เวลาพูดถึง ‘สิทธิลาคลอดบุตร’ เรามักจะเข้าใจไปด้วยความเคยชินว่าเป็นสิทธิสำหรับ ‘ผู้หญิง’ เท่านั้น นั่นเพราะคำว่า ‘ลาคลอด’ มักถูกตีกรอบไว้กับร่างกายของผู้หญิง และความคาดหวังของสังคมว่าผู้หญิงเป็นผู้มีบทบาทหน้าที่เลี้ยงลูก (ผู้ชายทำงานหาเงิน) ทั้งที่ในความเป็นจริง การลาคลอดก็เป็นเรื่องของผู้ชายด้วยเช่นกัน ในฐานะ ‘สามี’ และ ‘พ่อของลูก’ แต่การเปิดโอกาสให้พ่อได้เข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้มักจะถูกมองข้ามตั้งแต่กฏหมายระดับประเทศ นโยบายบริษัท ไปจนถึงความเข้าใจของคนในสังคม
นี่จึงเป็นที่มาของคลิปวิดีโอตัวนี้ที่ผลิตโดย Nev Schulman นักแสดงและโปรดิวเซอร์ชาวอเมริกันกับภรรยาคนสวยของเขา Laura Perlongo ที่พยายามสื่อให้เห็นถึงความสำคัญของการที่ผู้ชายควรได้รับสิทธิหยุดงาน (โดยได้รับเงินชดเชยในช่วงที่ลานั้นด้วย) เพื่อมาช่วยภรรยาเลี้ยงลูกหลังคลอด ไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของแม่เพียงลำพัง และการแบ่งหน้าที่กันในครอบครัวนั้นเป็นเรื่องที่แต่ละครอบครัวควรกำหนดกันเอง โดยไม่แบ่งแยกเพศว่าผู้หญิงต้องทำหน้าที่เลี้ยงลูกฝ่ายเดียวเท่านั้น ในคลิปมีการพูดอ้างอิงถึงสถิติและงานวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ให้เห็นว่า การที่ผู้ชายได้สิทธิลางานมาช่วยเลี้ยงลูกนั้นส่งผลดีต่อทั้งรายได้ของครอบครัว รวมถึงพัฒนาการของลูกน้อยในระยะสั้นและระยะยาว
ลองค้นข้อมูลดูก็พบว่าหลายประเทศส่วนใหญ่มีนโยบายและกฏหมายที่สนับสนุนการลาคลอดกันทั้งนั้น โดยในแต่ละประเทศและแต่ละองค์กรก็มีรายละเอียดแตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่จะเป็นสิทธิลาคลอดสำหรับผู้หญิง (Maternity leave) มีบางประเทศที่มีแนวคิดล้ำหน้าขยายสิทธิครอบคลุมไปถึงผู้ชายด้วย (Paternity leave) สำหรับกฎหมายแรงงานบ้านเรา กำหนดสิทธิการลาคลอดไว้ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์มีสิทธิลาก่อนและหลังคลอดได้ไม่เกิน 90 วัน (นับรวมวันหยุดที่มีระหว่างวันลาด้วย) และนายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างที่ลาคลอดเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกิน 45 วัน
ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ คำศัพท์ที่เกี่ยวกับสิทธิการลาคลอดนั้น นอกจาก Maternity leave และ Paternity leave แล้ว ยังมีการใช้คำว่า ‘Parental leave’ ด้วย (ที่ปรากฏในคลิปนี้) ซึ่งถือเป็นคำที่ฟังแล้วเป็นกลาง ไม่ต้องระบุเพศลงไป (ครอบคลุมทั้งพ่อ แม่ หรือผู้ปกครองในสถานะอื่นๆ) หลีกเลี่ยงอคติทางเพศ และไม่จำกัดว่าการเลี้ยงลูกต้องเป็นหน้าที่ของเพศใดเพศหนึ่งโดยเฉพาะ
ทั้งนี้ทั้งนั้น การลาหยุดและการจ่ายเงินชดเชยต่างๆ ก็ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัทหรือหน่วยงานที่เราทำด้วยนะคะ ควรมีการพูดคุยวางแผนล่วงหน้ากับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ดี จงรักษาสิทธิของเราที่พึงได้รับ ขณะเดียวกันก็ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา ช่วยเหลือมีน้ำใจต่อกัน โดยไม่แบ่งแยกเพศ และไม่ผลักภาระ ทำให้คนอื่นลำบาก ไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานะหรือบทบาทไหน เป็นหลักการสร้างสรรค์ที่ใช้ได้ดีทั้งที่บ้านและที่ทำงานเลยจ้า
อ้างอิง: attn