โรงเรียนอนุบาลไม้ไผ่ในอินโด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยืดหยุ่นพร้อมรับแผ่นดินไหว

เมืองตาซิกมาลายา ประเทศอินโดนีเซีย นอกจากจะเป็นที่ตั้งของภูเขาไฟกาลองกังอันยิ่งใหญ่ ที่ลาวาของมันทำให้ผืนแผ่นดินในภูมิภาคนี้อุดมไปด้วยแร่ธาตุอันส่งผลให้ที่นี่มีชื่อเสียงในเรื่องผลิตผลทางการเกษตร รวมทั้งขึ้นชื่อเรื่องไม้ไผ่และงานฝีมือจากไผ่แล้ว เมืองบนเกาะชวาตะวันตกแห่งนี้ ยังเป็นที่ตั้งของโรงเรียนอนุบาล Nur Hikmah ท่ามกลางทุ่งนาเขียวขจีที่ว่านี้ด้วย

โรงเรียนอนุบาลดังกล่าวได้สตูดิโอสถาปัตยกรรมเจ้าถิ่น Architecture Sans Frontières Indonesia (ASF-ID) รับหน้าที่ออกแบบ โดยพัฒนางานนี้ร่วมกับกรรมการบริหารโรงเรียนและชุมชน อาคารหลังนี้ก่อร่างสร้างตัวขึ้นจากการไม้ไผ่ โด้วยทีมออกแบบมองเห็นศักยภาพของไม้ไผ่ในแง่ของการเป็นไม้โครงสร้างที่จะช่วยประคองฟอร์มอาคารให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุดหากมีเหตุการณ์แผ่นดินไหว ซึ่งเป็นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในอินโดนีเซีย รวมไปถึงจุดแข็งอีกร้อยแปด ตั้งแต่เรื่องของความประหยัด อันเนื่องจากไม้ไผ่เป็นไม้ท้องถิ่นที่ขึ้นง่าย เติบโตเร็วและได้ดีในทุกสภาวะอากาศ รวมทั้งคุณสมบัติของมันที่สามารถดำรงอยู่ได้ในพื้นดินทุกประเภท เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังมีความแข็งแรง เหนียว สามารถยืดหด โค้งงอ และสปริงตัวได้อย่างดี ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่เหมาะสมในเชิงโครงสร้าง สำหรับตัวอาคารก็ถูกออกแบบให้มีความยืดหยุ่น โดยโครงสร้างไผ่นี้ได้ถูกดีไซน์ให้แยกตัวออกจากระบบพื้นเพื่อให้ง่ายต่อการต่อเติมในอนาคต

การอยู่อย่างถ่อมตนร่วมกับธรรมชาติและผืนแผ่นดิน ไม่ใช่สิ่งเดียวที่เราจะสิ่งเห็นได้จากปลูกสร้างหลังนี้ แต่โรงเรียนอนุบาล Nur Hikmah ยังมีเป้าหมายนอกเหนือไปจากเรื่องของการศึกษาและการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีต่อการเรียนรู้ให้แก่เด็กๆ แล้ว ที่นี่ยังเกิดขึ้นเพื่อปลุกพลังและกระตุ้นบรรดาคุณครูอาสาสมัคร นักเรียนทั้ง 28 ชีวิต และชุมชน ให้รัก หวงแหน และช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมอันอุดมสมบูรณ์ที่พวกเขามีอยู่ไปพร้อมๆ กันด้วย



ภาพ: Klaus Dengen, Andrea Fitrianto
อ้างอิง: www.asf.or.id

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles