Plaza KIT คงคุณค่าอาคารเก่าเชื่อมโยงชีวิตใหม่ให้ผู้คนและอาคารในเมืองเกียวโต

สถาปัตยกรรมเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกหนีเงื่อนไขด้านเวลาได้ มันสามารถรับใช้สังคมในช่วงเวลาที่ถูกออกแบบตามเงื่อนไขของเวลานั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป จากประโยชน์ใช้สอยเดิมก็ต้องถึงเวลาที่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับยุคสมัย หากมองว่าสถาปัตยกรรมคือสังขาร สังขารนั้นล้วนปรุงแต่งไปตามกาลเวลา

การปรุงสถาปัตยกรรมเก่าให้เข้ากับการใช้สอยใหม่นั้นคือการผ่าตัดชนิดหนึ่ง หรือที่เรามักจะเจอคำว่า renovation นั้นเอง การปรุงนี้มีข้อคิดสำคัญคือการลงทุนสร้างอาคารใหม่นั้นใช้งบประมาณสูงกว่าปรับปรุง ตัวอาคารมีความแข็งแรงพอที่จะรองรับการใช้สอยใหม่ การปรับปรุงนี้จะได้พื้นที่ใช้สอยใหม่ที่ราคาไม่สูง ลดการทำลายทรัพยากร แต่เป็นการจัดสรรสิ่งเก่าให้มีความเหมาะสมตามทรัพยากร อย่างเช่นงาน Plaza KIT ที่ตั้งอยู่หน้า Kyoto Institute of Technology หรือ KIT ในเมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ออกแบบโดย Akira KAKUDA แห่ง Atelier K สถาปนิก และอาจารย์สอนสาขาสถาปัตยกรรมที่ KIT ด้วยเช่นกัน โจทย์งานนี้เริ่มจากที่มีอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กที่มีสภาพเก่าใช้เก็บของ มันทรุดโทรมตามเวลาจนดูไม่เหมาะสมกับที่ตั้งอยู่หน้ามหาวิทยาลัย ทางเลือกที่เหมาะสมกับงบประมาณที่ไม่สูงคือการปรับปรุงอาคารเก่าให้กลายเป็นพื้นที่พบปะพูดคุยกันของนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัย และยังสามารถเป็นพื้นที่อเนกประสงค์รองรับกิจกรรมต่างๆ ทั้งประชุม นำเสนองานได้

สถาปนิกใช้วิธีเข้าไปศัลยกรรมอาคารคอนกรีตเดิมด้วยการทุบผนัง วางผังใหม่ให้มีแปลนที่โปร่งโล่ง เป็นพื้นที่โล่งเพื่อรองรับกิจกรรมใหม่ที่เกิดขึ้น จัดตำแหน่งทางเข้าให้สามารถเข้าจากภายในและนอกมหาวิทยาลัยได้ พร้อมกับเติมผนังคอนกรีตเปลือยใหม่เข้าไปในตำแหน่งทางเข้าหลัก ทำให้เกิดจุดทางเข้าออกใหม่สำหรับการเดิน และเนื่องจากอาคารนี้ตั้งอยู่จุดระหว่างภายในมหาวิทยาลัยกับถนนด้านหน้า การใช้สอยภายในอาจถูกรบกวนได้ ทำให้พื้นที่ภายในต้องการทั้งการเปิดและปิดไปพร้อมกัน ด้านที่เปิดคือด้านถนนที่ออกแบบให้เป็นผนังกระจกยาวขนานไปกับถนน พร้อมกับมีแผงผนังโลหะเจาะรูคั่นด้านบน ช่วยให้สามารถรับแสงจากทิศตะวันออกที่แสงอาทิตย์เข้ามาช่วงเช้าในเวลาที่ไม่ร้อนมาก ส่วนผนังด้านทิศตะวันตกออกแบบให้เป็นแผงผนังโลหะเจาะรูพับจีบยาวตลอด ช่วยลดแสงที่นำความร้อนมาด้วยจากทิศตะวันตก และยังทำให้ช่วงบ่ายมีแสงที่นุ่มนวล พร้อมกับทำให้ตัวอาคารนี้ทำหน้าที่เป็นกำแพงใหม่กับมหาวิทยาลัย แต่เป็นกำแพงที่สามารถเชื่อมโยงกับภายนอกได้แบบกึ่งทึบกึ่งโปร่ง กำแพงโลหะที่พับจีบนี้ทำให้เกิดลูกเล่นของเงาจากแสงอาทิตย์ในเวลาต่างๆ ด้วยเช่นกัน

การนำของเก่ามาปัดฝุ่นปรับปรุงให้มีชีวิตในบริบทปัจจุบัน ช่วยให้ลดการใช้ทรัพยากรจากโลกได้อีกวิธีหนึ่ง อยู่ที่เราจะเข้าใจคุณค่าของความเก่าที่จะมีชีวิตใหม่หรือไม่เท่านั้นเอง

      

อ้างอิง: atelierk.life.coocan.jp

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles