OOCA ตัวช่วยย่นระยะ เชื่อมต่อคุณหมอกับผู้มีปัญหาสุขภาพทางใจให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น

Reading Time: 2 minutes
1,916 Views

หากเราลองเทียบเคียงกับโครงสร้างของพีระมิด จำนวนของผู้ป่วยจิตเวชคือส่วนยอด ขณะที่ส่วนฐานคือสัดส่วนของผู้ที่มีสุขภาพจิตดี ซึ่งแม้ว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีสัดส่วนไม่มากเมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมด แต่พวกเขาก็ไม่ควรถูกมองข้ามหรือละเลย ขณะเดียวกันในปัจจุบัน ปัจจัยต่างๆ จากสถานการณ์รอบตัว ตั้งแต่หน้าที่รับผิดชอบของผู้คนในแต่ละช่วงวัย การจัดสมดุลระหว่างชีวิตเรียนและการทำงานกับชีวิตส่วนตัว ปัญหาความสัมพันธ์ในทุกรูปแบบ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชีวิต เป็นสิ่งเร่งเร้าที่อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตในระดับต่างๆ ได้กับทั้งผู้ป่วยทางจิตเวช และคนทั่วไป ทั้งความเครียด ความวิตกกังวล ความกดดัน ซึมเศร้า หรือการฆ่าตัวตาย หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเท่าทัน ถูกต้อง และเหมาะสม

ในทางคู่ขนานนั้น สิ่งหนึ่งที่ยังคงเป็นอุปสรรคของการเข้ารับการรักษา ก็คือการที่คนบางกลุ่มยังมีทัศนคติในด้านลบกับการเข้าพบผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยเอง ตลอดจนค่านิยมของคนในสังคม หรือความยากลำบากของขั้นตอนการรักษา ค่าใช้จ่าย รวมทั้งความรู้สึกที่ไม่เป็นส่วนตัวของผู้ป่วยเอง ทั้งหมดทั้งมวลนี้ กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ ทพญ.กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ หรือหมออิ๊ก ก่อตั้งแพลตฟอร์ม OOCA (อุ๊กก้า) ขึ้นในเดือนตุลาคม ปี 2560 โดยมีเป้าหมายใหญ่คือการสร้างพื้นที่กลางให้ใครก็ตามที่รู้สึกไม่สบายใจในเรื่องราวต่างๆ ของชีวิต สามารถพูดคุยกับจิตแพทย์และนักจิตวิทยาได้สะดวก มีความเป็นส่วนตัว และรู้สึกปลอดภัย ภายใต้ราคาที่สมเหตุสมผล ได้แบบทุกที่ ทุกเวลา

www.ooca.co

แอปพลิเคชั่น OOCA ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นช่องทางในการสร้างการเชื่อมต่อ พูดคุย ให้คำปรึกษา ในรูปแบบวิดีโอคอล โดยสามารถใช้งานผ่านทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่นในอุปกรณ์สื่อสาร ซึ่งรองรับทั้งระบบ iOS และ Android ผู้ใช้สามารถเลือกวัน เวลา และผู้ให้คำปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ครอบคลุมตั้งแต่ปัญหาภายในครอบครัว ชีวิตคู่และการแต่งงาน การเลี้ยงลูก ภาวะซึมเศร้า ปัญหาเพศสัมพันธ์ เป็นต้น ขณะที่ผู้ใช้ก็ไม่จำเป็นจะต้องใส่ชื่อจริงและให้ข้อมูลเท่าที่จำเป็น ซึ่ง OOCA จะยึดมาตรฐานการปกป้องข้อมูลของคนไข้ตามหลักของ HIPAA Compliance

จากความตั้งใจในการบริการให้กับคนทั่วไปและรูปแบบองค์กร OOCA ที่บรรลุได้ตามเป้าหมายในเวลาเพียงไม่กี่เดือน หมออิ๊กได้ขยายขอบเขตการให้บริการเพื่อให้แพลตฟอร์มดังกล่าวสามารถเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น กว้างขึ้น และลึกขึ้น ด้วยการพัฒนา ‘Wall of Sharing’ หรือ โครงการกำแพงพักใจ โดยได้แรงบันดาลใจจากเรื่องราวของร้านพิซซ่าขนาดเล็กในเมืองฟิลาเดเฟียที่เปิดให้ลูกค้าสามารถบริจาคพิซซ่า 1 ชิ้น ให้แก่คนไร้บ้าน ในราคาชิ้นละ 1$ โดยทุกครั้งที่มีคนบริจาค ทางร้านก็จะให้ผู้บริจาคเขียนโพสอิทไปแปะกำแพง และถ้ามีคนไร้บ้านหรือผู้ยากไร้เข้ามาในร้าน คนคนนั้นก็สามารถหยิบโพสอิทบนกำแพงมาแลกพิซซ่าได้ฟรีทันที 1 ชิ้น ซึ่ง Wall of Sharing นี้ก็มีรูปแบบการคล้ายๆ กัน โดย OCCA จะสร้างกำแพงจำลองเพื่อเปิดโอกาสให้คนทั่วไปสามารถบริจาคเงินให้แก่นักศึกษาที่มีเรื่องทุกข์ใจสามารถเข้ารับคำปรึกษากับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาได้

ปัจจุบันนี้ OCCA มีผู้ใช้บริการกว่า 50,000 ราย และจำนวนจิตแพทย์ รวมถึงนักจิตวิทยาซึ่งมีความเชี่ยวชาญครอบคลุมหลายกลุ่มอาการคอยหมุนเวียนอยู่ในระบบกว่า 30 ชีวิต เพื่อให้สามารถรองรับการดูแลได้อย่างทั่วถึงและตรงกับปัญหาที่ผู้เข้ารับบริการต้องเผชิญ

จนถึงเวลานี้ OCCA นับเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยแก้ปัญหาสุขภาพจิตด้วยรูปแบบโรงพยาบาลเสมือน (Virtual Hospital) ที่สามารถบรรเทาความเจ็บป่วยทางจิตใจ ให้คนสามารถพูดคุยระบายความรู้สึก ด้วยการนำเอาจุดแข็งของเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อให้คนเข้าถึงการช่วยเหลือทางการแพทย์ได้ง่ายขึ้น ชาญฉลาด และวัดผลได้จริง ซึ่งนอกจากการช่วยวิเคราะห์ในสิ่งที่ผู้รับบริการแต่ละคนต้องเผชิญอยู่ รวมไปถึงการพัฒนาระบบส่งต่อไปยังโรงพยาบาลหรือคลินิกสุขภาพจิต เพื่อให้การดูแลต่อเนื่องในรายที่อาการรุนแรงหรือเรื้อรังแล้ว สำหรับผู้ที่กำลังมีความทุกข์ การมีใครสักคนรับฟังอย่างเข้าใจและใส่ใจโดยปราศจากความเป็นตัวตนของผู้ฟังไปตัดสินหรือประเมิน ก็เป็นหนึ่งในยาชั้นดีที่ทำให้พวกเขาสามารถผ่านพ้นช่วงเวลาที่หนักหนาของชีวิตไปได้อย่างอุ่นใจ มีสติ อีกทั้งยังช่วยลดและป้องกันปัญหาต่างๆ ก่อนจะลุกลามไปเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้นในอนาคต

บทความนี้สรุปเนื้อหาจากกิจกรรม Good Experience กับ ทพญ.กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ ผู้ก่อตั้ง Ooca เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2562
รายละเอียดเพิ่มเติม: www.facebook.com/events/689581134815632

www.ooca.co

 


ING

ING

อดีตนักเขียนและบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะและพิลาทิส II After receiving her bachelor degree of art from the Faculty of Archaeology, Silpakorn University in Bangkok, Sudaporn worked as a contributing editor and editorial manager at art4d magazine, a Bangkok-based architecture, design and art magazine from 2004-2017. At present, Sudaporn is working as freelance writer and storyteller contributing various kinds of features from art, design, architecture, graphic, social entrepreneur and healthcare. She is also certified yoga instructor, certified Balanced Body® mat and reformer pilates instructor plus Polestar Pilates trained instructor where she establish her inner peacefulness and self-awareness through the practices and teaching.