OPod Tube Housing: บ้านจากท่อคอนกรีตในพื้นที่จำกัดอย่างฮ่องกง

Reading Time: 2 minutes
2,381 Views

ฮ่องกงขึ้นชื่อเรื่องการเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยที่หนาแน่นมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และนับวันเมื่อประชากรเพิ่มขึ้น ราคาที่พักบนตึกระฟ้าทะยานสูงขึ้น ปัญหาที่ว่าก็ยิ่งจะมากเกินเยียวยา เมื่อปีที่ผ่านมา Demographia International Housing Affordability Survey ระบุว่าฮ่องกงเป็นประเทศที่มีที่อยู่อาศัยที่ประชากรสามารถจับจ่ายซื้อหรือเช่าได้ ‘น้อย’ ​ที่สุดในโลก แต่ถึงไม่ต้องอาศัยองค์กรที่ไหนมาสำรวจ ภาพที่ชาวฮ่องกงต้องอาศัยอยู่ใน ‘บ้านหลุมศพ’ ก็ติดตาคนไปทั่วโลกอยู่แล้ว

James Law จาก Cybertecture เป็นอีกหนึ่งสถาปนิกจากฮ่องกงที่เล็งเห็นปัญหานี้ เขาเริ่มทดลองออกแบบบ้านต้นแบบขนาดเล็กที่ทำจากท่อคอนกรีตขนาดความกว้าง 2.5 เมตร โดยนำมาต่อกัน จนกลายเป็นบ้านขนาด 9.29 ตารางเมตร ที่มีประตูที่สามารถไขเปิดได้ด้วยระบบบนสมาร์ทโฟน Law เรียกโปรเจ็กต์นี้ว่า OPod Tube Housing โดยเขามุ่งเป้าไปที่กลุ่มคนอายุน้อยที่ยังไม่สามารถหาเงินมาซื้อบ้านราคาแพงในฮ่องกงเป็นของตัวเองได้ แต่ที่เจ๋งกว่านั้นก็คือ OPod  TubeHousing สามารถจะนำไปวางแทรกตัวตรงช่องว่างระหว่างอาคารแต่ละอาคารได้ ซึ่งก็ทำให้เป็นการประหยัดพื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดจำเขี่ยในฮ่องกงได้อย่างดี และเพราะท่อแต่ละอันมีน้ำหนัก 20 ตัน มันจึงยังสามารถเคลื่อนย้ายได้ไม่ยากอีกด้วย

แม้ว่า OPod Tube Housing จะยังเป็นแค่ตัวต้นแบบและอยู่ในขั้นตอนการทดลอง แต่ Law ก็ออกแบบรายละเอียดการตกแต่งภายในให้เราเห็นว่ามันสามารถจะเป็นบ้านที่มีครบทุกฟังก์ชั่นการใช้งานและมีดีไซน์ที่ร่วมสมัย และในตอนนี้ เขาก็กำลังพยายามเจรจากับรัฐบาลเพื่อเริ่มกระบวนการติดตั้งตัวบ้านและทดลองให้เช่า

แน่นอนว่า Law ไม่ได้มองว่าบ้านท่อคอนกรีตของเขาจะช่วยแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในฮ่องกงได้อย่างถาวร แต่เขาก็เชื่อว่ามันจะช่วยบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้าแก่ชาวฮ่องกงที่กำลังมองหาบ้านที่พวกเขาสามารถ ‘จ่ายได้’ มาใช้อยู่ชั่วคราวไปก่อน


อ้างอิง: dezeen


Tunyaporn Hongtong
Tunyaporn Hongtong
ธันยพร หงษ์ทอง นักเขียน/นักแปล/บรรณาธิการอิสระ อดีต Arts & Feature Editor ของ Esquire (Thailand), Travel Editor/Feature Editor ของ Wallpaper* (Thailand) และ Co-Editor ของ art4d magazine ที่ผ่านมา ธันยพรยังมีผลงานวรรณกรรมตีพิมพ์ออกมา 2 เล่ม คือ 'ระหว่างทางกลับบ้าน' (ตุลาคม 2558) และ 'อาจารย์หมา' (กันยายน 2560) และเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์บอนไซ (Bonsai Books)