวัฒนธรรม สามารถเข้าใจเมือง และช่วยกันสร้างเมืองในแบบของเราได้ในที่สุด

อ้างอิง: www.tetawowe.comwww.thinkcity.com.my, dbkl.gov.my

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles