Pip ของเล่นจากโลกอนาคต ฝึกให้เด็กเขียนโปรแกรมผ่านการเล่นเกม

การหันมาปลูกฝังให้เด็กๆ รู้จักกับ Coding หรือภาษาโปรแกรมมิ่งตั้งแต่ยังเล็กกำลังเป็นเทรนด์ที่มาแรงในแวดวงการศึกษาของหลายประเทศ (รวมถึงประเทศไทย) ด้วยความที่เทคโนโลยีมีแต่จะเติบโตชนิดก้าวกระโดดอยู่ทุกวัน การสร้างบุคลากรที่มีทักษะด้านนี้เพื่อรองรับตลาดในโลกอนาคตจึงเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้เลย

ที่จริงแล้ว การจับคู่เด็กๆ กับเทคโนโลยีก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร โดยทั่วไปเรามักจะเห็นเด็กๆ เล่นเกมคอมพิวเตอร์ เล่นสมาร์ทโฟน หรืออยู่กับเทคโนโลยีในชีวิตประจำวันกันจนเคยชินอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ยังเป็นเรื่องใหม่ก็คือ การให้เด็กได้สัมผัสกับเทคโนโลยีในมุมของ ‘การเป็นผู้สร้างสรรค์’ ไม่ใช่เป็นแค่ผู้ใช้หรือ user ที่รอรับการป้อนเทคโนโลยีใส่มือต่างหาก

Pip คือเครื่องเล่นเกมขนาดพกพาที่ไม่ธรรมดา เพราะสามารถสอนการเขียนภาษาโปรแกรมมิ่งพื้นฐานผ่านการเล่นเกมและการสร้างเกมด้วยตัวเอง โดยมีภาษาหลากหลายให้เลือก ไม่ว่าจะเป็น  Javascript, Python, Lua, PHP หรือ HTML/CSS

ฟังดูยากเชียว (แม้แต่ผู้ใหญ่ก็ว่ายาก) แต่วิธีสอนให้เขียน coding ของเครื่องเล่น Pip คือเริ่มจากให้เล่นเกมจนคุ้นเคยกับอุปกรณ์และการใช้ปุ่มออกคำสั่งต่างๆ เสียก่อน จากเกมที่มีในเครื่อง ซึ่งเป็นเกมยอดนิยมที่คนรู้จักดี ตัวอย่างเช่น เกมงู เกมแพ็คแมน เกม Minecraft (หรือจะดาวน์โหลดเกมและแอพอื่นๆ เพิ่มเติมก็ได้) พอคุ้นเคยแล้ว ต่อไปก็คือการทำตามคำแนะนำแบบทีละขั้นในการเขียน coding สร้างเกมหรือแอพขึ้นมาใหม่ โดยมีหลายระดับความยากง่ายให้เลือก พูดง่ายๆ ว่าเป็นการเรียนรู้ผ่านการเล่นนั่นเอง ทั้งสนุกและได้วิชาเขียนโปรแกรมติดตัว

นอกจากนี้ ทีมผู้ผลิต Curious Chip ยังใจกว้างเปิดโอกาสให้เครื่อง Pip นี้สามารถปรับใช้งานร่วมกับข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ ทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟท์แวร์ และสารพัดสิ่ง เพื่อนำเทคโนโลยีมาใช้กับชีวิตประจำวันได้จริง เช่น ทำเครื่องตรวจจับความชื้นของพืช ทำนาฬิกาปลุกเฉพาะตัว หรือเปลี่ยนของเล่นธรรมดาให้กลายเป็นหุ่นยนต์ขึ้นมา

ถึงแม้กลุ่มเป้าหมายของ Pip จะเป็นเด็กๆ แต่ผู้ใหญ่ที่สนใจทั่วไปก็สามารถเข้ามาเล่นและเรียนรู้ได้เหมือนกัน เพราะเป้าหมายสูงสุดของ Pip คือกระตุ้นให้ทุกคนเกิดการเรียนรู้เทคโนโลยีแบบเชิงลึก โดยไม่คิดว่าเป็นเรื่องยากน่ากลัว ต้องปีนกำแพงสูงๆเพื่อทำความเข้าใจมันเท่านั้น

เพราะสุดท้ายแล้วมนุษย์ควรจะเป็นฝ่ายควบคุมเทคโนโลยี ไม่ใช่รอให้เทคโนโลยีมาควบคุมเรา 🙂

 

 

อ้างอิง: Curious Chip

Tags

วนัทยา มงคล

อดีตกองบก.นิตยสาร GM Plus และ DDT ปัจจุบันเป็นนักเขียนและนักแปลอิสระ ชื่นชมงานศิลปะ ดนตรี และความคิดสร้างสรรค์ทุกชนิดที่มีประโยชน์ต่อโลก

See all articles

Next Read