Pop-Up Dinner สุดชิคในซานฟรานฯ ที่ทั้งเชฟและแขกร่วมโต๊ะของคุณ…คือคนไร้บ้าน!

‘ป๊อปอัพดินเนอร์’ คือคอนเซ็ปท์เก๋ๆ ที่เชฟทั่วโลกนิยมจัดขึ้นเพื่อเรียกแขกมา ‘ลองของ’ หรือเพื่อสัมผัสประสบการณ์แปลกใหม่บางอย่าง ซึ่งค่ำคืนแห่งการสังสรรค์สุดพิเศษที่เราจะเล่าถึงนี้…ก็มีความคล้ายคลึงกันอยู่บางอย่าง หากแต่มันเป็นดินเนอร์ไนท์ที่ไม่ได้เสิร์ฟโดยเชฟชื่อดัง แต่กลับมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ยอมจ่ายค่าดินเนอร์ 55 เหรียญเพื่อจะลิ้มรสอาหารจากฝีมือ ‘คนไร้บ้าน’ พร้อมกับนั่งสนทนารับฟังเรื่องราวต่างๆ จากเพื่อนร่วมโต๊ะดินเนอร์ที่ก็เป็นคนไร้บ้านอีกเหมือนกัน!

ไอเดียการจัดดินเนอร์สร้างแรงบันดาลใจนี้จุติขึ้นโดยกลุ่ม Farming Hope สตาร์ทอัพแนวเพื่อสังคมในเมืองซานฟรานซิสโก ที่ต้องการจะช่วยผลักดันกลุ่มคนไร้บ้าน (ที่ยังมีศักยภาพ) ให้ได้กลับมามีงานมีการทำ และพร้อมที่จะเริ่มชีวิตใหม่อีกครั้งได้อย่างมีเกียรติ …ซึ่งพวกเขาเชื่อว่า ‘อาหาร’ และประสบการณ์ที่ผู้คนแบ่งปันกันบนโต๊ะอาหารนี่แหละ ที่จะนำพาพวกเขาไปสู่เป้าหมายนั้นได้

เจมี่ สตาร์ก และเควิน มาดริกาล สองผู้ร่วมก่อตั้ง Farming Hope เล่าว่า “มื้ออาหารดีๆ คือประสบการณ์ที่มีเสน่ห์ในตัวมันเองเสมอครับ ใครๆ ก็อยากจะมีส่วนร่วมทั้งนั้น ดังนั้นห้องครัวฝึกหัดและป๊อปอัพดินเนอร์ของเราจึงกลายเป็นเครื่องมือชั้นดีในการฝึกฝนทักษะให้เหล่าคนไร้บ้าน และเป็นช่องทางในการเผยแพร่ทัศนคติเชิงบวกและความเข้าใจที่ลึกซึ้งขึ้นต่อปัญหาของคนกลุ่มนี้” เจมี่และเควินพบกันสมัยเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ทั้งคู่เชื่อว่า ‘อาหาร’ สามารถเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนสังคม และสร้างปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว

ในช่วงเริ่มต้นโครงการนี้ เจมี่และเควินได้สัมภาษณ์ผู้คนจำนวนมากที่เคยผ่านภาวะการไร้ที่อยู่มาในชีวิต นั่นทำให้พวกเขาเข้าใจว่าประเด็นสำคัญที่สุดที่จะสร้างพลังให้คนกลุ่มนี้กลับมายืนด้วยลำแข้งของตัวเองได้ ก็คือความรู้สึกมีคุณค่าและเป็นที่ต้องการของสังคม

“เรื่องคนไร้บ้านนี้ไม่ใช่ปัญหาความแร้นแค้นเชิงเศรษฐกิจเท่านั้น แต่มันคือความแร้นแค้นเชิงความสัมพันธ์ด้วย” เจมี่และเควินเชื่อว่าการพัฒนาความรู้สึกว่าตนเป็นที่ต้องการและยังมีคุณค่าต่อผู้อื่นนี่แหละ ที่เป็นหัวใจสำคัญที่สุดของงานนี้ “การชวนคนไร้บ้านมาฝึกทำอาหารและเสิร์ฟความอร่อยนั้นให้กับผู้อื่น คือหนึ่งวิธีที่จะช่วยแก้ปมในใจให้กับพวกเขาได้”

ผู้เข้าร่วมโครงการนี้ของ Farming Hope จะเริ่มต้นทำงานตั้งแต่การปลูกพืชผักและเก็บเกี่ยวผลผลิตในสวนเกษตรของชุมชน (ซึ่งรวมถึงบนสวนดาดฟ้าของอาคารที่พักสำหรับคนไร้บ้านเองด้วย) จากนั้นจึงค่อยเข้ามารับการฝึกหัดทำอาหารในครัว และฝึกอบรมการเสิร์ฟอาหารที่ถูกต้องตามแบบร้านอาหารชั้นดีด้วย ซึ่งในกระบวนการเทรนนิ่งทั้งหมดนี้ เจมี่และเควินกล่าวว่าต้องทำให้เสร็จสิ้นได้ภายในสามเดือนเท่านั้น เพื่อให้สอดคล้องกับระยะเวลาที่คนไร้บ้านคนหนึ่งจะสามารถมีที่นอนฉุกเฉินชั่วคราวในที่พักคนไร้บ้านได้

โดยหลังจากสามเดือนนี้ Farming Hope ก็จะช่วยผู้ที่ผ่านการอบรมทั้งหมดให้ลองสมัครงานตามที่ต่างๆ ซึ่งแค่ในปี 2017 ก็มีอดีตคนไร้บ้านในโครงการนี้ที่สามารถหางานประจำทำได้จริงๆ ถึงกว่า 50% เลยทีเดียว ปัจจุบันนี้ Farming Hope ยังโฟกัสการทำงานของพวกเขาในเขตเมืองซานฟรานซิสโกเป็นหลัก แต่ก็แผนการคร่าวๆ ที่จะขยายโมเดลการทำงานนี้ไปสู่เมืองอื่นๆ ด้วยในอนาคต

อ้างอิง: farminghope.org

Visa Sortrakul

บรรณาธิการ tcdcconnect.com และนักเขียนอิสระ สร้างแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมเมือง งานสร้างสรรค์ท้องถิ่น และการเดินทางกลับสู่ธรรมชาติ ปัจจุบันหลงใหลการประยุกต์อารยธรรมโบราณและองค์ความรู้ชาวบ้านสู่งานสร้างสรรค์ใหม่ๆ

See all articles