ดินสอจากหนังสือพิมพ์เหลือใช้ ลดขยะ ลดการตัดไม้ ลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์

Reading Time: 2 minutes
8,303 Views

‘อินเดีย’ ประเทศติดอันดับเรื่องมลภาวะด้านสิ่งแวดล้อมและความสกปรกมากที่สุดอีกแห่งของโลกเนี่ยนะจะหันมาเอาดีด้านสิ่งแวดล้อมกับเขา?

แม้จะมีใครปรามาสถึงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่ดูจะเป็นไปได้ยาก รวมทั้งสถานการณ์ก็ยังอยู่ภายใต้ข้อจำกัดมากมายก็ตาม แต่เรื่องนี้รัฐบาลอินเดียได้มีการทำให้เป็นนโยบายระดับชาติกันไปแล้ว ทั้งการเตรียมพร้อมเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงพลังงานสะอาด อย่างพลังงานจากแสงอาทิตย์ได้ภายในปี 2030 การจัดสรรงบประมาณมายังฟากฝั่งของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หรือการทำโครงการ ‘นะมามิ คงคา’ ที่มีเป้าหมายให้มลพิษในแม่น้ำคงคาที่มาจากโรงงานอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร บ้านเรือนริมน้ำ และพิธีกรรม มีลดปริมาณลงและกลับมาใสสะอาดดังเดิม

นี่คือทิศทางในอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่สำหรับ ‘GoGrameen’ คือโครงการรักษ์โลกที่เกิดขึ้นจริงเรียบร้อยแล้ว ด้วยต้นคิดของ Rajesh Singh วิศวกรวัย 52 ปี จากรัฐมหาราษฏระ GoGrameen เป็นแพลทฟอร์มออนไลน์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นช่องทางในการเชื่อมผู้ใช้กับผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจากเหล่านักประดิษฐ์ นักออกแบบ และช่างฝีมือท้องถิ่นในอินเดีย

เขาตัดสินใจก่อตั้งแพลทฟอร์มที่ว่านี้ขึ้นในปี 2013 หลังจากทำงานบริษัทมายาวนานถึง 22 ปี ในเวลานั้นเขาตัดสินใจลาออกและเดินทางไปยังพื้นที่ต่างๆ ของอินเดีย จนกระทั่งได้ไปพบช่างท้องถิ่นที่ถูกบังคับให้ขายผลิตภัณฑ์ทำมือในราคาแสนถูก ซึ่งช่างฝีมือเหล่านี้มีความชำนาญหลากหลายด้าน ทั้งธูปกำยาน เครื่องประดับดินเผา ของตกแต่งบ้าน ผลิตภัณฑ์จากไม้และไม้ไผ่ “ผมได้เจอคุณ Kasam Deen เจ้าของโรงงานทำสบู่แฮนเมดเล็กๆ ที่รัฐหิมาจัล สบู่เขามีคุณภาพดีมาก แต่กลับถูกกดราคา ผมเลยซื้อสบู่ของเขากลับมาให้ทั้งครอบครัว รวมทั้งเพื่อนๆ ลองใช้ดู ซึ่งทุกคนชอบมาก คุณรู้ไหม ไม่มีใครอยากอยู่แบบลำบากในชนบทหรอก แล้วช่างฝีมือที่ผมพบก็เป็นคนสูงวัยทั้งนั้น ที่สำคัญคือลูกหลานของพวกเขาไม่มีใครอยากจะสานต่อทักษะเชิงช่างซึ่งมีคุณค่ามหาศาลเหล่านี้ เพราะเขาคิดว่าทำกำไรไม่ได้และไม่มีค่า นั่นจึงเป็นแรงผลักดันที่ทำให้ผมอยากสร้างพื้นที่กลางให้คนทั่วไปได้เห็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่มีคุณภาพจากช่างฝีมือทั่วอินเดีย” โดยมีเป้าหมายคู่ขนานคือการพัฒนาและขายผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

หนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจก็คือดินสอที่ผลิตจากหนังสือพิมพ์อัพไซเคิล 100% ดินสอดังกล่าวมีจุดเด่นคือ ไม่ใช้ไม้ในการผลิตแบบดินสอทั่วๆ ไป มีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์แบบแท่งเดียวในโลกเพราะใช้หน้าหนังสือพิมพ์แตกต่างกันไป ไม่หักง่ายเวลาเหลา ใช้กราไฟท์เกรด HB ตลอดจนปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในปริมาณต่ำระหว่างกระบวนการผลิต

และเพื่อให้คนทั่วไปรับรู้ว่ามีผลิตภัณฑ์นี้อยู่ในตลาด Rajesh จึงติดต่อไปยังกลุ่ม NGO และโรงเรียนในอินเดียเพื่อบอกเล่าถึงเส้นทางของดินสอแท่งนี้ ซึ่งก็มีโรงเรียนหลายแห่งได้รับดินสอของเขาเข้าไปใช้ในโรงเรียน “พวกเขาชอบไอเดียของดินสอแท่งนี้นะ แต่บางคนก็อยากให้ดินสอดูมีสีสันขึ้นมาอีกหน่อยและอยากให้เราเคลือบสีดินสอเพื่อให้ดึงดูดความสนใจคนใช้มากขึ้น แต่ผมก็ยืนยันว่าจะคงทุกอย่างไว้เหมือนเดิม ไม่อย่างนั้นดินสอทุกแท่งก็ต้องถูกสารเคมีเคลือบซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ GoGrameen ต้องการสื่อสารออกไป และเรื่องน่าขำก็คือ ดินสอจากกระดาษหนังสือพิมพ์นี้เป็นโปรดักท์ที่อยู่ในตลาดอินเดียมาอย่างน้อย 10 ปีได้แล้ว แล้วก็มีบริษัทที่ผลิตดินสอแบบนี้เกือบ 15 แห่ง แต่คนส่วนใหญ่ที่ผมได้คุยด้วยกลับบอกว่ารู้จักดินสอแบบนี้เพราะตอนที่ผมบอกว่ามีนั่นล่ะ ซึ่งนั่นไม่ได้เป็นประโยชน์เฉพาะกับ GoGrameen แต่รวมถึงการสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อมไปยังผู้ใช้ได้ด้วย”

มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วดินสอแท่งเล็กๆ จะสามารถทำลายสิ่งแวดล้อมได้มากขนาดนั้นเชียวหรือ? หากลองไล่ดูตัวเลขการผลิตดินสอในอินเดียแล้วคุณจะพบว่า ในปีๆ หนึ่ง ผู้ผลิตในอินเดียต้องโค่นต้นไม้กว่า 4 แสนต้น เพื่อใช้ในการผลิตดินสอ ซึ่งหากมีปริมาณการใช้ดินสอจากหนังสือพิมพ์อัพไซเคิลด้วยราคาที่ใกล้เคียงมากขึ้น ก็สามารถช่วยหยุดกระบวนการการตัดต้นไม่ได้ลงไปไม่น้อยทีเดียว โดยเป้าหมายของ GoGrameen คือการลดการตัดไม้ให้ได้จำนวน 1 แสนต้น ต่อปี

“ถ้าโมเดลของ GoGrameen เป็นไปตามเป้า ในอีกหลายสิบปีข้างหน้า เราจะสามารถอนุรักษ์ต้นไม้ไม่ให้หายจากป่าได้เป็นล้านๆ ต้น ด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ ในวันนี้ แน่นอนว่าลูกของลูกของลูกพวกเราก็จะมีอนาคตที่ดีด้วย”




อ้างอิง: www.gograameen.com


ING
ING
อดีตนักเขียนและบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะและพิลาทิส II After receiving her bachelor degree of art from the Faculty of Archaeology, Silpakorn University in Bangkok, Sudaporn worked as a contributing editor and editorial manager at art4d magazine, a Bangkok-based architecture, design and art magazine from 2004-2017. At present, Sudaporn is working as freelance writer and storyteller contributing various kinds of features from art, design, architecture, graphic, social entrepreneur and healthcare. She is also certified yoga instructor, certified Balanced Body® mat and reformer pilates instructor plus Polestar Pilates trained instructor where she establish her inner peacefulness and self-awareness through the practices and teaching.