‘ขาเทียม’ เป็นอุปกรณ์คู่กายที่ขาดไม่ได้สำหรับผู้พิการ ปัจจุบันมีผู้พิการมากกว่า 35 ล้านคนทั่วโลกที่ต้องการขาเทียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศด้อยพัฒนาที่ราคาของขาเทียมนั้นค่อนข้างสูง มีแค่ผู้พิการบางกลุ่มเท่านั้นที่สามารถมีไว้คู่กาย อีกทั้งการใช้งานก็ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ส่งผลให้มีผู้พิการอีกจำนวนมากที่ไม่มีโอกาสได้ใช้งานขาเทียม
ด้วยเหตุนี้ Fabian Engel และ Simon Oshwald สองนักศึกษาด้านการออกแบบเชิงอุตสาหกรรมแห่งมหาวิทยาลัย Zurich University of the Arts ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จึงได้ริเริ่มทำโปรเจ็กต์ที่มีชื่อว่า ‘Project Circleg’ เพื่อช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว ด้วยการใช้พลาสติกรีไซเคิลและกระบวนการผลิตที่ง่าย ไม่ซับซ้อน ส่งผลให้ ขาเทียม Circleg นี้มีราคาย่อมเยา สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งแรงบันดาลใจของการนำขยะพลาสติกมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตขาเทียมนี้เกิดจากการตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติกโลกในปัจจุบัน ผนวกกับความต้องการขาเทียมที่มีอยู่มากในประเทศด้อยพัฒนา จึงผลักดันให้พวกเขาอยากมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาดังกล่าว
Circleg เป็นขาเทียมสำหรับผู้พิการที่ถูกออกแบบเป็นชิ้นส่วนย่อยๆ เพื่อนำมาประกอบกันได้ ผลิตจากพลาสติก PP รีไซเคิลผสมผสานกับไฟเบอร์กลาสเพื่อเพิ่มความแข็งแรง ทนทาน ประกอบด้วยอแดพเตอร์ 2 ชิ้น, ข้อต่อส่วนเข่า, ส่วนขาและส่วนเท้าที่มาพร้อมกับข้อต่อข้อเท้า โดยอแดพเตอร์จะช่วยจะช่วยปรับตำแหน่งให้เหมาะสมกับสรีระของผู้สวมใส่ ในขณะที่ข้อต่อส่วนข้อเท้าจะช่วยให้สามารถนั่งในท่าสควอชท์หรือนั่งยองๆ ได้ ในกรณีที่ต้องเข้าห้องน้ำ ส่วนข้อต่อบริเวณเข่าจะมาพร้อมกับกลไกที่ช่วยในการแกว่งเท้าไปข้างหน้าในขณะเดินและฝาครอบกันกระแทกเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ ซึ่งจุดเด่นของ Cricleg เมื่อเทียบกับขาเทียมราคาย่อมเยาแบบอื่นๆ ก็คือ ฟังก์ชั่นการใช้งานที่มีประสิทธิภาพ ที่ไม่เพียงเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ใช้งานเท่านั้น แต่ยังมีฟังก์ชั่นที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวันอีกด้วย ชิ้นส่วนต่างๆ สามารถถอดเปลี่ยนและซ่อมได้ น้ำหนักเพียง 1.5 กิโลกรัม ซึ่งเบากว่าขาเทียมทั่วไป นอกจากนี้ผู้ใช้ยังสามารถกำหนดสีให้กับชิ้นส่วนต่างๆ ได้ตามความต้องการอีกด้วย
ขณะนี้ทางผู้ออกแบบกำลังอยู่ในช่วงการคิดค้นพัฒนาขาเทียมต้นแบบให้มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น และเมื่อผ่านการทดสอบจะเริ่มนำไปทดลองใช้กับกลุ่มผู้พิการในประเทศเคนย่า โดยพวกเขาหวังว่าโปรเจ็กต์นี้จะสามารถนำไปใช้งานได้จริงและเป็นประโยชน์ต่อผู้พิการทั่วโลก
อ้างอิง: Project Circleg, YouTube