Ore Streams เฟอร์นิเจอร์จากขยะอิเล็กทรอนิกส์ รีไซเคิ้ลด้วยงานดีไซน์เท่ๆ

ในวันที่โลกเต็มไปด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ฟากฝั่งหนึ่ง นี่คือสัญลักษณ์ของความก้าวหน้าแห่งยุคสมัย ทว่า สิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ก็นำมาซึ่งปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) จำนวนมหาศาลเช่นกัน จนตอนนี้กลายเป็นปัญหาระดับโลก ทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา ขนาดที่ว่าหลายๆ ประเทศต้องร่างกฎหมายและนโยบายขึ้นเพื่อรองรับปัญหาดังกล่าว อย่างในอเมริกาเอง ผู้ซื้อจะต้องจ่าย Recycling Fee กันตั้งแต่หน้าเคาน์เตอร์จ่ายสตางค์ หรือในญี่ปุ่นที่ต้องเสียค่าทิ้งขยะซึ่งรวมทั้งเจ้า E-Waste ในราคาแพงหูฉี่ แล้วปริมาณ E-Waste มันมีมากขนาดไหนกัน? เอาเป็นว่าแค่ตัวเลขคร่าวๆ ต่อปีก็กว่าล้านตันเข้าไปแล้ว ซึ่งถ้าเราลองยัดขยะพิเศษเหล่านี้เข้าตู้คอนเทนเนอร์ในรถไฟ มันจะมีความยาวถึง 1 รอบโลกเลยทีเดียว แถมการรีไซเคิลก็ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะมันทั้งเยอะและอันตราย จึงต้องมีการควบคุมทุกขั้นตอนเป็นอย่างดี ที่สำคัญเลยก็คือ ณ เวลานี้ มี E-Waste เพียงแค่ 30% เท่านั้น ที่ผ่านกระบวนการเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่

นอกจากมาตรการจากภาครัฐ การสร้างความตระหนักเพื่อให้ทั้งฟากคนผลิตและผู้บริโภคเห็นถึงอันตรายและร่วมกันรับผิดชอบขยะประเภทนี้ ตลอดจนมองเห็นคุณค่าของวัตถุดิบต้นทางทั้งโลหะและสินแร่ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่าและมีราคา ได้ถูกส่งผ่านโครงการหลายรูปแบบ ล่าสุดกับ ‘Ore Streams’ จาก Formafantasma คู่หูนักดีไซเนอร์ชาวอิตาเลี่ยนอย่าง Andrea Trimarchi และ Simone Farresin ที่หยิบเอาประเด็นดังกล่าวมาพัฒนาเป็นผลงานในคอคเล็กชั่นนี้ขึ้น Ore Streams เป็นการนำขยะจากสมาร์ทดีไวซ์ทั้งหลาย ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ไปจนถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ภายในครัว และวัสดุรีไซเคิลมาแยกชิ้นส่วน ก่อนที่จะหยิบองค์ประกอบเหล่านี้กลับมารวมร่างกันอีกครั้งจนกลายเป็นงานเฟอร์นิเจอร์ออฟฟิศหน้าตาเรียบๆ คลีนๆ ที่คงความออริจินอลของวัสดุตั้งต้นแบบให้รู้กันไปเลยว่าแต่ละชิ้นทำมาจากอะไร ไม่ว่าจะเป็น Cubicle 1, 2017 และ Cubicle 2, 2017 ห้องทำงานขนาดย่อมที่มีชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ อาทิ คีย์บอร์ดประกอบอยู่ในนั้น ตู้ Cabinet, 2017 ที่มี CPU ถูกใช้เป็นช่องสำหรับเก็บของ หรือถังขยะที่ทำจากทองคำอันเป็นส่วนประกอบสำคัญในชิพและแผ่นวงจรพิมพ์ (พีซีบี) ของคอมพิวเตอร์ รวมทั้งชิ้นส่วนเตาไมโครเวฟและโทรศัพท์มือถือที่เป็นวัสดุสำหรับการออกแบบโต๊ะรูปทรงมินิมอลชื่อ Table, 2017 เป็นต้น โดยผลงานทั้งหมดนี้กำลังจัดแสดงในงาน NGV Triennial ร่วมกับอาร์ตพีซจากศิลปินและนักออกแบบอีกกว่า 100 ชีวิต ณ แกลเลอรี่ National Gallery of Victoria ในกรุงเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2017-15 เมษายน 2018 ที่จะถึงนี้

สำหรับ Formafantasma แล้ว Ore Streams คือการขยายพรมแดนของงานออกแบบที่พวกเขาไม่เพียงจะต่อลมหายใจให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ภายใต้ภาพลักษณ์และหน้าที่ใช้สอยแบบใหม่ แต่คือการสร้างความเข้าใจและสื่อสารปัญหาที่แสนจะซับซ้อนนี้อย่างเป็นรูปธรรม สร้างจิตสำนึกผ่านผลงานและสะกิดใจให้เราลองมองปัญหาอย่างเป็นระบบด้วยการคิดถึงที่มาของต้นตอ เพื่อนำไปสู่การตั้งคำถาม และแสวงหาคำตอบแบบที่พวกเขาทำ พร้อมกเนนี้ยังเป็นการส่งสารไปยังผู้มีอำนาจในอุตสาหกรรมการผลิตที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทบทวนถึงการพัฒนากระบวนการผลิตให้เอื้อต่อการนำองค์ประกอบอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ไปรีไซเคิลด้วย

อย่างที่รู้ๆ กันว่าเมื่อใดก็ตามที่มีการผลิตอุปกรณ์เหล่านี้ขึ้นใหม่ นั่นหมายถึงการใช้เงินจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการขุดสินแร่และโลหะใต้พิภพ ทั้งทองคำ เงิน โคบอท พาลาเดียม หรือแพลทตินัม เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบตั้งต้น แต่นั่นคงไม่สำคัญเท่ากับที่มันส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อมและมนุษย์อย่างเราๆ ซึ่งคงจะดีเสียกว่าหากธรรมชาติไม่ต้องถูกรบกวน แต่เราสามารถนำทรัพยากรที่มีค่าเหล่านี้ในรูปแบบ E-Waste กลับมาใช้งานใหม่ได้อีกครั้งแบบที่ Ore Streams กำลังส่งสารบอกเราทุกคนอยู่ตอนนี้

















อ้างอิง: formafantasma, ngv.vic.gov.au

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles