‘PATCH’ เฟอร์นิเจอร์แนวคิดใหม่ สร้างพลังงานให้บ้านได้

“ถ้าเฟอร์นิเจอร์ในบ้านสามารถสร้างพลังงานไฟฟ้าในตัวมันเองได้…มันจะดีไหมนะ?
เราชื่นชมคำถามเพ้อฝันสไตล์ “What if…” เช่นนี้ของดีไซเนอร์เสมอ เพราะมันมักจะนำมาซึ่งผลงานการออกแบบและนวัตกรรมอันเป็นประโยชน์กับชีวิตมนุษย์ได้อย่างเหลือเชื่อ

ล่าสุดกับคอลเล็กชั่นเฟอร์นิเจอร์แนวคิดใหม่ของสตูดิโอออกแบบ UM Project กรุงนิวยอร์ค ที่ชวนให้วงการออกแบบร่วมกันค้นหาคำตอบใหม่ๆ ว่าเครื่องเรือนในบ้านนั้น นอกจากจะทำหน้าที่สนองการใช้งานตามวิถีชีวิตปกติของพวกเราแล้ว มันอาจจะจะมีฟังก์ชั่นเพิ่มเติมอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ในมุมที่เราคาดไม่ถึงอีกก็ได้ เช่นการเป็นวงจรไฟฟ้าขนาดเล็กที่ให้พลังงานกับสิ่งต่างๆ ภายในบ้านโดยไม่ต้องการพื้นที่ติดตั้งเพิ่มเติม ทั้งพลังงานแสง พลังงานเสียง หรือพลังกล ฯลฯ

โจทย์ข้อหนึ่งที่ดีไซเนอร์ François Chambard ของ UM Project นำมาคิดวิเคราะห์เพื่อตั้งสมมติฐานข้างต้นคือ ทุกวันนี้พลังงานทางเลือกต่างๆ เช่นพลังงานจากแสงอาทิตย์ กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นในครัวเรือนทั่วโลก ซึ่งแน่นอนว่าระบบการทำงานและการกักเก็บพลังงานของมันย่อมต้องกินพื้นที่ใช้สอยบางส่วนในบ้านไปด้วย ซึ่งถ้าเราเป็นเศรษฐีมีบ้านหลังใหญ่ก็คงไม่ใช่ปัญหาอะไรนัก แต่สำหรับบ้านหลังกะทัดรัดของคนชั้นกลางทั่วไป (ที่จำเป็นจะต้องใช้พื้นที่ทุกตารางฟุตกันอย่างคุ้มค่า) ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ณ ปัจจุบันนี้ก็สร้างปัญหาเรื่องพื้นที่ใช้สอยอยู่พอสมควรเหมือนกัน

จากโจทย์ดังกล่าว Chambard และทีมจึงลองออกแบบเฟอร์นิเจอร์แบบโมดูลขึ้นมาซีรีย์หนึ่ง ที่มีระบบกักเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ในตัวและสามารถแจกจ่ายพลังงานนั้นเพื่อหมุนเวียนใช้ในชุดเฟอร์นิเจอร์เดียวกันได้ UM Project เปิดตัว ‘PATCH’ ครั้งแรกที่ Salone del Mobile 2018 (งานมิลานแฟร์) โดยทั้งซีรีย์ประกอบไปด้วย ‘ม้านั่งเอาท์ดอร์’ (ที่มีแผงโซล่าร์ในตัวและสร้างพลังงานไฟฟ้าได้) เชื่อมต่อกับ ‘ตู้เก็บของ 3 ชิ้น 3 สไตล์’ ที่ติดตั้งชุดวงจรไฟฟ้าพร้อมแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน และมีตัวเซ็นเซอร์จับการเคลื่อนไหวเพื่อเปิดปิดไฟได้อัตโนมัติ

พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ พลังงานไฟฟ้าที่ม้านั่งเอาท์ดอร์นอกบ้านสร้างขึ้นจะส่งผ่านเข้าสู่ภายในตัวบ้านผ่านทางเฟอร์นิเจอร์ชิ้นอื่นๆ ที่เชื่อมต่อถึงกัน คล้ายกับว่าเฟอร์นิเจอร์ชุดนี้ได้แปลงร่างบ้านหลังเล็กๆ หลังหนึ่งให้กลายเป็นโครงข่ายไฟฟ้าขนาดย่อมนั่นเอง

UM Project กล่าวว่าระบบไฟฟ้าที่ PATCH ผลิตขึ้นได้นี้น่าจะเพียงพอต่อการใช้งานในอพาร์ทเมนท์ขนาดเล็กๆ ได้อย่างสบาย แต่มีข้อแม้คือแผงโซล่าร์ที่ม้านั่งเอ๊าท์ดอร์นั้นจะต้องได้รับแดดระหว่างวันอย่างน้อย 8 ชั่วโมง เพื่อจะเก็บสะสมพลังงานและหมุนเวียนใช้ได้พอดีๆ ในอีก 24 ชั่วโมงต่อมา

จะว่าไปแล้วผลงานดีไซน์อีกหลายชิ้นของ UM Project ก็มีแนวคิดการสร้างสรรค์ที่คล้ายคลึงกัน นั่นก็คือการมองหาโซลูชั่นแปลกๆ สนุกๆ จากการใช้เทคโนโลยีและเทคนิกวิศวกรรม มาผสมผสานในงานออกแบบด้านไลฟ์สไตล์ที่มีบุคลิกอ่อนโยน โดยมีเป้าหมายเพื่อจะยกระดับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของมนุษย์ให้ชาญฉลาดขึ้น และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นไปพร้อมกัน

“คุณไม่จำเป็นต้องแลกสุนทรียะทางสายตาเพื่อจะได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของบ้านที่ใช้พลังงานได้อย่างฉลาดและยั่งยืน”

นับเป็นการสร้างดุลยภาพระหว่างโลกงานของคราฟท์ (เช่นเฟอร์นิเจอร์) และโลกของการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สอดประสานกันได้อย่างน่าสนใจทีเดียว

อ้างอิง umproject.com

Visa Sortrakul

บรรณาธิการ tcdcconnect.com และนักเขียนอิสระ สร้างแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมเมือง งานสร้างสรรค์ท้องถิ่น และการเดินทางกลับสู่ธรรมชาติ ปัจจุบันหลงใหลการประยุกต์อารยธรรมโบราณและองค์ความรู้ชาวบ้านสู่งานสร้างสรรค์ใหม่ๆ

See all articles