‘แมค & โบจัง’ สองนักออกแบบเกมจาก Opendream ‘เกม’ เปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้นได้

ท่ามกลางกลุ่มคนและกลุ่มธุรกิจที่เลือกแสวงหาผลกำไรทางธุรกิจในวันที่ ‘เทคโนโลยี’ กับ ‘มนุษย์’ เป็นสองสิ่งที่แทบจะแยกกันไม่ออก ก็ยังมีคนอีกฟากฝั่งที่มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างผลงานเพื่อ ‘ผลประโยชน์ต่อมวลชน’ มากกว่าแค่คำว่า ‘ตัวเลข’

วีระพงษ์ โอสถวิสุทธิ์ (แมค) และ วรัญญู ทองเกิด (โบจัง) จัดอยู่ในกลุ่มคนประเภทหลังที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อสาธารณะ ทั้งคู่คือนักออกแบบเกมจาก Opendream กลุ่มนักพัฒนาที่สามารถสมดุลระหว่างโลกธุรกิจกับการการสร้างงานที่มีเป้าหมายเพื่อคนและชุมชนได้อย่างพอดี วันนี้วีระพงษ์และวรัญญูจะมาเล่าให้เราฟังถึงที่มาที่ไปของการผลิตเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานถนัดอย่างการออกแบบ ‘เกม’ ผลิตผลที่ใครหลายคนอาจมองว่าไร้สาระ ทว่าเกมที่เกิดขึ้นจากฝีไม้ลายมือของพวกเขาไม่ได้มีแค่ความสนุก แต่ยังกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบพฤติกรรมและการใช้ชีวิต ตลอดจนช่วยแก้ไขปัญหาในระดับชุมชน สังคม และประเทศ แต่เกมที่ว่าจะเป็นอย่างไรนั้น ติดตามได้ในบทสัมภาษณ์ฉบับนี้

จากซ้าย: วรัญญู ทองเกิด (โบจัง) และ วีระพงษ์ โอสถวิสุทธิ์ (แมค)

ในวันที่นวัตกรรมและเทคโนโลยีสามารถเชื่อมโยงกับสังคม

ภารกิจของ Opendream คือการประสานโลกของเทคโนโลยีและสังคมให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ บทบาทสำคัญของพวกเขา คือการออกแบบเครื่องมือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น เกม โดยแพลตฟอร์มทั้งหมดที่เกิดขึ้นก็เพื่อช่วยให้ปัญหาหรืออุปสรรคที่มีอยู่ในสังคมถูกแก้ไขได้รวดเร็วขึ้น โดยจะมุ่งเน้นไปที่ 2 ประเด็นใหญ่ๆ ได้แก่ สุขภาพและการศึกษา

ผลงานที่เป็นที่รู้จักกันดีคือการพัฒนาแอพพลิเคชั่นอย่าง DoctorMe (doctor.or.th) ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างมูลนิธิหมอชาวบ้าน สํานักพิมพ์หมอชาวบ้าน สสส. และ Change Fusion เพื่อใช้เป็นคู่มือดิจิตอลในการให้ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง

“DoctorMe เป็นแอพพลิเคชั่นที่หยิบเอาเนื้อหาในเว็บไซต์หมอชาวบ้านมารวบรวมไว้ในอุปกรณ์เคลื่อนที่เพื่อให้ผู้คนสามารถพกพาไปใช้ได้เมื่อต้องการ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการดูแลตัวเองเบื้องต้นเมื่อเกิดอาการเจ็บป่วย หรือเรื่องการปฐมพยาบาลเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เพื่อให้ผู้ใช้งานมีสุขภาพที่ดีและสามารถปฏิบัติตัวได้อย่างเหมาะสม”

‘LoveNotYet: รักจัดหนัก’ รู้เรื่องเพศผ่านเกมสนุก

“อย่างที่บอก เราจะสนใจอยู่ 2 เรื่องหลักๆ คือเรื่องสุขภาพและการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธรรมชาติ ภัยพิบัติ น้ำท่วม สึนามิ และแผ่นดินไหว อย่างเกมที่เกี่ยวกับการศึกษาก็เช่น การให้ความรู้เรื่องเพศ ซึ่งจะมีเกมที่ชื่อว่า ‘รักจัดหนัก’ หรือ ‘LoveNotYet’ (opd.me/lovenotyetios) เรียกว่าเป็นเกมแรกสุดที่ Opendream ทำ โดยเกิดขึ้นคู่ขนานไปกับการเปิดตัวภาพยนตร์ชื่อเดียวกันเมื่อหลายปีก่อน”

เกมดังกล่าวเรียกได้ว่าสร้างกระแสตื่นตัวเรื่องเพศในวัยรุ่นนี้ได้ไม่น้อย โดย Opendream ออกแบบเกมนี้ขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคน โดยเฉพาะวัยรุ่นให้สามารถเรียนรู้เรื่องเพศแบบที่ไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ ซึ่งนอกจากความสนุกของเกมที่ผู้เล่นต้องแข่งกับเวลาเพื่อหาคำตอบให้เจอว่าต้องทำอะไรเพื่อให้ผ่านด่านต่างๆ แล้ว ความตั้งใจหลักของทีมงานก็คือการเพิ่มโอกาสให้ผู้เล่นสามารถเรียนรู้และเข้าใจเรื่องเพศอย่างถูกต้องและสามารถนำไปคิดถึงปัญหา ตลอดจนวิธีแก้ไขด้วยเช่นกัน


ต่อยอดการเรียนรู้เรื่องเพศจาก ‘LoveNotYet’ สู่เกม ‘Judies’

“สำหรับ Judies อาจจะเรียกได้ว่าเป็นเกมที่ต่อเนื่องมาจาก ‘LoveNotYet’ หรือ ‘รักจัดหนัก’ ซึ่งตอนทำรักจัดหนัก เราก็จะพยายามพูดหลายเรื่องเกี่ยวกับเรื่องเพศ ขณะที่ Judies เอง ช่วงที่ทำก็มีประเด็นหนึ่งซึ่งเป็นที่พูดถึงมากในสังคม ณ เวลานั้น คือเรื่องคุณแม่วัยใส เราเลยมาคุยและมีคำถามขึ้นมาหลายๆ ประเด็น จำได้ว่าตอนที่รีเสิร์ชกัน เราไปกวาดถุงยางมาหมดชั้นเลยนะ ซึ่งตอนนั้นก็สงสัยเหมือนกันว่าทำไมเราต้องอายด้วย ยิ่งพอเราค้นข้อมูล ทำรีเสิร์ชกันมากขึ้น ก็พบว่าเรื่องการป้องกันระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ยังเป็นเรื่องที่ถูกละเลย รู้สึกไม่กล้า ละอายที่จะพูดและทำอยู่”

“เพราะฉะนั้น เราอยากทำให้เรื่องที่คนในสังคม
โดยเฉพาะเด็กๆ ที่รู้สึกอายให้กลายเป็นเรื่องธรรมชาติให้ได้”

“แล้วก็อย่างที่เรารู้ ท้ายที่สุด เมื่อไม่มีการป้องกัน ปัญหาทั้งหมดก็จะตกอยู่ที่ฝ่ายหญิงที่จะเป็นคนแบกภาระทั้งหมดไว้ โจทย์นี้เราจึงอยากทำ Judies เพื่อผู้หญิง โดยมีเมสเสจสั้นๆ เลยว่า ‘ถุงยางเป็นมิตรกับเธอนะ’ อยากให้พวกเขากล้าพกถุงยาง โดยที่ไม่ต้องเขินหรือมีความรู้สึกผิด ซึ่งภาพที่นำเสนอในเกม Judies จะเป็นภาพแนวน่ารักๆ ที่เข้าถึงง่าย เริ่มจากการปรับสิ่งที่เคยไม่เป็นมิตรให้เป็นมิตร เพื่อให้เข้ากับธีมเกม”

หัวเชื้อจากสถานการณ์วิกฤตสู่การสร้างเกม

ในการออกแบบเกมของ Opendream เรียกได้ว่าพวกเขาสนใจแทบทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ ความเป็นไปในสังคม โดยจะหยิบสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาเป็นโจทย์ในการสร้างสรรค์ผลงานของพวกเขาด้วย

“ในการเลือกประเด็น ก็จะขึ้นอยู่กับช่วงเวลานั้นๆ เช่น เกมสายฟ้าตะลุยน้ำท่วม ที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2553 ซึ่งสิ่งที่เราเห็นมากกว่าน้ำท่วม คือการรับมือของคนในเมืองที่ไม่ได้เจอน้ำท่วมบ่อยๆ พอเจอปุ๊บ สิ่งที่เกิดขึ้นคือความตื่นตระหนกและไม่รู้ว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ขณะที่คนที่อยู่ชานเมือง เช่น จังหวัดอยุธยาหรือไกลออกไปหน่อยจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี ซึ่งพวกเขาสามารถรับมือได้ ทำให้เรามานั่งคุยกันว่าถ้าเราทำสื่อให้คนกลุ่มนี้มีความรู้มากขึ้น ซึ่งอาจจะไม่ได้ใช้ ณ เวลานั้น แต่น่าจะเป็นความรู้พื้นฐานที่พวกเขาสามารถนำไปใช้ได้หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินได้”

‘คอร์รัปชั่น’ ปัญหาที่แก้ไม่จบ จะลดลงได้ผ่านเกมจริงหรือ?

และหัวเชื้อที่ว่ายังรวมไปถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศไทยที่ปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นประเด็นที่ถูกพูดในสังคมไม่น้อยทีเดียว “เรื่องกระบวนการที่หนักๆ หน่อยก็จะเป็น Corrupt เพราะเรื่องนี้ค่อนข้างซับซ้อน เราเริ่มมาจากคำถามที่ว่า ‘ถ้ารู้ว่าปัญหาจะสร้างผลกระทบให้ออกมาเป็นอย่างนี้ แล้วคุณยังจะทำอีกไหม?” นี่คือคอนเซ็ปต์ เราพยายามเอาเคสคอร์รัปชั่นต์ต่างๆ ตั้งแต่เรื่องที่สเกลใหญ่มากๆ จนถึงเรื่องที่เป็นเรื่องใกล้ตัว ซึ่งเกิดและจบไปแล้วในเมืองไทย มีผลกระทบ มีคนผิดจริง ตัดสินแล้ว มาเป็นต้นเรื่อง เรานำมาย่อยและนำเสนอผ่านเกม ตอนแรก เราออกแบบเป็นเกมตี เหมือนเกมในตลาดมือถือทั่วไปในปัจจุบัน โดยจะมีตัวละครที่ยังไม่ตายไปตีกับสัตว์ประหลาดที่มาจากโลกอนาคตเพื่อหยุดยั้งการโกงให้ได้ เนื่องจากเราคิดว่าเกมน่าจะต้องสนุกก่อน เราจึงเน้นไปที่ความสนุก พยายามตามตลาด พอทำเสร็จเรียบร้อย เราก็ไปให้คนเล่นในงานต่างๆ ได้ผลลัพธ์ออกมาว่า คนเล่นเขาสนุก แต่ถ้าถามว่าได้อะไรเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นไหม กลับไม่ค่อยได้ เพราะคนไปโฟกัสกับตอนเล่นเสียมากกว่า ทีนี้เราเลยรื้อแล้วทำใหม่หมด ต้องมาทบทวนกันว่า แล้วเราจะทำอย่างไรให้เมสเสจที่เราต้องการสื่อไปถึงคนเล่นให้ได้ จนกระทั่งได้ Corrupt เวอร์ชั่นปัจจุบัน”

ในเวอร์ชั่นนี้ ทีมออกแบบสร้างสรรค์เกม Corrupt ให้เป็นเกมแนวสืบสวนสอบสวนแบบ visual novel ที่มีลักษณะเหมือนการอ่านหนังสือที่ผู้เล่นสามารถเลือกเส้นทางของตัวละครแต่ละตัวได้ โดยในแต่ละเส้นทางจะส่งผลกระทบต่อปลายเรื่องแตกต่างกันไป “เราคิดว่าปัญหาคอร์รัปชั่นในปัจจุบันไม่ได้อยู่ที่ตัวเลขที่สูงขึ้นหรือมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่คือการที่คนในสังคมเพิกเฉย แม้ว่าจะรับรู้ว่ามีการคอร์รัปชั่นเกิดขึ้น โดยไม่รู้สึกว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับตัวเองเพราะยังไม่เห็นถึงความรุนแรง สิ่งที่เราคิดหวังก็คือเราอยากให้ผู้เล่นได้เรียนรู้เรื่องคอร์รัปชั่นจากการได้รู้ผลกระทบผ่านเกมและข้อมูลที่นำมาจากคดีการทุจริตที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งถ้าเกมนี้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เราตั้งเป้าว่าเป็นเยาวชนได้ พวกเขาจะเป็นกลุ่มคนที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต”

เพราะเกมยังต้องสนุก พร้อมแฝงสาระที่ถูกต้องและตรงประเด็น

สำหรับวีระพงษ์และวรัญญูแล้ว การออกแบบเกม คือ การบาลานซ์ระหว่างเกมที่สนุกกับเมสเสจที่จะใส่เข้าไปให้พอดีกัน “ยิ่งเป็นเกมที่มีผลกระทบต่อคน รูปแบบจะเหนือจริงมากๆ ไม่ได้ อาจจะมีวิธีทำให้เหนือจริงได้ แต่เรารู้สึกว่าไม่ควรจะมีช่องว่างให้ผู้เล่นเข้าใจผิดได้ อย่างเช่น เกมที่สอนวิธีการทานยาคุม ซึ่งหากเราบอกเขาว่า ลืมกินไป 3 วันแล้ว วันต่อมาให้กิน 4 เม็ดไปเลย คือเราไม่ควรมีช่องว่างทำให้คิดว่าได้ว่าควรจะกิน 4 เม็ด แล้วหยุด หรือกิน 4 เม็ดต่อไปเรื่อยๆ แต่ควรจะให้ข้อมูลที่ชัดเจน อิงอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ซึ่งด้วยความที่อิงกับเรื่องจริง พอเขานำไปใช้แล้วใช้ผิดวิธีก็จะนำไปสู่ผลเสีย ความรับผิดชอบของเราในการออกแบบเกมจึงต้องมีมากกว่าปกติ”

ความคิดสร้างสรรรค์ เทคโนโลยี และเกม สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นได้ไหม?

“ในมุมมองและการทำงานของพวกเรา กลไกของเกมคือการให้ผู้เล่นได้เรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านฐานต่างๆ ที่เราขุดดักไว้ พอตกลงไปในหลุมก็ทำให้ผู้เล่นรู้ว่า ‘อ๋อ ต้องทำแบบนี้นะ’ แต่เราไม่ได้สอนเขาว่า ‘จงทำแบบนี้’ แต่เราวางกับดักเพื่อให้เขาพลาด ให้ผ่านอุปสรรค ได้ลองและเรียนรู้ด้วยตัวเองก่อน ซึ่งถ้าถามว่าเกมช่วยให้สังคมดีขึ้นได้ไหม เราคิดว่าเกมจะช่วยให้ผู้เล่นเห็นถึงปัญหา เมื่อเขามีโอกาสได้เรียนรู้ผ่านเกม เวลามีเหตุการณ์ใกล้เคียงกันเกิดขึ้นจริงๆ หรือกำลังจะทำสิ่งนั้น เขาอาจจะฉุกคิดขึ้นมาได้ว่าเขาเคยเห็นเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ที่คุ้นๆ ในเกมมาก่อน จะเป็นแนวความรู้ติดตัวมากกว่า เราคิดว่าทุกวันนี้ เราหลีกเลี่ยงอะไรที่เป็นเทคโนโลยีไม่ได้ ทุกอย่างรอบตัวเราเป็นอุปกรณ์ไอทีไปหมดแล้ว ซึ่งถ้าเรื่องพวกนี้แทรกอยู่รอบๆ ตัว แม้เขาจะไม่ได้เปิดใช้กันทุกคน ทุกวัน แต่ถ้าเคยได้เห็นผ่านตาบ้าง ได้เปิดคู่มือ DoctorMe แล้วรู้ว่าถ้าปวดหัวแล้วต้องทำอย่างนี้นะ ก็จะทำให้ความรู้เข้าถึงง่ายขึ้นกว่าเดิม ซึ่งการมีแอพพลิเคชั่นที่ให้ความรู้ อาจจะไม่ได้ทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นแบบปัจจุบันทันด่วน แต่ก็ทำให้ฉุกคิดได้และนำมาประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ได้ด้วย”

อุปสรรคที่เรียกว่า ‘วัฒนธรรม ความเชื่อ และความคิดแบบอนุรักษ์นิยม’

“จนถึงตอนนี้ พวกผมยังคิดว่าเป็นเรื่องเพศอยู่นะ แต่ว่าเรื่องเพศกว้างมากเลย ถ้าอยากให้สเกลเพื่อมวลชนมากกว่านี้ เป็นวงกว้างและปกติมากกว่านี้ เราก็อยากให้เรื่องเพศเหมือนกับการทานข้าว แต่สิ่งที่เราเจอคือเรื่องเพศยังคงเป็นเรื่องปิดสำหรับสังคมไทย 10 ปีก่อนถูกสอนมาอย่างไร ตอนนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้น ทั้งครูและพ่อแม่ไม่กล้าสอน ซึ่งเด็กวัยรุ่นอยู่ในวัยที่อยากรู้ อยากเห็น อยากลอง พอลองแล้วเกิดปัญหา ทีนี้ไม่รู้แล้วว่าจะไปถามใคร ที่พึ่งก็คือการโพสต์ถามตามกระทู้ คุยกับเพื่อน นั่นสะท้อนให้เห็นเลยว่าเพราะเขาไม่มีความรู้และไม่รู้จะถามใคร สิ่งเหล่านี้แหละที่จะนำไปสู่ปัญหาต่างๆ ตามมา อีกเรื่องก็น่าจะเป็นเรื่องคอร์รัปชั่น แค่รู้สึกว่ามันคือการอยู่ร่วมกัน ซึ่งในเมื่อเราไม่ชอบเวลาที่ใครเอาเปรียบ ถ้าเขาคนนั้นรู้ว่าสิ่งที่เขาทำ ทำให้เรารู้สึกไม่ดี เขาอาจจะเปลี่ยนวิธีการคิด ถ้าเกิดทุกคนรู้มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีว่าจะไม่ไปทำร้ายคนอื่นนะ ทำแบบนี้แล้วตัวเองมีความสุขนะ สังคมโดยรวมก็คงจะดีกว่านี้”

“สิ่งที่เราเจอคือเรื่องเพศยังคงเป็นเรื่องปิดสำหรับสังคมไทย 10 ปีก่อนถูกสอนมาอย่างไร
ตอนนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้น ทั้งครูและพ่อแม่ไม่กล้าสอน”

‘เกม’ แท้จริงแล้ว ‘ไร้สาระ หรือ สร้างสรรค์’?

“จริงๆ เป็นเรื่องยากนะครับที่จะเปลี่ยนความคิดคนเกี่ยวกับเกม พวกผมเองก็ไม่ได้กะจะไปเปลี่ยนอะไรหรอก แต่วงการเกมเปลี่ยนไปมากแล้วนะ ถ้าในยุคก่อน เมื่อพูดถึงเด็กติดเกม เราก็จะนึกถึงเด็กๆ ที่หายไปตั้งแต่เช้า แล้วกลับมาสองทุ่ม ขโมยสตางค์แม่ไปเล่นเกม ไปมั่วสุม ซึ่งอะไรทำนองนี้แทบจะน้อยลงมากในปัจจุบัน เพราะเกมเมอร์ส่วนใหญ่จะเป็นปัจเจกมากขึ้น ไม่ได้มาพบปะกันขนาดนั้นแล้ว พวกเขาจะออนไลน์กันไป อยู่บ้านก็เล่นได้ ซึ่งก็ยากอยู่ที่จะไปบอกผู้ใหญ่ว่าสถานการณ์เปลี่ยนไป ที่สำคัญคือไม่ใช่ทุกเกมที่เป็นอย่างนั้น เกมมักจะเป็นผู้ร้าย ตอนที่มีคดีก็จะบอกว่าเป็นเพราะเล่นเกม ซึ่งเกมก็เหมือนสิ่งอื่นๆ แหละครับ อะไรที่เยอะเกินก็ไม่ดี เช่น เตะบอล ภาพคือกีฬา การออกกำลังกาย แต่ถ้าเตะตั้งแต่เช้ายันมืดจนไม่ทำอะไรเลย ก็เป็นเรื่องที่ไม่ดีเหมือนกัน ส่วนเกมคงไม่ถึงขั้นไร้ประโยชน์ เล่นเพื่อคลายเครียดก็ได้ เล่นเพื่อความรู้ก็ได้ แต่ทุกอย่างก็ต้องอยู่ในความพอดี”

“จริงๆ เป็นเรื่องยากนะครับที่จะเปลี่ยนความคิดคนเกี่ยวกับเกม
พวกผมเองก็ไม่ได้กะจะไปเปลี่ยนอะไรหรอก แต่วงการเกมเปลี่ยนไปมากแล้วนะ”

แล้วเกมที่ดีต้องเป็นอย่างไร?

“หน้าที่ของความเป็นเกม แน่นอนว่าต้องสนุก อาจจะไม่ถึงขนาดว่า โอ้ย สนุกจัง แต่อารมณ์แบบ คิดได้อย่างไร สำหรับเกมที่ยัดเยียดสิ่งไม่ดีเข้าไป เช่น ความคิดเรื่องการฆ่าคนว่าเป็นเรื่องที่ทำได้หรือถูกต้องนะ แบบนั้นคงไม่ใช่เกมที่ดีสักเท่าไหร่ ส่วนเกมที่ดี นอกจากความสนุกแล้ว ก็คือเมื่อเล่นแล้วได้อะไรมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความรู้ ข้อคิด หรืออะไรก็แล้วแต่ นั่นคือกำไรของเกมนั้นที่จะมอบให้คนเล่น”

เมื่อความท้าทายคือการสร้างประโยชน์สูงสุดให้ผู้เล่น

ความท้ายทายสำคัญที่ทั้งคู่บอกกับเรา คือการออกแบบเกมที่ทำให้คนเล่นได้รับข้อความที่จะส่งออกไปได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด และนำเมสเสจเหล่านั้นไปทำให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเองและสังคมได้ในอนาคต “ในการทำงาน แนวทางหลักๆ ของการแก้ปัญหาคือเราต้องรู้ก่อนว่าปัญหาที่เจอคืออะไร สำหรับการออกแบบเกม เราต้องลองให้คนได้ลองเล่นก่อน ฟังฟีตแบ็ค แล้วจึงมาคุยกันว่าฟีตแบ็คที่ได้กลับแบบนี้มา เราจะทำ จะปรับอย่างไร ซึ่งอย่างที่เล่าไป ถ้าเกิดเราออกแบบเกมแล้วคนเล่นไม่ได้อะไรจากเกมนั้น ได้แค่ความสนุก สิ่งที่เราทำไม่ใช่ปล่อยออกไปสู่ตลาด แต่คือการรื้อทำใหม่หมดตั้งแต่ต้น นั่งวิเคราะห์ว่าอะไรคือจุดอ่อนของเกม โดยคนตัดสินใจก็จะไม่ใช่แค่คนๆ เดียว ทุกคนในทีมจะมีส่วนร่วมในการช่วยกันคิดว่า รับมือกับปัญหาอย่างไรดี? จะนำเสนออย่างไร? ทำแค่เป็น visual novel ไหม ให้คนเล่นเรื่อยๆ แล้วสนุกกับการดูผลลัพธ์แบบนี้”

“การที่เรามีชุดความรู้อยู่จำนวนหนึ่งและสามารถทำให้เล่นได้
ให้คนเล่นเก็ตในสิ่งที่เราบอกได้ 
นี่เป็นเรื่องท้าทาย
ซึ่งแรงจูงใจเหล่านี้แหละที่ทำให้เรายังอยากทำงานตรงนี้เพื่อเอาสิ่งที่เราสร้างไปทำประโยชน์ต่อ

“พวกผมขอเล่าโครงการอันหนึ่ง น่าจะเห็นภาพชัดกว่า โครงการนั้นชื่อว่าผ่อดีดี (PODD – Participatory Onehealth Disease Detection) หรือมีชื่อเต็มว่า โครงการนำร่องการเฝ้าระวังและควบคุมโรคระบาดสัตว์ที่ติดต่อถึงคนหรือที่กระทบรายได้ชาวบ้าน เกิดจากการศึกษาค้นคว้าและการวางแผนการเฝ้าระวังโรคที่สามารถควบคุมเหตุระบาดได้อย่างทันท่วงทีทั้งในคนและสัตว์ เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นทั้งด้านสุขภาพและรายได้ของชาวบ้าน โครงการนี้เกิดจากความร่วมมือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และชุมชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ หลังจากการทำโครงการนี้ เราเห็นได้ว่าสามารถหยุดโรคระบาดได้จริง ชาวบ้านไม่ต้องเสียหายกับการที่สัตว์ป่วย สัตว์ตาย คนก็ไม่ป่วยจากโรคติดต่อแล้ว ทำให้เรารู้สึกว่านี่คือประโยชน์จากสิ่งที่เราทำจริงๆ พวกเราไม่ได้เก่งเรื่องสาธารณสุข เราทำงานในขอบเขตที่เรารู้และถนัด แต่สามารถช่วยแก้ปัญหาในภาคส่วนอื่นของสังคมได้ เราก็รู้สึกว่า เออเจ๋งดี หรืออย่างเกม Corrupt ที่เมื่อมีการออกสู่ผู้เล่นแล้ว

แค่มีคนพิมพ์มาบอกพวกเราว่า “เกมพี่ทำให้ผมรู้สึกว่าสิ่งที่ผมทำอยู่คือการคอร์รัปชั่น”
นั่นแหละคือพลังงานที่ทำให้เราอยากทำงานของพวกเราต่อไปเรื่อยๆ แล้ว”




ภาพ: Maneenoot Boonrueng, www.opendream.co.th
อ้างอิง: www.pendream.co.th

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles