ที่พักอาศัยได้ปรับเปลี่ยนตัวมันไปตามโจทย์แต่ละยุคสมัยตลอดมา แต่ละช่วงเวลามีโจทย์ที่เกิดจากสภาวะของสังคมแต่ละยุคไม่เหมือนกัน สิ่งเหล่านั้นผลักดันให้ที่พักอาศัยมีรูปร่างหน้าตาสะท้อนไปกับยุคสมัย สิ่งแวดล้อม สังคมในช่วงนั้น
ณ ย่านชานเมืองทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองเคียวโตะ ญี่ปุ่น ประเทศที่ได้ขึ้นชื่อพัฒนาการที่อยู่สมัยใหม่อาศัยได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนมีรูปแบบเฉพาะขึ้นมา หลายชิ้นงานมีที่มาจากการแก้ปัญหาตามโจทย์ของบ้านแต่ละหลังได้อย่างน่าสนใจ เช่นกับงานบ้านนิชิโนะยะมะ เป็นที่อยู่แบบบ้านจัดสรรร่วมสมัยที่ท้าทายกรอบเดิมที่เราคุ้นชินกับหมู่บ้าน เนื่องจากในที่ดินขนาดย่อมต้องบรรจุบ้านจำนวน 10 หลังที่มีความต้องการต่างกัน และยังสอดที่จอดรถไว้ชั้นล่างอีกด้วย
การแก้ปัญหาเริ่มจากที่สถาปนิกคะซุโยะ เซะจิมะ แห่ง Kazuyo Sejima & Associates ได้ทำการสอดแทรกทางเดินเป็นตรอกขนาดเล็กให้บ้านหลายหน่วยเชื่อมต่อกันได้แบบตรอกขนาดเล็กที่แทรกไปในเมืองโบราณในเคียวโตะเพราะมีการซอยที่ดินเป็นระบบตารางตามลำดับชั้นในสังคม ทำให้บ้านขนาดเล็กของหลายชนชั้นมีตรอกเล็กน้อยเชื่อมหากัน แต่บ้านโบราณใช้สวนในบ้านแต่ละหลังในการแก้ปัญหาที่แคบด้วยเทคนิคการยืมวิวสวนของบ้านข้างเคียงเข้ามายังภายในบ้าน ในงานบ้านนิชิโนะยะมะเช่นกัน สวนเล็กสวนน้อยถูกแทรกในยังบ้านต่างๆ สามารถลดความอึดอัดของที่ว่างเล็กน้อยด้วยต้นไม้และการดึงแสงธรรมชาติเข้ามา รูปทรงบ้านจึงออกมาเป็นหลังคาทรงหมาแหงน 21 ผืนที่เรียงรายต่อกันไป
บ้านแต่ละหลังจะมีบุคลิกเฉพาะตัวไปตามเจ้าของบ้าน บางหลังตอบโจทย์ที่เจ้าของบ้านเป็นศิลปิน บ้านจึงกลายเป็นห้องแสดงงานด้วยผนังกระจกใสเพื่อเผยกิจกรรม งานศิลปะภายใน ไปพร้อมกับดึงสวนกลางเข้ามาสร้างชีวิตชีวาให้กับภายในบ้านเช่นกัน บ้านนิชิโนะยะมะน่าสนใจที่ใช้การออกแบบเข้ามาแก้ปัญหาพื้นที่และให้แต่ละหลังช่วยกันแบ่งปันแสง สวน ให้แก่กันและกัน
แม้ว่าจะเป็นโครงการขนาดเล็ก แต่การทดลองจากงานนี้อาจจะช่วยเป็นคำตอบให้กับแนวทางการออกแบบที่อยู่อาศัยใหม่ๆ ในศตวรรษของเราก็เป็นได้
อ้างอิง: sanaa, designboom, world-architects, Xaroj-Photographic-Atelier
บันทึก
บันทึก