‘ปรารถนา จริยวิลาศกุล’ สร้างแบรนด์ผ่านธุรกิจคิดบวกเพื่อสังคม be positive plus

‘อิคิไก (Ikigai)’ ในภาษาญี่ปุ่นมีความหมายว่า ‘เหตุผลของการมีชีวิตอยู่’ ใครหลายคนอาจมีอิคิไกซ่อนอยู่ในงาน ครอบครัว หรือสิ่งรอบตัว ซึ่งนั่นทำให้ผู้ที่ค้นพบจะเจอความหมายและคุณค่าของชีวิต สำหรับคุณบี๋ – ปรารถนา จริยวิลาศกุล อิคิไกของเธอคือการพบ ‘จุดร่วม’ ระหว่างสิ่งที่รัก สิ่งที่ถนัด สิ่งที่ใช้ในการทำมาหากินได้ ที่มากไปกว่านั้นคือเธอได้ใช้สิ่งที่มีอยู่ทั้งหมดนี้ไปช่วย ‘สร้าง’ ให้คนในธุรกิจเพื่อสังคมกลับไปสร้างประโยชน์ให้ผู้อื่น

บทสนทนาต่อไปนี้ คุณบี๋จะมาเล่าให้เราฟังถึงเส้นทางอาชีพของเธอในอุตสาหกรรมโฆษณากับหลากหลายหน้าที่ในเอเจนซี่ชั้นนำตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งมีส่วนสำคัญในการต่อยอดสู่บทบาท Brand Idea and love Inspirer ในนาม be positive plus ที่เธอก่อตั้งขึ้นกับการอยู่เบื้องหลังการค้นหา Brand DNA เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์ชั้นนำของไทย และโมเดล one for one ซึ่งทุกๆ งานที่ทำให้ลูกค้า คุณบี๋จะบวกการทำแบรนด์ให้คนหรือองค์กรที่ทำงานเพื่อสังคมอีก 1 โดยไม่มีค่าตัว รวมถึงการทำงานคู่ขนานในภาคสังคมในฐานะ Branding Expert อาสาประจำ Branding Helpdesk ภายใต้การดำเนินการของ School of Changemakers กรรมการของ SE THAILAND ตลอดจนการเป็นจิ๊กซอว์สำคัญในการขับเคลื่อนโครงการเพื่อสังคมต่างๆ ตั้งแต่ โครงการผูกปิ่นโตข้าว, ToMorroW Charity และ RUN HERO RUN: ฉันจะวิ่งเพื่อเธอ

Q: อยากให้พี่บี๋ช่วยเท้าความถึงประสบการณ์การทำงานก่อนหน้านี้ให้เราฟังหน่อยได้ไหมว่าทำอะไรมาบ้าง?
A: พี่ชอบโฆษณามาตั้งแต่เด็ก ก็ตั้งใจเรียนจนสอบติดนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ พอเรียนจบก็ได้ทำโฆษณาแบบที่หวังไว้ พี่สมัครเป็น AE ที่ บริษัท Next ของพี่ต่อ สันติศิริ ซึ่งเวลานั้นวงการโฆษณาหอมหวลมากเลยนะ คนในวงการเท่ แต่งตัวสวยหล่อ เงินเดือนสูง แต่เราไม่ได้ชอบอะไรตรงนั้น เราชอบตรงที่ว่าทำไมหนังโฆษณาเรื่องสั้นๆ หรือ print ad สักชิ้นหนึ่งถึงมีอิทธิพลต่อคนมากมายขนาดนั้น พี่โชคดีที่อยู่ในยุคที่มีแต่โฆษณาดีๆ เต็มไปหมด ขนาดโฆษณาวิทยุยังดีแบบขอคารวะเลย เราหลงรักวงการนี้มาก แล้วก็ไม่มองอย่างอื่น พอทำงานได้ปีนึง คุณพ่อก็บอกว่าต้องไปเรียนแล้วนะ เดี๋ยวสนุกมากไปจะไม่ได้ไปเรียนต่อ พี่เลยตัดสินใจไปเรียนที่อังกฤษ และเลือกเรียน MBA เพราะไม่ว่าจะอยู่วงการอะไรก็น่าจะต้องได้ใช้ หลังจากเรียนจบก็กลับบ้าน แล้วกลับมาทำบริษัทเดิมซึ่งเขา merge กับเอเจนซี่ในอังกฤษ ชื่อ TBWA

Q: อะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้สนใจเรื่องแบรนด์?
A: เมื่อได้มาเป็น Account Director ที่ JWT ได้มีโอกาสทำงานเปิดตัวแบรนด์ Orange ในประเทศไทย ซึ่งเป็นแบรนด์ที่พี่ชอบมากตอนอยู่อังกฤษ ได้อยู่ตอน Orange เปิดตัวที่นั่น ซึ่งสั่นสะเทือนวงการและเข้าไปอยู่ในใจผู้บริโภคได้แบบไม่มีใครทำมาก่อน ก่อนหน้านั้นเรายังไม่รู้ศาสตร์ของการทำแบรนด์นะ ซึ่งการได้ทำแบรนด์ Orange ทำให้พี่ได้ศึกษาวิธีการทำแบรนด์ การผสมผสานทั้งกลยุทธ์ ความเข้าใจในแบรนด์ การทำงานร่วมกับครีเอทีฟ เพื่อทำให้แบรนด์มารู้จักกับคน ถ้าพูดในสมัยนี้ก็คือการสร้างบทสนทนา ซึ่งศาสตร์ตรงนี้ก็ติดตัวพี่มาทำงานอื่นๆ ต่อ

Q: แล้วหน้าที่ของคนทำแบรนด์คืออะไร?
A: แบรนด์เป็นเรื่องสำคัญมากนะ มันมีค่ามาก ซึ่งศาสตร์ของการทำแบรนด์จะทำให้แบรนด์นั้นๆ เป็นที่รักของคนได้จริงๆ พี่เชื่อว่าแบรนด์ สุดท้ายต้องให้คนรัก และถ้าจะรักได้ คนเขาจะรักจากการที่มีไอเดียก่อน แล้วไปสร้างแรงบันดาลใจ จากนั้นเราจะสร้างให้แบรนด์นี้เกิด แต่เราไม่ใช่เจ้าของแบรนด์ หน้าที่ของเราคือการสร้างแรงบันดาลใจ ถ้าจะอธิบายให้ง่ายขึ้น เจ้าของแบรนด์ก็เปรียบเหมือนแม่ ส่วนคนทำแบรนด์ก็เป็นเหมือนแม่นม เราไม่ได้คลอดเขาออกมา แต่เราจะทำให้เด็กคนนี้เติบโตและเป็นคนที่มีค่า เป็นคนที่ใครเห็นใครก็รัก และรักจากการที่เขาเป็นแบบนี้ เขาไม่ต้องเหมือนใคร เขาเป็นคนพิเศษและเป็นคนเดียวในโลกที่เป็นแบบนี้ คุณค่าของเขาเกิดจากการที่เขาทำอะไรให้คนอื่น ซึ่งมันจะยืนยาวกว่าการที่หล่อ สวย เท่ แต่มันต้องมีคุณค่าแบบนั้นด้วย

แบรนด์ก็เปรียบเหมือนเด็ก 1 คน เด็กคนนี้เกิดมาด้วยสิ่งสิ่งหนึ่งที่เฉพาะตัว ซึ่งพ่อแม่จะเห็นหรือไม่เห็น-ไม่เป็นไร แต่คนสร้างแบรนด์จะเห็น พ่อแม่จะตั้งชื่อให้เด็กคนนี้ จะตามดวง เวลา หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่แบรนด์จะตั้งชื่อจากการที่เรารู้แล้วว่าเขาเกิดมาเพื่อทำหน้าที่อะไร ชื่อก็จะสอดคล้องกับหน้าที่ของเขา หน้าที่เราก็เหมือนร่วมกับพ่อแม่ ช่วยกันเขียนชะตาชีวิตของแบรนด์นี้ไว้แล้วว่าเขาโตมาจะเป็นแบบนี้ ทุกๆ วันที่เขาอยู่บนโลกใบนี้ เขาจะทำสิ่งนี้ แล้วคนจะค่อยๆ รักเขาแบบที่เขาเป็น และเขาก็ไม่ต้องเหนื่อยที่เขาจะต้องพยายามเป็นเหมือนใคร

Q: จุดหักเหที่ทำให้ตัดสินใจออกมาตั้ง be positive plus และทำงานภาคสังคม?
A: จริงๆ ก็ไม่ได้ตั้งหรอก เรียกว่าออกมาอยู่คนเดียวมากกว่า (หัวเราะ) สำหรับจุดหักเห คงต้องพูดถึงบุคคล 2 คน คือ คนแรกคือ อู๋ (ธวัชชัย แสงธรรมชัย) และ นุ้ย (พรจรรย์ ไกรวัตนุสสรณ์) ซึ่งทั้งคู่เป็นรุ่นน้องที่นิเทศฯ จุฬาฯ มีอยู่วันหนึ่งอู๋มาชวนพี่ประมาณว่าเรากลับไปคณะ ไปเล่าให้น้องๆ ฟังไหมพี่บี๋ แบบไม่ต้องมีพิธีรีตรองใดๆ ทั้งสิ้น ว่าพวกเราทำงานแบบนี้ได้อย่างไร น้องๆ จะได้มีแรงบันดาลใจ ซึ่งอีกคนที่อู๋ชวนคือนุ้ย นั่นคือวันแรกที่เราได้เจอกันและได้รู้ว่ามันมีอาชีพอย่างนุ้ยอยู่ด้วย อาชีพที่ช่วยสังคมแล้วเป็นอาชีพจริงๆ คือพี่อยู่ในวงการโฆษณาแล้วก็รักมาก ไม่เคยคิดว่าออกไปไหนแล้ว พอเจอนุ้ยแล้วรู้ว่านุ้ยทำอะไรอยู่ หลังจากนั้น นุ้ยก็เห็นวิธีการที่พี่ทำงาน เลยชวนพี่มาช่วยเล่าเรื่องแบรนด์ให้คนที่ทำงานภาคสังคมฟัง เพราะคนกลุ่มนี้จะไม่ค่อยได้สัมผัสกับการทำแบรนด์เท่าไหร่ อย่างมากเขาก็รู้จักโฆษณา แต่ไม่ได้ลึกซึ้งเรื่องแบรนด์ ตอนนั้นพี่ก็ลามปามจากเล่า ก็เลยเถิดไปทำเวิร์คช็อปด้วย (หัวเราะ) มีวันหนึ่ง พี่ทำไป 7 เคส ออกมาหมดแรงสุดๆ แต่ขณะเดียวกันมันทำให้รู้สึกว่า สิ่งที่พี่ทำ มันทำให้การที่เขาจะไปทำงานเพื่อสังคมเหนื่อยน้อยลง ไม่ต้องเสียเวลาคลำว่าสิ่งนี้ถูกหรือผิด ทำให้เขาไปเร็วขึ้น ชัดขึ้น ตอนนั้นก็คิดนะว่าศาสตร์ของเรามีคนนอกวงการต้องการนี่นา แล้วก็จะได้ทำงานอาสาแบบที่ชอบได้ด้วย ตรงนี้แหละที่ทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีศักยภาพ พูดง่ายๆ ว่านุ้ยเป็นคนพาเข้าสู่วงการค่ะ

ซึ่งเมื่อพี่ผ่านการทำ Love is Hear คอนเสิร์ตเพื่อคนหูหนวก โครงการ รัก ณ สยาม ที่ทุกคนที่มางานมาด้วยใจ รวมถึงนุ้ยชวนพี่ไปช่วย ซึ่งตอนนั้นรู้จัก SE (Social Enterprise) แล้ว เราได้สัมผัสกับพวกเขาแล้วรู้สึกว่าคนเหล่านี้เป็นบุคคลที่วิเศษ เสียสละมาก ใช้อาชีพตัวเองมาแก้ปัญหาสังคมเป็นเบื้องต้น ก็ทำให้พี่อยากอยู่ อยากทำงานกับพวกเขา ตอนนั้นพี่ยังทำงานอยู่ในเอเจนซี่โฆษณานะ ขณะที่ก็ก้าวเข้ามาทำงานเพื่อสังคมมากขึ้นก็รู้สึกเกรงใจ บางทีหายไปเลยทั้งวันเพราะไปทำเวิร์คช็อป จริงๆ บริษัทไม่ว่าอะไร แต่เรารู้สึก เลยบอกตัวเองว่า เอาล่ะมันถึงจุดที่ตัวเราน่าจะเป็น social entrepreneur แล้วพี่ก็ชอบโมเดล ‘หนึ่งได้หนึ่ง’ หรือ one for one เพราะมันเข้าใจง่ายดี ก็เลยโทรหานุ้ย บอกว่าพี่ออกนะ แล้วถามนุ้ยว่า ถ้ามีลูกค้าจ้างพี่ทำแบรนด์หนึ่งงาน พี่จะทำแบรนด์ให้คนที่ทำเพื่อสังคมฟรีหนึ่งงาน โมเดลแบบนี้มันมีความต้องการไหม นุ้ยบอก โอยพี่บี๋ออกมาเลย มันมีคนต้องการ พี่ก็ออกเลย บอกเขาล่วงหน้าสามเดือน ช่วยเคลียร์ให้ จนมกราคม 2557 เราเป็นอิสระ แล้วก็เริ่มต้นแบบที่พี่เป็นตอนนี้

Q: ในช่วงเวลานั้น การทำงานในภาคสังคมเป็นไปในรูปแบบไหน?
A: พี่คุยกับนุ้ยถึงสิ่งที่อยากทำเป็นอย่างแรกคือ Branding Helpdesk โดยจะเอาเวลาหนึ่งบ่าย ซึ่งใครที่คิดว่าต้องการเจอสิ่งที่เรียกว่าแบรนด์ให้มาหาเราเลย เป็นการเปิดโต๊ะให้คำปรึกษาทุกอย่างและทั้งหมดนี้ไม่มีค่าใช้จ่าย พี่ทำงานภายใต้ School of Changemakers ที่จะช่วยจัดหาคนที่เห็นว่าถึงเวลาที่ต้องการสร้างแบรนด์แล้วมาเจอเรา พี่เริ่มตั้งแต่ตอนที่ออกมาเลย กิจกรรมนี้ทำให้ได้เจอและทำแบรนด์ให้ SE ดีๆ เยอะมาก และพี่ก็ดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเขา

Q: บทบาทและวิธีการทำงานใน Branding Helpdesk คืออะไร?
A: เราจะมองแต่ละทีมที่เข้ามาปรึกษา ตั้งโจทย์ขึ้นมาก่อนว่า แบรนด์นี้คือลูกของเขา ตั้งคำถามต่อมาว่า แล้วทำไมคนจะต้องรักเด็กคนนี้ โดยใช้ Ikigai Branding เป็นเครื่องมือในการทำงาน ซึ่งมันใช้ได้กับทุกอย่างในโลก Ikigai (อิคิไก) แปลว่า A reason for living ถ้าตามรากศัพท์จริงๆ คือ being and worth หรือคุณค่าของชีวิต เมื่อสิ่งที่คุณรัก ถนัด และเก่ง สิ่งที่คุณสามารถหาเลี้ยงชีพได้ สิ่งที่โลกต้องการคือเรื่องเดียวกัน ใครก็ตามที่เจอสิ่งนี้ ชีวิตของเขาจะมีความสุขทุกวันแน่นอน แล้วเขาจะไม่มีวันหมดแรงที่จะทำ คนญี่ปุ่นเรียกว่า เหตุผลที่คุณอยากจะตื่นขึ้นมาทุกเช้า พี่เลย transfer สิ่งนี้เข้ามาในวิธีการสร้างแบรนด์ แล้วให้เห็นเลยว่า 1) นี่คือโลกธุรกิจ 2) นี่คือโลกที่เราอยู่ เพราะฉะนั้นแบรนด์มีความรับผิดชอบทั้งสองฝั่ง

เราจะใช้หลักเดียวกันนี้ในการหาว่าอิคิไกของแบรนด์คุณคืออะไร เราจะหาให้เจอและอยากให้ทุก SE ที่ทำเพื่อสังคมเจอตรงนี้ แต่มันไม่ใช่การที่เราไปบอกเขา แต่เขาต้องเห็น ซึ่งเขามีแหละ แต่บางครั้งเขายังมองไม่ออก อินกับปัญหาสังคมมากๆ จนลืมไปว่าการยืนระยะยาว เขาต้องทำไหว ต้องชอบที่จะทำ คือปัญหาสังคมมันมีอยู่ แต่วิธีการที่คนคนหนึ่งคิดว่าตัวเองเป็น SE แล้วแก้ปัญหา เขาจะต้องแก้ในวิถีที่เขาชอบ ถนัด และได้เงินด้วย ไม่อย่างนั้นมันไม่ยาวและแก้ปัญหาไม่ได้ เมื่อแก้ไม่ได้ อิมแพคมันก็ไม่มา เช่นเดียวกันกับสินค้าหรือบริการ ถ้าเขาไม่ทำจากตรงนี้ เขาก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน

ด้วยอาชีพ เราจะไม่ไปคิดแทนเขา แต่เราจะชวนให้เขาคิด ให้มองเห็นภาพตัวเขาเองให้ได้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่พี่ทำคือฟังและถาม ฟังแล้วพยายามจะจับว่าแต่ละกลุ่มมีอิคิไกออกมาไหม ถ้าออกมาแล้วคือทำได้ พี่มีสูตรว่า ไม่ว่าจะแบรนด์ไหนก็ตาม จะคอมเมอร์เชียล จะสังคม มันจะมีคีย์เวิร์ดอยู่ก้อนเดียว เช่น จูน (เมธาวี ทัศนาเสถียรกิจ) ตอนที่น้องมาหาเรา เป้าหมายคืออยากช่วยเหลือน้องๆ ตาบอด แต่รูปแบบและวิธีการทำงานยังไม่ชัดเจนนัก แล้วพอเราคุยและฟัง เราได้ยินจูนพูดเรื่องการศึกษาของคนตาบอดในมหาวิทยาลัยและพูดเรื่องนี้ตลอด นั่นคือสิ่งที่บันดาลใจเขา นั่นคืออิคิไกของเขา พี่เลยบอกเลยว่าจงทำเรื่องการศึกษาของคนตาบอดนี่แหละ ซึ่งเมื่อรู้แล้วว่าอยากทำอะไรแล้วมันแข็งแรงพอ ชื่อ The Guidelight มันก็มาเลย หรือ a-chieve สิ่งที่น้องกลุ่มนี้สนใจไม่ใช่แค่เรื่องการศึกษา แต่คืออาชีพ พอคีย์เวิร์ดเขามีและแข็งแรงแล้ว ชื่อกลุ่มก็มาได้เลย โดย a-chieve ถ้าแปลตรงตัวคือความสำเร็จ และมันก็พ้องเสียงกับคำว่าอาชีพในภาษาไทยด้วย เมื่อเรามีไอเดียที่ดีและเป้าหมายที่ชัดเจน คม ยั่งยืน คนจะจดจำคุณได้จากเอกลักษณ์เหล่านั้น เขาจะเห็นคุณค่าของคุณในที่สุด


การสื่อสารเรื่องแบรนด์ออกไปให้สาธารณชนรับรู้คือสิ่งที่สำคัญมาก และเมื่อเรามีต้นทุนเรื่องแบรนด์ที่ดีพอ ธุรกิจเราก็ดำเนินไปได้ เงินทุนและความช่วยเหลือจากองค์กรต่างๆ จะตามมา แน่นอนมันจะทำให้เราไปถึงเป้าหมายของการแก้ปัญหาที่เราต้องการด้วย แบรนด์เป็นเรื่องของไอเดียหรือแนวคิดทั้งหมด มันก็คือการหาเหตุผลทั้งหมดว่าทำไมต้องทำ นั่นก็คือ อิคิไกนั่นเอง

Q: การสร้างแบรนด์ในเชิงพาณิชย์และภาคสังคมเหมือนหรือต่างกันอย่างไร?
A: โดยแนวคิดและรูปแบบงานไม่ต่างกันเลยนะ มันคือการสื่อสารเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน ถ้าจะต่างก็คงจะเป็นเป้าหมายของงานเชิงธุรกิจ มันคือเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค ให้สนับสนุนสินค้าหรือบริการของธุรกิจนั้นๆ ซึ่งทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น เติมเต็มความรู้สึก ยกระดับจิตใจ แต่การทำแบรนด์ให้ธุรกิจเพื่อสังคม ปลายทางมันคือการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง เพื่อสร้าง impact ให้สังคมโดยรวมดีขึ้น แต่ไม่ว่าจะเป็นเชิงพาณิชย์หรือภาคสังคม เราก็ล้วนแต่เป็นคนของโลกใบนี้ร่วมกัน เรารับผิดชอบการที่จะทำให้โลกนี้ดีกว่าเดิมร่วมกัน

Q: อิคิไกของพี่บี๋คืออะไร?
A: พี่เองก็มีอิคิไกที่ชัดมากเรื่องเดียวเลยก็คือเรื่องแบรนด์ เพราะแบรนด์ทำให้ทุกอย่างดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำงานกับลูกค้าหรือการที่เราไปช่วยคนอื่น มีคนถามพี่ว่าทำงานทุกวันเลยเหรอ พี่ก็ตอบว่าใช่แบบยิ้มอิ่มใจ ซึ่งพอมันชอบ เราก็เลยทำได้ทุกวัน เหมือนที่เขาบอกว่าถ้าคุณเจอสิ่งที่ชอบ คุณก็จะรู้สึกว่าทำงานเหมือนไม่ทำงาน ตอนนี้พี่มีชีวิตแบบนี้อยู่ ลูกค้าก็ดีงาม เป็นลูกค้าที่เติมเต็มชีวิตเราจริงๆ ถามว่าความท้าทายระหว่างทางมีไหม มีแต่มันสนุกมาก



