‘มีวนา (Mivana)’ เป็นแบรนด์กาแฟน้องใหม่ที่ตั้งขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายชัดเจนคือรักษาป่า ภายใต้วิถีเกษตรอินทรีย์ และกลไกแบ่งปันผลประโยชน์แบบการค้าที่เป็นธรรม (fair trade)
แม้จะเป็นธุรกิจที่ก่อตั้งมาไม่นาน แต่มีวนา หรือบริษัท กรีนเนท เอสอี จำกัด ก่อตั้งและบริหารโดย ธีรสิทธิ์ อมรแสนสุข อดีตผู้บริหารบริษัทในเครือแปลนที่ตัดสินใจใช้ช่วงเวลายามเกษียณศึกษาธุรกิจกาแฟที่ตนไม่เคยรู้จักมาก่อน
แม้ว่าธีรสิทธิ์จะเป็นมือใหม่ในธุรกิจกาแฟ แต่ประสบการณ์ที่เข้มข้นและความสัมพันธ์กับผู้ผลิตที่เข้มแข็งก็ทำให้มีวนาเดินทางมาได้ถึง 3 ปี โดยมีพื้นที่การผลิตกาแฟถึง 8,000 ไร่ ..มีวนาดำเนินธุรกิจอย่างไร แตกต่างจากกาแฟแบรนด์อื่นหรือไม่ และช่วยรักษาป่า เกื้อกูลชุมชนอย่างไร CreativeMove ชวนอ่านบทสนทนาที่เข้มข้นเหมือนกาแฟดำ แต่มีโน้ตละมุนของช็อกโกแลตและกลิ่นน้ำผึ้งอ่อนๆ จากผืนป่า เพื่อหาคำตอบไปด้วยกัน
Q: กรีนเนท เอสอี มีจุดเริ่มต้นอย่างไร
A: ก่อนอื่นต้องย้อนกลับไปถึงมูลนิธิสายใยแผ่นดิน หรือที่รู้จักในชื่อกรีนเนท กรีนเนทก่อตั้งมา 20 ปี ทำงานส่งเสริมเรื่องเกษตรอินทรีย์และการค้าที่เป็นธรรม ตลอดการทำงานที่ผ่านมา เราพบว่าถ้าส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชอินทรีย์อย่างเดียว แต่ไม่สามารถช่วยชาวบ้านแก้ไขปัญหาเรื่องการตลาด ได้ผลผลิตมาไม่มีคนซื้อ สุดท้ายก็ต้องล้มเลิก
ที่ผ่านมา Green Net แก้ปัญหานี้โดยจัดตั้งสหกรณ์กรีนเนท ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ทางการตลาด (marketing arm) สำหรับสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่มาจากที่ราบ เช่น ข้าว ฝ้าย ถั่วชนิดต่างๆ สับปะรด และมะพร้าว ภายใต้ตราสินค้ากรีนเนท
ต่อมาเรามาทำงานส่งเสริมชุมชนให้ทำกาแฟอินทรีย์รักษาป่า เราก็รู้แล้วว่าจะต้องมีองค์กรที่ทำหน้าที่เรื่องการตลาดให้กับกาแฟอินทรีย์ด้วย หลังจากทดลองทำโครงการเมื่อ พ.ศ. 2553 ต่อมา พ.ศ. 2555 เราก็วิเคราะห์ความเป็นไปได้โครงการ (feasibility study) แล้วพบว่ามีโอกาสทางธุรกิจ เราก็เลยจัดตั้ง Green Net SE เพื่อทำธุรกิจอย่างเต็มตัว เป็นนิติบุคคลรูปแบบบริษัทเพราะดำเนินการได้คล่องตัวกว่ารูปแบบสหกรณ์ แต่ที่สำคัญคือ บริษัทนี้ก่อตั้งโดยมีจุดประสงค์ชัดเจนว่าเป็นกิจการเพื่อสังคม
Q: พื้นที่ป่าต้นน้ำที่มีวนาเข้าไปทำงานมีปัญหาอย่างไร
A: ในป่าที่เราเข้าไปทำงาน ความจริงแล้วมีชาวบ้านที่อาศัยอยู่ดั้งเดิมก่อนที่จะประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ชาวบ้านเหล่านี้จะได้รับอนุญาตจากภาครัฐให้สามารถอยู่ในป่าได้โดยพื้นที่ที่เขาอาศัยอยู่เรียกว่าพื้นที่กันออก
ก่อนที่เราจะส่งเสริมให้ปลูกกาแฟ ชาวบ้านทำการเกษตรแบบปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่จำเป็นต้องใช้สารเคมีเยอะมากเพื่อป้องกันการระบาดของโรคและแมลง และช่วยเสริมสร้างธาตุอาหารในดิน สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ป่าต้นน้ำปนเปื้อนสารเคมี และทำให้สัตว์ป่า สัตว์น้ำ ที่อาศัยอยู่ในป่าล้มหายตายจากไป
บางครั้งเกษตรกรเองเนื่องจากด้อยความรู้ เขาก็ได้รับผลกระทบจากการใช้สารเคมี บางรายป่วย บางครอบครัวอาจมีคนเสียชีวิต เพราะเขาใช้สารเคมีไม่ถูกวิธี
Q: การส่งเสริมให้ปลูกกาแฟช่วยแก้ปัญหานี้อย่างไร
A: กาแฟเป็นพืชต้องการร่มเงาสูง การปลูกกาแฟในป่าไม่ทำให้ชาวบ้านต้องไปถางเปิดพื้นที่ป่าเพิ่มเติมเพราะสามารถปลูกใต้ร่มไม้ได้ ในขณะเดียวกัน เราก็มีกฎสำหรับการเข้าร่วมโครงการกับมีวนาว่าชาวบ้านจะต้องปลูกไม้ป่าหรือไม้พื้นเมืองอย่างน้อย 20 สายพันธุ์ และไม่น้อยกว่า 50 ต้นในพื้นที่ 1 ไร่ เงื่อนไขตรงนี้ก็จะช่วยฟื้นฟูป่าที่ถูกบุกรุกรวมถึงแก้ไขสภาพเขาหัวโล้น
ธรรมชาติถ้าไม่มีใครไปรบกวนจะฟื้นตัวกลับมาเร็วมาก ภายใน 3 ปีป่าก็จะกลับคืนมา เราเองก็เลือกพันธุ์ไม้ป่าโตเร็ว เช่น ไม้ยางเหลือง และต้นขี้เหล็ก
Q: พื้นที่ทำงานของมีวนาอยู่ที่ไหนบ้าง
A: พื้นที่ทำงานหลักของเราอยู่ที่จังหวัดเชียงราย บริเวณ 3 ป่าต้นน้ำคือ ต้นน้ำแม่ลาว ต้นน้ำแม่สรวย และต้นน้ำแม่กรณ์ รวมแล้วประมาณ 8,000 ไร่ มีสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ 310 ครอบครัว จาก 9 หมู่บ้าน
Q: คุณธีรสิทธิ์เคยให้สัมภาษณ์ว่าเป้าหมายของ มีวนา คือภายใน 10 ปีต้องส่งเสริมให้ปลูกกาแฟอินทรีย์ 20,000 ไร่ ตอนนี้มีแนวโน้มบรรลุเป้าหมายหรือไม่
A: ที่ผ่านมากรมอุทยานฯ เองก็มองเห็นว่าโมเดลธุรกิจที่เราทำอยู่นี้เป็นโมเดลที่มีประสิทธิผล ในเดือนพฤษภาคม เรากำลังจะมีการเซ็น MOU กับกรมอุทยานฯ เพื่อทำงานเกษตรอินทรีย์รักษาป่าเพิ่มอีก 20,000 ไร่ คือยังไม่ถึง 10 ปี แต่ย่างเข้าสู่ปีที่ 4 เราก็มีแนวโน้มว่าจะทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
Q: มีวนามีวิธีดำเนินงานอย่างไรให้ภาครัฐยอมให้เข้าไปทำงานในพื้นที่อุทยานฯ
A: ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมามีเหตุการณ์อย่างชาวบ้านลักลอบรุกที่ ผนวกกับชาวบ้านที่อพยพเข้าไปเปิดพื้นที่ใหม่ เรื่องเหล่านี้กลายเป็นประเด็นความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับหน่วยงานภาครัฐ
