‘ประสาน อิงคนันท์’ สื่อสารมวลชนที่สร้างสรรค์และตั้งใจดี ‘บุญมีฤทธิ์ มีเดีย’

เพราะความเชื่อที่ว่า งานสื่อสารมวลชน หากทำบนพื้นฐานของความตั้งใจดีและสร้างสรรค์แล้ว บุญหรือประโยชน์จะถูกส่งต่อไปยังสังคมหมู่มากได้รวดเร็วและทั่วถึง นี่จึงเป็นที่มาของทั้งชื่อ บริษัท บุญมีฤทธิ์ มีเดีย จำกัด และแนวทางการทำงานของทุกคนที่นี่ ที่ต่างมุ่งหวังให้สื่อที่พวกเขาผลิตสามารถส่งต่อสิ่งดีๆ และมีประโยชน์ต่อสาธารณชนได้ดั่งหวัง

ประเด็นเกี่ยวกับแนวทางการทำงาน รวมทั้งที่มาที่ไปของการผลิตรายการคนสูงวัย ไม่ว่าจะเป็น ‘ลุยไม่รู้โรย สูงวัยดี๊ดี’ หรือ The Senior รุ่นใหญ่หัวใจไร้ขีดจำกัด เป็นสิ่งที่ ประสาน อิงคนันท์ นำมาเล่าสู่กันฟังแบบหมดเปลือกในการพูดคุยคราวนี้ พร้อมๆ ไปกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นมุมมองที่มีต่อผู้สูงวัย ไปจนถึงสถานการณ์ของคนทำสื่อว่าการยืนหยัดในวันที่อุตสาหกรรมทีวีถูกท้าทายด้วยแพลทฟอร์มใหม่ๆ นั้นเป็นอย่างไรด้วย

กำเนิดรายการคนวัยเกษียณที่หัวใจไม่ยอมแก่

“จริงๆ บริษัทพี่ทำรายการเกี่ยวกับผู้สูงวัยมากขึ้นในช่วง 2-3 ปี มานี้ สำหรับ ‘ลุยไม่รู้โรย สูงวัยดี๊ดี’ เริ่มต้นได้สัก 2 ปี มาแล้ว ซึ่งคอนเซ็ปต์ไม่ได้เริ่มต้นมาจากเราโดยตรง แต่เกิดจากทาง Thai PBS ที่มีผังรายการเกี่ยวกับผู้สูงวัยและเขาอยากได้ผู้ผลิต ตอนนั้นพี่ก็มาเริ่มต้นทำบริษัท บุญมีฤทธิ์ ได้ปีหนึ่งพอดี ซึ่งช่วงเวลานั้นคนก็ยังไม่ค่อยได้พูดถึงสังคมสูงวัยกันเท่าไหร่ แต่ด้วยความที่พี่เคยทำรายการคนค้นฅนมาก่อน แล้วตอนอยู่คนค้นฅนก็จะได้ทำเทปที่เกี่ยวกับคนแก่เยอะมาก เหมือนดวงมาทางคนแก่ (หัวเราะ) ซึ่งพอทำแล้วสนุก พอจะมีรายการแนวนี้เกิดขึ้นก็ไม่ปฏิเสธเลยเพราะเรื่องอะไรที่เกี่ยวกับคนแก่นี่จะมีประเด็นทำได้เยอะและสนุกอยู่แล้ว รายการลักษณะนี้จึงเกิดขึ้น”


‘ลุยไม่รู้โรย สูงวัยดี๊ดี’ รายการที่สร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเอง ส่งแรงบันดาลใจให้ผู้อื่น

“อย่างที่บอกว่าตอนแรกทางช่องต้องการนำเสนอภาพของสังคมสูงวัย แต่ว่าโดยลักษณะของสังคมสูงวัยเขาไม่ได้จำกัด คนแก่ที่อยู่ในเมืองอย่างเดียว แต่มองกลุ่มที่กว้างออกไปด้วย โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัยตามต่างจังหวัด เพราะฉะนั้นโดยตัวลุยไม่รู้โรย ถ้าจะพูดง่ายๆ ก็จะเป็นเรื่องคนแก่บ้านๆ จะไม่ใช่คนแก่ที่เป็นข้าราชการเกษียณ กลุ่มนี้จะมีน้อยมาก แต่กลุ่มที่เราพูดถึงส่วนใหญ่จะเป็นคนแก่ที่ออกไปอยู่ตามต่างจังหวัด ตามหัวเมืองต่างๆ ซึ่งกลุ่มนี้ทำให้เราเห็นชัดเลยว่าตัวเลขเกษียณไม่ได้อยู่ที่เลข 60 แต่อาจจะเลยออกไป 70 หรือ 75 เสียด้วยซ้ำไป หรือบางคนตัวเลขเกษียณแทบจะไม่มี เพราะว่าเวลาคนแก่ที่อยู่ตามต่างจังหวัดและอยู่ในสังคมเกษตร เขาจะทำงานของเขาไปเรื่อยๆ ยังต้องเข้าสวนอยู่ ยังต้องปีนมะพร้าว ไปเก็บหมาก”

“สิ่งหนึ่งที่เป็นหัวใจของลุยไม่รู้โรยก็คือเราต้องการทำให้เห็นว่า ในวัยแบบนี้ คุณก็ยังสามารถที่จะมีแรงบันดาลใจในการทำอะไรที่อยากทำได้อยู่ อยากจะเริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆ หรือแม้กระทั่งสิ่งที่คุณทำอยู่แล้ว ก็ยังสามารถมีความสุขกับสิ่งนั้นได้ โดยไม่ได้ไปจำกัดตัวเองว่าเราอายุมากแล้วเราควรเลิก เราควรหยุด เราต้องการนำเสนอให้เห็นถึงชีวิต วิถีชีวิต และวิธีคิดของผู้สูงวัยที่จะมาเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่น ทั้งคนสูงวัยและคนในวัยอื่นด้วย”

รายการลุยไม่รู้โรย ชีวิตดี๊ดี แบ่งช่วงรายการออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ ส่วนแรก มีชื่อว่า ‘ช่วงสูงวัยไทยแลนด์’ เป็นช่วงรายการที่จะพาไปดูผู้สูงวัยทั่วประเทศ ขณะที่ช่วงที่ 2 มีชื่อว่า ‘ห้องเรียนสูงวัย’ ที่โฟกัสไปในเรื่องการให้ความรู้ ตั้งแต่ เรื่องไอที การทำกับข้าว งานฝีมือ งานอดิเรก วิธีดูแลสุขภาพ “เพราะเรารู้สึกว่าคนที่อยู่ในวัยนี้ เขาอยากทดลองและเรียนรู้ เขารู้สึกว่าเขาไม่ได้อยากหยุดเหมือนกัน ซึ่งจะถูกออกมาแบบให้มีความสั้น กระชับ มีความเป็น how to ค่อนข้างชัดเจน เพื่อที่จะขยายไปในแพลทฟอร์มออนไลน์ได้ด้วย”

ต้นทางของเรื่องเล่า

“มาหลายทางนะครับ มีตั้งแต่ข้อมูลขึ้นปฐมภูมิเลย ปฐมภูมิหมายถึงว่าคนนั้นคนนี้บอกมา หรือถ้าตามต่างจังหวัด ก็หน่วยงานนี้บอกมา ว่ามีคุณลุงคุณป้าที่นี่เก่งเรื่องนั้นเรื่องนี้นะ จะว่าไป คนแก่กับคนในชุมชนไม่ยากนะ พอเราเข้าไปถึงในชุมชน เขาจะบอกแล้วว่า ไปดูตาคนนี้สิ แกเก่งเรื่องนี้นะ ไปดูยายคนนั้นสิ แกเก่งเรื่องนั้นนะ ในต่างจังหวัด คนแก่จะเป็นที่จดจำของชุมชนอยู่แล้วจะว่าไป โดยวัฒนธรรมแบบไทยๆ เป็นขั้นตอนแบบปฐมภูมิเบื้องต้นเลย

อีกอันหนึ่งก็จะเป็นบุคคลตามสื่อที่เราไปหยิบมาขยาย เช่น ช่วงที่มีการแข่งเอเชียนเกมส์ เราก็จะตามหาว่ามีคนแก่ที่เป็นนักกีฬาหรือเปล่า ปรากฏว่ามี เป็นคุณลุงคนหนึ่งอายุ 98 แข่งวิ่ง 100 เมตร ผู้สูงอายุระดับอาเซียนมา หรือแม้กระทั่ง บางคนเราเห็นคุณตาคนหนึ่งอยู่นครสวรรค์ แก 75 แล้ว เป็นอดีตชายงาม ปัจจุบันยังมีซิกแพ็คอยู่เลย ตอนนี้บ้านแกก็เปิดเป็นยิมให้คนเข้าไปเล่นในราคา 5 บาท อะไรแบบนี้เป็นต้น”

ความประทับใจในการเดินทางกว่า 200 ตอน

“จริงๆ เราแยกคุณลักษณะได้หลายๆ แบบ กลุ่มแรกคือกลุ่มทรงคุณค่า อย่าง อาจารย์วราพร สุรวดี ที่แกเป็นเจ้าของพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก ตอนที่มีโอกาสได้สัมภาษณ์ แกอายุมากแล้วนะ ร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง แต่เวลาเรานั่งคุย จะสัมผัสได้จากสายตาว่าแกมีความแกร่งที่แรงกล้ามาก มีวิธีคิดที่คมชัด เหมือนดุนะ แต่มีเมตตาและมีความชัดเจนว่าต้องการทำอะไร ไม่ต้องการทำอะไร กลุ่มคนเหล่านี้เป็นคนสูงวัยตัวอย่างที่พี่จะชอบ สำหรับอีกกลุ่มคือเป็นเคสบ้านๆ สนุกสนานเฮฮา อย่างคุณยายที่เป็นแม่เพลงเหย่ยที่ทำให้เราเห็นความสนุกสนานในแบบคนแก่ ที่ไม่ได้ยึดถือยึดติดว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ พี่จะชอบคนแก่ที่มีความเป็นตัวของตัวเอง มีความชัดเจน ใครจะมองว่าเราเชย เราแก่ เราล้าหลัง แต่ฉันจะเป็นของฉันอย่างนี้ เพราะพี่รู้สึกว่าคนแก่เองก็ควรมีความเป็นตัวของตัวเอง”