Q: นอกจาก Branding Helpdesk แล้ว งานอื่นๆ ในภาคสังคมที่พี่บี๋ได้ทำไปแล้วมีอะไรอีกบ้าง?
A: ก็มีโครงการผูกปิ่นโตข้าวที่ทำงานกับพี่ๆ แม่สื่อ ผูกรักระหว่างเจ้าบ่าวชาวนาอินทรีย์กับเจ้าสาวคนเมือง โครงการ ToMorroW Charity เสื้อยืด 1 ตัวส่งน้องด้อยโอกาสเรียนต่อ 1 เดือน มีจัดงานวิ่งการกุศล Run Hero Run: ฉันจะวิ่งเพื่อเธอ เพื่อระดมทุนน้ำใจจากฮีโร่แนวหลัง ส่งมอบเสื้อเกราะปกป้องชีวิตฮีโร่แนวหน้า ที่เหลือก็ทำงานผ่าน SE เรื่องแบรนด์ให้เขาชัดเจนมากขึ้น เพื่อไปช่วยกันแก้ปัญหาสังคมได้แบบไม่เหนื่อย

Q: มีโครงการอะไรที่อยากจะทำอีกไหม?
A: พี่คิดว่าทำงานกับ SE หรือองค์กรเพื่อสังคมไปเรื่อยๆ อย่างนี้ ก็น่าจะแก้ปัญหาสังคมได้มากมายหลายเรื่องแล้ว เพราะฉะนั้นตอนนี้เลยไม่รู้สึกว่าอยากอะไรแล้วนะ เราคิดว่า หากเราตั้งใจดี มีความปรารถนาดี เราก็จะได้พบเจอคนดีๆ ที่ตั้งใจทำเพื่อผู้อื่นที่เราจะสามารถทำอะไรให้เขาได้ ไม่มากก็น้อย แล้วเมื่อเราเจอ เราก็จะบอกตัวเองว่า นี่คือโอกาสที่ดีมากๆ ที่เราจะได้ทำสิ่งดีๆ อีกครั้ง


Q: พี่บี๋มีหลักในการทำงานอย่างไร?
A: แนวทางในการทำงานของพี่ คือพี่จะไม่ทำสิ่งที่ไม่ถนัด อันนี้สำคัญ สำหรับพี่การที่คุณฝืนพยายามจะทำอะไรบางอย่างที่ไม่ถนัด มันคือความสูญเสีย เพราะมันอาจจะเกิดความเสียหายและมันเสียเวลา คุณควรเอาเวลาที่คุณมีไปทำสิ่งที่คุณทำได้ดีให้ดีขึ้นไปอีก หรือขยายมันออกไปช่วยคนอื่นได้อีก ไม่ถนัดก็หาคนช่วย ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกจะมีคนที่ถนัดในสิ่งนั้นแบบเทพๆ อยู่นะยู (หัวเราะ) ในโลกนี้มีคนเก่งเยอะมาก ก็ไปอยู่กับเขา ไปทำงานกับเขา มันไม่จำเป็นจะต้องดิ้นรนเพื่อเป็นทุกสิ่งของทุกคน เอาที่เราถนัดดีกว่า พี่จะแบ่งงานออกเป็น 4 อย่าง ซึ่งโชคดีที่ได้ทำครบแล้ว นั่นคือ

1. งานมานีหรืองานได้เงิน (money = Manee) – เป็นงานที่ให้เงินมาเลี้ยงตัวเรา เลี้ยงลูกน้อง เลี้ยงบริษัท เพื่อให้เราได้มีแรงและพลังในการทำงานแบบอื่นๆ
2. งานมานะหรืองานใช้แรง – เหนื่อยกว่าปกติ เงินอาจจะไม่มาก หรือไม่ได้เงินเลย แต่ก็มีเหตุผลที่ดีที่จะทำมัน เช่น น่าสนใจ ท้าทาย ทำเพื่อคนดีๆ ทำเพื่อส่วนรวม
3. งานชูใจคืองานกุศล – งานที่ทำให้หัวใจพองโตทุกครั้งที่จับ ทุกครั้งที่ประชุม และทุกครั้งที่คิดถึง พอทำงานนี้ ไม่นึกถึงมานีเลย ส่วนมานะลงไปเท่าไร ก็ไม่เหนื่อย กลับเป็นสิ่งสร้างแรงใจ ชูใจให้มีกำลังใจไปทำงาน มานี และมานะ ต่อไปอีก
4. สุดท้ายคืองานปิติ – งานที่เหนือกว่าชูใจไปอีกขั้น เป็นงานที่ทำถวายในหลวง พี่มีโอกาสได้ทำร้องกรองด้วยจงรักร่วมกับสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยและเพื่อนๆ ชวนคนไทยทุกคนแต่งกลอนแปด ต่อกันทั้งหมด 983 บท เพื่อถวายในหลวงตอนที่พระองค์ท่านมีพระชนมพรรษา 83 พรรษา เพียงแค่นี้ก็เป็นมงคลสูงสุดของชีวิต เราได้ทำครบแล้ว จะมีอะไรต่อจากนี้พี่ถือว่ามันโบนัส

Q: เรียกว่าเจอจุดสมดุลชีวิตได้เลยไหม?
A: ไม่รู้ว่ามันคือจุดสมดุลรึเปล่า พี่คิดแค่ว่าอยากทำอะไรก็ทำเลย หลักมีแค่นี้เลยนะ คือถ้าดูสมุดคิว แล้วคิวได้ก็ให้เลย ณ ปัจจุบันนี้ยุ่งมาก แต่ถ้าได้ก็ให้เลย แล้วก็จัดเวลาไปช่วยทำงานวิ่งการกุศลให้คณะนิเทศฯ จุฬาฯ ซึ่งทั้งหมด พี่ไม่เสียอะไรเลย มีแต่ได้อย่างเดียว ทำงานวิ่งให้นิเทศฯ ถามว่าเหนื่อยไหม เหนื่อยแต่สนุกมาก ได้ทำงานกับพี่ๆ น้องๆ หรือจะไปถ่ายหนังกับลูกค้าดึกดื่นก็ดีมาก คือพี่จะรู้สึกดีมากที่ได้เข้าไปอยู่ในประสบการณ์นั้นๆ การมาทำงานให้กับ SE Thailand ก็ดีมาก ได้รู้จักคนที่ดีเต็มไปหมด กลายเป็นว่าตอนนี้ไม่ว่าจะโลกคอมเมอร์เชียลหรือโซเชียล พี่ได้เจอแต่คนดีๆ โครงการผูกปิ่นโตข้าวก็ทำให้เจอทีมแม่สื่อที่พวกเขาทำให้เรากลายเป็นคนที่ดีขึ้น โรงเรียนมาแตร์เดอีสร้างเราในวัยเด็ก นิเทศฯ สร้างเราให้พร้อมในวัยทำงาน และผูกปิ่นโตข้าวก็ขัดเกลาให้เราดีขึ้น เพราะแม่สื่อทุกคนเป็นโค้ชหมดเลย เราเป็นคนเดียวที่ไม่ได้เป็น ซึ่งเมื่อคุณอยู่กับโค้ชเป็นสิบคน เรียกว่าโชคดีมากเพราะมีโอกาสได้เรียนรู้อะไรเยอะ เจ้านายเก่า เพื่อนร่วมงาน รอบตัวเรามีแต่โค้ชที่หันไปปรึกษาได้ตลอด



Q: มาถึงจุดนี้ เป้าหมายในชีวิตในปัจจุบันเปลี่ยนไปไหม?
A: ตอนนี้พี่ตายได้แล้วนะ หลังจากวันคอนเสิร์ต Love is Hear ณ วินาทีนั้นเราตายได้แล้ว หลังจากวันที่ 9 กรกฎาคม 2552 ตอนนี้พี่อยู่แบบว่าอยู่เป็นวันๆ เป็นลักษณะที่ว่าวันนี้เราได้ทำอะไรบ้าง มันเป็นอิคิไกของเราแล้ว ถ้าวันนี้เรายังตื่นอยู่ พี่ก็จะทำงานอยู่ แต่โชคดีคือพี่มีครอบครัวที่ดี มีพ่อแม่ที่แสนประเสิรฐ พ่อแม่รักษาสุขภาพอย่างดี ออกกำลังกายทุกวัน มีน้องที่ดี มีหลานให้พ่อแม่ ช่วยดูแลพ่อแม่ ช่วยดูแลเรื่องเงินให้พี่หมด มันเหมือนทุกอย่างส่งมาให้พี่มีโอกาสได้ทำงานอยู่ตรงนี้ได้ อยากกินอะไรก็ได้กิน อยากทำอะไรก็ได้ทำ มีเงินจ่ายค่าเรียนเต้นรำ ค่านวด (ยิ้ม) ตอนนี้พี่จะไปเมื่อไหร่ก็ได้แล้ว

