‘ปฐมา หรุ่นรักวิทย์’ สถาปนิกชุมชน แก้ปัญหาชุมชนด้วยสถาปัตยกรรม

คำว่าสถาปนิกชุมชน แลดูเป็นวิชาชีพใหม่และมีข้อจำกัดมากมาย แต่ด้วยบทสนทนากับเธอคนนี้ ทำให้เราได้พบว่าเธอเป็นสถาปนิกที่น่าสนใจ ด้วยแนวทางการแก้ปัญหากับชุมชนที่เน้นการมีส่วนร่วมกันของ ‘คน’ จนกลายเป็นสถาปัตยกรรม

‘ปฐมา หรุ่นรักวิทย์’ สถาปนิกรางวัลศิลปินดีเด่นศิลปาธร ประจำปี 2553 สาขาสถาปัตยกรรมผู้สนใจการออกแบบด้านชุมชนคนนี้เป็นศิษย์เก่าจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จากนั้นได้ศึกษาต่อหลักสูตร M.SC. in Development Practices CENDEP, School of Architecture, Oxford Brookes University, UK. เมื่อกลับมายังเมืองไทยจึงได้เริ่มต้นงานสถาปนิกชุมชน จนกลายเป็นสำนักงานที่เรียกได้ว่าทำงานด้านชุมชนแห่งแรกของประเทศในนามว่า CASE (Community Architects for Shelter and Environment)

Q: การไปเรียนต่อที่อังกฤษทำให้เกิดจุดเปลี่ยน และทำให้เกิด CASE หรือเปล่า?

A: จะว่าเป็นผลก็ใช่ พอไปเรียนแล้วจะเห็นว่าโดยมากคนที่เรียนวิชานี้เป็นฝรั่ง เด็กประเทศโลกที่สามอย่างเราแทบไม่มีเลย นอกจากนักเรียนทุนอย่างแอฟริกาหรืออินเดีย วิชาแบบนี้ที่เมืองนอกเขาฮิตมานานแล้ว แต่เมืองไทยยังไม่ฮิต ทางนั้นเขามองอะไรมากกว่าที่เรามอง ตอนไปเรียนก็รู้สึกว่าทำไมต้องเรียนอะไรยังงี้ด้วย เราไม่ได้มองอะไรมากไปกว่ากะลาที่ครอบหัวเราอยู่เลย จำได้ว่าวันแรกที่เข้าไปเรียน อาจารย์ให้การบ้านเป็น JICA, UN, UNDP, ODA อะไรแบบนี้มาเป็นแผ่นเลย ซึ่งคือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับ Development มี 3 คอรส์หลักที่ต้องเรียน คอร์สแรกคือhousing แต่เป็น housing the poor ไม่ใช่แนวreal estate สองคือ refugee study ซึ่งต้องเรียนกับOxford University และสามที่รู้สึกว่าโหดคือ emergency planning การออกแบบวางผังในภาวะฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็นภัยสงครามหรือธรรมชาติ เหมือนกรณีมีสึนามิ มีสงคราม ซึ่งเมืองไทยไม่มีสอน จนบัดนี้ก็ยังไม่มี

จริงๆ แล้วประเทศโลกที่สามน่าจะไปเรียน เพราะคนเหล่านี้จะไปอยู่ในองค์กรต่างๆ ซึ่งจะไม่รู้เนื้องานในประเทศอย่างพวกเรา แต่จริงๆ มันก็มีการเมืองทั้งหมดแหละ สมมติว่าจะสมัครงาน UN ก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณสัญชาติอะไร ไม่ใช่ว่าสมัครแล้วได้เลย คนสัญชาตินี้ให้สมัครที่นี่ สัญชาติโน้นให้สมัครที่นั่น มันก็จะส่งผลกับตำแหน่งของเราว่าเป็นพนักงานระดับไหน หรือกรณีการให้เงินช่วยเหลือก็จะมีเงื่อนไขว่าต้องจ้าง expert จากประเทศเหล่านี้เป็นที่ปรึกษา แล้วค่าจ้างก็แพงมาก เช่น มีการตัดถนนในปากีสถาน พวก expert เหล่านี้จะรู้จักปากีสถานเท่าคนปากีสถานได้ยังไง

Q: ความรู้ที่ได้จาก Brookes เลยกลายเป็น CASE ทุกวันนี้

A: พอเรียนจบกลับมามันงานเป็นแรกๆ เลยที่เราได้ลงมือทำงานสถาปัตย์ในชุมชนจริงๆ แต่พอทำแล้วมันใช่ ในระหว่างที่เราเรียนทฤษฎีมันมีอะไรมากมาย ซึ่งเรามีคำถามอยู่ในใจเยอะมากว่าทำไม พอลงมาทำงานมันก็เริ่มตอบคำถามสิ่งที่เราข้องใจได้ด้วยตัวของมันเอง ประกอบกับสมัยนั้นไม่มีใครทำงานชุมชน กลายเป็นว่าพอเสร็จงานนั้น คนนี้ก็เรียกต่อมันก็เลยยาวมาเรื่อยๆ ซึ่งในช่วงแรกเราไม่มีเงินทุนเลย จำได้ว่าคนที่มาทำงานด้วยคนแรกคือบรร(บรรพต วาสุกรี) รุ่นแรกเป็นสถาปนิกกันหมด แต่ก็อยู่นานนะรุ่นนั้น เขาได้เงินเดือนแค่ 5,000 บาทเอง ประมาณสิบกว่าปีก่อน ซึ่งมันโหดมากนะ จริงๆ ควรจะได้หมื่นกว่าตามฐานเงินเดือนสถาปนิก สมัยนี้ก็หมื่นกว่านิดๆ ตอนนั้นก็ไม่ได้จ้างแบบเต็มเวลา และยังไม่มีออฟฟิศ CASE เลย อาศัยว่านั่งทำงานตามโรงรถ ห้องกินข้าว เพิ่งจะมีออฟฟิซเมื่อไม่กี่ปีมานี่เอง

Q: แล้ว CASE ทุกวันนี้คืออะไร?

A: จริงๆ แล้วชื่อนี้มาทีหลัง ตอนแรกชาวบ้านก็เรียกเราไม่ถูกนะ เรียกเราว่าวิศวกรบ้าง ช่างบ้าง ครูบ้าง เลยคิดได้ว่าเรียกเราว่าอะสักอย่างได้มั้ย ก็เลยเป็น CASE สถาปนิกชุมชน ซึ่งมันเป็นแค่ชื่อนะ ด้วยตอนแรกคนที่ทำงานด้านชุมชนยังมีน้อย ไม่ค่อยมีใครทำด้วยซ้ำ หลังๆ มาเขามีทางเลือกเยอะ เขาก็ไม่จ้างเราเพราะเราเรื่องเยอะเหลือเกิน เพราะก่อนเราจะทำ เราต้องทำฟีสก่อน (Feasibility Studies-การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ) พอเข้าไปเขาบอกว่าชาวบ้านพร้อมละ แต่ชาวบ้านไม่รู้เรื่องอะไรเลย เราลงไปทำงานในฐานะสถาปนิกไม่ได้ แต่กลับต้องลงไปทำในฐานะ social worker เช็คไอ้นั่น ตอบไอ้นี่ เป็น activist ซึ่งไม่ใช่หน้าที่เรา เราก็เลยบอกว่าถ้าจะให้เราทำ ต้องให้เราทำฟีสก่อน 1-3 เดือน เพื่อจะได้รู้ว่าจะทำโปรเจ็กต์อะไรต่อไป ซึ่งพอเป็นอย่างนี้ก็เริ่มมีคนไม่เอาละ เขาบอกมันช้า เราก็ไม่เห็นด้วย ก็เลยหยุด พอเราหยุดปุ๊บเราก็ไม่มีรายได้ใดๆ หรือมีก็ใช่ว่าจะเยอะแยะ

ที่เราทำๆ อยู่ไม่ใช่ว่าจะเป็นงานที่เราไปขอความสนับสนุนโดยตรง เพราะว่าเราไม่รู้โจทย์ วิธีการทำงานของเราก็คือต้องลงไปก่อน กว่าจะรู้โจทย์ก็ไม่รู้ว่าต้องลงไปเท่าไรละ พอจะไปขอเงิน ก็บอกไม่ได้ว่ามันคืออะไร พออยู่อย่างนี้มันก็ไม่ไหว เลยจดเป็นบริษัทละกัน แล้วก็รับงานออกแบบทั่วไปด้วย จะได้เอาเงินส่วนนี้มาเลี้ยงออฟฟิศ ตอนหลังถึงกับฝืดจัดจนถึงกับว่าไม่มีเลย โชคดีว่ามีคนสนใจจะทำงานกับเราเยอะ เราเลยรับนักศึกษาฝึกงานซึ่งถือว่าได้ให้ความรู้กับเด็กด้วย โดยเฉพาะความรู้เรื่องชุมชน เนื่องด้วยไม่มีคอร์สจริงจังในประเทศเรา ชุมชนก็ได้อะไรจากเราด้วย

หลังจากนั้นก็เริ่มมี CSR เข้ามา ซึ่งเราเปิดรับหมดนะ ปีที่แล้วก็มี TMB ที่สนับสนุนเด็กฝึกงาน หรือก่อนหน้านั้นมีรายการเจาะใจมาถ่าย อย่างปีนี้ก็มี สศร. (สำนักศิลปะวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม) มาสนับสนุน แต่งานที่ทำอยู่ก็เป็นเรื่องที่อยู่อาศัย  ตอนที่พี่ทำ TEN (Ten House) มันก็เกิดจากว่าทำไมคนชั้นกลางไม่ใช้สถาปนิก ตอนนี้มีแต่คนรวยกับคนจน คนจนก็ใช้แบบงงๆ ด้วย จริงๆ แล้วคนจนก็ควรจะจ้าง ไม่ใช่ผ่านองค์กรซึ่งอาจถูกครอบงำความคิดหรือเบี่ยงเบนประเด็นได้ ถ้าจะให้ดีที่สุดคนจนควรจะจ้างเอง แต่คนจนจ้างไหวมั้ย? พี่ว่าจ้างไหวเพราะคนจนเขามาเป็นชุมชน ถ้านับประชากรแล้วคูณ 5 บาท เราได้ค่าจ้างสบายๆ พี่มองตรงนี้มากกว่า อย่างตอนนี้ก็มีบางชุมชนติดต่อเรามา แล้วเขาเป็นคนจัดการเอง ซึ่งมันควรจะเป็นอย่างนั้นส่วนคนรวยไม่ต้องพูดถึง นั่นจ้างอยู่แล้ว แต่ที่พี่มองคือคนชั้นกลางอย่างบ้าน TEN จริงๆ สถาปัตยกรรมมันแก้ปัญหาได้เราเรียนมานะ บ้านถูกๆ ก็ทำได้นะ แต่จะรับได้รึเปล่า ตอนนี้พี่มองว่าถ้าคนชั้นกลางมีปัญหาเหมือนกัน ทำไมเราไม่ใช้สถาปัตยกรรมเป็นตัวแก้ปัญหาเหมือนกับชุมชน ทั้งพูดคุย หาข้อมูล จนเปลี่ยนความคิด แต่คนชั้นกลางเข้าใจได้มากกว่า การศึกษาดีกว่า ก็น่าจะทำได้ดีกว่า เลยทำบ้าน TEN ขึ้นมาเป็นทางออกหนึ่ง ไม่ได้ไปแข่งกับตลาดบ้านแต่เพื่อจะบอกว่าทางออกไม่ได้มีแค่หนึ่งนะ จ้างสถาปนิกสิ หลังจากนั้นมันก็ต่อยอด เพราะพี่ทำโดยส่วนใหญ่จะเป็นที่อยู่อาศัยราคาไม่แพง เหมาะสมกับราคา

ล่าสุดมีตลาดที่อ่างศิลาติดต่อเข้ามาแล้วเขาน่ารักนะ เขาถามเลยว่าคิดเงินเท่าไร ซึ่งเราดีใจ ไม่ใช่ดีใจที่ได้งานนะ แต่ดีใจที่เดี๋ยวนี้ชุมชนโทรมาหาเราเอง หรือกรณีฉุกเฉินอย่างดินถล่ม สึนามิ พี่ที่รู้จักโทรมาให้ลงไปช่วยก็มี

Q: การทำงานเป็นสถาปนิกชุมชนมีส่วนยากอะไรตรงไหนบ้าง?

A: มันก็ยากนะถ้าเราทำงานให้องค์กร บางทีโดนชี้หน้าเลยว่า ตกลงแกคือใครกันแน่ มาทำอะไรจริงๆ แล้ว CASE เนี่ย องค์กร NGO ไม่ชอบนะ แต่ถ้าชาวบ้านทำด้วย ชาวบ้านจะชอบ ที่ NGO ไม่ชอบเพราะเราไม่ได้สุดโต่งขนาดนั้น เรามองทุกอย่างตรงกลาง เรามองว่าคนจน คนชั้นกลาง หรือเศรษฐี ทุกคนล้วนมีหน้าที่ของเขา คนทั้งเมืองต้องมีความหลากหลาย เขาอาจจะไม่เห็นอย่างเรา หรืออาจจะเห็นอยู่แต่ไม่ยอมรับ เขามองว่าคนชั้นล่างนี่แหละที่ต้องได้รับ ซึ่งพี่ว่ามันไม่แฟร์ ถ้าทุกคนได้รับข้อมูลข่าวสารที่เท่ากัน เราก็จะมองไปในทิศทางเดียวกัน อย่างน้อยน่าจะวิเคราะห์ในประเด็นเดียวกันได้ แต่ที่เขาทำพี่ว่าเขาเน้นจุดใดจุดหนึ่งมากเกินไป มันจะทำให้เสียสมดุล ถามว่าทำให้ชาวบ้านแข็งมั้ย ก็แข็งในเชิงที่เคารพในสิทธิ์ของตน แต่ไม่เคารพสิทธิ์คนอื่น ซึ่งมันทำให้แย่ ประกอบกับคนชั้นสูงซึ่งไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารนี้อยู่แล้วทำให้ไม่เข้าใจ จึงทำให้เละกันเข้าไปใหญ่ ซึ่งมันควรจะมีความสมดุล คนชั้นบนต้องเข้าใจว่าถ้าไม่มีคนชั้นนี้พวกเธอก็ไม่มีคนทำงานนะ คนทุกกลุ่มในสังคมก็ต้องรู้ว่าตัวเองมีหน้าที่อะไร เคารพซึ่งกันและกัน

Q: วิชาชีพสถาปนิกชุมชนเป็นของใหม่ หาองค์ความรู้จากไหนมาจัดการงานตรงนี้?

A: การมีส่วนร่วมของคน การช่วยแจงปัญหาเพื่อกำหนดทิศทางของตนเป็นสิ่งที่ดีที่สุด คือเราเริ่มทำงานจากความขาดแคลน งานแรกที่ทำเป็นผังชุมชน ภาพถ่ายทางอากาศก็ไม่มี แผนที่ก็ไม่มี อยู่ต่างจังหวัด แถมเป็นคนชายขอบอีก เลยหาวิธีให้นักศึกษาฝึกงานมาช่วยกันทำ ปรากฏว่ามันได้มากกว่าแผนที่ละ รู้แล้วละว่าแต่ละจุดคืออะไร เช่น บางหลังเห็นเป็นหลังคาก็นึกว่าเป็นบ้าน แต่ไม่ใช่ มันเป็นเล้าเป็ด อันไหนนึกว่าเป็นส้วมก็กลายเป็นบ้าน พอใช้วิธีนี้กลายเป็นว่ามันตอบโจทย์ได้หมด เพราะลุยเข้าไปเลย ในขณะที่นักศึกษาลงมาทำงานกับเราก็ได้รู้ไปด้วย ชาวบ้านก็รู้ไปด้วย มันจึงตอบคำถามทฤษฎีที่เราเรียนมาว่าทำไมถึงต้องมีสถาปนิกชุมชน บอกไม่ได้ว่าทำไมหรอก มันไม่มีตัวหนังสือ แต่มันมีประโยชน์ ตอนที่เราทำงานมีสถาปนิกแค่สองคนเอง บ้าน 90 กว่าหลัง แล้วไม่ได้อยู่กัน 2 มิตินะ มีเลื้อยไปตามตลิ่ง แล้วแผนที่ที่ได้มันชัด มันเริ่มกระตุ้นให้เขามาดู มาช่วยทำอะไรกัน พอเริ่มทำปัญหาก็เริ่มปรากฏออกมา แล้วก็เกิดคำถามว่าจะแก้กันยังไง ซึ่งไม่ใช่แค่ปัญหาจากแผนที่ที่ปรากฏเท่านั้น มันยังมีความซับซ้อนเชิงสังคม เชิงวัฒนธรรมในแผนที่นั้นด้วย ซึ่งหนังสือมันสอนเราไม่ได้

ในทฤษฎีทั้งหมด เรามองว่าสถาปัตยกรรมที่เราทำ เราเจอปัญหา จนออกโปรแกรม จนกระทั่งออกแบบ ทุกขั้นตอนล้วนดึงเอาคนเข้ามาในฐานะต่างๆ ซึ่งทำให้ได้ข้อมูลมากพอที่จะสร้างโปรแกรม มันได้มากกว่าที่เราจะทำให้ด้วยซ้ำ เพราะมันเป็นคำตอบของการแก้ปัญหาต่างๆ ก่อนหน้านั้นที่ชัดเจน 100 เปอร์เซ็นต์ พอเสร็จตรงนั้นปุ๊บกลายเป็นว่าแผนผังชุมชนนั้นสถาปนิกไม่ต้องพูดเลย แต่สมาชิกจากทั้ง 92 หลังเรียกใครก็ได้ให้มาอธิบายแผนที่นี้ ทุกคนอธิบายได้หมด ซึ่งอันนี้พี่ว่าเจ๋ง ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งในหมู่บ้านนะ แต่ทุกคนในหมู่บ้านอธิบายได้หมด อันนั้นถึงจะดีที่สุด

Q: ใช้เวลาทำงานด้วยนานแค่ไหนต่อหนึ่งชุมชน?

A: เป็นเดือนนะ อย่าง 92 หลังที่ว่านี่โชคดีที่ลูกบ้านได้ทำงานกับ NGO อื่นมาก่อนแล้ว ฉะนั้นเขาจะเข้าใจว่าตัวเองมีปัญหาอะไร พอเราเข้าไปเขาสามารถเข้าใจได้เลยว่าเราจะทำผังปรับปรุงชุมชนเขา ซึ่งงานนี้ใช้เวลาแค่ 1-2 เดือนเท่านั้น แต่ถ้าประเภทที่เราทำอยู่อย่าง Kids on the Ground ที่ตลาดเก่ามีนบุรี ซึ่งทำมา 5-6 ปีแล้ว เพราะว่าชุมชนนี้ไม่มีใครลงไปทำงานกับเขาเลย เขาก็อยู่ไปเรื่อยๆ กว่าจะไปปรับ ไปคุย ไปกระตุ้นว่ามาทำงานกับเราเหอะ ก็ใช้เวลาเป็นปีแล้วนี่ขนาด 3-4 ปีแล้วก็ยังไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์เลย

Q: การย้ายสลัมออก แล้วจัดระเบียบให้ขึ้นไปอยู่แนวดิ่ง มันจะเวิร์คมั้ย?

A: ถ้ามีโครงการกวาดสลัมพี่ว่าเวิร์ค เวิร์คในที่นี้หมายถึงชาวบ้านได้ตื่นตัว นึกถึงบางโปรเจ็กต์สิ เขาจะไล่เราแล้วนะ อยู่มาตั้ง 40 ปี พูดกันตั้งนานกว่าจะเข้าใจ กับอีกโปรเจ็กต์หนึ่งมาปักป้ายเลยว่าจะไล่ออกวันนี้ ชาวบ้านรวมตัวกันเลย เหมือนกรณีป้อมมหากาฬ พี่ทำงานก่อนที่เขาจะมาไล่เป็น 10 ปี ตอนที่เหตุการณ์ป้อมมหากาฬรุนแรง เพราะเขาจะให้ออกจริงๆ แล้ว เท่านั้นแหละรวมตัวกันเป็นเรื่องเป็นราว พี่มอง 2 แง่เท่านั้น คือถ้าไล่ก็ดี ใช้การไล่ที่เป็นเครื่องมือให้รวมตัวกัน เหมือนตัวเร่งปฏิกิริยาให้สุกงอมเร็วๆ เพราะไม่อย่างนั้นก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่พอมีอะไรเกิดขึ้นเขาก็จะเริ่มคิด มันเป็นโอกาสที่ดี ถ้าจะต้องเอาขึ้นตึกจริงๆ ก็ต้องมาคุยกันว่าจะทำยังไง ไม่งั้นก็จะเหมือนซอยไผ่สิงโตที่ตลาดปีนัง ที่ไม่มีครัว สุดท้ายก็ต้องมาปรับที่จอดรถเป็นครัว ซึ่งในความเป็นจริงเขาทำครัวไม่ได้ เขาก็ต้องมาทำหน้าห้องเพราะเขามีคนแก่ มีเด็กที่ต้องดูแล ซึ่งมันไม่เวิร์ค ถ้าใช้ตรงนี้เป็นเครื่องมือกระตุ้นให้เกิดการออกแบบที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมขึ้นมาจริงๆ มันก็จะมีประโยชน์

Q: งานที่ CASE ออกแบบอยู่ จะสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้หรือไม่?

A: พี่ว่าสังคมมันเปลี่ยนอยู่แล้ว ไม่ใช่แค่เรื่องออกแบบ ทุกอย่างมีส่วนให้สังคมเปลี่ยน บางอย่างอาจจะเป็นตัวเร่งให้เปลี่ยนเร็วขึ้น ดีขึ้น หรือเลวลง แต่ถามว่าไม่ต้องไปแตะอะไรมัน มันก็เปลี่ยน ยังไงมันก็มีพัฒนาการ เพียงแต่อาจจะช้ากว่าหรือช้ามาก ถ้าตอนนี้ไม่มีใครพูดถึงเรื่องโลกร้อน ถามว่ามันเปลี่ยนมั้ย มันก็เปลี่ยน ในที่สุดมันก็ต้องเปลี่ยน การออกแบบสถาปัตยกรรมก็มีส่วนเหมือนกัน ถ้าเป็นการออกแบบที่ปฏิวัติการใช้สอยไปเลย อันนี้เปลี่ยนชัดไปเลย กับอีกประเภทหนึ่งก็คือก็ทำไปเรื่อยๆ เปลี่ยนบ้างไม่เปลี่ยนบ้าง ไม่ใช่แค่เฉพาะการออกแบบที่ทำให้โลกเปลี่ยน แค่สองประเทศยักษ์ใหญ่ตีกันก็ทำให้สังคมเปลี่ยนแล้ว ทุกอย่างมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกทั้งนั้น จะมากหรือน้อย ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจเท่านั้นเอง

Q: มองเทรนด์การออกแบบในอนาคตเป็นอย่างไรบ้าง?

A: พี่ว่ามันบวกไปกับ commercial และ commercial ก็บวกไปกับการเมือง ทุกอย่างมันมีที่มาที่ไป ณ ตอนนี้มันไม่มีอะไรซึ่งสะอาด พี่รู้สึกว่าทุกอย่างเชื่อมโยงกันหมด มันสามารถทำอันนี้เพื่อให้เกิดอันนั้น สามารถทำให้ตรงนั้นเกิดเพื่อกระทบกับตรงนี้ สามารถสร้างไอ้นี่เพื่อให้กระตุ้นตลาดดีไซน์ มันสามารถสร้างงานดีไซน์ให้กระตุ้นตรงนี้ได้เหมือนกัน

โครงการบ้านมั่นคง จ. ปัตตานี ปี 2005 – ชุมชนนาเกลือ : ผังชุมชน 

โครงการบ้านมั่นคง จ. ปัตตานี ปี 2005 – ชุมชนปูโป๊ะ : ผังชุมชน

โครงการบ้านมั่นคง จ.สงขลา ปี 2003 – ชุมชนเก้าเส้ง 

ข้อมูลเพิ่มเติม: www.casestudio.info

บันทึก

บันทึก

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles