Overflow: ช็อปอย่างบ้าคลั่งสร้างขยะจำนวนมหาศาล โดย วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์

คำพูดสนองลัทธิบริโภคนิยม อย่าง “ของมันต้องมี” และ “ชอบก็จัด ประหยัดทำไม” ฟังเล่นๆ ก็สนุกดี แต่ถ้าเกิดเผลอไปทำตามทุกครั้ง คงไม่ดีกับทั้งตัวเองและกับโลกแน่ เพราะนอกจากกระเป๋าสตางค์จะฉีกแล้ว เสื้อผ้าข้าวของของคุณคงล้นตู้ ที่สำคัญ หากคุณต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าตามทุกเทรนด์หรือทุกซีซัน คุณก็จะกลายเป็นฟันเฟืองตัวหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อน เพราะรู้หรือไม่ว่า อุตสาหกรรมการผลิตแฟชั่นทุกวันนี้ ปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศถึง 10% ของปริมาณทั้งหมด นับเป็นปริมาณที่มากกว่าเอาอุตสาหกรรมการบินและเดินเรือมารวมกันเสียอีก!

แต่ถ้าคุณยังไม่เชื่อและนึกไม่ออกว่าพฤติกรรมการช็อปของคุณจะทำให้โลกร้อนอะไรกันได้ขนาดนั้น เราแนะนำให้ไปดูผลงานศิลปะล่าสุดของ วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินที่สร้างชื่อเสียงจากการนำขยะมาสร้างสรรค์เป็นศิลปะและผลงานออกแบบ ในครั้งนี้ วิชชุลดาได้ขอเสื้อผ้ามือสองที่ไม่สามารถนำไปใช้งานได้แล้ว จากมูลนิธิกระจกเงา นำมาสร้างสรรค์เป็นศิลปะจัดวางขนาดใหญ่ที่กินพื้นที่ทั้งหมดของโถงบันไดทั้ง 3 ชั้นของมิวเซียมสยาม

ผลงานชิ้นนี้มีชื่อว่า Overflow โดยเธอตั้งใจใช้ มวลมหาศาลของเสื้อผ้าที่กินพื้นที่ทุกอณูของขั้นบันได ราวบันได และทั้งโถงบันได ราวกับเถาวัลย์วัชพืชที่แผ่อาณาเขตไปทั่ว มาสร้างความรู้สึกของน้ำที่กำลังไหลบ่าลงมาสู่ตัวเรา เหมือนกับที่พฤติกรรมการช็อปอย่างบ้าคลั่งของเราได้สร้างขยะจำนวนมหาศาล ส่งไปบริจาคแล้วก็ใช่ว่าจะลดขยะได้ เพราะเสื้อหลายตัวก็ใช้งานไม่ได้แล้ว ต้องนำไปเผาทำลายเพียงอย่างเดียว ซึ่งขยะเสื้อผ้าเหล่านี้ก็กำลังย้อนกลับมาทำร้ายเราทุกคน

Overflow เป็นผลงานศิลปะที่รวมอยู่ในนิทรรศการ Fast Fashion ช็อปล้างโลก ที่จัดขึ้นโดยมิวเซียมสยาม โดยนอกจากผลงานชิ้นนี้แล้ว ผู้ชมก็ยังจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมแฟชั่นในปัจจุบันที่เน้นการผลิตแบบ “มาก เร็ว ถูก” ว่าส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง เช่น เสื้อยืด 1 ตัว ต้องใช้น้ำในการปลูกฝ้ายถึง 2,700 ลิตร และเสื้อผ้าที่ทำจากเส้นใยสังเคราะห์จะแตกตัวเป็นไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำทุกครั้งที่เราซัก ซึ่งไมโครพลาสติกเหล่านี้ก็จะย้อนกลับมายังมนุษย์ผ่านการบริโภคสัตว์ทะเล ผักผลไม้ที่ปลูกในดิน หรือแม้แต่น้ำดื่ม 

นอกจากนั้น เพื่อให้ผู้ชมได้รู้จักการใช้แฟชั่นได้อย่างเหมาะสม นิทรรศการ Fast Fashion ช็อปล้างโลก ก็ยังเสนอหนทางที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้เสื้อผ้าตัวเก่าซ้ำให้คุ้มค่าที่สุด การซ่อมแซมเพื่อต่ออายุเสื้อผ้า และการ upcycle นำเอาเสื้อผ้าเก่ามาปรับเปลี่ยนให้ใช้งานได้สูงสุด

ท้ายที่สุด ทางผู้จัดนิทรรศการก็หวังว่า Fast Fashion ช็อปล้างโลก และ Overflow จะทำให้ผู้ชมหันมาตรวจสอบพฤติกรรมการช็อปของตัวเองว่าเข้าข่ายล้างโลกหรือไม่ และก็คงจะดียิ่งขึ้นไปอีก หากเราจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการช็อปของเราเพื่อช่วยให้โลกมีทางรอดมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

นิทรรศการ “Fast Fashion ช็อปล้างโลก” จะจัดแสดงไปจนถึง 3 ธันวาคม 2566 ที่มิวเซียมสยาม (เปิดให้บริการ วันอังคาร-วันอาทิตย์เวลา 10.00-18.00 น.) ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าชม

ข้อมูลและรูปภาพจาก: facebook.com/museumsiamfanfacebook.com/wishulada
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก: ch3plus.com

Tags

ธันยพร ห.

อดีตคนทำงานนิตยสาร (HOW-To, Vaczine, Esquire, Wallpaper* Thailand, art4d) ในยุคสื่อสิ่งพิมพ์รุ่งเรือง ปัจจุบันเป็นนักเขียน/นักแปล/บรรณาธิการอิสระ มีผลงานทั้งบทความศิลปะ งานออกแบบ สุขภาพกาย-ใจ สิ่งแวดล้อม และวรรณกรรม

See all articles

Next Read