‘รศ.ดร. นภเรณู สัจจรักษ์ ธีระฐิติ’ Mahidol Channel สุขภาพดี ชีวิตดี สังคมดี

ย้อนหลังไปราว 6 ปี ก่อน Mahidol Channel ถือกำเนิดขึ้นจากปรัชญาของมหาวิทยาลัยมหิดลที่ต้องการเผยแพร่ความรู้ของมหาวิทยาลัยสู่สาธารณชน จวบจนปัจจุบัน ช่องสุขภาพที่นำเสนอผ่านสื่อออนไลน์ได้กลายเป็นศูนย์กลางความรู้ด้านสุขภาพที่น่าเชื่อถือมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย การพูดคุยกับ รศ.ดร. นภเรณู สัจจรักษ์ ธีระฐิติ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร ที่ดูแลในส่วนงานสื่อสารองค์กรของมหาวิทยาลัยมหิดล ในวันนี้ นอกจากจะทำให้เราเห็นถึงภาพรวมการทำงานของช่องสุขภาพดังกล่าวแล้ว บทสนทนาที่เกิดขึ้นยังทำให้เราเห็นถึงนโยบายและบทบาทของการเป็นสถาบันการศึกษาที่พยายามลดช่องว่างระหว่างความรู้เชิงลึกในสาขาวิชาต่าง ๆ กับสังคมให้แคบลง ตลอดจนกลวิธีในการประคองให้ Mahidol Channel สามารถอยู่ต่อไปเพื่อที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสื่อสารข้อมูลของมหาวิทยาลัยและสร้างประโยชน์ต่อสังคมได้อย่างแท้จริงและมีคุณภาพ

ลดช่องว่างระหว่างสถาบันอุดมศึกษากับสังคมผ่านสื่อสุขภาพในนาม Mahidol Channel

“จริง ๆ แล้วมหาวิทยาลัยมหิดลมีรายการทางสุขภาพมานานแล้ว ถ้าจำได้ก็จะมีรายการ ‘พบหมอศิริราช’ ที่จะเป็นคุณหมอศิริราชออกมาทำรายการ หรือ ‘Rama Channel’ ซึ่งเป็นช่องสุขภาพเหมือนกัน แต่เป็นช่องต่างหากที่บริหารจัดการโดย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี สำหรับ ‘Mahidol Channel’ นั้นเริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 สมัยศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน ที่ ณ เวลานั้น ท่านเป็นอธิการบดี โดยความตั้งใจสำคัญของการตั้งช่องสุขภาพนี้ขึ้นมาก็คือการลดช่องว่างระหว่างสถาบันอุดมศึกษากับสังคม ด้วยมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นผู้ผลิตองค์ความรู้ แต่เราเองก็อยากจะให้องค์ความรู้นั้นกลับคืนสู่สังคมได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ ที่ท่านอธิการบดีในสมัยต่อๆ มา ก็มีนโยบายที่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน”

8 ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับริดสีดวงทวาร

เป็นริดสีดวงทวาร ไม่ต้องไปหาหมอหรอก เดี๋ยว search หาจาก Internet ก็ได้ ทางออกง่าย ๆ ของผู้ป่วยแต่เป็นปัญหาที่หมอพบบ่อยเวลาที่ผู้ป่วยอาการหนักมาพบหมอ ติดตามได้ในรายการ พบหมอมหิดล ตอน 8 ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับริดสีดวงทวาร#MahidolChannel #พบหมอมหิดล #โรคริดสีดวงทวาร

โพสต์โดย Mahidol Channel เมื่อ วันอังคารที่ 25 กันยายน 2018

 

เปลี่ยนแพลทฟอร์ม ปรับรูปแบบ เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงผู้บริโภค

“สำหรับรายการของ Mahidol Channel มีอยู่ทั้งสิ้น 4 ช่อง ด้วยกัน โดยในสมัยแรก ตั้งแต่ปี 2556 เราทำรายการเพื่อที่จะฉายเข้าช่องปกติ แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็ค้นพบว่าลักษณะหรือว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปจากเดิมมาก ผู้บริโภคทีวีทั้งหลายไม่ได้ต้องการดูรายการสุขภาพที่ใช้เวลาครึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งชั่วโมง เพราะฉะนั้นช่องทีวีปกติจึงไม่ใช่ช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลหรือรายการของ Mahidol Channel เราจึงปรับเปลี่ยนวิธีการ แพลทฟอร์ม รวมทั้งรูปแบบของการผลิตรายการในการเผยแพร่ไปเลย ดังนั้น Mahidol Chanel จึงนำเสนอรายการที่ให้สาระแบบรวดเร็ว เปิดดูที่ไหน และตอนไหนก็ได้ โดยไม่ต้องมานั่งรอทีวี โดยเลือกนำเสนอผ่านทางสื่อออนไลน์ทั้งหมดที่เรามี”


Mahidol Channel ประกอบไปด้วย 4 ช่องหลัก จัดฉายบนแพลทฟอร์มอย่าง YouTube อันได้แก่ Mahidol Channel, Mahidol Kids, We Mahidol และ Mahidol World

“ช่องหลัก เราใช้ชื่อว่า Mahidol Channel ที่พูดเรื่องสุขภาพและเหตุการณ์ปัจจุบันในหลายๆ ประเด็น ซึ่งเน้นไปที่ผู้บริโภคโดยทั่วไปที่ต้องการหาความรู้ต่างๆ ช่อง Mahidol Kids จะเป็นรายการเพื่อเด็ก ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญของช่องนี้จะไม่ใช่เด็กอย่างเดียว แต่รวมถึงผู้ปกครองด้วย เรามีช่องที่เรียกว่า We Mahidol ซึ่งช่องนี้เราเปลี่ยนมาจากช่องเดิมที่ชื่อ Mahidol Teens และเน้นกลุ่มวัยรุ่นที่กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย ก็จะนำเสนอเรื่องราวและชีวิตความเป็นอยู่ของนักศึกษา เพื่อให้เด็กๆ มีโอกาสได้ซึมซับแนวคิดและสภาพแวดล้อมของชีวิตในมหาวิทยาลัยมหิดลว่าเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น จากช่อง Mahidol Teens ที่เราเคยผลิตรายการให้ความรู้สำหรับวัยรุ่น ก็ถูกปรับให้เป็นช่องที่ทำให้ผู้ชมรู้จักวัยรุ่นผ่านมุมมองและการใช้ชีวิตของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยมหิดล ช่องที่ 4 คือ Mahidol World เป็นช่องภาษาอังกฤษที่เน้นในเรื่องของ Cutting-edge Research ทั้งหลาย เป็นงานวิจัยที่สร้างความเปลี่ยนแปลงหรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสาขาวิชาต่างๆ เพราะฉะนั้น ช่องนี้ เราจึงมุ่งหวังที่จะให้คนต่างชาติได้รู้จัก ได้ยินชื่อมหาวิทยาลัยมหิดลมากขึ้น ว่าเราทำงานวิจัยที่เป็น Cutting-edge Technology อย่างไรในสาขาวิชาต่างๆ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าทั้ง 4 ช่อง ก็จะมีกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันออกไป แต่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่ครอบคลุมประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ รวมทั้งคนต่างชาติด้วย”


Content is a KING

“เราเชื่อในการทำคอนเทนต์ที่ดี ถูกต้อง และน่าสนใจเสมอ ซึ่งวิธีการคิดเนื้อหาของรายการใน Mahidol Channel โดยโครงสร้าง เราไม่ได้คิดกันเองหรือคิดคนเดียว แต่จะมีคณะกรรมการซึ่งมาจากหลายๆ คณะที่จะมาให้ข้อคิดเห็นต่างๆ แต่ละท่านก็จะมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง โดยในแต่ละปี เราจะมี road map เลยว่าใน 4 ช่อง นี้จะมุ่งเน้นข้อมูลประเภทไหน หลักๆ เนื่องจากเราเป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นวิทยาศาสตร์และสุขภาพ รายการเกิน 50-60% จึงเป็นรายการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ โดยจะคิดคู่กันไประหว่างรายการที่เราทำกับแคมเปญในแต่ละปีที่เราโฟกัส ซึ่งแคมเปญนั้น มีแนวทางหลักคือจะต้องสร้าง social engagement อย่างเช่นปีที่ผ่านมาก็จะโฟกัสในเรื่องผู้สูงอายุและสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นรายการที่เราผลิตก็จะไปสนับสนุนแคมเปญเหล่านี้ ส่วนรายการอื่นๆ จะเป็นไปตามแนวคิดของแต่ละช่อง จะเป็นงานที่ค่อนข้าง routine อยู่แล้ว สำหรับข้อคิดเห็นของกรรมการที่เกิดขึ้นก็จะเป็นข้อคิดเห็น เช่น ในช่วงระยะเวลานั้นควรเลือกนำเสนอเรื่องอะไรดี มีประเด็นฮอตฮิตประเภทนี้ขึ้นมา เราจะทำรายการนี้ไหม แต่โดยปกติเราจะทำรายการไล่ไปจนสุดปีอยู่แล้ว จะมีแทรกบ้าง เพราะว่าวัตถุประสงค์ของแต่ละช่องค่อนข้างจะชัดเจน

ในกระบวนการทำงานของเรา เมื่อเราคิดเนื้อหาได้เรียบร้อยแล้ว ทางทีมผู้ผลิตจะต้องลงไปที่คณะต่างๆ แล้วพูดคุยกับคณาจารย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้น เพราะฉะนั้น เราแน่ใจว่าข้อมูลที่ผลิตออกไปเป็นข้อมูลที่ผ่านการกรองของผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชานั้นๆ มาแล้ว เมื่อได้ข้อมูล ทีมผลิตก็จะนำเนื้อหามาสร้างให้เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งก่อนออกอากาศคลิปนั้นไม่ว่าจะกี่นาทีก็ตามจะต้องถูกส่งกลับไปที่ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจเช็คความถูกต้องอีกหนึ่งรอบ รวมทั้งจะมีกรรมการส่วนกลางที่เป็น committee ตรวจซ้ำอีกหนึ่งรอบ เพราะฉะนั้นจะมีการตรวจเช็คใน 2 ส่วน ทั้งเนื้อหาและการผลิตโดยทั่วไป ดังนั้น ทุกรายการเราแน่ใจในความถูกต้องของเนื้อหา รวมถึงมีความเหมาะสมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นๆ ด้วย”

อันความรู้รู้กระจ่างแต่อย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล

“เนื้อหาที่เราทำ ส่วนใหญ่มาจากงานวิจัยหรือความรู้ที่มีความเฉพาะเจาะจง เพราะฉะนั้นการทำงานในแต่ละขั้นตอนเพื่อย่อยข้อมูลจากเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายนั้นสำคัญมาก ต้องบอกอย่างนี้ เราโชคดีมาก เพราะทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ต่างทำหน้าที่และชำนาญในสิ่งที่ตัวเองทำเป็นอย่างดี นอกจากทีมผลิตเป็นทีมที่รู้จักตัวตนของมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นอย่างดี รู้ว่าวิธีการใดที่สามารถสื่อสารกับประชาชนเพื่อให้เป็นที่สนใจได้ ทราบถึงพฤติกรรมของคนดูในปัจจุบัน รวมทั้งสามารถตีความและย่อยข้อมูลเพื่อนำมาแปลงให้เข้าใจได้ง่ายแล้ว อีกหนึ่งส่วนที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันก็คือ คณาจารย์และบุคลากรของมหาวิทยาลัย ที่เมื่อถึงเวลาที่จะต้องให้สัมภาษณ์ ให้ข้อมูลหรือเข้ากล้อง ทุกท่านสามารถทำงานสอดประสานได้เป็นอย่างดีและเป็นมืออาชีพในสาขาวิชาความรู้ของตัวเอง นั่นเลยทำให้เราไม่กังวลและทำให้การเล่างานวิจัยจากยากให้เป็นง่ายและน่าสนใจได้

สิ่งสำคัญอีกอย่างคือเราใช้เกือบจะทุกสื่อสร้างสรรค์ ตั้งแต่อินโฟกราฟิก รูปภาพ ภาพเคลื่อนไหวมาใช้ ไปจนถึงพยายามให้นักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมอยู่ในการผลิตมากพอสมควร แต่ยังไม่ถึงขั้นที่จะทำได้เอง เพราะว่าที่มหาวิทยาลัยมหิดลไม่มี คณะนิเทศศาสตร์ เราเป็นมหาวิทยาลัยที่ทำสื่อทางการศึกษาโดยที่ไม่มีคณะนิเทศศาสตร์ เราดึงเอานักศึกษาทั้งปัจจุบันและศิษย์เก่า นักศึกษาทั่วไปและนักศึกษาที่เป็นไอดอลเข้ามาร่วมในรายการ ซึ่งต้องบอกว่าน้องๆ นักศึกษาทุกคนน่ารักมาก หรือแม้บางคนจะติดสัญญาต่างๆ แต่ทันทีที่ใส่ชุดนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ทุกคนก็คือนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ไม่มีใครทิ้งมหาวิทยาลัยมหิดลเลย และด้วยความที่เป็นรายการทางการศึกษา setting ต่างๆ จึงอยู่ในมหาวิทยาลัย ในห้องแล็ป ห้องเรียน พื้นที่ และ ecosystem ทั้งหมด มีคนถามมาเยอะเหมือนกันว่า Mahidol Channel รันกันไปได้อย่างไร ค่าใช้จ่ายต่างๆ ต้องบอกว่าเราแทบไม่มีการจ้างใครเลย เราใช้ทุกอย่างในมหาวิทยาลัยอย่างเต็มที่และให้เกิดประโยชน์สูงสุด เมื่อปัจจัยทั้งหมดมาผสมกันจึงทำให้เนื้อหาสาระที่เป็นงานวิจัยไม่ต้องปีนขึ้นไปฟัง แต่สามารถนำไปใช้ได้จริงและคนฟังรู้สึกว่าเข้าใจได้ง่าย”

ขวบปีที่ 6 กับการวัดผลจากสาธารณชน เพื่อดำเนินไปสู่การพัฒนาด้านคุณภาพ

“นอกจากการวัดยอดวิวซึ่งเป็นการวัดในเชิงตัวเลขแล้ว สิ่งที่เราต้องทำต่อก็คือการวัดในเชิงคุณภาพจากแพลตฟอร์มต่างๆ ที่เรามี ซึ่งตัว Qualitative Measurement หรือการวัดในเชิงของเชิงคุณภาพนั่นทำได้อย่างไร ส่วนหนึ่งที่ทำได้ตอนนี้แน่ๆ ก็คือการดูฟีตแบ็ค ไม่ว่าจะทางเฟซบุ๊ค อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ และอันหนึ่งที่เราคิดว่าสำคัญมากก็คือฟีตแบ็คที่บ่งบอกเรื่องความถูกต้องของข้อมูล ตั้งแต่การตั้งคำถาม การบอกว่าอยากจะดูรายการ ซึ่งถามว่าพอไหม ไม่พอหรอกและอาจต้องมีวิธีการในการประเมินให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นซึ่งเราพยายามทำกันอยู่ แต่คงไม่ใช่ว่าเขาชอบหรือไม่ชอบ เพราะว่ายอดวิวน่าจะเป็นตัวบอกได้อยู่แล้ว และจริงๆ แล้วเป้าหมายหลักของเราไม่ใช่การผลิตที่ต้องพึ่งโฆษณาหรือเรตติ้ง แต่คือการเป็นประโยชน์ต่อสังคมและมุ่งเสนอข้อเท็จจริงมากกว่า ที่ลึกกว่านั้นคือเราอยากรู้อิมแพคว่าผู้ชมดูรายการของเราแล้ว ผู้ชมได้ประโยชน์อย่างไร เช่น สุขภาพของเขาดีขึ้นไหม กระตุ้นให้เขาเกิดการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต วิธีรับประทาน หรือการใช้ความรู้ให้เกิดประโยชน์ต่อเขาและสังคมแวดล้อมอย่างไร ข้อมูลตรงนี้ เราได้จากฟีตแบ็คที่เขาตอบกลับมา เช่น การเขียนบอกมาทางรายการเลยว่าเขาได้ประโยชน์อะไรบ้าง การส่งคำขอบคุณ เป็นต้น เราอยากรู้ตรงนั้นมากกว่า เพราะฉะนั้นนี่จะเป็นข้อมูลในเชิงคุณภาพที่จะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพของงานที่เราทำต่อไป”

การถกเถียงที่ไม่ใช่เพื่อแตกหัก แต่คือความท้าทายที่นำไปสู่การเปิดกว้างทางความคิด

“ในส่วนของการดำเนินการ ต้องบอกว่าโชคดีมาก เพราะทุกอย่าง all set มาหมดแล้ว ต้องขอบคุณผู้ที่บุกเบิกทุกท่าน เพราะอาจารย์เข้ามาในช่วงเวลาที่ทุกอย่างตั้งไข่ได้แล้ว ดังนั้น เมื่อถามว่ามีความหนักใจหรือมีอุปสรรคอะไรไหม ในแง่ของการผลิตรายการหรือการวางทิศทางของรายการ ทุกอย่างลงตัวเกือบจะทั้งหมด และด้วยความที่เราไม่ต้องพยายามไปหาข่าวหรือคิดข้อมูล หรือคิดว่าทำประเด็นนี้ดีไหม ด้วยองค์ความรู้และงานวิจัยที่เรามีทั้งของอาจารย์และนักศึกษา การที่เรามีข้อมูลที่ดีอยู่ในมือทำให้การเลือกหยิบมาย่อยและเผยแพร่ต่อจึงทำได้ง่ายมาก”

“แต่ถ้าถามว่าความท้าทายที่เห็นได้ชัดเจนคือ ธรรมชาติของความเห็นทางวิชาการเป็นความเห็นที่สามารถเป็นข้อถกเถียงได้ตลอดเวลา ในบางครั้งผู้เชี่ยวชาญแต่ละท่านอาจมองเรื่องเดียวกันในมุมมองที่ต่างกัน นี่เป็นเรื่องที่เราบังคับไม่ได้ ดังนั้น หน้าที่ของเราคือในมุมของผู้เชี่ยวชาญที่เราฉายความเห็นนี้ออกไปสู่สาธารณชน จึงอาจทำให้มีทั้งคนถูกใจและไม่ถูกใจ มีข้อมูลที่เข้ามาแย้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในความเห็นทางวิชาการส่วนตัว หรือความคิดเห็นที่มาจากงานวิจัยของแต่ละท่าน แต่อันนี้ต้องบอกว่ามีส่วนน้อย แต่ก็มีเหมือนกันว่าบางรายการที่ผลิตออกไปก็จะมีคนให้ความคิดเห็นว่าอย่างนี้ใช่ไม่ใช่นะ ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้ว วิธีการของเรา คือการส่งประเด็นดังกล่าวจะกลับไปที่ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญมีโอกาสในการตอบในประเด็นนั้นๆ ที่สำคัญ คือการตอบกลับที่ไม่มีเรื่องของการเอาชนะ แต่เป็นไปในเชิงกัลยาณมิตร แบบละมุนละม่อม โดยปราศจากอคติ เพราะเราเองก็คิดว่าในทางวิชาการ ไม่มีอะไรถูกที่สุดร้อยเปอร์เซ็นต์ สิ่งที่ถูกในวันนี้พร้อมจะผิดในวันหน้าอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นหน้าที่ของเราก็คือเราอยากให้สิ่งที่เรานำเสนอเป็นทางเลือกให้ผู้ชมอีกทางหนึ่ง และนี่ก็เป็นสิ่งที่น่าจะนำไปสู่การเปิดรับมุมมองที่แตกต่างกันในที่สุด”

ข้อมูลเท็จ VS ข้อมูลจริง คัดกรองได้จากการเลือกรับสื่อที่ถูกต้อง

เพราะทุกวันนี้ ข้อมูลข่าวสารและช่องทางมีมากมายเหลือเกิน นี่คือเหตุผลหลักที่มหาวิทยาลัยมหิดลจึงเลือกย้ายแพลตฟอร์มมาสู่โซเชียลมีเดียที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น “เราคิดว่าช่องทางการนำเสนอน่าจะมีส่วนช่วยเรื่องนี้ได้เยอะ เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภควันนี้ ไม่ไปหาหมอ ถ้าไม่ได้ป่วยชนิดที่ว่าทำอะไรไม่ได้แล้ว พูดง่ายๆ คือถ้าเป็นคนธรรมดาแล้วต้องการหาความรู้ด้านสุขภาพ ทุกคนหาจากอินเตอร์เน็ต จากยูทูป ไม่มีใครหรอกที่เดินไปหาคุณหมอแล้วถามว่าต้องดูแลตัวเองอย่างไร เพราะฉะนั้นเราคิดว่า Mahidol Channel พยายามอุดช่องว่างตรงนี้ บางคนหาหมอก็แล้ว ยังไม่หาย ทำอย่างไรดี จะให้อยู่เฉยๆ อาจารย์ว่าทำไม่ได้หรอก เพราะเราในฐานะที่เป็นครอบครัว เราก็อยากให้คนที่บ้านหาย อย่างก่อนหน้านี้มีผู้ป่วยท่านหนึ่งเป็นโรคหัวใจ แล้วทางบ้านก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ซึ่งอาจารย์เข้าใจว่าเรื่องการปรึกษาทางแพทย์น่าจะดำเนินไปเรียบร้อยแล้ว แต่วันหนึ่งเขาไปเสิร์ชในอินเตอร์เน็ต แล้วเจอคำว่าผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ชื่อรายการ ‘ศิริราช The Life’ ที่พาไปพบคุณหมอผู้ดูแลเรื่องการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ครอบครัวนี้จึงไปติดต่อ นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ว่าการสร้างแหล่งข้อมูลที่เข้าถึงได้และถูกต้องจะช่วยได้อย่างไร เพราะฉะนั้น การใช้โซเชียลมีเดีย สามารถทำให้เราเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น ซึ่งเราไม่ได้มีเพียงสื่อเดียว แต่เราใช้ความหลากหลายของสื่อเหล่านี้ทั้งหมดในการส่งผ่านข้อมูล พยายามสร้างเนื้อหาและวิธีการนำเสนอให้เหมาะกับแต่ละรูปแบบแพลทฟอร์มและธรรมชาติของผู้ใช้สื่อเหล่านั้นให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเว็ปไซต์ ยูทูป เฟซบุ๊ค อินตาแกรม หรือทวิตเตอร์ โดยเฉลี่ยใน 1 ปี เราผลิตรายการประมาณ 400-500 ตอน อย่างเนื้อหาในยูทูปก็จะไม่เกิน 6-7 นาที เพราะคนจะไม่ดูถ้านานกว่านั้น เมื่อเป็นเฟซบุ๊ค เราก็จะตัดตามระยะเวลาที่ตัดได้ เลือกตัดเฉพาะส่วนที่เป็น crunch time ขณะที่ปีนี้ เราจะเริ่มเพิ่มเติมด้วยการใส่รายการเข้าไปใน air time ช่องทีวีปกติมากขึ้น แต่ก็ยังใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องหลักอยู่”

เพื่อนร่วมทางด้านสุขภาพและการใช้ชีวิต

“เราอยากเป็นจุดเริ่มต้น แต่เราไม่ใช่ทางสุดท้าย ซึ่งปลายทางแน่นอนกว่าการจะหายจากโรคใดๆ คือการไปพบคุณหมอ แต่ว่าในฐานะที่ท่านเป็นประชาชนที่ยังไม่ได้ป่วยหรืออยากจะดูแลสุขภาพตัวเอง เราอยากให้มองว่ารายการของ Mahidol Channel เป็นเหมือนเพื่อนร่วมทางที่พร้อมจะไปกับท่าน เราต้องการจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้การใช้ชีวิตและการดูแลสุขภาพของคนในสังคมดีขึ้น เมื่อใดที่ท่านมีความสงสัยเรื่องต่างๆ ตั้งแต่เรื่องอาหาร การออกกำลังกาย หรือเรื่องที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น โรคเกี่ยวกับหู ตา มะเร็ง ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งของในชีวิต อาจไม่ต้องรอป่วยก็ได้ ลองเข้ามาค้นหาข้อมูลที่นี่ดู”

ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของโลก

นอกเหนือไปจากการผลิตสื่อที่มีคุณภาพแล้ว อีกหนึ่งในภารกิจสำคัญของทีมงาน Mahidol Chanel คือการก้าวไปพร้อมๆ กับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทุกช่วงเวลาเพื่อให้ข้อมูลข่าวสารมีความถูกต้องและทันเหตุการณ์อยู่เสมอ

“เราจะคอยเช็คเสมอว่า ปีก่อนๆ ที่เราเคยทำข้อมูล มีมุมมองในการนำเสนออยู่ในบริบทของปัจจุบันไหม ซึ่งถ้ามีข้อมูลใหม่เกิดขึ้น เราต้องถอดรายการเก่าออกเลย คือไม่ฉายต่อ เพราะอย่างที่บอกความรู้ทางวิชาการเป็นข้อมูลที่อัพเดทอยู่เรื่อยๆ อย่างเรื่อง Trans Fat เป็นตัวอย่างที่ดี ซึ่งถามว่าเราทำมานานหรือยัง เราทำมาตั้งแต่ 2-3 ปีที่แล้ว แต่ว่าอาจจะไม่ใช่ในบริบทที่คนสนใจในตอนนี้เพราะฉะนั้นก็จะมีการอัพเดทในเชิงของข้อมูลสม่ำเสมอ ขณะที่ในบางรายการซึ่งเป็นการจับสถานการณ์ ณ ช่วงนั้นก็จะเป็นการอัพเดทข้อมูลไปในตัวอยู่แล้ว หรือหากข้อมูลที่มาใหม่ไม่ค้านกับสิ่งที่เราเคยทำ เราก็คงไม่ได้ไปลบทิ้งหรือว่าเอารายการทิ้งไป การอัพเดทก็จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ปัจจุบัน สถานการณ์ประจำวันที่เกิดขึ้น เพื่อตอบรับสถานการณ์ปัจจุบันที่คนอาจจะอยากรู้ในเรื่องบางเรื่อง”

สร้างเส้นทางการมีส่วนร่วมทางสังคมแบบ Mahidol Channel

“กิจกรรม Social Engagement มีตลอด แต่สิ่งที่เราวางแผนไว้คือการเพิ่ม social engagement เรา จากปีละ 2 แคมเปญ ให้ได้ปีละ 3-4 แคมเปญ เพราะว่าบางครั้ง การสื่อสารทางเดียวหมายถึงเราผลิตรายการ คนดูก็ดูไป อาจจะมีฟีตแบ็คกลับมาทางเฟซบุ๊คหรือช่องทางอื่นๆ แต่ว่าจริงๆ social engagement ที่เป็นกิจกรรมที่ทำให้สร้างอิมแพคและดึงดูดคนได้มากกว่า สิ่งที่เราทำคือการนำบุคลากรที่มีไปในพื้นที่เลย อย่างปีก่อนหน้านี้มีโครงการ ‘มะเร็งรู้เร็วหายได้’ ‘กินกับหมอ’ หรือโครงการ ‘เทกันเบาๆ’ ซึ่งเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องขยะ โครงการ ‘ปลูกอิ่มเพื่อน้อง’ ที่เราจะระดมทุนเพื่อนำเงินไปให้โรงเรียนต่างจังหวัด แต่ไม่ใช่ไปให้เฉยๆ เราจะทำให้เขาเข้าใจวิธีการที่จะเรียนรู้การอยู่ได้ในชุมชนของเขาเอง เช่น แทนที่เอาเงินไปให้เฉยๆ เราซื้อไก่ให้ เราซื้อข้าวให้ ข้าวที่เลี้ยงไก่ เป็นวิธีการหนึ่งในการที่เราให้ความรู้กับชุมชน เราทำ eco brick นี่เป็นวิธีการหนึ่งในการรักษาสภาพแวดล้อม กิจกรรมเหล่านี้จะเป็นซีรีส์ ปีหนึ่งเราทำไม่น้อยกว่า 2 หรือ 3 ครั้ง แต่ว่าแต่ละแคมเปญก็จะมีระยะเวลา โดยเป้าหมายหลัก คือการกระตุ้นในเรื่องการมีส่วนร่วม และอยากให้ประชาชนได้เจอคณาจารย์ ได้ปรึกษา พูดคุย ได้ทำความรู้จักจริงๆ”

ส่งต่อความรู้แทรกซึมไปทุกภูมิภาค

“สำหรับพื้นที่หรือคนที่อาจจะอยู่ไกลจากกรุงเทพฯ หน่อยที่ไม่มีช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ เราจะมองหาช่องทางอื่นๆ ทดแทน เราเข้าใจว่าไม่ใช่ทุกที่ที่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ ถ้ามีใครขอมา เราให้ฟรีหมด เช่น โรงเรียนวังไกลกังวลจะเป็นพาร์ทเนอร์หลักเลย โดยเรานำรายการที่มีอัดใส่ซีดีเพื่อกระจายไปตามโรงเรียน เพราะเราคิดว่าถ้าเราเผยแพร่ให้แก่โรงเรียน นั่นจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ เราคิดว่าสื่อที่เรามีต้องไม่อยู่กับที่”

สุขใจในบทบาทที่แตกต่าง

“ด้วยหน้าที่ของตัวอาจารย์เองตอนนี้ที่ควบ 2 บทบาททั้งการสอนและการบริหาร ซึ่งทั้งสองส่วนไม่เหมือนกันเลย โจทย์จริงๆ ที่เข้ามหาวิทยาลัยมาคือการเป็นอาจารย์ ไม่ได้คิดจะเป็นผู้บริหาร แต่เมื่อเริ่มเข้ามาตั้งแต่ปีแรกๆ จนปัจจุบัน ก็จะเป็น 2 บทบาทเสมอ ในมุมของการเป็นอาจารย์แน่นอน การเน้นคุณภาพของนักศึกษาที่ออกไปคือความรับผิดชอบของเราที่มีต่อนักศึกษา เพราะเรากำลังผลิตนักศึกษาเพื่อไปทำงานต่อ จุดจบจึงไม่ใช่แค่เขาได้รับปริญญา แต่เราต้องมั่นใจว่านักศึกษาที่ผ่านเราไปจะเป็นนักศึกษาที่ออกไปแล้วช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มได้ในสังคม ไม่ใช่ภาระ

ในส่วนการบริหาร ความรับผิดชอบหลัก คือ จะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์กับคนหมู่มากในมหาวิทยาลัย เพราะทันทีที่อยู่ในตำแหน่งบริหาร เราไม่ได้รับผิดชอบแค่ในคณะเรา และจะต้องไม่มีคำว่าคณะเรา แต่ต้องเป็น We Mahidol เอาจริงๆ ใครก็ตามที่ขึ้นมาเป็นผู้บริหารจะต้องเบลอความเป็นตัวตนตรงนั้นออกไปให้ได้ จะต้องสร้างสิ่งที่ทุกคนได้ประโยชน์ เพราะฉะนั้นคือ การทำ Mahidol Channel ไม่ต้องถามเลยว่าทำเพื่อใคร ภาพที่ตัวเองเห็นคือมหาวิทยาลัยมหิดล ไม่ได้เห็นแบบแยกส่วนว่ารายการนี้ของคณะนี้ รายการนี้ของคณะนั้น อาจารย์คิดว่าตัวเองเดินมาในทางที่มีธงที่ชัดเจนว่าการเป็นอาจารย์ที่ดีจุดมุ่งหมายนั้น คือ อะไร การเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่ดีจุดมุ่งหมายคืออะไรแล้ว (ยิ้ม)”

ทิศทางและปลายทางของ Mahidol Channel

“ในเชิงปริมาณ แน่นอนเราอยากให้สื่อที่เราออกไปเข้าถึงคนมากขึ้นไปกว่านี้ วันนี้คนอาจจะบอกว่าร้อยล้านวิวก็เยอะแล้ว แต่ร้อยกว่าล้านไม่ใช่จุดจบ เราก็ต้องไปต่อเรื่อยๆ วันนี้มีคน Subscribe 6 แสนคน แน่นอนเราก็ต้องหวังว่าคนที่จะได้เข้ามาดูสื่อของเรา เพราะเราเชื่อว่ามีประโยชน์ ความหวังในเชิงปริมาณต้องมากขึ้น สำหรับในเชิงคุณภาพ เราเชื่ออยู่แล้วว่าคุณภาพเราใช้ได้ภายใต้งบประมาณที่มีจำกัด แต่เราจะเต็มที่กับทุกบาททุกสตางค์ที่มี สิ่งหนึ่งเราต้องทำคือการสมดุลระหว่างการหารายได้กับการยืนอยู่บนความชัดเจนและอิสรภาพในการแสดงความคิดเห็น รวมทั้งการแสดงข้อเท็จจริง นี่เป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าถามว่าถ้ารายการดีและดัง จะต้องมีคนมาซื้อ ซึ่งทันทีที่เป็น tie-in โปรดักท์ต่างๆ ที่เข้ามาแล้วมาทำให้เกิดการ mislead คนดู นั่นจะไม่ใช่มิชชั่นของเราแล้ว เราต้องยึดมั่นกับประโยชน์ของประชาชน รวมถึงจุดยืนของมหาวิทยาลัยด้วย เพราะเราอยากให้ Mahidol Channel เป็นเพื่อนร่วมทางจริงๆ”




ภาพ: Zuphachai Laokunrak, www.channel.mahidol.ac.th, Facebook: Mahidol Channel, Facebook: We Mahidol
อ้างอิง:www.channel.mahidol.ac.th, Facebook: Mahidol Channel, Facebook: We Mahidol

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles