สถานรับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียนในแอฟริกา เพิ่มประโยชน์ใช้สอยสูงสุดให้ชุมชนแบบเนียนๆ

สถาปัตยกรรมที่ดีไม่จำเป็นต้องมีราคาแพง ใช้วัสดุหรูล้ำเลิศ แต่สามารถตอบโจทย์ที่สถาปัตยกรรมนั้นแทรกเข้าไปอยู่ร่วมกับชุมชนจนเกิดความเป็นเนื้อเดียวกัน แต่การตอบโจทย์นั้นมีหลายวิธีเช่นกันกับหนึ่งในโครงการนี้

ทีมสถาปนิก Indalo และ Collectif Saga ได้รับโจทย์สร้างสถานรับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน ในย่านชานเมืองพอร์ทอลิซาเบธ ประเทศแอฟริกาใต้โครงการมีที่มาเริ่มจากโปรแกรมฟื้นฟูและพัฒนาโดยรัฐบาลแอฟริกาใต้ที่ดำเนินงานมากว่า 20 ปี เพื่อพัฒนาชีวิตของผู้คนในชุมชนที่ขาดแคลนต่างๆ กิจกรรมที่เกิดขึ้นคาดหวังจะให้เป็นโครงการที่สร้างส่วนเติมเต็มให้กับชุมชนนี้ ที่ตั้งโครงการนั้นทางเข้าเป็นถนนดิน ไม่ได้ลาดยาง น้ำท่วมง่ายแม้ฝนตกเพียงนิดหน่อย ส่งผลยากต่อการก่อสร้างมาก ตัวโครงการนี้เป็นการจัดเรียงการใช้สอยแบบเรียบง่าย เผื่อการปรับเปลี่ยนในอนาคต ตัวอาคารมีพื้นที่อเนกประสงค์ ห้องน้ำ ครัว ห้องเก็บของ สามารถรองรับเด็กในชุมชนก่อนเข้าเรียน หรือสามารถปรับการใช้สอยภายในให้ร้องรับกิจกรรมงานฝีมือต่างๆ หรือช่วยให้สถานประกอบการขนาดเล็กเริ่มธุรกิจได้  สถาปนิกจึงออกแบบพื้นที่ภายในปรับปรุงด้วยการเลื่อนผนังเพื่อการแบ่งชั้นเรียนต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นอกจากนี้สถาปนิกยังคำนึงถึงประเด็นของสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน การเลือกวัสดุที่เข้ามาประกอบเป็นอาคารจึงถูกพิจารณาจากสิ่งรายรอบตัว คำตอบจึงเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นที่มาจากการใช้แล้ว ง่ายต่อการก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นลังไม้พาเลทที่เหลือจากการขนส่งกลายเป็นพื้นวางแบบเรียบง่าย ผนังที่ก่อรูปอย่างเรียบง่าย แผ่นสังกะสีกรุเข้าเป็นผนังอย่างง่าย ยางล้อรถยนต์ใช้แล้วกลายเป็นผนังกันดิน ขวดใช้แล้วบรรจุเป็นผนังผืนใหญ่ให้ความรู้สึกไม่จัดจ้ากับแสงภายนอก แกนด้ายปรับเป็นตัวปรับม่าน ล้อสเก็ตบอร์ดกลายเป็นล้อหมุนประตูบ้านเลื่อน ทั้งหมดนี้มาจากของเหลือใช้รอบงานนี้ทั้งสิ้น ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างได้มากทีเดียว

หากมองโจทย์ของสถาปัตยกรรมให้เข้าใจ ก็สามารถคิดให้เปลี่ยน เมื่อนั้นโลกก็เปลี่ยนได้

อ้างอิง: Collectif Sagaarchdaily

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles