Plastic Bag: การเดินทางของถุงพลาสติกผู้เป็นอมตะ

ถุงพลาสติกน้อยผู้เดียวดายไร้จุดหมายใบหนึ่ง ลอยละล่องผ่านดินแดนรกร้างพลางนึกฉงนว่า สิ่งมีชีวิตประหลาดตนใดกันหนอเคยอาศัยอยู่ในที่แห่งนั้น เพราะอะไรบ้านเมืองที่มันท่องผ่านจึงช่างอัปลักษณ์หนักหนา มันออกเดินทางตามลำพังเพื่อตามหาใครสักคนที่ให้กำเนิดมันขึ้นมา ผู้หญิงคนที่พามันกลับมาบ้านแล้วละเลยทอดทิ้งมันในที่สุด ระหว่างทางมันพานพบผู้คนแปลกหน้ามากมาย ได้สัมผัสผืนฟ้ากว้างใหญ่แสนเสรี รับรู้ความโศกเศร้าของชีวิตตนเองที่ไม่มีวันจบสิ้น และได้แต่ครุ่นคิดสงสัยว่า ด้วยจุดประสงค์ใดกันนะมันจึงต้องเป็นอมตะ และต้องดำรงอยู่บนโลกใบนี้?

การทำหนังวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อมและมุ่งหวังโน้มน้าวให้ผู้คนลดละเลิกใช้ถุงพลาสติกนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่ที่ยากคือจะทำอย่างไรให้มันไม่กลายเป็นแค่ ‘หนังรณรงค์’ ซึ่งนำเสนอข้อมูลอย่างแข็งทื่อ ยากกว่านั้นคือจะทำให้อย่างไรให้เรื่องราวประเภทนี้มีชีวิตจิตใจ สามารถทำงานกับผู้คนในฐานะภาพยนตร์ดีๆ เรื่องหนึ่งได้? เจนนี เจนกินส์ ผู้ให้คำปรึกษาเรื่องความยั่งยืนแก่องค์กรและธุรกิจต่างๆ ในสหรัฐอเมริกาก็ตั้งคำถามแบบนั้น แล้วพบคำตอบหลังจากส่งไอเดียว่าด้วย ‘การเดินทางของถุงพลาสติกใบหนึ่ง’ ไปให้ รามิน บาห์รานี เพื่อนของเธอซึ่งเป็นผู้กำกับหนังอินดี้ (เจ้าของผลงานโด่งดังระดับรางวัลอย่าง Man Push Cart, Chop Shop, Goodbye Solo) และเขาเป็นผู้เปลี่ยนไอเดียนั่นให้กลายมาเป็นหนังสั้นชื่อ ‘Plastic Bag’ เรื่องนี้

ถุงพลาสติกของบาห์รานีมีชีวิตขึ้นมาต่อหน้าเรา ทั้งด้วยการ ‘กำกับ’ ของเขาที่จับเอาความรู้สึกเบาหวิวลอยละล่องไร้จุดหมายปลายทางของมันได้อย่างน่ารัก, สกอร์ประกอบฝีมือ Kjartan Sveinsson แห่งวง Sigur Rós ที่ประสบความสำเร็จมากในการขับเน้นอารมณ์ภายในของตัวละคร, โลเคชั่นที่ถูกใช้เป็นฉากหลังของหนัง ซึ่งหลายแห่งสื่อนัยถึงสภาพเสื่อมโทรมจากน้ำมือมนุษย์ได้อย่างน่าเศร้า โดยเฉพาะย่านอุตสาหกรรมเก่าร้างริมน้ำในนิวยอร์กซิตี้ (ที่ครั้งหนึ่งนานมาแล้วเคยเป็นแหล่งอาหารทะเลกับผลไม้) และแพขยะใหญ่แปซิฟิก (Great Pacific Garbage Patch) ที่ซึ่งเจ้าถุงพลาสติกได้พบเหล่าวงศาคณาญาติของมันผู้ถูกทอดทิ้งจำนวนมหาศาลในที่สุด

เหนืออื่นใด องค์ประกอบที่ทำให้หนังสั้นเรื่องนี้โดดเด่นเป็นที่กล่าวขวัญก็คือ เสียงบรรยายของ แวร์เนอร์ แฮร์โซ้ก ผู้กำกับชั้นครูชาวเยอรมันที่เป็นที่รู้กันดีในหมู่แฟนๆ ว่าเป็นเจ้าของเสียงอันแสนมีเอกลักษณ์ (ทั้งสำเนียงและวิธีเปล่งเสียงของเขาให้ทั้งอารมณ์ขันและความรู้สึกที่เหมือนระเบิดออกจากก้นบึ้งของจิตใจ หนังทุกเรื่องของแฮร์โซ้กที่เขาให้เสียงบรรยายเองจะทำให้เราทั้งขบขันในท่าทีเสียดสีและทั้งตื่นตระหนกได้เสมอๆ)

ส่วนผสมที่คละเคล้าเข้ากันเหล่านี้ทำให้ Plastic Bag ไม่ได้กลายเป็นแค่หนังรณรงค์สิ่งแวดล้อมทั่วไป แต่เป็นดังที่ตัวบาห์รานีบอกไว้เองว่า “หนังพูดเรื่องความยั่งยืน เรื่องพลาสติก เรื่องโลก แต่จริงๆ แล้วมันยังเป็นมากกว่านั้นอีกครับ มันพูดถึงการเดินทาง – ทั้งของตัวละครถุงพลาสติก และของมนุษย์ทุกคน”

หมายเหตุ: Plastic Bag เป็น 1 ใน 11 หนังสั้นของ Futurestates โปรเจ็กต์ออนไลน์ของ Independent Television Service หรือ ITVS ซึ่งนำเสนอหนังสั้นภายใต้คำถามที่ว่า ประเทศสหรัฐอเมริกาจะเป็นอย่างไรในอีก 25 หรือ 50 ปีข้างหน้าหากพิจารณาจากสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน โดยจุดที่น่าสนใจ (และแอบน่าตกใจ) ก็คือ Plastic Bag ทำมาตั้งแต่ปี 2009 หรือ 9 ปีที่แล้ว แต่ยังกลับดูทันสมัยมากๆ ทั้งในแง่วิธีการและประเด็น!

 

Thida Plitpholkarnpim

อดีตบรรณาธิการนิตยสาร BIOSCOPE และผู้ก่อตั้ง-ดำเนินการ Documentary Club กลุ่มเผยแพร่จัดฉายหนังสารคดีจากทั่วโลก

See all articles