The Senior รุ่นใหญ่หัวใจไร้ขีดจำกัด

“ถัดมา เป็นรายการ ‘The Senior รุ่นใหญ่หัวใจไร้ขีดจำกัด’ ที่เพิ่งจบไปเมื่อต้นปี 2561 ก็มาจากโจทย์ที่คนมัก stereotype หรือมองคนแก่ว่าเป็นอย่างไร รายการนี้เรียกว่าเป็นเรียลลิตี้คนแก่เลยนะ โดยจะพูดถึงว่าเรามักจะกำหนดว่าคนแก่ต้องเป็นอย่างนี้ ในขณะเดียวกันคนแก่ก็กำหนดว่าตัวเองต้องเป็นแบบนี้ แต่ก็จะมีคนแก่อีกกลุ่มหนึ่งเหมือนกันที่เขารู้สึกว่าเขาอยากจะทำอะไรที่ทะลุขีดจำกัดของตัวเอง แต่ว่ายังไม่มีโอกาสได้ทำ เราก็หาโจทย์ง่ายๆ ให้เขา เช่น มีคนแก่คนหนึ่งบอกว่า อยากจะไปเที่ยวต่างประเทศ แต่ไปไม่เป็นและไม่กล้าเพราะไม่เก่งภาษาอังกฤษ แต่เมื่อเราไปรีเสิร์ช ก็ค้นพบว่าทำไมคนแก่ญี่ปุ่นไปไหนต่อไหนกันได้เยอะมากเลย เราก็เลยชวนคุณป้า 2 ท่าน ให้แกมาลองเที่ยวแบบแบ็คแพ็คเกอร์ที่พม่าดู หรือประเด็นช่องว่างระหว่างวัย ซึ่งถูกพูดถึงกันเยอะในสังคมสูงวัย เราจึงลองให้คุณลุงคนหนึ่งที่พี่เล่าว่าแกเป็นนักเดินเขา ให้แกไปเที่ยวอินเดียกับเด็กจบใหม่ ให้ลองไปใช้ชีวิตด้วยกัน 7 วัน เป็นกึ่งเรียลลิตี้ เพื่อลองดูว่าถ้าไปประเทศหินๆ อย่างอินเดีย คนสองวัยจะจัดการกับสถานการณ์แตกต่างกันอย่างไรบ้าง”


“หรือแม้กระทั่งเรื่องราวของคุณยายที่เป็นแม่เพลงเหย่ย ซึ่งเป็นเพลงกึ่งๆ ลำตัดที่เราไปเจอแกตอนถ่ายรายการที่กาญจนบุรี แล้วรู้สึกว่าแกเป็นคนสนุกสนานเฮฮา เลยไปถามแกว่า ป้าอยากจะรู้ไหมว่าทักษะแบบป้านี่ไปร้องแร็ปได้ไหม เราเลยชวนแกไปลองฝึกแร็ปกับพวกหมวดแวน (พ.ต.ท.กรวิก จันทร์แด่น) ลองให้แกไปแต่งเพลง แล้วให้หมวดแวนมาเรียบเรียงเพลงให้ ชวนเด็กๆ ที่อยู่ในรายการ Rab is Now มาช่วยสอนท่าเต้น ส่งแกไปอยู่ประมาณอาทิตย์หนึ่ง กลับมาให้แกมาเขียนเนื้อแร็ปเอง แกก็เขียนจากประสบการณ์ที่มีออกมาได้ เป็นอีกเรื่องราวที่น่ารักดี หลักๆ รายการนี้ทำให้เห็นว่า จริงๆ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าคนแก่เหล่านี้ไม่ชอบลอง เขาอาจจะอยากลองอะไรใหม่ๆ อยากออกไปจากกรอบที่เขาคุ้นชินก็ได้”

ซึมซับปรัชญาชีวิตอันเรียบง่าย แต่คมคาย จุดเปลี่ยนสู่การมองผู้สูงวัยในมุมต่าง

“ต้องบอกตามตรงว่า ช่วงเริ่มต้นเราไม่ได้มีวิธีคิดในเชิงมุมมองว่า สังคมสูงวัยเป็นอย่างไรหรือเมื่อผู้สูงวัยเยอะขึ้นจะเป็นอย่างไรในในเชิงสังคม เรายังไม่ได้คิดหรือมองเห็นอะไรขนาดนั้น จนกระทั่งเริ่มต้นทำรายการมาเรื่อยๆ ได้ซึมซับและมองเห็นว่าเวลาที่เราอยู่กับผู้สูงอายุ เราจะสนุก เพราะพวกเขามีคาแร็คเตอร์เป็นของตัวเอง มีวิธีคิดที่คมชัด มีหลักปรัชญาที่ไม่ซับซ้อน แต่คมคาย ในมุมของผู้สูงอายุ ก็จะมีความรู้สึกแบบนี้อยู่แล้ว แต่ในเชิงสังคม ตอนนั้นอาจจะยังไม่ชัดมาก พอทำลุยไม่รู้โรยมาเรื่อยๆ ประกอบกับสังคมไทยเริ่มพูดถึงสังคมสูงวัยมากขึ้น พี่ก็เลยเอาสิ่งที่บรรดานักวิชาการพูดถึงจดอ่อนของสังคมผู้สูงวัยมาเทียบเคียงกับสิ่งที่เราเจอ ซึ่งก็ค้นพบว่ามีหลายๆ ส่วนที่เป็นจริงอย่างที่เขาพูดและมีหลายๆ มุมที่พบว่าไม่ใช่เลย”

“อย่างเวลาเราพูดถึงผู้สูงวัย เรื่องหนึ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้คือ สังคมจะ stereotype คนสูงวัยเอาไว้ เช่น พอแก่ ลูกหลานหรือคนหนุ่มสาวก็จะบอกว่าควรจะอยู่บ้าน ควรจะพักผ่อน ควรจะมีการใช้ชีวิตอีกแบบหนึ่ง หรืออาจจะบอกว่าแก่แล้ว เขาต้องชอบแต่งตัวแบบนี้แน่เลย ไม่น่าจะชอบเรื่องอย่างนี้หรอกเพราะดูผาดโผนหรือตื่นเต้นเกินไป แต่พอมาทำรายการผู้สูงวัยเยอะๆ ก็ค้นพบว่า จริงๆ แล้ว เขาไม่ได้ stereotype ตัวเองเป็นอย่างที่พูดมาเลย เช่น คนสูงอายุเขารู้สึกว่าช่วงชีวิตตอนแก่นี่ล่ะเป็นช่วงชีวิตแห่งอิสระ ที่พี่เคยเจอ เขาบอกว่าพอหลังจากเกษียณ เขาไม่ใส่นาฬิกาแล้วเพราะเวลาไม่มีผลต่อชีวิตอีกแล้ว เขากำหนดชีวิตเขาได้เอง จะกินข้าวเช้า จะดูหนัง ตอนไหน เขารู้สึกว่าชีวิตอิสระมากขึ้น หรือบางคนก็ค้นพบว่าเมื่อเข้าสู่ช่วงสูงวัย กลับเป็นช่วงชีวิตของการเริ่มต้น อย่างลุงคนหนึ่ง อายุ 60 ภรรยาเสีย ชีวิตแทนที่จะว้าเหว่ เขาเริ่มต้นทำสิ่งใหม่เลย หลังจากดูแลภรรยามาหลายปี เขาเริ่มหัดเดินเขา เดินไปเดินมากลายเป็นคนที่อายุเยอะที่สุดในกลุ่ม trekking ที่เหลือเป็นเด็กหมด หรือพี่เจอบางคนที่ทำให้เข้าใจเลยว่า ‘ยิ่งแก่ยิ่งเก๋า’ นี่ถูกจริงๆ นะ ความรู้อาจจะเรียนทันกันได้นะ แต่ประสบการณ์ในการมองเห็นโลก ประสบการณ์และความรู้แต่ละอย่างต้องยอมรับอยู่อย่างหนึ่งว่า คนแก่มีเยอะกว่าเรามาก แต่การมีประสบการณ์ที่มากของคนแก่ ไม่ได้หมายถึงจะทำให้เขายิ่งอวดว่ามีประสบการณ์เยอะ ก็ไม่ใช่อย่างนั้นนะ สิ่งที่สัมผัสได้คือเขายิ่งมองเห็นและทำความเข้าใจโลกได้ดี พี่จะเจอมิติแบบนี้ค่อนข้างเยอะและเป็นมิติที่น่าสนใจมาก”

เพราะ ‘อายุ’ เป็นเพียงตัวเลข

“เอาเข้าจริงไม่ต้องคนแก่หรอก พี่คิดว่าคนหนุ่มคนสาว คนทุกเพศทุกวัย ก็มักจะถูกต่างวัย stereotype ในช่วงวัยของตัวเอง เช่น เราเป็นหนุ่มสาว คนก็จะ stereotype ว่าต้องมีไฟ มีความท้าทาย แต่ในความเป็นจริงคุณไม่ต้องเป็นแบบนั้นก็ได้ คนแก่ก็เหมือนกัน ที่คนจะพูดมาแก่แล้วอย่าไปทำนั้นเลย แต่ในความเป็นจริง มีคนแก่จำนวนมากที่เขารู้สึกว่าวิธีคิดแบบนี้คือการขังตัวเองอยู่ในกรอบอะไรบางอย่าง แต่ไม่ใช่นี่หว่า จากเดิมเคยเป็นเด็ก เคยเป็นวัยรุ่น เคยเป็นผู้ใหญ่ วัยหนึ่งมาเป็นคนแก่ ในช่วงวัยแบบนี้ก็แค่อีก period หนึ่งของชีวิตเท่านั้นเอง”

เรียนรู้คนชราอย่างเข้าใจ

“หลังจากทำงานกับกลุ่มคนสูงวัย ถ้าถามว่ามุมมองพี่ที่มีต่อพวกเขาเปลี่ยนไหม เปลี่ยนนะ แต่ไม่รู้เปลี่ยนเพราะว่าด้วยอายุตัวเองเริ่มเยอะขึ้นหรือเปล่า (หัวเราะ) ปฏิเสธไม่ได้นะว่าเรื่องความแก่เป็นเรื่องเข้าใจยากพอสมควร เช่น สมมติคุณไปบอกว่าให้คุณดูแลสุขภาพตอนนี้ เมื่อคุณยังไม่แก่ คุณจะไม่มีทางเข้าใจประโยคเหล่านี้หรอก แต่สิ่งหนึ่งที่รู้สึกได้มากๆ เลยก็คือ ของทุกอย่างมีเหตุและผลของกันและกัน ถ้าคุณอยากให้บั้นปลายชีวิตเป็นแบบนี้ คุณต้องเริ่มจากการสร้างเหตุก่อน ถ้าอยากให้ปลายดี ก็ต้องทำเหตุให้ดีก่อน ไม่ว่าการจะมีรายได้เลี้ยงตัวเองได้ การมีสุขภาพที่ดีอยู่ ยังสามารถอยู่ในสังคมและมีเพื่อนฝูง ทำกิจกรรมที่ชอบ หรือพาตัวเองออกไปที่นั่นที่นี่โดยไม่ต้องอยู่กับบ้านเฉยๆ ยังหัวเราะได้ง่าย มีความสุขได้ง่ายอยู่ เช่น ถ้าคุณอยากจะมั่นคง ก็ต้องเห็นความสำคัญเรื่องการเงิน การออม ถ้าอยากเป็นคนแก่ที่ยังมีสังคมอยู่ ยังกล้าออกไปเรียนรู้โดยที่ไม่เขิน ในวัยก่อนหน้าคุณก็ต้องพยายามลดตัวตนของคุณเอง เพราะถ้ายังไม่ทันแก่แต่น้ำเต็มแก้วมากแล้ว ไม่กล้าไปลองอะไรใหม่ๆ นับประสาอะไรในวันที่แก่แล้วจะกล้าไปลอง”

“พี่คิดว่าของสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นตอนแก่นะ แต่ต้องเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนเขาจะแก่ เป็นสิ่งที่ต้องค่อยๆ สร้างขึ้นมาจนกระทั่งไปสุกงอมเหมือนกับการปลูกต้นไม้ เราจะเห็นดอกออกผล ก็ช่วงที่พร้อม ซึ่งก็คือช่วงปลายนี่แหละ ไม่ใช่ว่าคิดถึงแต่เรื่องเศรฐกิจอย่างเดียวว่าแก่แล้วจะอยู่อย่างไรนะ แต่ต้องถามตัวเองด้วยว่า แก่แล้ว เราจะแก่แบบมีความสุขได้อย่างไร ถ้าเกิดว่าวันหนึ่งคุณต้องอายุ 80 ปี เราจะมีชีวิตอยู่อย่างไรให้ตัวเองรู้สึกว่าอยู่อย่างมีความสุขและมั่นคง”

การปรับตัวของคนทีวีท่ามกลางความเชี่ยวกรากของสื่อออนไลน์และออนกราวน์

“สำหรับคนทำสื่อยุคนี้ พอสื่อมีหลากหลายแพลทฟอร์ม สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือการจะทำอย่างไรให้งานของเราสามารถเชื่อมต่อไปในทุกๆ แพลทฟอร์ม อย่างงานทีวี เราไม่ค่อยมีปัญหา เพราะทีมงานค่อนข้างมีความเชี่ยวชาญในวิถีของการทำสื่อทีวีอยู่ โดยลักษณะงานของเราเป็นคนกลางยุค ไม่ใช่ digital native แต่ว่าก็สนุกดีนะในเชิงที่เราได้ทดลองและเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ซึ่งถ้ามองนี่น่าจะเป็นปัญหาหนึ่งในเชิงการเชื่อมโยงงานของเราไปสู่สื่ออื่นๆ เป็นหลัก เดี๋ยวนี้ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าสื่อทีวีอย่างเดียวอาจจะไม่ค่อยพอแล้ว ซึ่งถ้าเราสามารถกระจายบางส่วนไปสู่สื่อออนไลน์และงานออนกราวด์ได้ จะโอเค เพราะจะทำให้เราสามารถใช้ความคิดได้อย่างคุ้มค่า ตอนนี้ก็อยู่ในระหว่างการเรียนรู้และทดลอง”

ถอดกลยุทธ์การทำรายการทีวีให้สดใหม่เสมอ

“นอกจากฟีตแบ็คจากทางสถานี ทั้งตัวเลขผู้ชมหน้าจอทีวี หรือการที่สถานีพาไปเจอผู้ชม ซึ่งเป็นกลุ่มเฉพาะแบบตัวต่อตัวซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ทางสถานีน่าจะพึงพอใจ ไปจนถึงการเชคยอดวิวย้อนหลังจากช่องทางออนไลน์ที่โอเคแล้ว การทำรายการทีวี ไม่ว่าจะประเภทไหน หรือที่เรากำลังทำซึ่งเป็นรายการที่ดูไม่มีพิษไม่มีภัย ไม่ได้ยืนอยู่บนข้อขัดแย้ง เราอาจจะไม่ได้เจอปัญหาต่อต้าน แต่เมื่อทำเยอะๆ ตอนเข้า ก็เหมือนเราทำเพื่อหนีตัวเองไปเรื่อยๆ ทำแล้วจะสดในช่วงแรกและจะเริ่มแฟบไปตามกาลเวลา”

“สิ่งที่พี่และทีมงานทำคือการหาวิธีการที่จะอยู่อย่างไรให้คงที่ ซึ่งข้อหนึ่งที่เราจะให้ความสำคัญมากคือวิธีการเล่าเรื่อง อย่างลุยไม่รู้โรยซึ่งเป็นรายการไซส์ s งบประมาณไม่เยอะ เวลาที่ได้ก็ไม่ใช่ช่วงพีค โปรดักท์ชั่นอาจไม่ได้ดูหรูหราหรือทันสมัย แต่สิ่งหนึ่งเราพยายามจะรักษามาตรฐานไว้คือวิธีการเล่าเรื่องและพยายามปรับอยู่เรื่อยๆ เพื่อให้เข้ากับยุคสมัย บางยุคเหมาะกับการเล่าด้วยไวยากรณ์แบบนี้ได้ แต่พอพฤติกรรมการดูของคนเปลี่ยน เราก็ต้องหาวิธีการเล่าแบบใหม่และปรับอยู่ตลอด สองคือเคสที่เราหา ถ้าเป็นไปได้ก็อย่างที่บอก เราพยายามหาเคสปฐมภูมิ ที่เราจะเป็นมือแรกๆ ที่จับ การจับเคสที่เคยผ่านมาแล้วหรือเป็นการผลิตซ้ำ จะทำให้เราทำงานยากขึ้น สามก็คือ การทำให้รายการอยู่ได้นานๆ เราต้องจับความรู้สึกของคนดูด้วย เช่น ความรู้สึกของคนดูว่าเขาดูแล้วจะรู้สึกกับผู้สูงวัยอย่างไร เช่น มีเรื่องหนึ่งที่เราไปทำเรื่องคุณยายหิมที่จังหวัดตรัง แกยังมาเตะตะกร้อกับลูกหลานแกทุกเย็น ซึ่งคลิปนี้ก็เป็นคลิปที่เป็น viral ออกไปพอสมควร ซึ่งพอเราไปนั่งไล่ดูคอมเม้นต์ของคนที่มาแสดงความคิดเห็น ความรู้สึกร่วมหนึ่งคือทุกคนจะทึ่งและแปลกใจว่าคนแก่ขนาดนี้ยังมาออกกำลังแบบนี้ได้ ส่วนอีกความรู้สึกคือการย้อนกลับเข้ามาครอบครัวเขาว่า เขาอยากให้ยายเขาเป็นอย่างนั้นบ้าง อยากให้พ่อแม่เป็นอย่างนั้นบ้าง ท้ายที่สุดคือการย้อนมาสู่ตัวเองว่าถ้าแก่ตัวไป ฉันจะเป็นอย่างนั้นได้หรือเปล่า”

“นี่คือสามหลักการที่พี่และทีมงานพยายามรักษาเอาไว้เพื่อให้คนดูรายการได้นาน และเราคิดว่าคุณลักษณะของรายการสูงวัยแบบนี้จะทำให้คนไม่ได้ดูในเรื่องของความสูงวัย แต่คนจะย้อนกลับมาดูสำรวจตัวเราเองด้วย”

วัยไหนๆ ก็ดูได้

“แต่ตอนแรกๆ ที่เราเข้าไปทำรายการ เรามองว่ารายการนี้เป็นรายการสำหรับคนสูงวัย พูดง่ายๆ คือผลิตเรื่องคนแก่ให้คนแก่ดู แต่พอเราทำมาเรื่อยๆ ก็ค้นพบว่าวิธีคิดในการมองรายการของตัวเองเปลี่ยนไป พี่กลับรู้สึกว่ารายการทั้งลุยไม่รู้โรย หรือแม้กระทั่งรายการสูงวัยหลายๆ รายการที่เราทำ แม้จะเป็นพูดเรื่องราวของคนแก่ แต่ในความเป็นจริงกลับเป็นรายการสำหรับคนแทบจะทุกกลุ่มเลยที่มาดู เพราะฉะนั้นเวลาคนถามว่าทำรายการสูงวัยให้คนแก่ดูเหรอ แรกๆ ก็คิดว่าใช่นะ หลังๆ กลับรู้สึกว่าไม่ค่อยใช่แล้ว แต่อาจขยายกว้างไปเป็นรายการที่ทำเรื่องการเรียนรู้ชีวิตมนุษย์คนหนึ่ง เพียงแต่ว่าช่วงวัยของคนที่นำเสนออยู่ในพีเรียตที่แตกต่างกันเท่านั้นเอง”

ในวันที่สูงวัย

“ปัญหาอย่างหนึ่งของผู้สูงวัยที่เจอบ่อยๆ ก็มีหลายประเด็นนะ เรื่องของสุขภาพก็เป็นเรื่องหลักอย่างหนึ่ง ซึ่งเขาจะรู้อยู่แล้วว่าพลังต่างๆ จะน้อยลงไป อีกเรื่องหนึ่งที่เราเห็น แต่ไม่ได้เอามาทำในลุยไม่รู้โรยนะ เราทำในรายการ The Senior คือการชวนคนแก่มาเข้าห้องเรียนเรื่องวิชาความตาย โดยเราให้เขามารวมกลุ่มกันประมาณ 6-7 คน แล้วก็มีวิทยากรที่พูดในประเด็นที่ว่า ถ้าตัวเราต้องตายวันนี้ จะเก็บอะไรไว้บ้าง หรือหากจะต้องเลือกสูญเสียคนที่รัก 1 คน เราจะเลือกใคร เขาก็จะหันไปมองที่ลูกหลานว่าเขาจะยอมเลือกลูกคนไหนออกมา น้ำตาร่วงเหมือนกันนะที่คนแก่เขาต้องมาคิดเรื่องพวกนี้ จะเห็นว่ามีผู้สูงวัยจำนวนหนึ่งที่พี่คิดว่าเขาน่าจะมีบางเรื่องที่ยังติดค้าง อย่างเช่น เขาอาจจะมีความรักที่ไม่สมหวังกับสามีคนนี้มานานมากแล้ว แต่เขาก็ยังอยู่ด้วยกัน แต่เขาไม่สามารถไปบอกได้ว่าเธอเป็นคนไม่เอาไหน หรือแม้กระทั่งเขามีความไม่พึงพอใจเรื่องลูก เช่น เขาอาจจะชอบลูกคนนี้ ไม่ชอบลูกคนนั้น แต่ก็ไม่สามารถไปทำอะไรได้ ไม่สามารถคลี่คลายความไม่สบายใจในตรงนี้ได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็จะมาทั้งในรูปแบบของความห่วง หรือความไม่มีความสุขในชีวิตประจำวัน แต่จะว่าไปแล้ว ก็ไม่ใช่เป็นปัญหาของผู้สูงวัย พี่คิดว่าเป็นปัญหาของมนุษย์ เพราะไม่ว่าจะวัยไหน ทุกคนก็มีปัญหาแบบเดียวกันนี่แหละ ในทางกลับกัน ก็อย่างที่บอกว่าเราก็ยังเจอผู้สูงวัยที่ดูมีความสุขและมั่นคง นั่นก็เพราะว่าเขาเตรียมพร้อมและมีความเข้าใจในการมองโลก ซึ่งแม้เขาจะเจอเรื่องคล้ายๆ กัน แต่เขาจะรับมือได้หรือมีวิธีคิดว่าจะรับมือกับสิ่งนั้นได้อย่างไร”

เวลา การสื่อสาร และความเข้าใจ น้ำหล่อเลี้ยงให้หัวใจไม่มีวันชรา

“พี่เอาจากตัวเองก่อนนะ พี่คิดว่าคนที่จะเริ่มสื่อสารหรือมีความเข้าใจคนสูงวัยได้ดีคือคนในช่วงอายุ 40 ปี ไปแล้ว ปีนี้พี่ 47 ก็ใกล้สูงวัยแล้วนะ (หัวเราะ) อย่างตัวเอง ทั้งพ่อแม่ หรืออาโกวที่เลี้ยงพี่มา ก็อยู่ในเกณฑ์ 80 ละ ซึ่งพี่รู้สึกว่าเริ่มอยากอยู่กับเขานานๆ ก็เป็นเพราะว่าพี่มีความเต็มแล้วข้างใน รู้สึกว่าไม่ได้อยู่ในภาวะดิ้นรนหรือพลุ่งพล่านรุนแรงเหมือนก่อน อย่างในวัยทำงาน เราก็อยากจะไปนู่นไปนี่ ปฏิเสธไม่ได้ส่วนหนึ่งก็เพราะเรารักตัวเอง อยากมีความสำเร็จ อย่างตอนทำงานยุคบุกเบิก พี่ก็ลุยงานจนแทบไม่รู้สึกว่าต้องกลับบ้าน แต่พอมาถึงวัยที่รู้สึกว่าอิ่มและรักตัวเองน้อยลง จะไม่ค่อยรู้สึกว่าต้องเอาเวลาที่เหลือไปทำอะไรอีก เริ่มรู้สึกว่าตอนนี้ควรจะเป็นเวลาของคนอื่นแล้ว ก็เลยมีเวลาไปอยู่กับพ่อแม่และคนที่เคยดูแลเรามากขึ้น

ส่วนถ้าถามว่าจะมีคำแนะนำอะไรไหม ก็ตอบยากเนอะเพราะว่าของแบบนี้ เป็นเรื่องปัจเจก แต่พี่คิดว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ บางทีเราไปอยู่กับเขา ก็ไม่ได้มีเรื่องคุยหรอก เพราะเขากับเราคนละสังคมกัน จะชวนคุยเรื่อง new media หรือ social media ก็ไม่ได้ แต่เราแค่ไปอยู่กับเขาเพื่อให้เขารู้สึกได้ว่าเรามีชีวิตอยู่ได้อย่างสบาย มีความสบายใจในงานที่ทำ มีความสบายใจในชีวิต หรือแม้กระทั่งเราไม่มีสบายใจในงานที่เราทำ แต่ไปบอกให้เขารู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ พี่คิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดีนะ เพียงแต่ว่าความทุกข์เราก็อย่าไปทำให้เขาดู ให้ทุกข์ใจ เราจะอยู่ร่วมกับเขาได้ด้วยการทำให้เขารู้สึกว่าเราได้สื่อสารกับเขา เขาได้รู้ชีวิตเรา อย่างอาโกวพี่ 90 ละ เขาจะถามว่าพี่ว่าจะกินอะไรไหม เขาจะปอกผลไม้ให้กินนะ เขาอยากจะทำอะไรพี่จะเปิดโอกาสให้เขาทำมากๆ เพราะตรงนี้คือเป็นความสุขที่เขาได้ลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง รู้สึกว่ายังได้ดูแลเรา หรือตัวเราเองยังได้ดูแลเขา มันเป็นการเปิดโอกาสให้กันและกัน รวมถึงการสื่อสารกันบ่อยๆ พี่คิดว่าเรื่องนี้จำเป็น พอเราเริ่มออกมาทำงาน โลกของเรากับเขาจะเริ่มห่างและกว้างขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราไม่ใช้การสื่อสารหรือมาเจอกัน โลกเรากับเขาก็ไม่มีทางมาเจอกัน”

ความสำคัญในวันนี้คือการได้ดูแลสังคมภายในบ้านที่ชื่อ ‘บุญมีฤทธิ์’

“พี่เติบโตมากับการทำสื่อเชิงสังคมมาตลอด ตลอดเวลา 10 กว่าปี ด้วยความที่บางคนได้เห็นก็รู้สึกว่า ดีนะมีอุดมการณ์ แต่เรากลับรู้สึกว่าก็เราถนัดทำอย่างนี้ ให้เราไปทำอย่างอื่น เราอาจจะทำแล้วไม่รอดก็ได้ (หัวเราะ) แต่ในขณะเดียวกัน พี่ก็รู้สึกว่าการงานที่เราทำ ถ้าจะมีประโยชน์บ้างเล็กๆ น้อยๆ ต่อคนอื่นก็เป็นเรื่องที่ดี พอเริ่มต้นมาทำบริษัทเองมากขึ้น พี่กลับมามองว่าการคิดถึงสังคมหรือคนข้างนอกก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่การทำงาน สิ่งที่ไม่ควรลืมเลยก็คือ อย่ามัวแต่เอาเวลาไปนั่งดูหรือพูดถึงสังคมข้างนอก เราต้องรู้จักดูแลสังคมภายในของเราให้ได้และให้ดีด้วย ดูว่าจะทำอย่างไรให้คน 11 คน ที่มาอยู่ร่วมกันแล้วเขาอาจจะไม่ต้องมีความสุขก็ได้นะ แต่เราอยากทำให้เขาพัฒนาตัวเองในทุกด้านไป ความสุขในการทำงานตอนนี้คือการได้ทำงานกับกลุ่มคนเล็กๆ อย่างนี้แหละ การได้มีเรื่องให้ต้องเรียนรู้และพัฒนากันไปที่ละขั้นที่ละตอน ในขณะเดียวกัน พอทำงานมาสักระดับหนึ่ง พี่กลับมองเห็นถึงการใช้การทำงานเป็นเครื่องมือในการพัฒนาตัวเองด้วย เช่น สมัยก่อนเวลามีปัญหาบางเรื่อง เราอาจเลือกจัดการกับปัญหาด้วยวิธีการเผชิญหน้า แต่พอมาวันหนึ่งก็ค้นพบว่า จริงๆ แล้วก็มีวิธีการที่ดีกว่านั้น ซึ่งการค้นพบวิธีการแบบนี้ ยิ่งทำให้การทำงานมีความสุข ความสุขทุกวันนี้ไม่ได้หมายถึงทำแล้วสำเร็จเหมือนสมัยก่อนที่เคยทำ แต่กลับรู้สึกว่าความสุขในการงานมาจากเรื่องข้างในเสียส่วนใหญ่ การได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของคนในทีมหรือแม้กระทั่งตัวเองที่ดีขึ้นทีละนิดๆ”

มองอนาคตแบบ ‘ประสาน อิงคนันท์’

“ถ้าสารภาพ โลกทุกวันนี้ ทำให้พี่ไม่กล้ามองไปแบบไกลมากๆ แต่จะมองว่าเราอยากทำอะไรเป็นปีๆ ไป โดยสองด้านหลัก คือการทำบริษัทก็ต้องตอบโจทย์ในเรื่องของความอยู่ได้ ง่ายๆ เลยนะคือการทำให้คนที่อยู่กับเรารู้สึกได้ว่าเขาอยู่ได้และมีความเป็นธรรมในการอยู่ อย่างพี่ทำมา 3-4 ปี ก็รู้สึกโชคดีมากที่รอดมาได้ในช่วงเวลาแบบนี้ (หัวเราะ) ในขณะที่เราเห็นเพื่อนๆ หลายคน หลายๆ บริษัท ที่ดูเขาจะเหนื่อยมาก อีกอย่างหนึ่งก็คือได้ทำงานที่ยังรู้สึกสบายใจในการทำ นี่ถือว่าถือว่าเราประสบความสำเร็จในเชิงนี้แล้วนะ และแน่นอนเรื่องคน อย่างที่บอกว่าถ้าทำแล้วคนที่อยู่ร่วมกันเขารู้สึกว่าชีวิตเขาผาสุกได้ในทุกเรื่อง มีความภูมิใจในงานที่เขาทำ พึงพอใจในสังคมเล็กๆ และมีความสำเร็จ พี่ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้วนะ”


ภาพ: Zuphachai Laokunrak, Facebook: Boonmerit Media
อ้างอิง: Facebook: Boonmerit Media

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles