One Third: เปลี่ยนพฤติกรรมการกินลดความสูญเสียของอาหารโลก

เชื่อไหมว่า หนึ่งในสามของอาหารของโลกกำลังถูกทิ้งให้สูญเปล่า ทั้งจากกระบวนการผลิตมาจนถึงการบริโภคในชีวิตประจำวันของเรา ตามรายงานการศึกษาขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations หรือ FAO) ระบุว่าเราได้สูญเสียอาหารเป็นจำนวนมากกว่าพันล้านตันในแต่ละปี ในขณะที่มีผู้หิวโหยบนโลก ราว 925 ล้านคน ช่างเป็นเหมือนตลกร้าย นี่จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินและองค์กรที่เกี่ยวข้องจับประเด็นเรื่องนี้มานำเสนอ เพื่อหาวิธีลดการสูญเสียของอาหารเหล่านั้นลง

Klaus Pichler ศิลปินภาพถ่ายชาวเวียนา ประเทศออสเตรีย เป็นผู้หนึ่งที่ทำโปรเจ็กต์อาร์ตของตนบนหัวข้อ ‘หนึ่งในสาม’ หรือ  ‘One Third’ โดยการนำเศษอาหารที่ถูกทิ้งมาสร้างเป็นอาหารจานโปรดของทุกคน แล้วถ่ายภาพให้เห็นอาหารจานต่างๆ อย่างชวนสลด ไม่ใช่ให้น่ารับประทานแต่สะท้อนถึงการบริโภคอย่างฟุ่มเฟือยของเราและปราศจากความรับผิดชอบ เพราะไม่คิดว่าจะนำมาซึ่งการสูญเสียอย่างมหาศาล และนี่เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องกระตุ้นกันเพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอย่างเร่งด่วน องค์การสหประชาชาติเองก็ร่วมนำเสนอคลิปบอกเล่าถึงสถานการณ์ความสูญเสียนี้ด้วยเช่นกันโดยอัพโหลดวิดีโอในโครงการ  Food Wastage Footprint ของมูลนิธิ Kindly ประเทศเยอรมนีแชร์ลงในยูทูป แจงรายละเอียดให้เห็นอย่างชัดเจนว่า หนึ่งในสามนั่นไม่ใช่แค่อาหาร แต่หมายถึงความสูญเสียทางเศรษฐกิจ, ทรัพยากรธรรมชาติ, น้ำ, อากาศ, พลังงาน ฯลฯ มันหมายถึงกระบวนการผลิตที่ต้องใช้หลายองค์ประกอบป้อนอาหารสู่ตลาดโลก ไม่เพียงเท่านั้นในกระบวนอุตสาหกรรมการเกษตรยังมีส่วนเร่งให้เกิดคาร์บอนในอากาศซึ่งนั่นเท่ากับทำให้ภาวะโลกร้อนขึ้นอีกด้วย

แม้จะยังมีความหวังอยู่ว่าเทคโนโลยีในอนาคตจะช่วยลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้ ก็ต้องกันมาดูพฤติกรรมการกินของเราเองด้วยว่ากินทิ้งกินขว้างกันหรือเปล่า มีวิธีอะไรบ้างที่จะไม่ทิ้งแต่สามารถนำกลับมาบริโภคได้ใหม่ คงถึงเวลาแล้วที่ต้องปลูกฝังนิสัยในการกิน เพราะไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ชีวิตเราเท่านั้น แต่มันโยงไปสู่ความสูญเสียของอาหารโลกหนึ่งในสาม

อ้างอิง : Klaus PichlerAmsterdam Taste Before You Waste

วรัญญู อุดมกาญจนานนท์

Art may not be the only way to brighten the world, but it is essential to create a beautiful life. รักงานสร้างสรรค์อิสระ...งานเขียนเป็นหนึ่งในนั้น เพราะตัวหนังสือคือความคิดที่เชื่อมโลกกับเราไว้ด้วยกัน

See all articles