Q: แล้วใครคือต้นแบบในการทำงานและการดำเนินชีวิตของพี่บี๋คะ?
A: ในหลวงรัชกาลที่ 9 ค่ะ บางทีพี่ก็เหนื่อยนะ แต่ทุกครั้งที่เหนื่อยพี่จะนึกถึงท่านเสมอ คือเวลาเราเหนื่อยมันก็จะมีอารมณ์ประมาณว่า เอ๊ะทำไมต้องให้ด้วย ทำตั้งเยอะทำไมเขาไม่เห็นนะ แล้วเราก็จะนึกถึงในหลวง แล้วเราก็จะมีแรงฮึดจากข้างในเลยทันที ในพริบตาเลย เพราะในหลวงท่านไม่เคยมีเงื่อนไขเลย ใครไม่เห็น ท่านก็ทำ ไม่ถามด้วยว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ ไม่นึกถึงตัวเองเลย เราเทียบท่านไม่ได้เลยสักนิด พี่ยังมีอารมณ์แบบ อยากกินของอร่อย อยากไปเมืองนอก อยากพักผ่อน


Q: ความสุขในการทำงานปัจจุบันของพี่บี๋คืออะไร?
A: ทุกการทำงาน แน่นอนว่าเรารอจะเห็นผลของมัน แต่พี่ก็มีความสุขระหว่างทางเช่นกัน พี่เชื่อในกระบวนการซึ่งมันเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์มากเลยนะ อย่างที่เราคุยกัน ทุกๆ ครั้งที่พี่มีโอกาสได้เล่ากระบวนการ พี่ยังคงสนุกและมีความสุข ไม่ว่าจะงานไหนก็ตาม

Q: จากประสบการณ์ที่ได้ทำงานร่วมกับกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคม พี่มีคำคำแนะนำอะไรสำหรับคนที่อยากเข้ามาทำงานตรงนี้ แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไร?
A: ทำ ให้ทำเลย เพียงแค่คุณคิดว่าคุณจะทำนะ มันก็ทำได้แล้ว เช่น ผูกปิ่นโตข้าวหรือคอนเสิร์ต Love is Hear เงินก็ไม่มี แต่ใจเราจะทำ ก็ทำเลย และเมื่อคิดว่าจะทำแล้ว จงทำโดยไม่วอกแวก ไม่ต้องลังเลสงสัย ทำไปเรื่อยๆ มีปัญหาอะไรก็ทำเถอะ มันจะต้องมีสักอย่างที่เราชอบ เราหลงรัก จากนั้นก็ทำให้สิ่งที่เราชอบและอยากทำมีความชัดเจน มีพลัง หาสิ่งที่เป็นอิคิไกของตัวเองให้เจอ เพราะมันจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราอยากลุกขึ้นมาทำทุกวันแบบไม่เหนื่อย ลงมือทำไปเรื่อยๆ มันจะเจอเอง คุณมีเวลาหาเท่าไหร่เหรอ ทั้งชีวิตนะ คุณก็ทำไป ไม่ชอบก็เปลี่ยน อย่างน้อยการทำ มันทำให้รู้ว่าเราชอบหรือไม่ชอบ จริงๆ มันเรียบง่ายมากเลยนะ ทำแล้วหา ทำแล้วหา สุดท้ายมันจะเจอในที่สุด

Q: แล้วพี่บี๋ได้อะไรจากการทำงานตรงนี้?
A: ได้ทำ (หัวเราะ) นั่นเป็นอย่างแรก ที่ตามมีคือการมีโอกาสได้ทำงานกับคนที่สร้างประโยชน์ให้คนอื่น ทำให้พี่รู้สึกมีความหวัง ซึ่งพี่ไม่ได้เจอคนดีๆ จากคนที่ทำงานเพื่อสังคมฝั่งเดียวนะ ลูกค้าเราก็ดีมาก พี่ว่ามันเป็นแรงดึงดูดมั้ง คนบนฟ้าส่งมา คือพี่ก็มีปัญญาทำอยู่ระดับหนึ่ง แต่พอเจอคนเหล่านี้มากๆ มันทำให้มีแรง เอาจริงๆ ประเทศไทยนี่สุดยอดนะ พี่เชื่อเสมอว่าสุดท้ายแล้วปัญหาทั้งหมดที่มีอยู่มันก็จะหายไปเพราะการร่วมแรงร่วมใจของประชาชน ไม่ต้องคิดมากหรอก ไม่ต้องคิดว่าเป็นหน้าที่ของหน่วยงานไหน หรือใครสักคน คุณนั่นแหล่ะ! ลงมือทำเลย เพราะเราทุกคนเป็นเจ้าของประเทศนี้เท่าๆ กัน

ภาพ: Ketsiree Wongwan

Tags

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles

Next Read