อย่างพื้นที่ที่เราเข้าไปทำงาน เมื่อหลายปีก่อนมีความขัดแย้งรุนแรงถึงขั้นที่ชาวบ้านรวมตัวกันไปเผาที่ทำการอุทยานฯ ดังนั้นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ากับชุมชนก็เรียกว่ามองหน้ากันไม่ติด แต่โครงการที่เราทำอยู่เรามีเงื่อนไขอย่างแรกคือพื้นที่ต้องเป็นพื้นที่กันออกตามกฎหมาย ในขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับข้อตกลงว่าจะไม่ขยายพื้นที่เพิ่ม หากมีการขยายเราก็จะไม่ให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม
พอชุมชนเปลี่ยนวิถีมาทำเกษตรอินทรีย์ ทั้งป่าและสัตว์ป่าก็กลับคืนมา เจอไก่ป่า เจอหมูป่า และเมื่อเร็วๆ นี้ชาวบ้านก็ไปเจอเสือแล้วซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี เพราะเสือเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่า ถ้าเสือกลับมาแสดงว่าป่าสมบูรณ์มาก
เมื่อชาวบ้านทำตามข้อตกลง ความสัมพันธ์ของชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าก็ดีขึ้น ตอนนี้เรียกได้ว่าสนิทสนมกัน เจ้าหน้าที่เขาก็มาเล่าให้ผมฟังว่าจากเดิมเวลาออกลาดตระเวน ชุมชนจะตั้งตัวเป็นปรปักษ์ แต่ตอนนี้เวลาพิทักษ์ป่าเข้าหมู่บ้าน เขาก็ไปนั่งกินข้าวในบ้านชาวบ้านได้แล้ว
Q: โมเดลธุรกิจของมีวนาเป็นอย่างไร
A: สิ่งที่เราทำอยู่เรียกว่าธุรกิจที่ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่อุปทาน (total supply chain) คือเริ่มต้นตั้งแต่การสอนชุมชนให้รู้จักการทำกาแฟ พร้อมกับส่งเสริมการปลูก เช่น สนับสนุนกล้าพันธุ์กาแฟคุณภาพดี และปัจจัยการผลิตอย่างปุ๋ยอินทรีย์ แต่ที่สำคัญที่สุดคือองค์ความรู้เกี่ยวกับการทำกาแฟคุณภาพที่เราเอาไปถ่ายทอดให้เกษตรกรตั้งแต่การเพาะปลูกไปจนถึงการเก็บเกี่ยว
หลังจากเก็บเกี่ยว เราก็ส่งเสริมให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชนกาแฟอินทรีย์รักษาป่า ซึ่เราจะไปถ่ายทอดความรู้เรื่องการแปรรูปกาแฟ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่เรียกว่ากะลากาแฟ นี่คือผลิตภัณฑ์ที่มีวนารับซื้อจากเกษตรกร เมื่อรับซื้อมาแล้ว เราจึงนำไปสี ไปคัดคุณภาพ แล้วจึงนำไปคั่ว
ธุรกิจเราตอนนี้จะมีลักษณะเป็น Original Equipment Manufacturer (OEM) คือเราส่งกาแฟให้ลูกค้านำไปจำหน่ายภายใต้แบรนด์ของเขา แต่ก็มีบางส่วนที่เราวางขายภายใต้แบรนด์มีวนาตามโมเดิร์นเทรด หรืออาจจะจัดจำหน่ายไปยังร้านกาแฟต่างๆ โดยตรง
Q: นอกจากช่วยรักษาธรรมชาติ กาแฟอินทรีย์มีส่วนช่วยชุมชนอย่างไร
A: กาแฟอินทรีย์ของมีวนาทำภายใต้วิถีการค้าที่เป็นธรรม (Fair Trade) ดังนั้นเกษตรกรที่ร่วมโครงการกับเราจะมีรายได้ส่วนเพิ่มจากราคาในท้องตลาดทั่วไป เราเรียกส่วนเพิ่มนี้ว่าออร์แกนิกพรีเมียม นี่คือส่วนที่เกษตรกรจะได้รับจากเราโดยตรง
เงินอีกก้อนหนึ่งเราจะเรียกว่าแฟร์เทรดพรีเมียมซึ่งเราจะส่งมอบให้กับชุมชม เพื่อให้ชุมชนตัดสินใจเองว่าจะเอาเงินก้อนนี้ไปทำอะไร เช่น พัฒนาถนนเข้าโรงเรียน ช่วยเหลือด้านการศึกษา ศาสนา หรือเป็นสวัสดิการให้ผู้สูงอายุที่ลูกหลานเข้าไปทำงานในเมือง คือไม่อยู่ในวิสัยที่จะดูแลได้
Q: เงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการกาแฟอินทรีย์ของมีวนามีค่อนข้างเยอะ ชุมชนมีการตอบรับอย่างไร เขาพร้อมจะปรับเปลี่ยนหรือไม่
A: ชุมชนให้การตอบรับดีมาก เพราะการเข้าร่วมโครงการของเราหมายถึงว่าเขาจะสามารถทำการเกษตรเพื่อเลี้ยงชีพได้โดยที่ภาครัฐยอมรับ ในขณะเดียวกันรายได้ก็เพิ่ม สำหรับตัวเกษตรกรเองก็สุขภาพดีขึ้น ประการสุดท้ายคือเกษตรกรมีความภาคภูมิใจว่าสิ่งที่เขาทำมีประโยชน์ต่อทั้งป่าและผู้บริโภค คือพูดได้อย่างภูมิใจว่าเขาปลูกกาแฟอินทรีย์
Q: การเปลี่ยนผ่านจากการปลูกพืชเคมีเป็นกาแฟอินทรีย์ใช้เวลานานหรือไม่
A: ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าการทำเกษตรอินทรีย์ต้องมีการรับรอง แต่การรับรองจะมีสองระดับคือ ระดับ Participatory Guarantee Systems (PGS) สำหรับเกษตรกรที่เพิ่งเข้าร่วมโครงการ ระบบนี้จะเป็นการรับรองโดยสมาชิกในชุมชน และมีวนาก็จะร่วมตรวจแปลงด้วย ส่วนอีกระดับหนึ่งก็จะเป็นมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นระบบที่ถอดแบบมาจากสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Federation of Organic Agriculture Movements – IFOAM) การจะได้มาตรฐานนี้ต้องเลิกใช้สารเคมีอย่างน้อย 18 เดือน แต่ถ้าเป็นมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา หรือแคนาดา จะต้องเลิกใช้สารเคมีอย่างน้อย 36 เดือน
ปัจจุบัน กาแฟของเราประมาณร้อยละ 70 รับรองโดยระบบของ IFOAM โดยส่วนที่เหลือจะใช้ระบบรับรองแบบ PGS แต่เราจะรับซื้อกาแฟทั้งหมดไม่ว่ารับรองโดยระบบไหน ซึ่งหากยังอยู่ในระบบ PGS เราจะขายเป็นผลผลิตที่เรียกว่า ‘อินทรีย์ในระยะเปลี่ยนผ่าน (organic on conversion)’
Q: แล้วเกษตรกรหารายได้อย่างไรในช่วงเปลี่ยนผ่านเป็นเกษตรอินทรีย์
A: แต่เดิมเกษตรกรจะปลูกพืชชนิดอื่นอยู่แล้ว อย่างชุมชนที่เราเข้าไปทำงานด้วยก็จะปลูกเสาวรส เราก็ให้เข้าปลูกต่อแต่ต้องเลิกใช้สารเคมี ผลผลิตจากเสาวรสก็ยังสร้างรายได้อยู่แต่ในขณะเดียวกันเราก็เริ่มปลูกกาแฟใต้ร่มเงาเสาวรส
ในแง่ของการจัดการ ชาวบ้านจะมีช่วงที่รายได้ลดลงไม่นานมากเพราะเขาจะยังขายผลผลิตที่ปลูกไว้เดิมได้อยู่ แต่ผลผลิตที่ได้จะลดลงเพราะไม่ใช้สารเคมี พอถึงปีที่ 3 ดินดำซึ่งมีสารอินทรีย์อยู่สูงก็จะหนาขึ้น พอดินอุดมสมบูรณ์ ผลผลิตกาแฟก็พร้อมที่จะเก็บเกี่ยวมาจำหน่ายพอดี
Q: ลูกค้าหลักของมีวนาคือใคร และกาแฟอินทรีย์มีตลาดหรือไม่
A: ตอนแรกที่เราเข้ามาทำธุรกิจนี้ ตลาดของเรายังแคบแต่ผลผลิตของเกษตรกรเราค่อนข้างเยอะ คือมีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 5,000 ไร่ เราจึงให้ความสำคัญกับการขายสินค้าให้ร้านกาแฟที่มีหลายสาขา ต่อมาเราก็มีการทำแบรนด์ของตัวเองมากขึ้น โดยผลิตสินค้าปลีกเพื่อจำหน่ายตามโมเดิร์นเทรด เช่น เลมอนฟาร์ม หรือฟู้ดแลนด์
ส่วนเรื่องตลาดกาแฟอินทรีย์ ที่ผ่านมายังไม่มีแบรนด์ไหนที่นำเสนอสินค้าคุณภาพสูงที่ได้รับการรับรองว่าเป็นกาแฟอินทรีย์ แฟร์เทรด และรสชาติดี คนส่วนใหญ่มักคิดว่าหากเป็นกาแฟอินทรีย์รสชาติจะด้อยลงหรือเปล่า บางแบรนด์ก็เป็นการรับรองอินทรีย์ด้วยตนเอง หรืออาจเป็นมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่ยังมีช่องโหว่ เช่นเมื่อไม่นานมานี้เราจะได้ยินข่าวเรื่องการสุ่มตรวจสารพิษในผัก ผลไม้ แล้วสินค้าบางชิ้นที่ได้รับการรับรองว่าเป็นเกษตรอินทรีย์ กลับตรวจเจอสารเคมีตกค้างเกินกำหนด ทำให้ขาดความน่าเชื่อถือไป
ทุกวันนี้เราอาจจะยังไม่เห็นกาแฟที่ประกาศตัวว่าเป็นกาแฟอินทรีย์หรือกาแฟแฟร์เทรด ส่วนหนึ่งเพราะถ้าเข้าประกาศไปแล้วเราไม่สามารถส่งกาแฟให้ได้อย่างต่อเนื่อง เขาก็จะมีปัญหา แต่ความเชื่อมั่นจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นมาเป็นลำดับ เราเห็นได้จากการที่ยอดสั่งซื้อเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ผมมองว่ากระแสอาหารอินทรีย์กำลังมา เพราะเรากำลังจะก้าวสู่สังคมสูงอายุซึ่งให้ความสำคัญกับสุขภาพ แม้แต่กับคนรุ่นใหม่เองก็ใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น คือตลาดในไทยกำลังจะโต แต่ในต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ตลาดกาแฟอินทรีย์ของเขาตอนนี้มีมูลค่าระดับพันล้านดอลลาร์สหรัฐ
Q: ความท้าทายของมีวนาคืออะไร
A: ผลผลิตที่เรารับซื้อมามีปริมาณมาก ตลาดเองก็ยังอยู่ในช่วงสร้างแบรนด์ทำให้เรากระจายผลผลิตของเกษตรกรได้ไม่มากเท่าที่ควร ยังต้องขอการสนับสนุนจากผู้บริโภคอีกเยอะ
Q: ก้าวต่อไปของมีวนา
A: ถ้าเราประสบความสำเร็จเรื่องตลาดกาแฟ เราก็จะมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มาจากการรักษาป่าเพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้ลอดทั้งปี เพราะกาแฟจะสร้างรายได้ให้ชุมชนปีละประมาณ 3 – 4 เดือน แต่เกษตรกรในป่ายังมีผลผลิตอินทรีย์อื่นๆ เช่น ชาอินทรีย์ หรือน้ำผึ้งอินทรีย์ แต่เราเองก็ยังไม่พร้อมที่จะขยายไปสู่ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นเพราะกาแฟยังเป็นภาระหนักของเราอยู่
Q: ถ้าพูดถึงธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศไทย คนมักจะจินตนาการถึงเด็กรุ่นใหม่ วัยรุ่น แต่ทำไมคุณธีรสิทธิ์ถึงเลือกใช้ชีวิตหลังเกษียนจากเก้าอี้ผู้บริหารเพื่อเริ่มต้นธุรกิจเพื่อสังคม
A: ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผมได้รับการร้องขอ (หัวเราะ) กรีนเนทเองเป็นองค์กรที่ผมมีส่วนร่วมในการก่อตั้งเมื่อ 20 ปีที่แล้ว พอผมเกษียณเขาก็ขอให้ผมเปลี่ยนตำแหน่งจากเดิมเป็นแค่อาสาสมัครมาเป็นเจ้าหน้าที่เต็มเวลา เพื่อสร้างองค์กรให้เข้มแข็งพร้อมส่งต่อให้คนรุ่นต่อไป
ส่วนตัวผมเองก็ชอบทำงานที่เกี่ยวข้องกับชุมชน ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียน เรื่อยมาจนเข้ามหาวิทยาลัย และตอนทำงานก็มาอยู่ในกลุ่มบริษัทที่ให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคม พอเกษียณออกมา ในช่วงเวลาที่ผมยังรู้สึกว่าสามารถทำประโยชน์ให้กับสังคมได้ ผมก็ยินดีที่จะทำ
อีกประการหนึ่ง ผมมองว่าสิ่งที่ผมทำอยู่เหมือนกับการเป็นปฏิบัติธรรม คือการอยู่ในพื้นที่ที่สัปปายะ ได้เดินทางไปตามป่าเขา ธรรมชาติ ได้พบความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ มันทำให้เรามีพลัง พอไปอยู่ที่นั่นเราสัมผัสได้ว่ามันสุข สงบ ให้รู้สึกว่าโลกนี้น่าอยู่มากๆ สิ่งเหล่านี้ช่วยพัฒนาด้านจิตวิญญาณของเราได้ บางพื้นที่ที่เราทำงาน จากเดิมเคยเข้าไปเจอดินแข็งๆ เจอภูเขาหัวโล้น แต่ผ่านไป 3 ปี ที่ตรงนั้นเปลี่ยนกลายไปเป็นป่า มันทำให้รู้สึกว่าสิ่งที่เราทำอยู่ตอนนี้มีคุณค่า
Q: คำแนะนำสำหรับคนที่ต้องการเริ่มทำธุรกิจเพื่อสังคม
A: ธุรกิจสตาร์ตอัพเป็นโจทย์ที่ยาก ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ธุรกิจก้าวไปได้ ต้องให้ความสำคัญกับช่วงเริ่มต้น คือต้องหาความรู้ให้เยอะ อย่างผมเอง ตอนเริ่มทำมีวนาก็อ่านหนังสือเรื่องกาแฟเยอะมาก เรียนรู้อยู่ 2 ปีจึงเริ่มทำ ช่วงต้นคือช่วงที่ได้ลองผิดลองถูกเยอะ มีปัญหาเยอะ แต่ว่าอย่าท้อแท้
ช่วง 3 – 5 ปีแรก เรื่องความเร็วอาจจะอยู่ในช่วงค่อยๆ ไป แต่หลังจากมีบทเรียนอย่างเต็มที่ มองธุรกิจได้ทะลุปรุโปร่ง มีความรู้ทั้งในตัวผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิต ถึงตอนนั้นก็จะก้าวกระโดดได้ เหมือนกับการปูฐานให้แน่นเพื่อกระโดดให้สูง บางครั้งก็อาจต้องถอยมาหนึ่งก้าว แล้วค่อยกระโดดใหม่เพื่อไปให้ไกลว่าจุดที่ยืนอยู่
Photo: ชิษณุชา ศรีเนตร, Mivana